จงตามเรามา
29 กันยายน–5 ตุลาคม: “ที่นี่เป็นพระนิเวศน์ของพระองค์, สถานที่แห่งความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์”: หลักคําสอนและพันธสัญญา 109–110


“29 กันยายน–5 ตุลาคม: ‘ที่นี่เป็นพระนิเวศน์ของพระองค์, สถานที่แห่งความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์’: หลักคําสอนและพันธสัญญา 109–110” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)

“หลักคําสอนและพันธสัญญา 109–110” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2025

การอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์

แสงแห่งรัศมีภาพ—พระวิหารเคิร์ทแลนด์ โดย เกล็น เอส. ฮอพคินสัน

29 กันยายน–5 ตุลาคม: “ที่นี่เป็นพระนิเวศน์ของพระองค์, สถานที่แห่งความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์”

หลักคำสอนและพันธสัญญา 109–110

ประตูพระวิหารเคิร์ทแลนด์จะไม่เปิดจนกว่าจะแปดโมงเช้าของวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1836 แต่วิสุทธิชนที่หวังจะเข้าร่วมพิธีอุทิศเริ่มต่อแถวตั้งแต่เจ็ดโมง ผู้คนล้นออกมาจนต้องมีการประชุมสองรอบเพื่อรองรับทุกคน ไม่เฉพาะคนเป็นเท่านั้นที่กระตือรือร้นจะอยู่ร่วมพิธี พยานหลายคนเห็นเหล่าเทพในพระวิหารและแม้กระทั่งบนหลังคาในระหว่างและหลังการอุทิศ ดูเหมือน “ทัพสวรรค์” จะมา “ร่วมร้องเพลง [และ] โห่ร้อง” กับวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจริงๆ (“พระวิญญาณพระเจ้าเพลงสวด บทเพลงที่ 2)

เหตุใดทั้งสองด้านของม่านจึงตื่นเต้นขนาดนั้น? หลังจากผ่านไปหลายศตวรรษ ในที่สุดก็มีพระนิเวศน์ของพระเจ้าอีกครั้งบนแผ่นดินโลก พระเจ้าทรงทําให้คําสัญญาของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลที่จะประสาทวิสุทธิชนของพระองค์ด้วย “อํานาจจากเบื้องบน” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 38:32) และนี่พระองค์ทรงประกาศว่าเป็นเพียง “การเริ่มต้นพร” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 110:10) ยุคที่เรามีชีวิตอยู่ตอนนี้—พร้อมด้วยงานพระวิหารที่เร่งความเร็วและศาสนพิธีที่มีให้หลายล้านคนทั้งคนเป็นและคนตาย—เริ่มต้นแล้วในเคิร์ทแลนด์เมื่อ “ม่านปกคลุมพิภพเริ่มคลี่คลายขยายจร” (“พระวิญญาณพระเจ้า”)

ดู Saints, 1:232–241; “A House for Our God,” ใน Revelations in Context, 169–172 ด้วย

ไอคอนศึกษา

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 109

ไอคอนเซมินารี
พระเจ้าประทานพรมากมายให้ฉันผ่านพันธสัญญาพระวิหาร

พระวิหารเคิร์ทแลนด์แตกต่างจากพระวิหารที่เรารู้จักในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ไม่มีแท่นบูชาและไม่มีอ่างบัพติศมา แต่พรที่บรรยายไว้ใน ภาค 109 ซึ่งเป็นคำสวดอ้อนวอนอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์มีอยู่ในพระนิเวศน์ของพระเจ้าในปัจจุบันเช่นกัน ทบทวนข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้เพื่อหาพรเหล่านี้ และไตร่ตรองว่าพรเหล่านี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ของท่านกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร

ข้อ 5, 12–13 (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:6–8 ด้วย): ในพระนิเวศน์พระเจ้า พระองค์ทรงสามารถแสดงองค์ให้ประจักษ์แก่ฉัน และฉันสามารถรู้สึกถึงเดชานุภาพของพระองค์

ข้อ 9, 15–19, 26, 78–79:

ข้อ 21–23:

ข้อ 24–33, 42–46:

ข้อ 35–39:

พรอื่นๆ:

หากท่านเคยไปพระนิเวศน์ของพระเจ้า ลองพิจารณาว่าสัญญาเหล่านี้เกิดสัมฤทธิผลในชีวิตท่านอย่างไร

เพลงสวด “พระวิญญาณพระเจ้า” (เพลงสวด บทเพลงที่ 2) เขียนไว้สำหรับการอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์—และร้องที่การอุทิศพระวิหารทุกครั้งนับตั้งแต่นั้นมา ท่านอาจร้องหรือฟังเพลงนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและการนมัสการของท่าน ท่านพบพรอะไรบ้างของพระวิหารในเพลงสวดนี้?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 109

การสวดอ้อนวอนเป็นการสื่อสารกับพระบิดาบนสวรรค์

ภาค 109 เป็นคำสวดอ้อนวอนอุทิศที่ประทานแก่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธโดยการเปิดเผย (ดูหัวบทของภาค) ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับคำสวดอ้อนวอนจากภาคนี้? ตัวอย่างเช่น ท่านอาจบันทึกว่าศาสดาพยากรณ์น้อมขอบพระทัยสำหรับสิ่งใดและทูลขอพรอะไรบ้าง ท่านศาสดาพยากรณ์กล่าวอะไรอีกในคำสวดอ้อนวอนนี้? ขณะที่ศึกษา ท่านอาจประเมินการสื่อสารของท่านกับพระบิดาบนสวรรค์ ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระองค์และพระบุตรของพระองค์จากคําสวดอ้อนวอนนี้?

หากท่านต้องการอ่านคําสวดอ้อนวอนอุทิศพระวิหารแห่งอื่น รวมถึงพระวิหารใกล้ท่านมากที่สุด ให้ไปที่หน้าพระวิหารที่ temples.ChurchofJesusChrist.org

หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:1–10

พระเจ้าทรงสามารถแสดงองค์ให้ประจักษ์แก่ฉันในพระนิเวศน์ของพระองค์

ขณะที่ท่านอ่านคําบรรยายของพระผู้ช่วยให้รอดใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 110:1–10 รวมถึงหัวบทของภาค ให้ไตร่ตรองว่าข้อเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับพระองค์

พระเยซูคริสต์ทรงแสดงพระองค์ให้ประจักษ์—หรือทําให้พระองค์เป็นที่รู้แก่ท่าน—ในพระนิเวศน์ของพระองค์อย่างไร? พระองค์ทรงช่วยให้ท่านรู้ได้อย่างไรว่าพระองค์ทรงยอมรับการเสียสละของท่าน?

ภายในพระวิหารเคิร์ทแลนด์

ภายในพระวิหารเคิร์ทแลนด์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:10–16

พระผู้ช่วยให้รอดทรงกํากับดูแลงานของพระองค์ผ่านกุญแจฐานะปุโรหิต

ก่อนโมเสส เอลีอัส และเอลียาห์ปรากฏในพระวิหารเพื่อฟื้นฟู กุญแจฐานะปุโรหิต พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “นี่เป็นการเริ่มต้นพรซึ่งจะเทลงบนศีรษะผู้คนของเรา” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 110:10) ขณะที่ท่านอ่าน ข้อ 11–16 ให้นึกถึงพรที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเทลงมาให้ท่านผ่านงานที่กุญแจเหล่านี้กํากับดูแล ตัวอย่างเช่น:

  • ข้อ 11: โมเสสและกุญแจทั้งหลายของการรวบรวมอิสราเอล (หรืองานเผยแผ่ศาสนา) พระเจ้าประทานพรท่านและครอบครัวท่านผ่านงานเผยแผ่ศาสนาของศาสนจักรของพระองค์อย่างไร?

  • ข้อ 12: เอลีอัสและกุญแจทั้งหลายของพระกิตติคุณของอับราฮัม รวมถึง พันธสัญญาแห่งอับราฮัม พระเจ้าจะประทานพรท่านและ “คนรุ่นต่อจาก [ท่าน]” เพราะพันธสัญญาของท่านได้อย่างไร? (ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พันธสัญญาอันเป็นนิจ,” เลียโฮนา, ต.ค. 2022, 4–11; คู่มือพระคัมภีร์, “เอลีอัส,” คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ)

  • ข้อ 13–16: เอลียาห์และอํานาจการผนึกประจักษ์ผ่านงานพระวิหารและประวัติครอบครัว ท่านคิดว่าเหตุใดพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ท่านเชื่อมโยงกับบรรพชนของท่านผ่านศาสนพิธีพระวิหาร? (ดู เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง, “มีความสุขตลอดไป,” เลียโฮนา, พ.ย. 2022, 83–86)

ท่านเห็นความเชื่อมโยงอะไรบ้างระหว่างกุญแจเหล่านี้กับความรับผิดชอบของเราในงานแห่งความรอดและความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้า (การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ การดูแลคนขัดสน การเชื้อเชิญให้ทุกคนรับพระกิตติคุณ และการทำให้ครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวกันชั่วนิรันดร์)?

ท่านเคยมีประสบการณ์อะไรบ้างกับงานแห่งความรอดและความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้า? ประสบการณ์เหล่านี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด ศาสนจักรของพระองค์ และงานของพระองค์?

หาวิธีให้ผู้อื่นมีส่วนร่วม หากท่านสอนเกี่ยวกับ หลักคําสอนและพันธสัญญา 110:11–16 ท่านอาจมอบหมายให้ผู้เรียนแต่ละคนศึกษาเกี่ยวกับโมเสส เอลีอัส หรือเอลียาห์และกุญแจที่เขาฟื้นฟู จากนั้นผู้เรียนอาจแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาค้นพบให้กันและกัน วิธีเช่นนี้ทำให้ทุกคนมีส่วนในการเรียนรู้และการสอน (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 24–27)

ดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

ไอคอนหมวดเด็ก 03

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:12–13; 110:1–7

พระวิหารเป็นพระนิเวศน์ของพระเจ้า

  • ท่านและเด็กอาจพูดคุยกันถึงสิ่งที่ท่านชอบเกี่ยวกับบ้านของท่าน ท่านอาจให้เด็กดูภาพพระวิหารเคิร์ทแลนด์และใช้ หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:12–13; 110:1–7 เพื่อพูดคุยว่าพระวิหารนั้นได้รับการอุทิศและกลายเป็นพระนิเวศน์ของพระเจ้าได้อย่างไร (ดู “บทที่ 39: อุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์” ใน เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา, 154 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) แบ่งปันกันถึงบางอย่างที่ท่านรักเกี่ยวกับพระนิเวศน์ของพระเจ้า

    2:17

    Chapter 39: The Kirtland Temple Is Dedicated: January–March 1836

  • บางทีท่านและเด็กอาจจินตนาการว่าเพื่อนคนหนึ่งพยายามหาบ้านของท่าน เราจะช่วยให้เพื่อนรู้ได้อย่างไรว่าบ้านหลังไหนเป็นบ้านของเรา? เรารู้ได้อย่างไรว่าพระวิหารเป็นพระนิเวศน์ของพระเจ้า? (ดู หลักคําสอนและพันธสัญญา 109:12–13)

รูปปั้นพระคริสต์ใกล้พระวิหารโรม อิตาลี

หลักคำสอนและพันธสัญญา 110

พระผู้ช่วยให้รอดประทานพรผู้คนของพระองค์ผ่านกุญแจฐานะปุโรหิต

  • ท่านอาจใช้ หน้ากิจกรรม ของสัปดาห์นี้หรือ “บทที่ 40: นิมิตในพระวิหารเคิร์ทแลนด์” (ใน เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา, 155–157 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) เพื่อเล่าให้เด็กฟังเกี่ยวกับสัตภาวะบนสวรรค์ที่มาเยือนพระวิหาร ท่านอาจใช้ภาพที่อยู่ท้ายโครงร่างนี้ด้วย

    1:17

    The Kirtland Temple

  • เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความสําคัญของสิ่งที่เกิดขึ้นในพระวิหารเคิร์ทแลนด์ ท่านและเด็กอาจพูดคุยกันว่ากุญแจใช้ทําอะไร เด็กอาจผลัดกันถือกุญแจและทําเป็นเปิดประตูที่ล็อกอยู่ ช่วยพวกเขาหาคําว่า กุญแจ ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 110:11–16 และพูดคุยเกี่ยวกับพรที่กุญแจเหล่านี้ไข ท่านอาจอธิบายว่ากุญแจฐานะปุโรหิตเป็นการอนุญาตจากพระผู้เป็นเจ้าให้นำศาสนจักรของพระองค์ แสดงความสํานึกคุณที่พระเจ้าประทานกุญแจฐานะปุโรหิตแก่เรา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:15

พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้ฉันหันใจไปหาบรรพชน

  • หลังจากอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 110:15 ด้วยกัน เล่าให้เด็กฟังเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ช่วยหันใจท่านไปหาบรรพชนของท่าน ท่านอาจร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเช่น “ฉันกําลังทําประวัติครอบครัว” (หนังสือเพลงสําหรับเด็ก, 100)

  • อะไรจะช่วย “หันใจ” ของเด็กไปหาบรรพชนของพวกเขา? ท่านสามารถหาแนวคิดสนุกๆ ได้ที่ FamilySearch.org/discovery ท่านอาจทํางานด้วยกันเพื่อระบุบรรพชนที่ต้องการศาสนพิธีพระวิหาร เหตุใดพระเยซูทรงต้องการให้เราทำงานนี้?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

โมเสส เอลีอัส และเอลียาห์ปรากฏในพระวิหารเคิร์ทแลนด์

นิมิตในพระวิหารเคิร์ทแลนด์ โดย แกรีย์ อี. สมิธ

หน้ากิจกรรมสําหรับเด็ก