จงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์
เนื่องด้วยการชดใช้ของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีฤทธานุภาพที่จะช่วย—บรรเทา—ความเจ็ดปวดและความทุกข์ในมรรตัยทุกอย่าง
ในความเป็นมรรตัยเราต้องตายแน่นอนและมีบาปที่ต้องแบกรับ การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ลบล้างความแน่นอนทั้งสองอย่างนี้ของชีวิตมรรตัย แต่นอกจากความตายและบาป เราอาจมีการท้าทายอื่นๆ มากมายขณะดิ้นรนต่อไปตลอดชีวิตมรรตัย เพราะการชดใช้เดียวกันนั้น พระผู้ช่วยให้รอดของเราสามารถประทานพลังที่เราต้องการเพื่อเอาชนะความท้าทายแบบมรรตัยเหล่านี้ นี่คือหัวข้อของข้าพเจ้าในวันนี้
I.
เรื่องราวการชดใช้ในพระคัมภีร์ส่วนมากจะเกี่ยวกับการที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้สายรัดแห่งความตายขาดและทรงทนทุกข์เพื่อบาปของเรา ในคำเทศนาของแอลมาที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์มอรมอน ท่านสอนหลักธรรมพื้นฐานเหล่านี้ แต่ท่านให้การรับรองทางพระคัมภีร์ที่ชัดเจนที่สุดแก่เราด้วยว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบกับความเจ็บปวด ความป่วยไข้ และความทุพพลภาพของผู้คนของพระองค์เช่นกัน
แอลมาอธิบายส่วนนี้ของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดว่า “และพระองค์จะเสด็จออกไป, ทรงทนความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวงทุกอย่าง; และนี่ก็เพื่อคำซึ่งกล่าวว่าพระองค์จะทรงรับความเจ็บปวดและความป่วยไข้ของผู้คนของพระองค์จะได้เกิดสัมฤทธิผล.” (แอลมา 7:11; ดู 2 นีไฟ 9:21 ด้วย)
ลองคิดดู! ในการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงทน “ความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวงทุกอย่าง” ดังที่ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์อธิบายไว้ “พระองค์ไม่มีหนี้ต้องชำระ พระองค์ไม่ได้ทำผิด แต่กระนั้น ความรู้สึกผิดทั้งหมด ความเศร้าโศก โทมนัส ความเจ็บปวด ความอัปยศอดสู ความทรมานทางใจ อารมน์ และร่างกายทั้งหมดที่มนุษย์รู้จัก—พระองค์ประสบมาแล้วทั้งสิ้น”1
เหตุใดพระองค์จึงทรงทนทุกข์ในการท้าทายมรรตัย “ทุกอย่าง” เหล่านี้ แอลมาอธิบายว่า “และพระองค์จะทรงรับเอาความทุพพลภาพของพวกเขา, เพื่ออุทรของพระองค์จะเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา, ตามเนื้อหนัง, เพื่อพระองค์จะทรงรู้ตามเนื้อหนังว่าจะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร” (แอลมา 7:12)
ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลประกาศว่าเนื่องจากพระผู้ช่วยให้รอด “ทรงทนทุกข์และถูกทดลอง พระองค์จึงทรงสามารถช่วยผู้ที่ถูกทดลองได้” (ฮีบรู 2:18) เช่นเดียวกัน ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์สอนว่า “เนื่องจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงเคยทนทุกข์ในทุกเรื่องที่เรารู้สึกหรือประสบ พระองค์จึงทรงสามารถช่วยคนอ่อนแอให้กลับเข้มแข็งได้”2
พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบและทนต่อความท้าทายแบบมรรตัยทั้งหมดอย่างครบถ้วน “ตามเนื้อหนัง” เพื่อพระองค์จะทรงรู้ “ตามเนื้อหนัง” ว่าจะทรง “ช่วย [หมายถึงบรรเทาทุกข์หรือช่วยเหลือ] ผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร” ดังนั้นพระองค์จึงทรงรู้จักความยากลำบาก ความปวดใจ การล่อลวง และการทนทุกข์ของเรา เพราะพระองค์ทรงเต็มพระทัยประสบกับทุกสิ่งในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของการชดใช้ของพระองค์ และเพราะสิ่งนี้การชดใช้ให้ฤทธานุภาพแด่พระองค์ที่จะช่วยเหลือเรา—ให้พละกำลังเราในการอดทนต่อทุกสิ่ง
II.
ขณะคำสอนของแอลมาใน บทที่เจ็ด เป็นพระคัมภีร์ที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องของพลังที่สำคัญแห่งการชดใช้นี้ เรื่องนี้สอนไว้ตลอดพระคัมภีร์เช่นกัน
ในช่วงแรกเริ่มของการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ พระเยซูอธิบายว่าพระองค์ทรงถูกส่งมา “[เพื่อเยียวยาใจที่ชอกช้ำ]” (ดู ลูกา 4:18) พระคัมภีร์ไบเบิลบอกเราบ่อยครั้งถึงการรักษาผู้คน “จากโรคภัยต่างๆ” (ลูกา 5:15; 7:21) พระคัมภีร์มอรมอนบันทึกการเยียวยาของพระองค์ต่อผู้ “ที่มีทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง” (3 นีไฟ 17:9) กิตติคุณมัทธิวอธิบายว่าพระเยซูทรงเยียวยาผู้คน “เพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะที่ตรัสผ่านอิสยาห์ผู้เผยพระวจนะที่ว่า ‘ท่านแบกความเจ็บไข้ของเรา และหอบโรคของเราไป” (มัทธิว 8:17)
อิสยาห์สอนว่าพระเมสสิยาห์จะทรงแบก “ความเจ็บไข้” และ “ความเจ็บปวด” ของเราไป (อิสยาห์ 53:4) อิสยาห์ยังสอนถึงการที่พระองค์ทรงเสริมกำลังเราด้วยว่า “อย่ากลัวเลย เพราะเราอยู่กับเจ้า อย่าขยาด เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า เราจะเสริมกำลังเจ้า เราจะช่วยเจ้า” (อิสยาห์ 41:10)
ฉะนั้นเราจึงขับร้องว่า
“อย่ากลัวอะไรเลย เพราะเราจะอยู่กับเจ้า
เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า เราจะค้ำจุน
จะช่วยหนุนกำลัง จะช่วยตั้งเจ้าคงมั่น
จะชูเจ้าด้วยหัตถ์อันชอบธรรมเรืองฤทธา3
อัครสาวกเปาโลพูดถึงความท้าทายในชีวิตมรรตัยบางอย่างของท่านเอง ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า” (ฟีลิปปี 4:13)
และดังนั้นเราจึงเห็นว่าเนื่องด้วยการชดใช้ของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีฤทธานุภาพที่จะช่วย—บรรเทา—ความเจ็ดปวดและความทุกข์ในมรรตัยทุกอย่าง บางครั้งฤทธานุภาพของพระองค์เยียวยาความทุพพลภาพ แต่พระคัมภีร์และประสบการณ์ของเราสอนว่าบางครั้งพระองค์ทรงช่วยโดยประทานกำลังหรือความอดทนแก่เราเพื่อให้ทนต่อความทุพพลภาพของเรา4
III.
ความเจ็บปวด ความทุกข์ และความทุพพลภาพในมรรตัยเหล่านี้ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบและทนทุกข์คืออะไร
เราทุกคนต่างมีความเจ็บปวด ความทุกข์ และความทุพพลภาพ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง นอกจากสิ่งที่เราประสบเพราะบาปของเราความเป็นมรรตัยมักจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก ความปวดใจ และความทุกข์
เราและคนที่เรารักทนทุกข์ในความเจ็บป่วย ในบางครั้งเราแต่ละคนประสบความเจ็บปวดจากแผลบาดเจ็บหรือจากความยากลำบากอื่นๆ ทางกายหรือทางจิตใจ เราทุกคนทนทุกข์และเศร้าโศกกับความตายของคนที่เรารัก เราทุกคนประสบกับความล้มเหลวในหน้าที่รับผิดชอบส่วนตัว ความสัมพันธ์ครอบครัว หรือการงานอาชีพ
เมื่อคู่สมรสหรือลูกคนหนึ่งปฏิเสธสิ่งที่เรารู้ว่าจริงและอยู่ห่างจากทางแห่งความชอบธรรม เราประสบกับความเจ็บปวดที่เกิดจากความเครียดอย่างมาก เหมือนกับบิดาของบุตรเสเพลในอุปมาที่น่าจดจำของพระเยซู (ดู ลูกา 15:11–32)
ดังผู้เขียนหนังสือสดุดีประกาศไว้ “คนชอบธรรมอาจมีความทุกข์ใจหลายอย่าง แต่พระยาห์เวห์ทรงช่วยกู้เขาออกมาให้พ้นหมด” (สดุดี 34:19)
ฉะนั้น เพลงสวดของเราจึงมีการรับรองอันแท้จริงนี้ “แผ่นดินโลกไม่มีความเศร้าโศกใดที่สวรรค์เยียวยาไม่ได้”5 สิ่งที่เยียวยาเราคือพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์
สำหรับวัยรุ่น ความรู้สึกที่เจ็บปวดมากเป็นพิเศษคือการถูกปฏิเสธ เมื่อเพื่อนๆ ดูเหมือนจะเข้าร่วมในความสัมพันธ์และกิจกรรมที่มีความสุขและจงใจไม่แยแสพวกเขา อคติทางสีผิวและเชื้อชาติก่อให้เกิดการถูกปฏิเสธที่เจ็บปวดอื่นๆ สำหรับเยาวชนและผู้ใหญ่ ชีวิตมีการท้าทายอื่นๆ มากมาย เช่นการว่างงานหรือความล้มเหลวอื่นๆ ในแผนของเรา
ข้าพเจ้ายังคงพูดถึงความทุพพลภาพในมรรตัยที่ไม่ได้เกิดจากบาปของเรา บางคนเกิดมาพร้อมกับความพิการทางร่างกายหรือสมองซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ยากสำหรับพวกเขาและความยากลำบากสำหรับผู้ที่รักและดูแลพวกเขา สำหรับคนจำนวนมากโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องเจ็บปวดหรือไร้สมรรถภาพอย่างถาวร ความทุกข์ที่เจ็บปวดอีกอย่างหนึ่งคือสภาวะการเป็นโสด ผู้ที่ทนทุกข์กับสภาวการณ์นี้ควรจำไว้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงประสบความเจ็บปวดแบบนี้มาแล้วเหมือนกัน และโดยการชดใช้ พระองค์ประทานกำลังให้เราแบกรับไว้ได้
มีความพิการเพียงไม่กี่อย่างที่ทำลายชีวิตทางโลกหรือทางวิญญาณของเรามากกว่าการเสพติด การเสพติดบางสิ่งเช่นสื่อลามกหรือยาเสพติดน่าจะเกิดจากพฤติกรรมที่เป็นบาป แม้ว่าจะกลับใจจากพฤติกรรมนั้นแล้ว การเสพติดอาจยังคงอยู่ การเกาะติดอันก่อให้เกิดความไร้สมรรถภาพนั้นจะบรรเทาได้โดยพลังที่แน่วแน่จากพระผู้ช่วยให้รอด การท้าทายรุนแรงสำหรับผู้ถูกส่งเข้าคุกเพราะอาชญกรรมก็สามารถบรรเทาได้เช่นกัน จดหมายฉบับหนึ่งไม่นานมานี้เป็นพยานถึงพลังที่อาจมีได้แม้กับคนที่อยู่ในสภาวการณ์เช่นนั้น “ผมรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดกำลังเสด็จพระดำเนินตามโถงทางเดินในนี้ และผมสัมผัสถึงความรักของพระคริสต์บ่อยครั้งภายในกำแพงเรือนจำนี้”6
ข้าพเจ้าชอบประจักษ์พยานของนักกวีหญิงและเพื่อนของเรา เอ็มมา ลู เธย์น ในถ้อยคำที่เราร้องเป็นเพลงสวด เธอเขียนว่า
หาสันติได้ที่ใด?
การปลอบโยนอยู่ไหน
เมื่อแหล่งอื่นไม่ช่วยฉันสุขสันต์เต็มที่?
เมื่อมีโมโหโกรธา อาฆาตใจชอกช้ำ
ฉันนำตัวเองออกมา
เพื่อหาตนไหม?
เมื่อความเจ็บปวดทวี
เมื่อชีวีหดหู่
เมื่อใคร่รู้สิ่งใด ฉันจะหันหาใคร?
ที่ใดมีมือละมุน ปลอบหนุนใจปวดร้าว?
ใครเล่าจะเข้าใจฉัน?
เทียมทันพระองค์ 7
IV.
ใครจะได้รับความช่วยเหลือและการเสริมกำลังผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ แอลมาสอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะ “ทรงรับความเจ็บปวดและความป่วยไข้ของ ผู้คนของพระองค์ ” และจะทรง “ช่วย ผู้คนของพระองค์ ” (แอลมา 7:11–12; เพิ่มตัวเอน) ใครคือ “ผู้คนของพระองค์” ในคำสัญญานี้ คือมนุษย์มรรตัยทุกคนหรือ—ทุกคนที่เบิกบานกับความเป็นจริงของการฟื้นคืนชีวิตผ่านการชดใช้หรือ หรือเฉพาะผู้รับใช้บางคนที่เลือกสรรไว้ที่มีค่าควรผ่านศาสนพิธีและพันธสัญญา
คำว่า ผู้คน มีหลายความหมายในพระคัมภีร์ ความหมายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคำสอนที่ว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วย “ผู้คนของพระองค์” คือความหมายที่แอลมาใช้เมื่อท่านสอนในภายหลังว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นห่วงคนทุกหมู่เหล่า, ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในแผ่นดินไหน” (แอลมา 26:37) นั่นคือสิ่งที่ทูตสวรรค์หมายถึงเมื่อพวกเขาประกาศการประสูติของพระคริสต์ “เรานำข่าวดีมายังพวกท่าน เป็นความยินดีอย่างยิ่งที่จะมาถึงคนทั้งหลาย” (ลูกา 2:10)
เพราะประสบการณ์เพื่อการชดใช้ของพระองค์ในความเป็นมรรตัย พระผู้ช่วยให้รอดจึงสามารถปลอบโยน เยียวยา และเสริมกำลังชายหญิงทุกคนและทุกแห่งหน แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์ทรงทำเช่นนั้นสำหรับผู้ที่แสวงหาและขอความช่วยเหลือพระองค์ อัครสาวกยากอบสอนว่า “พวกท่านจงถ่อมใจลงต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า แล้วพระองค์จะทรงยกชูท่าน” (ยากอบ 4:10) เรามีค่าควรต่อพรนั้นเมื่อเราเชื่อในพระองค์และสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือพระองค์
มีผู้คนหลายล้านคนยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า ผู้สวดอ้อนวอนถึงพระองค์ให้ยกพวกเขาออกจากความทุกข์ยาก พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดเผยว่าพระองค์ “เสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวง” (คพ. 88:6) ดังที่เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์สอน “โดยการ ‘เสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวง’ พระองค์ทรงเข้าพระทัยสิ่งทั้งปวงอย่างสมบูรณ์ด้วยพระองค์เองถึงความทุกทรมานทั้งปวงของมนุษยชาติ”8 เราอาจบอกได้ว่าการเสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวงทำให้พระองค์ทรงอยู่ในตำแหน่งสมบูรณ์ที่สุดที่จะยกเราและประทานกำลังที่เราต้องการในการอดทนต่อความทุกข์ของเรา เราเพียงแค่ต้องขอ
หลายครั้งในการเปิดเผยสมัยใหม่ พระเจ้าทรงประกาศว่า “ฉะนั้น, หากเจ้าจะขอจากเราเจ้าจะได้รับ; หากเจ้าจะเคาะก็จะเปิดมันให้เจ้า” (ตัวอย่างเช่น, คพ. 6:5; 11:5; ดู มัทธิว 7:7 ด้วย) จริงๆ แล้วเพราะความรักที่ครอบคลุมทั่วถึงของพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์ พระเยซูคริสต์ ทั้งสองพระองค์จึงทรงรับฟังและตอบคำสวดอ้อนวอนอย่างเหมาะสมต่อทุกคนที่แสวงหาพระองค์ในศรัทธา ดังที่อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ “เรามีความหวังในพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ ผู้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของทุกคน โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่เชื่อในพระองค์” (1 ทิโมธี 4:10)
ข้าพเจ้ารู้ว่าเรื่องเหล่านี้จริง การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดทำมากกว่ารับรองเราถึงความเป็นอมตะโดยการฟื้นคืนพระชนม์ที่มีผลกับคนทั้งโลกและให้ โอกาสเราชำระล้างจากบาปโดยการกลับใจและบัพติศมา การชดใช้ของพระองค์ยังให้ โอกาสเราเรียกหาพระองค์ผู้ทรงประสบความทุพพลภาพในมรรตัยทุกอย่างของเราเพื่อให้กำลังเราแบกรับภาระแห่งความเป็นมรรตัยได้ พระองค์ทรงรู้จักความทุกข์ทรมานของเรา และทรงอยู่ที่นั่นเพื่อเราเสมอ เช่นเดียวกับชาวสะมาเรียผู้ใจดี เมื่อพระองค์ทรงพบเราบาดเจ็บอยู่ข้างทาง พระองค์จะทรงพันแผลให้เราและดูแลเรา (ดู ลูกา 10:34) พลังการเยียวยาและพลังเสริมกำลังของพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์มีไว้สำหรับเราทุกคนที่ขอ ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงสิ่งนั้นและเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดของเรา ผู้ทรงทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้
วันหนึ่งภาระในมรรตัยทั้งหมดนี้จะหายไปและจะไม่มีความเจ็บปวดอีก (ดู วิวรณ์ 21:4) ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนว่าเราทุกคนจะเข้าใจถึงความหวังและพลังแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด การรับรองถึงความเป็นอมตะ โอกาสสำหรับชีวิตนิรันดร์ และพละกำลังค้ำจุนที่เราจะได้รับหากเราเพียงแต่จะขอเท่านั้น ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน