จงตามเรามา
26 พฤษภาคม–1 มิถุนายน: “ผู้พิทักษ์ที่ซื่อสัตย์, เที่ยงธรรม, และมีปัญญา”: หลักคําสอนและพันธสัญญา 51–57


“26 พฤษภาคม–1 มิถุนายน: ‘ผู้พิทักษ์ที่ซื่อสัตย์, เที่ยงธรรม, และมีปัญญา’: หลักคําสอนและพันธสัญญา 51–57” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)

“หลักคําสอนและพันธสัญญา 51–57” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: 2025

ผู้ชายไถนา

ไถนาครั้งแรก โดย เจมส์ เทย์เลอร์ ฮาร์วูด

26 พฤษภาคม–1 มิถุนายน: “ผู้พิทักษ์ที่ซื่อสัตย์, เที่ยงธรรม, และมีปัญญา”

หลักคำสอนและพันธสัญญา 51–57

สำหรับสมาชิกศาสนจักรในทศวรรษ 1830 การรวมวิสุทธิชนและการสร้างนครไซอันเป็นงานทางวิญญาณเช่นเดียวกับงานทางโลกที่มีเรื่องสำคัญหลายเรื่องต้องทำ เช่น บางคนต้องซื้อที่ดินให้วิสุทธิชนตั้งรกราก บางคนต้องพิมพ์หนังสือและสิ่งพิมพ์อื่นๆ และบางคนต้องเปิดร้านจำหน่ายสินค้าให้ผู้คนในไซอัน ในการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 51–57 พระเจ้าทรงกําหนดและทรงแนะนําผู้คนให้ทํางานเหล่านี้

ถึงแม้ทักษะในเรื่องต่างๆ จำเป็นในไซอัน แต่การเปิดเผยเหล่านี้สอนเช่นกันว่าพระเจ้าทรงปรารถนาให้วิสุทธิชนของพระองค์มีค่าควรทางวิญญาณเพื่อจะได้ชื่อว่าผู้คนแห่งไซอัน—ผู้คนของพระองค์ พระองค์ทรงขอให้เราแต่ละคนเป็น “ผู้พิทักษ์ที่ซื่อสัตย์, เที่ยงธรรม, และมีปัญญา” มีวิญญาณที่สำนึกผิด “ตั้งมั่น” ในหน้าที่รับผิดชอบที่กำหนดให้เรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 51:19; 52:15; 54:2) หากเราทําเช่นนั้นได้—โดยไม่คำนึงถึงทักษะทางโลกของเรา—พระเจ้าจะทรงสามารถใช้เราสร้างไซอัน

ไอคอนการศึกษา

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 51

พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันเป็นผู้พิทักษ์ที่ซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม และมีปัญญา

หากท่านเป็นสมาชิกของศาสนจักรในปี 1831 ท่านอาจจะได้รับการเชื้อเชิญให้ดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวายโดยเซ็นโอนทรัพย์สินของท่านให้ศาสนจักรผ่านอธิการ จากนั้นในกรณีส่วนใหญ่อธิการจะคืนสิ่งที่ท่านบริจาคให้ท่าน บางครั้งอาจคืนพร้อมส่วนเกิน แต่นั่นไม่ใช่ทรัพย์สินของท่านอีกต่อไป—เป็นสิ่งที่อยู่ในความพิทักษ์ของท่าน

ปัจจุบันระเบียบปฏิบัติต่างจากเดิม แต่หลักธรรมยังคงสำคัญต่องานของพระเจ้า ขณะที่ท่านอ่าน ภาค 51 ให้คิดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมอบหมายให้ท่านดูแลอะไร คำว่า “ผู้พิทักษ์” (ข้อ 19) และ “อุทิศถวาย” (ข้อ 5) หมายถึงอะไร และบอกอะไรโดยนัยเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังจากท่าน?

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์อธิบายว่า “ในศาสนจักรความเป็นผู้พิทักษ์คือความไว้วางใจอันศักดิ์สิทธิ์ทางโลกหรือทางวิญญาณต่อสิ่งซึ่งพวกเขามีภาระรับผิดชอบ เพราะทุกสิ่งเป็นของพระเจ้า เราจึงเป็นผู้พิทักษ์ดูแลร่างกาย จิตใจ ครอบครัว และทรัพย์สินของเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 104:11–15) ผู้พิทักษ์ที่ซื่อสัตย์คือผู้ที่ใช้อำนาจปกครองอย่างชอบธรรม ดูแลตนเอง ดูแลคนยากจนและคนขัดสน” (“Welfare Services: The Gospel in Action,” Ensign,, Nov. 1977, 78)

5:1

The Law of Consecration

Historians Kate Holbrook and Steven C. Harper discuss what the Law of Consecration is, the three core doctrines pertaining to it, and how we can live it today.

หลักคำสอนและพันธสัญญา 52:9–11, 22–27

เราสามารถเชื้อเชิญให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์ได้ไม่ว่าไปที่ใด

เมื่อพระเจ้าทรงส่งผู้นำศาสนจักรหลายท่านไปมิสซูรี พระองค์รับสั่งให้พวกท่านใช้ประโยชน์จากเวลาเดินทางและ “สั่งสอนไประหว่างทาง” (ข้อ 25–27) ท่านจะแบ่งปันพระกิตติคุณ “ระหว่างทาง” หรือระหว่างดำเนินชีวิตตามปกติอย่างไร?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 52:14–19

ไอคอนเซมินารี
พระเจ้าทรงช่วยฉันหลีกเลี่ยงการหลอกลวง

เนื่องจากหลายคนอ้างว่าตนได้รับการแสดงให้ประจักษ์ทางวิญญาณ วิสุทธิชนยุคแรกจึงกังวลว่าจะถูกหลอก พระเจ้าประทานคำเตือนอะไรให้พวกเขาใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 52:14? วิธีแก้ของพระองค์คืออะไร? (ดู ข้อ 14–19)

แบบแผนคือสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นประจําและคาดเดาได้ ตัวอย่างเช่น การนับตัวเลข หรือดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในแต่ละวัน ท่านนึกถึงตัวอย่างอะไรอีกบ้าง? ขณะที่ท่านค้นคว้า หลักคําสอนและพันธสัญญา 52:14–19 ให้ระบุแบบแผนของพระเจ้าในการหลีกเลี่ยงการหลอกลวง อาจเป็นประโยชน์ที่จะทราบว่า “สํานึกผิด” หมายถึงความรู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตนและการกลับใจ “อ่อนโยน” หมายถึงความนุ่มนวลและการควบคุมตนเอง; และ “จรรโลงใจ” หมายถึงแนะนํา ปรับปรุง หรือเสริมสร้าง เหตุใดท่านจึงรู้สึกว่าแบบแผนของพระเจ้าจึงรวมถึงคุณสมบัติเหล่านี้ เช่นเดียวกับการเชื่อฟัง? ท่านจะใช้แบบแผนนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการหลอกลวงได้อย่างไร?

นิยามคำยาก ในแอปพลิเคชันคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ท่านสามารถแตะคําค้างไว้แล้วเลือก “Define (นิยาม)” จากนั้นท่านจะเข้าสู่นิยามของคำนั้น ลองทําเช่นนี้เมื่อท่านพบคําที่ไม่คุ้นเคย—หรือคําที่ดูคุ้นเคยซึ่งท่านอยากเข้าใจให้ดียิ่งขึ้น

มีตัวอย่างอะไรบ้างของการหลอกลวงในยุคสมัยของเรา? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากําลังถูกหลอก?

ตัวอย่างเช่น ท่านอาจประเมินการเลือกของท่านเกี่ยวกับภาพยนตร์ ดนตรี และโซเชียลมีเดียตามมาตรฐานใน “เดินในแสงสว่างของพระผู้เป็นเจ้า” ใน เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน: คู่มือแนะแนวการเลือก, 16–21

ดู แกรีย์ อี. สตีเวนสัน, “อย่าหลอกข้าพเจ้าเลยเลียโฮนา, พ.ย. 2019, 93–96 ด้วย

หลักคำสอนและพันธสัญญา 54

ฉันสามารถหันมาหาพระเจ้าเมื่อฉันเจ็บปวดเพราะการเลือกของผู้อื่น

ท่านเคยทนทุกข์กับความผิดหวังเมื่อผู้ที่ท่านไว้เนื้อเชื่อใจไม่รักษาคํามั่นสัญญาของพวกเขาหรือไม่? สิ่งนี้เกิดขึ้นกับวิสุทธิชนจากโคลสวิลล์ นิวยอร์กผู้คาดหวังจะตั้งรกรากบนที่ดินของลีมัน คอพลีย์ในโอไฮโอ เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์นี้ ท่านอาจทบทวนหัวบทของ ภาค 54 (ดู วิสุทธิชน, 1:125–128; “A Bishop unto the Church,” Revelations in Context, 78–79 ด้วย) หากท่านมีเพื่อนคนหนึ่งในบรรดาวิสุทธิชนโคลสวิลล์ ท่านจะพบคําแนะนําอะไรใน ภาค 54 เพื่อแบ่งปันกับพวกเขา?

ฟาร์มของลีมัน คอพลีย์

ฟาร์มของลีมัน คอพลีย์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 56:14–20

คนทั้งปวงที่มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข

ในข้อเหล่านี้พระเจ้าตรัสทั้งกับคนร่ำรวยและคนยากจน ท่านอาจจะสนใจเปรียบเทียบพระดำรัสแนะนำของพระองค์กับคนสองกลุ่มนี้ อะไรในข้อเหล่านี้รู้สึกเกี่ยวข้องกับท่านเป็นส่วนตัว?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

ไอคอนหมวดเด็ก 01

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

หลักคำสอนและพันธสัญญา 51:9

ฉันสามารถซื่อสัตย์

  • เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ความหมายของการเป็นคนซื่อสัตย์ ท่านอาจร่วมกันอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 51:9 และเล่าเรื่องของเด็กที่เผชิญการตัดสินใจในการเป็นคนซื่อสัตย์ ท่านอาจใช้ภาพ หุ่นมือจากถุงเท้า หรือตุ๊กตากระดาษทำให้เรื่องน่าสนใจมากขึ้น พระเจ้าทรงอวยพรเราอย่างไรเมื่อเราพยายามซื่อสัตย์?

  • ท่านอาจเล่นเกมกับเด็ก หลังจากนั้น สนทนาว่าเกมจะแตกต่างออกไปอย่างไรหากมีคนโกง เหตุใดการ “ปฏิบัติต่อกันด้วยความซื่อสัตย์” จึงสำคัญ?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 52:10; 53:3; 55:1

ฉันได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยการวางมือ

  • การได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยการวางมือมีกล่าวไว้หลายข้อใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 51–57 นี่อาจเป็นโอกาสดีที่จะสอนเด็กเกี่ยวกับศาสนพิธีนี้ ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจดูภาพเด็กรับการยืนยันและบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพ ขอให้พวกเขาปรบมือเมื่อได้ยินคำว่า “การวางมือ” ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 52:10; 53:3; 55:1

  • ท่านอาจร้องเพลง “พระวิญญาณบริสุทธิ์” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 56) หรือเพลงคล้ายๆ กัน ช่วยเด็กหาคําและวลีในเพลงที่สอนเกี่ยวกับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

    เด็กชายรับการยืนยัน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 52:14–19

พระเจ้าทรงมีแบบฉบับที่จะช่วยไม่ให้ฉันถูกหลอก

  • เพื่อสอนเกี่ยวกับแบบแผนของพระเจ้าในการหลีกเลี่ยงการหลอกลวง ท่านอาจเริ่มโดยช่วยเด็กหาตัวอย่างของแบบแผน—ในธรรมชาติ ในผ้าห่มหรือเสื้อผ้าหลากสี หรือในชีวิตประจําวัน ช่วยพวกเขาหาแบบแผนที่พระเจ้าประทานใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 52:14–15 ให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจถ้อยคําที่ไม่คุ้นเคยในข้อเหล่านี้ เราจะใช้แบบแผนนี้รับรู้ความจริงได้อย่างไร?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 54:4–6

ฉันควรรักษาพันธสัญญาของฉันเสมอ

  • เล่าให้เด็กฟังด้วยคําพูดของท่านเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับวิสุทธิชนผู้มาอาศัยอยู่บนที่ดินของลีมัน คอพลีย์ (ดู หัวบท ภาค 54) เด็กอาจแสดงเป็นสมาชิกของศาสนจักรที่มาถึงโอไฮโอแล้ว พวกเขาจะรู้สึกอย่างไรหลังจากลีมันละเมิดพันธสัญญาของเขา? เรื่องนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการรักษาพันธสัญญาหรือคำสัญญาของเรา? ร่วมกันอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 54:6 เพื่อค้นพบพรสําหรับผู้ที่รักษาพันธสัญญาของพวกเขา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 55:1-4

ฉันสามารถใช้พรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ฉันเพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่น

  • เพื่อแนะนํา ภาค 55 ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่เรียนรู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณและเข้าร่วมศาสนจักร อ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 55:1–4 กับเด็กและช่วยให้พวกเขาค้นพบสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้วิลเลียมทํา พระองค์ทรงวางแผนใช้พรสวรรค์ของวิลเลียมอย่างไร? สิ่งนี้จะนําไปสู่การสนทนาว่าพระผู้เป็นเจ้าอาจทรงเชื้อเชิญให้เราใช้พรสวรรค์ของเราเป็นพรแก่บุตรธิดาของพระองค์อย่างไร

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

วิสุทธิชนอุทิศถวายสิ่งของต่างๆ ของพวกเขา

อธิการพาร์ทริจรับของที่อุทิศถวาย โดย อัลบิน เวเซลคา

หน้ากิจกรรมสําหรับเด็ก