“20–26 ตุลาคม: ‘ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, พระองค์ประทับอยู่ที่ใดเล่า?’: หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–123” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)
“หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–123” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2025
20–26 ตุลาคม: “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, พระองค์ประทับอยู่ที่ใดเล่า?”
หลักคำสอนและพันธสัญญา 121–123
ชั้นล่างของคุกในลิเบอร์ตี้ มิสซูรีเรียกว่า “คุกใต้ดิน” ผนังหนา พื้นหินเย็นและสกปรก อาหารมีน้อยมากและเน่าบูด หน้าต่างลูกกรงเหล็กแคบๆ สองช่องใกล้เพดานเปิดรับแสงน้อยมาก นี่คือที่ซึ่งโจเซฟ สมิธและอีกไม่กี่คนใช้เวลาสี่เดือนที่หนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวปี 1838–1839 ระหว่างนี้โจเซฟได้รับข่าวไม่ขาดสายเกี่ยวกับความทุกข์ของวิสุทธิชน สันติสุขและการมองฟาร์เวสต์ในแง่ดีมีอยู่ไม่กี่เดือน ตอนนี้วิสุทธิชนเร่ร่อนอีกครั้ง ถูกขับไล่เข้าไปในแดนทุรกันดารเพื่อค้นหาที่ใหม่ให้เริ่มต้นอีกครั้ง—คราวนี้ศาสดาพยากรณ์ของพวกเขาอยู่ในเรือนจำ
ทว่าแม้ในคุกอันน่าสังเวชนั้น “ความรู้จากสวรรค์” ก็ “[เท] ลงมา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:33) คำถามของโจเซฟ “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, พระองค์ประทับอยู่ที่ใดเล่า” ได้รับคำตอบอย่างชัดเจนและทรงพลัง: “อย่ากลัว … เพราะพระผู้เป็นเจ้าจะทรงอยู่กับเจ้าตลอดกาลและตลอดไป” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1; 122:9)
ดู Saints, 1:323–396; “Within the Walls of Liberty Jail” ใน Revelations in Context, 256–263.
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–10, 23–33; 122
โดยพระผู้เป็นเจ้า ความยากลำบากสามารถ “เกิดขึ้นเพื่อความดี [ของฉัน]”
เมื่อเราหรือคนที่เรารักมีความทุกข์ เป็นธรรมดาที่จะสงสัยว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงนึกถึงเราหรือไม่ ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–6 ให้นึกถึงเวลาที่ท่านมีคำถามหรือความรู้สึกคล้ายกับโจเซฟ สมิธ ท่านพบอะไรในพระดำรัสตอบของพระเจ้าที่อาจจะช่วยท่านได้เมื่อท่านมีคำถามหรือความรู้สึกเหล่านี้? ตัวอย่างเช่น ใน ข้อ 7–10, 26–33 ให้สังเกตพรที่พระองค์ทรงสัญญา ท่านคิดว่า “อดทน … ด้วยดี” หมายความว่าอย่างไร? พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ท่านทำสิ่งนี้อย่างไร?
ขณะที่ท่านอ่าน ภาค 122 ให้พิจารณาว่าพระเจ้าทรงต้องการให้ท่านมองความยากลำบากของท่านอย่างไร ท่านอาจไตร่ตรองประสบการณ์ที่มาจากการทดลองของท่านและวิธีที่ประสบการณ์นั้นจะ “เกิดขึ้นเพื่อความดีของ [ท่าน]” (ข้อ 7)
ดู เควนทิน แอล. คุก, “สันติสุขส่วนตัวในช่วงเวลาท้าทาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 89–92; “หาสันติได้ที่ใด” เพลงสวด บทเพลงที่ 54 ด้วย
หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34–46
พลังอํานาจและอิทธิพลที่แท้จริงมีพื้นฐานบน “หลักธรรมแห่งความชอบธรรม”
อำนาจทางโลกบังคับวิสุทธิชนออกจากมิสซูรีและโจเซฟ สมิธเข้าคุก แต่ขณะที่โจเซฟอยู่ที่นั่น พระเจ้าทรงสอนท่านเกี่ยวกับพลังอำนาจอีกแบบหนึ่ง: เดชานุภาพของพระองค์ “อํานาจแห่งสวรรค์” การอ่านเกี่ยวกับพลังอำนาจนั้นใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 121:34–46 จะช่วยให้ท่านเรียนรู้วิธีได้รับพลังอำนาจนั้น—และวิธีใช้พลังอํานาจนั้นเป็นพรแก่ผู้อื่น ท่านอาจบันทึกสิ่งที่ท่านเรียนรู้ในตารางที่มีคอลัมน์ชื่อ อํานาจแห่งสวรรค์ และ อํานาจทางโลก อำนาจทั้งสองแตกต่างกันอย่างไร? คำอธิบายเหล่านี้เกี่ยวกับเดชานุภาพของพระเจ้าสอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระองค์?
ท่านอาจไตร่ตรองคำว่า อิทธิพล ใน ข้อ 41 เช่นกัน มีสถานการณ์ใดบ้างที่ท่านต้องการเป็นอิทธิพลดี—อาจจะในความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่โรงเรียน ที่ทํางาน หรือในงานมอบหมายของศาสนจักร? ท่านเรียนรู้อะไรจาก ข้อ 41–46 เกี่ยวกับวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีอิทธิพลต่อบุตรธิดาของพระองค์? ท่านอาจสรุปสิ่งที่ท่านเรียนรู้โดยเติมประโยคทํานองนี้ให้ครบถ้วน: “เพื่อมีอิทธิพล ในทางดี ฉันจะ ”
ดู เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ไม่ได้ให้อย่างที่โลกให้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 35–38; เดวิด เอ. เบดนาร์, “อำนาจแห่งสวรรค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 48–51; “อำนาจแห่งสวรรค์” (วีดิทัศน์), คลังค้นคว้าพระกิตติคุณด้วย
พระเยซูคริสต์ทรงลดพระฐานะลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวงเพื่อพระองค์จะทรงยกฉันขึ้น
ท่านคิดว่าการกล่าวว่าพระเยซูคริสต์ทรง “ลดพระฐานะลงต่ำกว่าสิ่ง [ทั้งปวง]” หมายความว่าอย่างไร? ต่อไปนี้เป็นข้อเพิ่มเติมบางข้อที่อาจช่วยให้ท่านเข้าใจวลีนี้: อิสยาห์ 53:3–4; ฮีบรู 2:17–18; 1 นีไฟ 11:16–33; แอลมา 7:11–13 จากสิ่งที่ท่านเรียนรู้ ท่านอาจพูดทวน หลักคําสอนและพันธสัญญา 122:8 ด้วยคําพูดของท่านเอง ท่านจะแสดงความสํานึกคุณต่อพระเยซูคริสต์ที่ทรงลดพระฐานะลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวงได้อย่างไร?
ข้อคิดนี้จากประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ส่งผลต่อความเข้าใจของท่านอย่างไร? “เราอาจบอกได้ว่าการเสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวงทำให้ [พระเยซูคริสต์] ทรงอยู่ในตำแหน่งสมบูรณ์ที่สุดที่จะยกเราและประทานพละกำลังที่เราต้องมีเพื่ออดทนต่อความทุกข์ของเรา” (“จงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 64)
“ให้เราทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเราอย่างรื่นเริง”
ใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 123:7–8 โจเซฟ สมิธกล่าวถึงความเชื่อผิดๆ ที่นําไปสู่ความทุกข์ รวมถึงการข่มเหงวิสุทธิชน ในเดือนมีนาคม ปี 1839 อาจดูเหมือนวิสุทธิชนทำอะไรได้ไม่มาก แต่ในจดหมายที่โจเซฟเขียนจากคุกลิเบอร์ตี้ ท่านบอกสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้: “[รวบรวม] ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงทั้งหมด” และ “ยืนนิ่ง, ด้วยความมั่นใจอย่างที่สุด, เพื่อเห็นความรอดแห่งพระผู้เป็นเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:1, 17) ขณะที่ท่านพิจารณาปัญหาในโลกทุกวันนี้ ให้คิดหาวิธีจัดการกับปัญหาที่ “อยู่ในอำนาจ [ของท่าน]” (ข้อ 12, 17) และอย่ามองข้ามสิ่งที่ดูเหมือนเป็น “เรื่องเล็กน้อย” (ข้อ 15) เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องทำสิ่งเหล่านี้ “อย่างรื่นเริง”? (ข้อ 17)
หลายเรื่องที่โจเซฟขอในจดหมายฉบับนี้ถูกส่งไปให้รัฐบาลและตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นอวู Times and Seasons 11 ตอน (ดู “A History, of the Persecution, of the Church of Jesus Christ, of Latter Day Saints in Missouri, December 1839–October 1840josephsmithpapers.org,” [])
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–9; 122:7–9
โดยพระผู้เป็นเจ้า ความยากลำบากเกิดขึ้นเพื่อความดีของฉัน
-
เพื่อช่วยให้เด็กจินตนาการว่าโจเซฟ สมิธและเพื่อนๆ ของท่านในคุกลิเบอร์ตี้จะเป็นอย่างไร ท่านอาจอ่าน “บทที่ 46: โจเซฟ สมิธในคุกลิเบอร์ตี้” ด้วยกัน (ใน เรื่องราวในหลักคําสอนและพันธสัญญา, 172–174) หรือ “เสียงของการฟื้นฟู: คุกลิเบอร์ตี้” หรือดูวีดิทัศน์เรื่อง “โจเซฟ สมิธ: ศาสดาพยากรณ์แห่งการฟื้นฟู” (คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ตั้งแต่รหัสเวลา 41:30) จากนั้นขณะที่ท่านอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 121:1–9 ด้วยกัน ท่านอาจพูดคุยกันว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้โจเซฟรู้สึกสงบอย่างไร เราจะพบสันติสุขในพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไรแม้ในช่วงเวลายากลําบาก?
-
เพื่อช่วยให้เด็กรับรู้ว่าการทดลองของเรา “จะเกิดขึ้นเพื่อความดี [ของเรา]” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:7) ท่านอาจพูดคุยกับพวกเขาว่ากล้ามเนื้อของเราโตขึ้นอย่างไรเมื่อเราแบกของหนัก ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขายกของหนักชิ้นหนึ่ง จากนั้นท่านอาจพูดคุยได้ว่าการผ่านช่วงเวลายากลำบากจะช่วยให้วิญญาณของเราเติบโตได้อย่างไร—เมื่อเราหันไปขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า แบ่งปันตัวอย่างบางส่วนจากชีวิตของท่าน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:34–46
ความชอบธรรมนํามาซึ่ง “อํานาจแห่งสวรรค์”
-
แนวเทียบนี้อาจจะช่วยให้เด็กเข้าใจ “อำนาจแห่งสวรรค์” ตัวอย่างเช่น ท่านอาจเปรียบเทียบเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้ากับพลังงานไฟฟ้า อะไรทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ได้รับพลังงาน? อะไรทำให้พลังทางวิญญาณของเราลดลง? อะไรทำให้เพิ่มขึ้น? (มองหาคําและวลีใน หลักคําสอนและพันธสัญญา 121:34–46; ดู คู่มือทั่วไป, 3.5, 3.6, คลังค้นคว้าพระกิตติคุณด้วย)
พระเยซูคริสต์ทรงทราบว่าฉันกำลังประสบสิ่งใด
-
หลังจากอ่าน หลักคําสอนและพันธสัญญา 122:7–9 กับเด็ก ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์เมื่อท่านรู้สึกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงอยู่กับท่านในช่วงการทดลองที่ยากลําบาก ท่านอาจร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกัน เช่น “ครั้งหนึ่งพระเยซูเคยเป็นเด็ก” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 34) และเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงช่วยเราได้เพราะพระองค์ทรงทราบว่าเรารู้สึกอย่างไร
หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:15–17
แม้แต่สิ่งเล็กน้อยก็ทำให้เกิดความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ได้ในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า
-
เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจ หลักคําสอนและพันธสัญญา 123:15–17 ท่านอาจแบ่งปันภาพเรือลําใหญ่และหางเสือใบเล็กๆ กับพวกเขา หรือแบ่งปันคําอธิบายของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ใน “หลักธรรมแห่งกิตติคุณของเรา” กับพวกเขา (เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 125–126) จากนั้นท่านอาจพูดถึงวิธีเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสามารถรับใช้ครอบครัวและเพื่อนๆ ของเราอย่างรื่นเริง