จงตามเรามา
ภาคผนวก ก: สำหรับบิดามารดา—การเตรียมลูกๆ ของท่านให้พร้อมอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าชั่วชีวิต


“ภาคผนวก ก: สำหรับบิดามารดา—การเตรียมลูกๆ ของท่านให้พร้อมอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าชั่วชีวิต” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)

“ภาคผนวก ก” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2025

มารดากับบุตร

ภาคผนวก ก

สำหรับบิดามารดา—การเตรียมลูกๆ ของท่านให้พร้อมอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าชั่วชีวิต

เพราะพระองค์ทรงรักท่าน วางใจท่าน และรู้ศักยภาพของท่าน พระบิดาบนสวรรค์จึงประทานโอกาสให้ท่านช่วยให้ลูกๆ ของท่านเข้ามาและก้าวหน้าไปตามเส้นทางพันธสัญญาของพระองค์ เส้นทางสู่ชีวิตนิรันดร์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–28) ทั้งนี้รวมถึงการช่วยให้พวกเขาเตรียมทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ เช่น พันธสัญญาแห่งบัพติศมาและพันธสัญญาที่ทำในพระวิหาร ลูกๆ ของท่านจะสามารถผูกมัดตนเองกับพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ผ่านพันธสัญญาเหล่านี้อย่างมีปีติ

มีวิธีเตรียมลูกๆ ของท่านให้พร้อมเดินทางบนเส้นทางพันธสัญญาหลายวิธี และพระบิดาบนสวรรค์จะทรงช่วยให้ท่านพบวิธีที่จะช่วยพวกเขาได้ดีที่สุด เมื่อท่านแสวงหาการดลใจ จงจำไว้เสมอว่าการเรียนรู้ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงบทเรียนที่กำหนดไว้ อันที่จริง ส่วนหนึ่งที่ทำให้การเรียนรู้ที่บ้านเกิดประสิทธิผลคือโอกาสในการเรียนรู้จากตัวอย่างและผ่านทางช่วงเวลาการสอนเล็กๆ น้อยๆ ที่เรียบง่าย แบบที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเดินตามเส้นทางพันธสัญญาเป็นกระบวนการต่อเนื่องชั่วชีวิตฉันใด การเรียนรู้เกี่ยวกับเส้นทางพันธสัญญาก็เป็นฉันนั้น (ดู “บ้านและครอบครัว,” การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด [2022], 30–31)

ด้านล่างนี้เป็นแนวคิดบางประการที่อาจทำให้ได้รับการดลใจมากขึ้น ท่านจะพบแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กปฐมวัยใน “ภาคผนวก ข: สำหรับปฐมวัย—การเตรียมเด็กให้พร้อมอยู่บนเส้นทางพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าชั่วชีวิต

บัพติศมาและการยืนยัน

นีไฟสอนว่า “ประตูซึ่งโดยทางนั้น [เรา] ต้องเข้าไป” ในเส้นทางพันธสัญญา “คือการกลับใจและบัพติศมาโดยน้ำ” (2 นีไฟ 31:17) ความพยายามของท่านในการช่วยลูกๆ เตรียมรับบัพติศมาและการยืนยันจะช่วยให้พวกเขามีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่บนเส้นทางนั้น ความพยายามเหล่านี้เริ่มต้นด้วยการสอนเกี่ยวกับศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการกลับใจ อีกทั้งสอนด้วยว่าเราต่อพันธสัญญาบัพติศมาโดยการรับส่วนศีลระลึกทุกสัปดาห์อย่างไร

บัพติศมา

นีไฟสอนว่า “ประตูซึ่งโดยทางนั้น [เรา] ต้องเข้าไป” ในเส้นทางพันธสัญญา “คือการกลับใจและบัพติศมาโดยน้ำ” (2 นีไฟ 31:17)

ต่อไปนี้เป็นแหล่งช่วยบางส่วนที่เป็นประโยชน์สำหรับท่าน: 2 นีไฟ 31; นิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับพิเศษเกี่ยวกับบัพติศมา

  • เมื่อใดก็ตามที่ท่านมีประสบการณ์ซึ่งเสริมสร้างศรัทธาของท่านในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ จงแบ่งปันกับลูกๆ ของท่าน โดยช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าศรัทธาคือสิ่งที่แข็งแกร่งขึ้นได้เรื่อยๆ ตลอดชีวิต ลูกๆ ของท่านจะทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อพัฒนาศรัทธาในพระคริสต์ให้แข็งแกร่งขึ้นก่อนที่พวกเขาจะรับบัพติศมา?

  • เมื่อลูกของท่านเลือกผิด จงพูดเรื่องของประทานแห่งการกลับใจด้วยความปีติยินดี และเมื่อท่านเลือกผิด จงแบ่งปันปีติที่เกิดขึ้นเมื่อท่านกลับใจ เป็นพยานว่าเพราะพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเรา เราจึงสามารถกลับใจทุกวัน ได้รับการให้อภัย และได้รับพลังให้เราเปลี่ยนแปลง เมื่อลูกของท่านแสวงหาการให้อภัย จงให้อภัยด้วยความเต็มใจและด้วยความยินดี

  • เล่าเรื่องบัพติศมาของท่านให้ลูกๆ ฟัง ให้ดูภาพและแบ่งปันความทรงจำ พูดว่าท่านรู้สึกอย่างไร การรักษาพันธสัญญาบัพติศมาของท่านช่วยให้ท่านรู้จักพระเยซูคริสต์ดีขึ้นอย่างไร และพันธสัญญาของท่านยังคงเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร กระตุ้นให้ลูกๆ ถามคำถาม

  • เมื่อมีบัพติศมาในครอบครัวหรือวอร์ดของท่าน ให้พาลูกๆ ไปดู พูดคุยกันว่าท่านกับลูกๆ เห็นอะไรและรู้สึกอย่างไร หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้พูดคุยกับคนที่รับบัพติศมาและถามคำถามทำนองนี้ “คุณตัดสินใจรับบัพติศมาอย่างไร? คุณเตรียมตัวอย่างไร?”

  • เมื่อใดก็ตามที่เห็นลูกทำบางอย่างที่พวกเขาสัญญาว่าจะทำ จงเอ่ยชมด้วยความจริงใจ ชี้ให้เห็นว่าการรักษาคำมั่นสัญญาจะช่วยให้เราเตรียมพร้อมที่จะรักษาพันธสัญญาที่เราทำเมื่อเรารับบัพติศมา เราสัญญาอะไรกับพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเรารับบัพติศมา? พระองค์ทรงสัญญาอะไรกับเรา? (ดู โมไซยาห์ 18:8–10, 13)

  • พูดคุยว่าการได้รับการยืนยันและการเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็นพรแก่ท่านอย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไรเมื่อท่านรับใช้ผู้อื่นและเมื่อผู้อื่นรับใช้ท่าน? ช่วยให้ลูกๆ คิดหาวิธีรับใช้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้อื่นในฐานะสมาชิกของศาสนจักร ช่วยพวกเขาประสบและรับรู้ปีติที่มาจากการรับใช้ด้วย

  • เมื่อท่านกับลูกๆ มีประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์ด้วยกัน (เช่น ที่โบสถ์ ขณะอ่านพระคัมภีร์ หรือขณะรับใช้ใครบางคน) จงบอกลูกๆ เกี่ยวกับความรู้สึกทางวิญญาณหรือความประทับใจที่ท่านมี เชื้อเชิญให้ลูกๆ แบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร สังเกตหลากหลายวิธีที่พระวิญญาณสามารถตรัสกับผู้คน รวมถึงวิธีที่พระองค์ตรัสกับท่านเป็นการส่วนตัว ช่วยให้ลูกๆ รับรู้และแบ่งปันกับท่านถึงช่วงเวลาที่พวกเขาอาจกำลังประสบอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • พูดคุยกันเกี่ยวกับวิธีต่างๆ ที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าฟังสุรเสียงของพระองค์ เชื้อเชิญให้ลูกๆ วาดรูปหรือทำวิดีโอเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาฟังสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอด

  • ทำให้ศีลระลึกเป็นเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์และเปี่ยมปีติในครอบครัวท่าน แบ่งปันกับลูกๆ ว่าท่านจดจ่อกับพระเยซูคริสต์ในช่วงศีลระลึกอย่างไร ช่วยลูกๆ วางแผนแสดงให้เห็นว่าศีลระลึกศักดิ์สิทธิ์ต่อพวกเขา ตัวอย่างเช่น การฟังคําสวดอ้อนวอนศีลระลึกสามารถเตือนให้เรานึกถึงพันธสัญญาบัพติศมาของเรา

  • นิตยสาร เพื่อนเด็ก มักจะมีบทความ เรื่องราว และกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยเด็กๆ เตรียมรับบัพติศมาและการยืนยัน ให้ลูกๆ เลือกอ่านบางเรื่องและสนุกไปกับท่าน

พลังอำนาจ สิทธิอำนาจ และกุญแจฐานะปุโรหิต

ฐานะปุโรหิตคือสิทธิอำนาจและพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์ทรงใช้ประทานพรแก่บุตรธิดาของพระองค์ ฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าอยู่บนโลกทุกวันนี้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย “สมาชิกศาสนจักรที่รักษาพันธสัญญา—รวมถึงหญิง ชาย และเด็ก—ล้วนได้รับพรให้มีพลังอำนาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าในบ้านของพวกเขาเพื่อทำให้พวกเขาและครอบครัวเข้มแข็ง” (คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย, 3.6, คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) พลังอำนาจนี้จะช่วยเหลือสมาชิกในการทำงานแห่งความรอดและความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตส่วนตัวและครอบครัว (ดู คู่มือทั่วไป, 2.2)

เมื่อชายหญิงรับใช้ในการเรียกของศาสนจักร พวกเขาทำเช่นนั้นด้วยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต ลูกทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์—บุตรและธิดาของพระองค์—จะได้รับพรเมื่อพวกเขาเข้าใจฐานะปุโรหิตดีขึ้น

เราได้รับศาสนพิธีต่างๆ โดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิต “สมาชิกชายที่มีค่าควรของศาสนจักรได้รับสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตผ่านการประสาทฐานะปุโรหิตและการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิต” (คู่มือทั่วไป, 3.4) ผู้ดํารงตําแหน่งฐานะปุโรหิตจะได้รับมอบอํานาจจากผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตในการประกอบศาสนพิธีฐานะปุโรหิต

หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับฐานะปุโรหิต ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ทรัพย์สมบัติทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 76–79; รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ความมีค่าควรในพลังฐานะปุโรหิต,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 66–69; “หลักธรรมฐานะปุโรหิต,” บทที่ 3 ใน คู่มือทั่วไป

  • ทำให้ศาสนพิธีฐานะปุโรหิตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตครอบครัวท่านเสมอ ตัวอย่างเช่น ช่วยลูกๆ ของท่านเตรียมทางวิญญาณเพื่อพร้อมรับศีลระลึกทุกสัปดาห์ กระตุ้นให้ลูกๆ ขอพรฐานะปุโรหิตเมื่อป่วยหรือต้องการคำปลอบโยนหรือคำแนะนำ สร้างนิสัยของการชี้ให้เห็นวิธีต่างๆ ที่พระเจ้ากำลังประทานพรครอบครัวท่านผ่านพลังอำนาจฐานะปุโรหิต

  • ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์ด้วยกัน ให้มองหาโอกาสเพื่อพูดคุยกันว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานพรผู้คนผ่านพลังอำนาจของพระองค์อย่างไร แบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองเมื่อพระผู้เป็นเจ้าประทานพรแก่ท่านผ่านฐานะปุโรหิตของพระองค์ สำหรับตัวอย่างพรที่เราได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านฐานะปุโรหิต ดู คู่มือทั่วไป, 3.2, 3.5

  • สอนลูกๆ ว่าหลังจากรับบัพติศมา พวกเขาจะรับพลังฐานะปุโรหิตได้โดยรักษาพันธสัญญาบัพติศมา ทบทวนข่าวสารของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันด้วยกันเรื่อง “ทรัพย์สมบัติทางวิญญาณ” (เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 76–79) บอกลูกๆ ว่าศาสนพิธีฐานะปุโรหิตนำพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเข้ามาในชีวิตท่านอย่างไร ดูบางวิธีที่เราได้รับพรโดยพลังอำนาจฐานะปุโรหิตใน คู่มือทั่วไป, 3.5

  • สนทนาคำถามที่ว่า “ผู้รับใช้ของพระเจ้าเป็นอย่างไร?” อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:36–42 ด้วยกันเพื่อหาคำตอบ เมื่อใดก็ตามที่ท่านเห็นลูกๆ (หรือคนใดคนหนึ่ง) ประยุกต์ใช้หลักธรรมหรือคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในข้อเหล่านี้ จงหยิบยกมาพูด

  • เมื่อท่านหรือลูกๆ ใช้กุญแจไขประตูหรือสตาร์ทรถ จงใช้เวลาครู่หนึ่งเปรียบเทียบกุญแจเหล่านั้นกับกุญแจที่ผู้นำฐานะปุโรหิตถือ (ดูนิยามของกุญแจฐานะปุโรหิตใน คู่มือทั่วไป, 3.4.1) กุญแจฐานะปุโรหิต “ไข” หรือ “สตาร์ท” อะไรให้เรา? ดู แกรีย์ อี. สตีเวนสัน, “กุญแจและสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตอยู่ที่ไหน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 29–32; “Where Are the Keys?” (วีดิทัศน์), คลังค้นคว้าพระกิตติคุณด้วย

    2:51

    Where Are the Keys?

    Priesthood authority and keys start the engine, open the gates of heaven, facilitate heavenly power, and pave the covenant pathway back to our Heavenly Father.

  • เมื่อท่านได้รับการวางมือมอบหน้าที่สำหรับการเรียก จงเชิญลูกๆ มาอยู่ด้วยถ้าทำได้ ให้ลูกๆ เห็นท่านทำการเรียกจนสำเร็จลุล่วง ท่านอาจมองหาวิธีที่เหมาะสมที่พวกเขาจะช่วยท่านได้ อธิบายว่าท่านรู้สึกถึงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในการเรียกของท่านอย่างไร

การรับบัพติศมาและการยืนยันแทนบรรพชน

พระวิหารเป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับบุตรธิดาของพระองค์ ในพระนิเวศน์ของพระเจ้า เราทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระบิดาบนสวรรค์เมื่อเรามีส่วนร่วมในศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทั้งหมดนั้นชี้ไปที่พระเยซูคริสต์ พระบิดาบนสวรรค์ทรงเตรียมทางให้บุตรธิดาทุกคนของพระองค์ทำพันธสัญญาและมีส่วนร่วมในศาสนพิธี รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้รับศาสนพิธีในชีวิตนี้ ต้นปีที่ลูกๆ ของท่านจะอายุครบ 12 ปี พวกเขามีอายุมากพอที่จะรับบัพติศมาและได้รับการยืนยันในพระวิหารแทนบรรพชนที่ถึงแก่กรรม (ดู 1 โครินธ์ 15:29 ด้วย)

  • เข้าพระวิหารบ่อยเท่าที่สภาวการณ์ของท่านเอื้ออำนวย พูดคุยกับลูกๆ ว่าเหตุใดท่านจึงไปพระวิหารและพระวิหารช่วยให้ท่านรู้สึกใกล้ชิดพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร

  • ทบทวนและสนทนาคำถามสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารด้วยกัน ท่านสามารถค้นหาคำถามสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหารได้ที่ หน้า 36–37 ใน เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน: คู่มือแนะแนวการเลือก (2022) พูดคุยกับลูกๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นในการสัมภาษณ์ใบรับรองพระวิหาร แบ่งปันว่าเหตุใดการมีใบรับรองพระวิหารจึงสำคัญต่อท่าน

  • อ่าน มาลาคี 4:6 ด้วยกัน พูดคุยว่าใจท่านจะหันไปหาบรรพชนของท่านได้อย่างไร เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับบรรพชนของท่านโดยสำรวจประวัติครอบครัวของท่านบน FamilySearch.org ด้วยกัน หาบรรพชนที่ต้องการรับบัพติศมาและการยืนยัน ผู้ให้คำแนะนำด้านพระวิหารและประวัติครอบครัววอร์ดสามารถช่วยท่านได้

  • ทบทวนแหล่งข้อมูลบางอย่างด้วยกันในหมวดย่อย “Temple” ในหมวดเด็กของคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ (ดู “Preparing Your Child for Temple Baptisms and Confirmations” บน ChurchofJesusChrist.org ด้วย)

การรับปิตุพร

ปิตุพรสามารถเป็นแหล่งของการนำทาง การปลอบโยน และการดลใจ ในนั้นมีคำแนะนำส่วนตัวจากพระบิดาบนสวรรค์ให้กับเราและช่วยให้เราเข้าใจอัตลักษณ์และจุดประสงค์นิรันดร์ของเรา ช่วยลูกๆ เตรียมรับปิตุพรโดยสอนพวกเขาเรื่องความสำคัญและความศักดิ์สิทธิ์ของปิตุพร

หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม ดู จูลี บี. เบค, “ท่านมีสิทธิกําเนิดอันสูงส่ง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 129–132

  • เล่าประสบการณ์การรับปิตุพรของท่านให้ลูกๆ ฟัง ท่านอาจจะเล่าว่าท่านเตรียมตัวรับปิตุพรอย่างไร ปิตุพรช่วยให้ท่านเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นอย่างไร และพระองค์ยังทรงนำทางท่านผ่านพรนี้อย่างไร ท่านอาจจะเชิญชวนลูกๆ ให้พูดคุยกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวที่เคยรับปิตุพรด้วย

  • ทบทวนข่าวสารของเอ็ลเดอร์แรนดัลล์ เค. เบนเนตต์เรื่อง “ปิตุพรของท่าน—การนำทางด้วยการดลใจจากพระบิดาบนสวรรค์” และข่าวสารของเอ็ลเดอร์คาซุฮิโกะ ยามาชิตะเรื่อง “เมื่อใดควรรับปิตุพร” (เลียโฮนา, พ.ค. 2023, 42–43, 88–90) แบ่งปันกันว่าท่านเรียนรู้อะไรจากข่าวสารเหล่านี้เกี่ยวกับเหตุผลที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราได้รับปิตุพร เรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการรับปิตุพรใน คู่มือทั่วไป 18.17

  • หากท่านมีบรรพชนที่รับปิตุพรแล้ว การอ่านปิตุพรของบางคนให้ลูกๆ ฟังอาจสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา ถ้าต้องการขอปิตุพรของบรรพชนที่สิ้นชีวิตแล้ว ให้เข้าสู่ระบบ ChurchofJesusChrist.org คลิกไอคอน เครื่องมือ ตรงมุมบนขวาของหน้าจอ แล้วเลือก Patriarchal Blessing

  • หลังจากลูกๆ ของท่านได้รับปิตุพรแล้ว ให้เชิญสมาชิกครอบครัวที่อยู่ด้วยบันทึกความรู้สึกของพวกเขาและแบ่งปันกับลูกๆ ของท่าน

การรับเอ็นดาวเม้นท์

พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จะประสาทพรหรือให้พรบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ด้วย “อำนาจจากเบื้องบน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 95:8) เราไปพระวิหารเพื่อรับเอ็นดาวเม้นท์ของเราเองเพียงครั้งเดียว แต่พันธสัญญาที่เราทำกับพระผู้เป็นเจ้าและพลังอำนาจทางวิญญาณที่ประทานแก่เราอันเป็นส่วนหนึ่งของเอ็นดาวเม้นท์จะเป็นพรแก่ชีวิตของเราทุกวัน

  • ให้ติดภาพพระวิหารในบ้านของท่าน บอกลูกๆ เกี่ยวกับความรู้สึกที่ท่านประสบในพระนิเวศน์ของพระเจ้า พูดคุยบ่อยๆ เกี่ยวกับความรักที่ท่านมีต่อพระเจ้าและพระนิเวศน์ของพระองค์ และพันธสัญญาที่ท่านทำไว้ที่นั่น มองหาโอกาสไปพระวิหารกับลูกๆ เพื่อรับบัพติศมาและการยืนยันแทนบรรพชนของพวกเขา

  • สำรวจ temples.ChurchofJesusChrist.org ด้วยกัน ให้ลูกๆ ถามคำถามที่มีเกี่ยวกับพระวิหาร ดูคำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านพูดได้เมื่ออยู่นอกพระวิหารในข่าวสารของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ เรื่อง “เตรียมรับสิ่งจำเป็นทุกอย่าง” (เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 101–104; ดูส่วนที่ชื่อว่า “การเรียนรู้ที่ให้บ้านเป็นศูนย์กลางและศาสนจักรสนับสนุนและการเตรียมเข้าพระวิหาร” เป็นพิเศษ)

  • เมื่อท่านกับลูกๆ มีส่วนร่วมหรือเป็นพยานในศาสนพิธีอื่น (เช่น ศีลระลึกหรือพรของการรักษา) จงใช้เวลาครู่หนึ่งสนทนาเรื่องสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธีนั้น สัญลักษณ์นั้นแทนอะไร? สัญลักษณ์เหล่านี้เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์อย่างไร? นี่จะช่วยลูกๆ ของท่านเตรียมไตร่ตรองความหมายเชิงสัญลักษณ์ของศาสนพิธีพระวิหาร ซึ่งเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์เช่นกัน

  • ช่วยให้ลูกๆ สังเกตว่าพวกเขากำลังรักษาพันธสัญญาบัพติศมาตามที่กล่าวไว้ใน โมไซยาห์ 18:8–10, 13 อย่างไร ช่วยให้ลูกๆ สังเกตเช่นกันว่าพระเจ้ากำลังประทานพรพวกเขาอย่างไร สร้างความมั่นใจให้ลูกๆ ว่าพวกเขาสามารถรักษาพันธสัญญาได้

  • พูดคุยอย่างตรงไปตรงมาบ่อยๆ ว่าพันธสัญญาพระวิหารของท่านชี้นำการเลือกของท่านและช่วยให้ท่านใกล้ชิดพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร ท่านอาจใช้ คู่มือทั่วไป 27.2 ทบทวนพันธสัญญาที่เราทำในพระวิหาร หากท่านได้รับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว ให้บอกลูกๆ ว่าการ์เม้นท์พระวิหารช่วยให้ท่านจดจําพันธสัญญาของท่านกับพระเยซูคริสต์อย่างไร

4:16

Sacred Temple Clothing

From ancient times, men and women have embraced sacred music, different forms of prayer, religious vestments full of symbolism, gestures and rituals to express their innermost feelings of devotion to God.

การรับใช้งานเผยแผ่

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอนว่า: “ชายหนุ่มทั้งหลาย สิ่งสำคัญที่สุดข้อเดียวที่ท่านจะทำได้เพื่อเตรียมตัวรับการเรียกให้รับใช้คือเป็นผู้สอนศาสนาให้ยาวนานก่อนที่ท่านจะไปรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา … เราไม่ได้ไปรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา หากแต่เราเป็นผู้สอนศาสนาและรับใช้ตลอดชีวิตของเราด้วยสุดใจ พลัง ความคิด และพละกำลังของเรา … ท่านกำลังเตรียมทำงานเผยแผ่ศาสนาตลอดชีวิต” (“การเป็นผู้สอนศาสนา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 53–54, 55) ประสบการณ์ที่ลูกๆ ของท่านได้เป็นผู้สอนศาสนาจะเป็นพรแก่พวกเขาชั่วนิรันดร์ ไม่เฉพาะช่วงเวลาที่พวกเขารับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเท่านั้น

หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การประกาศพระกิตติคุณแห่งสันติสุข,” เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 6–7; เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเป็นพรแก่ชีวิตข้าพเจ้าชั่วนิรันดร์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 8–10; การเตรียมตัวเป็นผู้สอนศาสนา: การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตผู้สอนศาสนา, คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ

  • จำลองวิธีแบ่งปันพระกิตติคุณอย่างเป็นธรรมชาติ จงตื่นตัวเสมอเมื่อมีโอกาสแบ่งปันกับผู้อื่นถึงความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอด ตลอดจนพรที่ท่านได้รับจากพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระผู้ช่วยให้รอดและในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระองค์ เชิญผู้อื่นให้เข้าร่วมกับครอบครัวของท่านในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนจักรและครอบครัว

  • มองหาโอกาสที่จะให้ครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนศาสนา โดยเชิญพวกเขามาสอนเพื่อนของท่าน หรือเสนอให้พวกเขาสอนคนในบ้านของท่าน ถามผู้สอนศาสนาเกี่ยวกับประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับและการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาช่วยให้พวกเขาใกล้ชิดพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร ท่านอาจจะถามด้วยว่าพวกเขาทำ (หรือปรารถนาให้ตนทำ) อะไรเพื่อเตรียมเป็นผู้สอนศาสนา

  • หากท่านรับใช้งานเผยแผ่ ให้พูดเกี่ยวกับประสบการณ์ของท่านอย่างเปิดเผยและบ่อยครั้ง เชิญเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวที่เคยรับใช้งานเผยแผ่มาพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขา หรือท่านอาจจะพูดถึงวิธีที่ท่านแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นตลอดชีวิตท่านด้วยก็ได้ ช่วยลูกๆ คิดหาวิธีแบ่งปันพระกิตติคุณ

  • เปิดโอกาสให้พวกเขาสอนหลักธรรมพระกิตติคุณให้กับครอบครัว ลูกๆ ของท่านอาจฝึกแบ่งปันความเชื่อของพวกเขากับผู้อื่นด้วย ตัวอย่างเช่น ท่านอาจสนทนาคำถามทำนองนี้ “เราจะแนะนำพระคัมภีร์มอรมอนกับคนที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าอย่างไร?” หรือ “เราจะอธิบายกับคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์อย่างไรว่าเราจำเป็นต้องมีพระผู้ช่วยให้รอด?”

  • ช่วยให้ลูกๆ สะดวกใจในการพูดคุยกับคนอื่นๆ มีวิธีดีๆ อะไรบ้างที่จะเริ่มการสนทนา? กระตุ้นให้ลูกๆ เรียนรู้วิธีฟังสิ่งที่คนอื่นพูด เข้าใจสิ่งที่อยู่ในใจพวกเขา และแบ่งปันความจริงของพระกิตติคุณที่อาจเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขา

  • มองหาโอกาสให้ลูกๆ เรียนรู้วัฒนธรรมและความเชื่ออื่นๆ ช่วยให้พวกเขารับรู้และเคารพหลักธรรมที่จริงและดีในความเชื่อของคนอื่น

การรับศาสนพิธีผนึก

ในพระวิหาร สามีภรรยาสามารถแต่งงานกันเพื่อนิรันดร ซึ่งจะเกิดขึ้นในศาสนพิธีที่เรียกว่า “การผนึก” ถึงแม้ศาสนพิธีนี้อาจใช้เวลาหลายปีกว่าลูกชายหรือลูกสาวของท่านจะได้รับศาสนพิธีนี้ แต่สิ่งเล็กๆ เรียบง่ายที่ท่านทำด้วยกันสม่ำเสมอในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสามารถช่วยพวกเขาเตรียมรับพรวิเศษสุดนี้

  • อ่าน “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” (คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) ด้วยกัน ถ้อยแถลงนี้สอนอะไรเกี่ยวกับความสุขในชีวิตครอบครัวและชีวิตแต่งงานที่ประสบความสำเร็จ? เลือกศึกษาหนึ่งหลักธรรมที่ระบุไว้ในถ้อยแถลงกับลูกๆ ของท่าน ท่านสามารถค้นหาข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมนั้นได้ใน คู่มือพระคัมภีร์ ท่านอาจตั้งเป้าหมายเพื่อประยุกต์ใช้หลักธรรมนั้นในครอบครัวท่านอย่างเต็มที่มากขึ้นด้วย ขณะที่ท่านพยายามทำตามเป้าหมาย ให้สนทนากันถึงผลของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมดังกล่าวที่มีต่อชีวิตครอบครัว

  • อ่านข่าวสารของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟกับลูกๆ เรื่อง “สรรเสริญผู้ที่ช่วยให้รอด” (เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 77–80) เมื่อท่านอ่านไปถึงหัวข้อ “สังคมแห่งการใช้แล้วทิ้ง” ท่านอาจมองหาสิ่งของในบ้านที่ใช้แล้วทิ้งและสิ่งอื่นที่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ใช้แล้วทิ้ง พูดคุยเกี่ยวกับวิธีที่ท่านปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ เมื่อท่านต้องการให้สิ่งเหล่านั้นคงอยู่เป็นเวลานาน การทำเช่นนี้ชี้แนะอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อชีวิตแต่งงานและความสัมพันธ์ในครอบครัว? เราเรียนรู้อะไรอีกบ้างจากข่าวสารของประธานอุคท์ดอร์ฟเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยเราสร้างชีวิตแต่งงานและครอบครัวที่มั่นคง?

  • จงเปิดใจกับลูกๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ท่านและคู่ครองกําลังเรียนรู้เกี่ยวกับการแต่งงานนิรันดร์ที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางและวิธีที่ท่านพยายามปรับปรุง หากท่านและคู่ครองของท่านได้รับการผนึกในพระวิหารแล้ว จงแสดงตัวอย่างให้ลูกเห็นว่าท่านพยายามรักษาพันธสัญญากับพระเจ้าอย่างไร บอกลูกๆ ว่าท่านพยายามทําให้พระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดเป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์ของท่านอย่างไรและทั้งสองพระองค์ทรงช่วยเหลือท่านอย่างไร (ดู ยูลิซีส ซวาเรส, “ในการเป็นหุ้นส่วนกับพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2022, 42–45 ด้วย)

  • เมื่อมีเรื่องต้องตัดสินใจในครอบครัว ให้จัดสภาครอบครัวและสนทนากัน พึงแน่ใจว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวฟังและเห็นคุณค่าความคิดเห็นของกันและกัน ใช้การสนทนาเหล่านี้เป็นโอกาสจำลองการสื่อสารที่ดีและความอ่อนโยนในความสัมพันธ์ฉันครอบครัว แม้ทุกคนจะมองต่างกัน (ดู เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “สภาครอบครัว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 63–65)

  • เมื่อมีความเห็นต่างหรือความขัดแย้งในครอบครัว ให้แสดงความอดทนและความเห็นอกเห็นใจ ช่วยให้ลูกๆ เห็นว่าวิธีแก้ไขความขัดแย้งแบบพระคริสต์จะช่วยให้พวกเขาเตรียมมีชีวิตแต่งงานที่มีความสุขได้อย่างไร อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:41–42 ด้วยกันและพูดคุยกันว่าจะนำหลักธรรมในข้อเหล่านี้มาใช้กับชีวิตแต่งงานได้อย่างไร