“21–27 มิถุนายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 67–70: ‘สูงค่าเกินกว่าความมั่งคั่งของทั้งแผ่นดินโลก’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“21–27 มิถุนายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 67–70” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021
21–27 มิถุนายน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 67–70
“สูงค่าเกินกว่าความมั่งคั่งของทั้งแผ่นดินโลก”
ถึงแม้การเปิดเผยมากมายในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญากล่าวกับคนๆ หนึ่งในสถานการณ์หนึ่ง แต่ก็ “เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งปวง” (“ประจักษ์พยานของอัครสาวกสิบสองที่มีต่อความจริงของหนังสือหลักคำสอนและพันธสัญญา” คำนำของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา) ขณะที่ท่านศึกษา ให้มองหาความจริงและหลักธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อท่าน
บันทึกความประทับใจของท่าน
ตั้งแต่ปี 1828 ถึงปี 1831 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยมากมายจากพระเจ้า รวมถึงคำแนะนำสำหรับแต่ละบุคคล คำสอนเรื่องการปกครองศาสนจักร และนิมิตที่สร้างแรงบันดาลใจของยุคสุดท้าย แต่วิสุทธิชนจำนวนมากไม่ได้อ่าน การเปิดเผยยังไม่ได้จัดพิมพ์ และบางส่วนเขียนเป็นลายมือไว้บนแผ่นกระดาษที่เวียนอยู่ในหมู่สมาชิกและผู้สอนศาสนาพกติดตัว
จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 1831 โจเซฟเรียกประชุมสภาผู้นำศาสนจักรเพื่อพูดถึงการจัดพิมพ์การเปิดเผย หลังจากทราบพระประสงค์ของพระเจ้าแล้ว ผู้นำเหล่านี้จึงวางแผนจัดพิมพ์หนังสือพระบัญญัติ—เล่มก่อนพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาในปัจจุบัน ไม่นานทุกคนก็ได้อ่านพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าที่เปิดเผยผ่านศาสดาพยากรณ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ หลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า “กุญแจทั้งหลายของความลี้ลับแห่งอาณาจักรของพระผู้ช่วยให้รอดของเราฝากฝังไว้อีกครั้งหนึ่งกับมนุษย์” ด้วยเหตุผลเหล่านี้และอีกมากมาย วิสุทธิชนสมัยนั้นและสมัยนี้จึงถือว่าการเปิดเผยเหล่านี้ “สูงค่าเกินกว่าความมั่งคั่งของทั้งแผ่นดินโลก” (หัวบทของหลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 70
ดู Saints, 1:140–143 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:1–9; 68:3–6
พระผู้เป็นเจ้าทรงสนับสนุนผู้รับใช้ของพระองค์และถ้อยคำที่พวกเขากล่าวในพระนามของพระองค์
การตัดสินใจจัดพิมพ์การเปิดเผยที่โจเซฟ สมิธได้รับดูเหมือนง่าย แต่ผู้นำศาสนจักรยุคแรกบางคนไม่แน่ใจว่านั่นเป็นความคิดที่ดี ข้อกังวลหนึ่งเกี่ยวข้องกับข้อบกพร่องในภาษาที่โจเซฟ สมิธใช้เขียนการเปิดเผย การเปิดเผยใน ภาค 67 มาเพื่อตอบข้อกังวลนั้น เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์และการเปิดเผยจาก ข้อ 1–9 ท่านได้ข้อคิดอะไรเพิ่มเติมจาก 68:3–6?
ก่อนพิมพ์หนังสือพระบัญญัติ ผู้นำศาสนจักรหลายท่านเซ็นชื่อกำกับประจักษ์พยานที่เขียนไว้ว่าการเปิดเผยในหนังสือเล่มนั้นเป็นความจริง ดูสำเนาประจักษ์พยานของท่านเหล่านั้นที่ Testimony, circa 2 November 1831,” Revelation Book 1, 121, josephsmithpapers.org
การดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์สะท้อนพระประสงค์ของพระเจ้า
พระดำรัสในข้อเหล่านี้ตรัสเมื่อออร์ซัน ไฮด์และคนอื่นๆ ได้รับเรียกให้ “ประกาศพระกิตติคุณอันเป็นนิจ, โดยพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์, จากผู้คนกลุ่มหนึ่งถึงผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง, และจากแผ่นดินหนึ่งถึงอีกแผ่นดินหนึ่ง” (ข้อ 1) คำประกาศใน ข้อ 4 อาจจะช่วยคนที่กำลังจะออกไปสั่งสอนพระกิตติคุณอย่างไร? ถ้อยคำเหล่านี้ประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไร? ให้นึกถึงเวลาที่ “พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจ” ท่าน (ข้อ 3) ให้พูดหรือทำบางอย่าง ท่านพบอะไรในข้อเหล่านี้ที่สามารถให้ความมั่นใจแก่ท่านในการทำตามการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณ?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–28
บิดามารดามีหน้าที่สอนบุตรธิดาของตน
ซิสเตอร์จอย ดี. โจนส์ ประธานปฐมวัยสามัญสอนว่า “สิ่งสำคัญในการช่วยให้เด็กต้านบาปคือเริ่มสอนหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณพื้นฐานให้พวกเขาด้วยความรักเมื่ออายุยังน้อย—สอนจากพระคัมภีร์ หลักแห่งความเชื่อ จุลสาร เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน เพลงปฐมวัย เพลงสวด และประจักษ์พยานส่วนตัวของเรา—สิ่งเหล่านี้จะช่วยนำเด็กไปหาพระผู้ช่วยให้รอด” (“อนุชนที่ต้านบาป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 88)
ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–28 “หลักคำสอน [พื้นฐาน]” อะไรบ้างที่ซิสเตอร์โจนส์กล่าวว่าบิดามารดาควรสอนบุตรธิดาของตน? เหตุใดจึงมอบหน้าที่สำคัญนี้ให้บิดามารดา? ท่านจะพูดอะไรกับบิดามารดาที่รู้สึกว่าตนไม่มีคุณสมบัติจะสอนสิ่งเหล่านี้ให้กับบุตรธิดาของตน?
ดู แทด อาร์. คอลลิสเตอร์, “บิดามารดา: ครูพระกิตติคุณที่สำคัญที่สุดของลูกๆ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 32–34 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:10–14ความริษยา ความกลัว และความจองหองขัดขวางเราไม่ให้เข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้นอย่างไร? เหตุใด “มนุษย์ปุถุชน” จึงอยู่ในที่ประทับของพระเจ้าไม่ได้? (ข้อ 12; ดู โมไซยาห์ 3:19 ด้วย) เราพบอะไรในข้อเหล่านี้ที่ดลใจให้เรา “ดำเนินต่อไปด้วยความอดทนจนกว่า [เรา] จะได้รับการทำให้ดีพร้อม”? (ข้อ 13)
ครอบครัวท่านอาจจะทบทวนข่าวสารของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เรื่อง “เพราะฉะนั้นพวกท่านจงเป็นคนดีพร้อม” (เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 40–42)
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:3–4สมาชิกครอบครัวจะเล่าประสบการณ์ที่เสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาว่าถ้อยคำของผู้รับใช้พระเจ้าเป็น “พระประสงค์ของพระเจ้า” “พระดำริของพระเจ้า” และ “เดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าอันส่งผลสู่ความรอด” (ข้อ 4) หรือพวกเขาจะมองหาข่าวสารการประชุมใหญ่สามัญครั้งล่าสุดที่ประยุกต์ใช้ได้กับความท้าทายที่ครอบครัวอาจประสบอยู่
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–35ข้อเหล่านี้มีคำแนะนำสำคัญถึง “ผู้อยู่อาศัยของไซอัน” (ข้อ 26) เราได้รับการดลใจให้ปรับปรุงอะไรหลังจากอ่านข้อเหล่านี้? อาจจะสนุกถ้าสร้างสรรค์รูปภาพแสดงหลักธรรมบางประการในข้อเหล่านี้และซ่อนไว้ทั่วบ้าน จากนั้นในวันต่อๆ มาเมื่อมีคนหาภาพเจอ ท่านจะใช้ภาพเป็นโอกาสสอนหลักธรรมนั้น เหตุใดบ้านจึงเป็นสถานที่ดีที่สุดให้เด็กเรียนรู้สิ่งเหล่านี้?
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 69:1–2ออลิเวอร์ คาวเดอรีถูกส่งไปมิสซูรีพร้อมสำเนาการเปิดเผยที่ท่านศาสดาพยากรณ์เขียนไว้ให้พิมพ์ กับเงินที่จะช่วยสร้างศาสนจักรที่นั่น พระเจ้าประทานคำแนะนำอะไรใน ข้อ 1 เกี่ยวกับการเดินทางของออลิเวอร์? เหตุใดการอยู่กับคน “ที่จะแน่วแน่และซื่อสัตย์” (ข้อ 1) จึงสำคัญ? เพื่อนๆ เคยชักจูงให้เราตัดสินใจที่ดีหรือไม่ดีเมื่อใด? เราจะเป็นอิทธิพลดีต่อผู้อื่นได้อย่างไร?
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 70:1–4พระเจ้าทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบให้เอ็ลเดอร์บางคนควบคุมดูแลการจัดพิมพ์การเปิดเผย ถึงแม้เราไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเจาะจงเช่นนั้น แต่ถือว่าเราเป็น “ผู้พิทักษ์ดูแลการเปิดเผยและพระบัญญัติทั้งหลาย” ในแง่ใด? (ข้อ 3)
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “บ้านเป็นสวรรค์บนโลกได้” เพลงสวด บทเพลงที่ 146