“23-29 มิถุนายน: ‘สูงค่าเกินกว่าความมั่งคั่งของทั้งแผ่นดินโลก’: หลักคำสอนและพันธสัญญา 67–70,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)
“หลักคําสอนและพันธสัญญา 67–70” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: 2025
23–29 มิถุนายน: “สูงค่าเกินกว่าความมั่งคั่งของทั้งแผ่นดินโลก”
หลักคำสอนและพันธสัญญา 67–70
ตั้งแต่ปี 1828 ถึงปี 1831 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยมากมายจากพระเจ้า รวมถึงคำแนะนำสำหรับแต่ละบุคคล คำสอนเรื่องการปกครองศาสนจักร นิมิตของยุคสุดท้าย และความจริงที่สร้างแรงบันดาลใจมากมายแห่งนิรันดร แต่วิสุทธิชนจำนวนมากไม่ได้อ่าน การเปิดเผยยังไม่ได้จัดพิมพ์ และบางส่วนเขียนเป็นลายมือไว้บนแผ่นกระดาษที่เวียนอยู่ในหมู่สมาชิกและผู้สอนศาสนาพกติดตัว
จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 1831 โจเซฟเรียกประชุมสภาผู้นำศาสนจักรเพื่อพูดถึงการจัดพิมพ์การเปิดเผย หลังจากทราบพระประสงค์ของพระเจ้าแล้ว ผู้นำเหล่านี้จึงวางแผนจัดพิมพ์หนังสือพระบัญญัติ—เล่มก่อนพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาในปัจจุบัน ไม่นานทุกคนก็ได้อ่านพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าที่เปิดเผยผ่านศาสดาพยากรณ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ หลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า “กุญแจทั้งหลายของความลี้ลับแห่งอาณาจักรของพระผู้ช่วยให้รอดของเราฝากฝังไว้อีกครั้งหนึ่งกับมนุษย์” ด้วยเหตุผลเหล่านี้และอีกมากมาย วิสุทธิชนสมัยนั้นและสมัยนี้จึงถือว่าการเปิดเผยเหล่านี้ “สูงค่าเกินกว่าความมั่งคั่งของทั้งแผ่นดินโลก” (หัวบทของ หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 70)
ดู วิสุทธิชน, 1:140–143
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:1–9; 68:3–6
ผู้รับใช้ของพระเจ้ากล่าวพระประสงค์ของพระองค์เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจ
การตัดสินใจจัดพิมพ์การเปิดเผยที่โจเซฟ สมิธได้รับดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ผู้นำศาสนจักรบางคนในยุคแรกไม่แน่ใจว่านั่นเป็นความคิดที่ดี ข้อกังวลหนึ่งเกี่ยวข้องกับข้อบกพร่องในวิธีที่โจเซฟ สมิธใช้เขียนการเปิดเผย การเปิดเผยใน ภาค 67 มาเพื่อตอบข้อกังวลนั้น ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้าและการเปิดเผยจาก ข้อ 1–9? ท่านได้ข้อคิดอะไรเพิ่มเติมจาก 68:3–6?
ท่านรู้ด้วยตนเองได้อย่างไรว่าการเปิดเผยที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ผู้รับใช้ของพระองค์เป็นความจริง? ท่านอาจไตร่ตรองประสบการณ์เมื่อท่านรู้สึกว่าพระเจ้ากําลังตรัสกับท่านผ่านผู้รับใช้คนหนึ่งของพระองค์ (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 68:4) เมื่อใดที่ท่านเคยรู้สึกว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจ” (ข้อ 3) ให้ท่านพูดบางอย่าง? พระเจ้าทรง “ยืนเคียงข้าง [ท่าน]” อย่างไร? (ข้อ 6)
ก่อนพิมพ์หนังสือพระบัญญัติ ผู้นำศาสนจักรหลายท่านเซ็นชื่อกำกับประจักษ์พยานที่เขียนไว้ว่าการเปิดเผยในหนังสือเล่มนั้นเป็นความจริง ดูสำเนาประจักษ์พยานของท่านเหล่านั้นที่ Testimony, circa 2 November 1831,” Revelation Book 1, 121, josephsmithpapers.org
หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:10–14
“จงดำเนินต่อไปด้วยความอดทน”
ความริษยา ความกลัว และความจองหองขัดขวางเราไม่ให้เข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นอย่างไร? เราจะเอาชนะ “มนุษย์ปุถุชน” หรือ “จิตที่ฝักใฝ่ทางโลก” ได้อย่างไรเพื่อเราจะสามารถ “เห็น [พระองค์] และรู้ว่า [พระองค์] ทรงดำรงอยู่”? (ข้อ 12; ดู โมไซยาห์ 3:19 ด้วย) ท่านพบอะไรในข้อเหล่านี้ที่ดลใจให้ท่าน “ดำเนินต่อไปด้วยความอดทนจนกว่า [ท่าน] จะได้รับการทำให้ดีพร้อม”? (ข้อ 13)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–31
ฉันสามารถช่วยให้บ้านของฉันมีพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลาง
พระดํารัสของพระเจ้าใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 68:25–31 กล่าวถึงบิดามารดาโดยเฉพาะ แต่ไม่ว่าท่านจะเป็นบิดามารดาหรือไม่ ท่านสามารถใช้คําแนะนําของพระองค์ทําส่วนของท่านเพื่อให้บ้านของท่านมีศูนย์กลางอยู่ที่หลักคําสอนของพระเยซูคริสต์ ต่อไปนี้เป็นหลักธรรมบางประการที่พระเจ้าตรัสว่าควรสอนในบ้าน พิจารณาว่าท่านจะทําให้แต่ละส่วนนี้เป็นรากฐานของบ้านที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง—บ้านที่ท่านอาศัยอยู่เวลานี้หรือบ้านในอนาคตได้อย่างไร แหล่งช่วยและคำถามที่ให้ไว้สามารถช่วยได้
-
การกลับใจ: ศึกษา แอลมา 36:17–20 และสังเกตวิธีที่แอลมาได้รับพรในช่วงเวลาวิกฤติเพราะบิดาสอนท่านเกี่ยวกับพระพันธกิจเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ครอบครัวท่านหันไปหาพระเยซูคริสต์และกลับใจได้อย่างไร? (ดู 2 นีไฟ 25:26 ด้วย)
-
ศรัทธาในพระคริสต์: อ่านคําแนะนําห้าข้อของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสําหรับการพัฒนาศรัทธาใน “พระคริสต์ทรงฟื้น; ศรัทธาในพระองค์จะเคลื่อนภูเขา” (เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 103) ไตร่ตรองว่าข้อเสนอแนะเหล่านี้จะสร้างวัฒนธรรมแห่งศรัทธาในครอบครัวท่านได้อย่างไร
-
บัพติศมา: ทบทวนพันธสัญญาบัพติศมาดังที่อธิบายไว้ใน โมไซยาห์ 18:8–10, 13 การพยายามรักษาพันธสัญญานี้จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวท่านอย่างไร?
-
ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์: ศึกษาคําเชื้อเชิญใน หน้า 17–19 ของ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน: คู่มือแนะแนวการเลือก ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทําอะไรเพื่อเชื้อเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในบ้านท่าน?
-
การสวดอ้อนวอน: ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพลังของการสวดอ้อนวอนในบ้านใน “รักได้เอ่ยที่นี่”? (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 102–103) พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาพรอะไรบ้างใน 3 นีไฟ 18:15–21?
-
หลักธรรมอื่นๆ ที่ท่านพบใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–31?
ท่านจะให้คําแนะนําอะไรแก่คนที่สมาชิกครอบครัวไม่สนับสนุนให้พวกเขาพยายามสร้างศรัทธาในพระคริสต์?
ดู “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ;ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความเข้มแข็งของพ่อแม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2023, 55–59
เพื่อนที่ “แน่วแน่และซื่อสัตย์” ช่วยฉันติดตามพระเยซูคริสต์
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงเป็น “[พระ] ปรีชาญาณใน [พระเจ้า]” สำหรับผู้ที่ “แน่วแน่และซื่อสัตย์” ที่จะไปกับออลิเวอร์ คาวเดอรีในงานมอบหมายที่บรรยายไว้ในข้อนี้? หลักธรรมนี้ประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไร?
ฉันรับผิดชอบต่อการเปิดเผยที่พระเจ้าประทานแก่ฉัน
พระเจ้าทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบให้เอ็ลเดอร์บางคนควบคุมดูแลการจัดพิมพ์การเปิดเผย ถึงแม้ท่านจะไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเจาะจงเช่นนั้น แต่ท่านมีหน้าที่พิทักษ์ดูแลหรือรับผิดชอบ “การเปิดเผยและบัญญัติทั้งหลาย” อะไรบ้าง? (ข้อ 3)
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
หลักคำสอนและพันธสัญญาสอนฉันเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์
-
เล่าให้เด็กฟังว่าการเปิดเผยของโจเซฟ สมิธพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือได้อย่างไร (ดู “บทที่ 23: หลักคำสอนและพันธสัญญา” ใน เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา, 90–92 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) ช่วยให้พวกเขาจดจําบางสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากหลักคําสอนและพันธสัญญามาจนถึงในปีนี้ ท่านอาจแบ่งปันข้อโปรดบางข้อของท่านจากหลักคําสอนและพันธสัญญาให้กันด้วย
-
ท่านอาจให้เด็กดูพระคัมภีร์ไบเบิล พระคัมภีร์มอรมอน หลักคําสอนและพันธสัญญา และไข่มุกอันล้ำค่า และพูดคุยกับพวกเขาว่าพระคัมภีร์เหล่านี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร (ดูคําบรรยายของพระคัมภีร์เหล่านี้ใน คู่มือพระคัมภีร์) เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระคัมภีร์เป็นความจริง? เราเรียนรู้อะไรจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:4, 9 เกี่ยวกับการเปิดเผยที่พระเจ้าประทานแก่โจเซฟ สมิธ?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–31
ฉันสามารถรับบัพติศมาเมื่ออายุแปดขวบ
-
ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 68:27 พระเจ้าทรงระบุว่าบุคคลนั้นอายุเท่าใดจึงจะรับบัพติศมาได้ ช่วยให้เด็กค้นพบสิ่งที่พระองค์ตรัส เหตุใดพระเยซูทรงต้องการให้เรารับบัพติศมา? เพลงอย่าง “บัพติศมา” (หนังสือเพลงสําหรับเด็ก, 54–55) อาจช่วยได้ ใช้ภาพหรือ ข้อ 25–31 (หรือทั้งสองอย่าง) ช่วยให้เด็กค้นพบสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้เด็กเรียนรู้
-
อ่านร่วมกับเด็กเกี่ยวกับงานมอบหมายที่พระเจ้าประทานแก่ออลิเวอร์ คาวเดอรีในหัวบทของ หลักคําสอนและพันธสัญญาภาค 69 พระเจ้าประทานคำแนะนําอะไรใน ข้อ 1? เหตุใดการอยู่กับคน “ที่จะแน่วแน่และซื่อสัตย์” จึงสำคัญ? เด็กอาจเล่าเรื่องคนรู้จักที่ “แน่วแน่และซื่อสัตย์” ร้องเพลงด้วยกันที่ส่งเสริมให้เด็กแน่วแน่และซื่อสัตย์เหมือนพระผู้ช่วยให้รอด เช่น “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนพระเยซู” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 40–41) เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าใจเราแน่วแน่และซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า? พระองค์จะทรงใช้เราเป็นพรแก่ผู้อื่นเมื่อเราแน่วแน่และซื่อสัตย์ได้อย่างไร?