“22–28 กันยายน: ‘ระเบียบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า’: หลักคําสอนและพันธสัญญา 106–108,” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคําสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)
“หลักคําสอนและพันธสัญญา 106–108” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: 2025
22–28 กันยายน: “ระเบียบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า”
หลักคำสอนและพันธสัญญา 106–108
แวบแรกที่เห็น หลักคำสอนและพันธสัญญา 107 อาจดูเหมือนเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบตำแหน่งฐานะปุโรหิตในโครงสร้างผู้นำสำหรับศาสนจักรของพระเจ้าเท่านั้น ในช่วงที่ตีพิมพ์การเปิดเผยนี้ สมาชิกภาพศาสนจักรมีมากเกินกว่าที่ผู้นำเพียงไม่กี่คนจะสามารถดูแลได้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องสรุปบทบาทและความรับผิดชอบของฝ่ายประธานสูงสุด โควรัมอัครสาวกสิบสอง สาวกเจ็ดสิบ อธิการ และฝ่ายประธานโควรัมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่คำแนะนำอันศักดิ์สิทธิ์ใน ภาค 107 มีมากยิ่งกว่าวิธีจัดระเบียบผู้นำศาสนจักร ในนี้ พระเจ้าทรงสอนเราเกี่ยวกับพลังอํานาจและสิทธิอํานาจของพระองค์ “ฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์, ตามระเบียบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 3) จุดประสงค์ของฐานะปุโรหิตคือไข “พรทางวิญญาณทั้งปวงของศาสนจักร” เพื่อ “ให้สวรรค์เปิด” ต่อบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าและ “ปีติยินดีกับการติดต่อและพระสิริแห่งพระผู้เป็นเจ้า พระบิดา, และพระเยซู สื่อกลางแห่งพันธสัญญาใหม่” (ข้อ 18–19) ในการสอนเราเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเราเกี่ยวกับพระองค์และวิธีที่เราจะมาหาพระองค์
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
หลักคำสอนและพันธสัญญา 106; 108
พระเจ้าทรงสนับสนุนฉันเมื่อพระองค์ทรงเรียกฉันให้รับใช้
ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 106 และ 108 พระเจ้าประทานคำแนะนำและคำสัญญาแก่สมาชิกสองคนที่ทรงเรียกให้รับใช้ในศาสนจักรของพระองค์ ขณะที่ท่านศึกษาคําแนะนําของพระองค์ ท่านอาจนึกถึงโอกาสของท่านเองในการรับใช้พระเจ้า—อาจเป็นงานมอบหมายการปฏิบัติศาสนกิจ การเรียกในศาสนจักร ความรับผิดชอบในครอบครัวท่าน หรือการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณให้ทําความดี
ท่านคิดว่าข่าวสารของพระเจ้าถึงท่านในการเปิดเผยเหล่านี้คืออะไร? วลีใดดูเหมือนจะมีความหมายต่อท่านเป็นพิเศษ? พึงพิจารณาบางข้อคำถามต่อไปนี้:
-
เมื่อใดที่พระเจ้าประทาน “พระคุณ [หรือความช่วยเหลืออันศักดิ์สิทธิ์] และความมั่นใจ” แก่ท่านเพื่อจะสามารถรับใช้พระองค์? (หลักคำสอนและพันธสัญญา 106:8)
-
ท่านคิดว่าการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้อื่น “ในการกระทําทั้งหมดของ [ท่าน]” หมายความว่าอย่างไร? (หลักคำสอนและพันธสัญญา 108:7)
เมื่อเอ็ลเดอร์คาร์ล บี. คุกได้รับมอบหมายงานที่ยากของศาสนจักร ท่านดึงความเข้มแข็งจากประสบการณ์ของบรรพชน อ่านเรื่องนี้ในข่าวสารของท่านเรื่อง “รับใช้” (เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 110–112) ท่านอาจเขียนจดหมายกระตุ้นลูกหลานของท่าน—หรือตัวท่านในอนาคต—ให้ยอมรับโอกาสรับใช้พระเจ้า อีกทั้งเขียนความจริงที่ท่านเรียนรู้จากข่าวสารของเอ็ลเดอร์คุก หลักคําสอนและพันธสัญญา 106 และ 108 ตลอดจนประสบการณ์ของท่านเองไว้ในจดหมายของท่าน
ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “จงเดินกับเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 82–85 ด้วย
หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:1–4, 18–20
ฐานะปุโรหิต “[เป็นไป] ตามระเบียบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า”
พระเจ้าทรงเริ่มต้น “การเปิดเผยเรื่องฐานะปุโรหิต” ของพระองค์ (หัวบทของ หลักคําสอนและพันธสัญญา 107) โดยทรงสอนเราถึงชื่อเดิมของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (ดู ข้อ 1–4) ท่านคิดว่าเหตุใดการรู้เช่นนั้นจึงสําคัญ? ชื่อนี้ส่งผลต่อวิธีคิดของท่านเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตอย่างไร?
นึกถึงความคิดเหล่านี้ไว้เสมอเมื่อท่านอ่านเกี่ยวกับฐานะปุโรหิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ข้อ 18–20 “ให้สวรรค์เปิด” หมายความว่าอย่างไร? “ปีติยินดีกับการติดต่อและพระสิริแห่งพระผู้เป็นเจ้า พระบิดา, และพระเยซู” หมายความว่าอย่างไร? พลังอํานาจและสิทธิอํานาจฐานะปุโรหิตของพระผู้ช่วยให้รอดทําให้ท่านมีทั้งหมดนี้ได้อย่างไร?
ผู้รับใช้ของพระเจ้า “ได้รับการสนับสนุนโดยความไว้วางใจ, ศรัทธา, และการสวดอ้อนวอนของศาสนจักร”
ท่านคิดว่าการเกื้อหนุนผู้รับใช้ของพระเจ้าโดยความไว้วางใจ ศรัทธา และการสวดอ้อนวอนของท่านหมายความว่าอย่างไร?
ดู “พระผู้เป็นเจ้าโปรดอวยพรศาสดา,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 11 ด้วย
หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:23–24, 33–35, 38, 91–92
ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์
โจเซฟ สมิธแบ่งปัน ภาค 107 ในปี 1835 กับโควรัมอัครสาวกสิบสองที่เพิ่งได้รับเรียก (ดูหัวบทของภาค) พระเจ้าทรงสอนอะไรเกี่ยวกับการเรียกของพวกเขาใน ข้อ 23–24, 33–35, 38? พยานของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์เข้มแข็งขึ้นอย่างไรจากการสอนและการปฏิบัติศาสนกิจของอัครสาวกที่มีชีวิตอยู่ของพระองค์?
ใน ข้อ 91–92 พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับอัครสาวกอาวุโสของพระองค์ ประธานศาสนจักร ประธานศาสนจักร “เหมือนโมเสส” อย่างไร? (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “โมเสส,” คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ)
ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “เลือกให้แสดงประจักษ์พยานถึงนามของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 128–131 ด้วย
หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:27–31, 85–89
พระเจ้าทรงทำงานของพระองค์ให้สำเร็จผ่านสภา
สังเกตสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับสภาใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 107:27–31, 85–89 อะไรทําให้สภามีประสิทธิภาพ? ท่านจะประยุกต์ใช้หลักธรรมเหล่านี้ในการเรียกในศาสนจักร บ้าน หรือความรับผิดชอบอื่นๆ ของท่านอย่างไร?
ดู เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “สภาครอบครัว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 63–65; คู่มือทั่วไป, 4.3–4.4, คลังค้นคว้าพระกิตติคุณด้วย
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:18–20
พระเยซูคริสต์ประทานพรฉันผ่านพลังอํานาจฐานะปุโรหิตของพระองค์
-
ขณะที่ท่านและเด็กอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 107:18–19 ด้วยกัน ให้เน้นวลี “พรทางวิญญาณทั้งปวง” ท่านและเด็กอาจเขียนพรที่มาจากฐานะปุโรหิตเป็นข้อๆ ท่านอาจทำให้เรื่องนี้เป็นเกม—ดูว่าใครเขียนได้ยาวที่สุด เด็กอาจวาดรูปหรือหารูปภาพแทนพรเหล่านี้ได้เช่นกัน (ดู หน้ากิจกรรม ของสัปดาห์นี้) จากนั้นท่านอาจพูดคุยกันว่าศาสนพิธีฐานะปุโรหิต (เช่น บัพติศมาหรือศีลระลึก) ช่วยให้เราได้รับพรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร
หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:21–26, 33–35, 91–92
ผู้รับใช้ที่พระเจ้าทรงเลือกจะนำศาสนจักรของพระองค์
-
เลียโฮนา ฉบับการประชุมใหญ่ทุกฉบับมีภาพเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่หนึ่งหน้า ท่านอาจดูภาพเหล่านี้กับเด็กขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับความรับผิดชอบของพวกเขาใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 107:21–26, 33–35, 91–92 ท่านและเด็กอาจพูดคุยกันว่าเหตุใดท่านรู้สึกขอบคุณที่พระเจ้าประทานความรับผิดชอบเหล่านี้แก่พวกเขา
-
เด็กสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้รับใช้ของพระเจ้าได้ที่ “General Church Leadership [ผู้นําระดับสามัญของศาสนจักร]” ใน ChurchofJesusChrist.org เด็กแต่ละคนสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับหนึ่งในผู้นําเหล่านี้และสอนกันและกันเกี่ยวกับผู้นําคนนั้น แบ่งปันกันว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าผู้นําเหล่านี้เป็นผู้รับใช้ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์
-
หลังจากอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 107:22 ด้วยกันแล้ว ท่านและเด็กอาจผลัดกันถือภาพฝ่ายประธานสูงสุดและแบ่งปันวิธีที่ท่านสามารถสนับสนุนพวกเขาในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า
ฉันสามารถดําเนินชีวิตตามพันธสัญญาของฉันอย่างรอบคอบ
-
เพื่อเริ่มการสนทนาเกี่ยวกับข้อนี้ ท่านอาจเชื้อเชิญให้เด็กทําบางสิ่งที่ต้องใส่ใจอย่างระมัดระวัง เช่น รินน้ำลงในแก้วโดยที่น้ำไม่หก จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราไม่ระมัดระวัง? จากนั้นท่านอาจอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 108:3 เพื่อดูว่าพระเจ้าทรงต้องการให้เราทําอะไรอย่างระมัดระวัง เรายึดถือ “คําปฏิญาณ” (คําสัญญาหรือพันธสัญญา) อะไรกับพระผู้เป็นเจ้า? เราจะระวังมากขึ้นในการรักษาคําปฏิญาณเหล่านั้นได้อย่างไร? ท่านอาจแบ่งปันข่าวสารบางตอนของซิสเตอร์เบคกี้ เครเวนเรื่อง “รอบคอบตรงข้ามกับหละหลวม” (เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 9–11) ที่ท่านรู้สึกว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรักษาพันธสัญญาของพวกเขา ท่านอาจร้องเพลงเกี่ยวกับการรักษาพันธสัญญา เช่น “ฉันจะกล้าหาญ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 85)