“28 มิถุนายน–4 กรกฎาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 71–75: ‘ไม่มีอาวุธใดที่ประกอบขึ้นรุกรานเจ้าจะจำเริญได้’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“28 มิถุนายน–4 กรกฎาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 71–75” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021
28 มิถุนายน–4 กรกฎาคม
หลักคำสอนและพันธสัญญา 71–75
“ไม่มีอาวุธใดที่ประกอบขึ้นรุกรานเจ้าจะจำเริญได้”
เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกสอนว่า “อิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เกิดขึ้นบ่อยที่สุดกับ [บุคคล] ที่ศึกษาพระคัมภีร์และสวดอ้อนวอนในบ้าน” (“การเปลี่ยนใจเลื่อมใสอันลึกซึ้งและยั่งยืนต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเจ้าพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 10)
บันทึกความประทับใจของท่าน
ตั้งแต่เด็กโจเซฟเผชิญคนวิพากษ์วิจารณ์—แม้กระทั่งศัตรู—ขณะท่านพยายามทำงานของพระผู้เป็นเจ้า แต่ที่ทำให้ท่านเสียใจมากเป็นพิเศษคือปลายปี 1831 เมื่อเอซรา บูธเริ่มตำหนิศาสนจักรต่อหน้าสาธารณชน เพราะในกรณีนี้คนวิพากษ์วิจารณ์คืออดีตผู้เชื่อ เอซราเคยเห็นโจเซฟใช้อำนาจของพระผู้เป็นเจ้ารักษาผู้หญิงคนหนึ่ง โจเซฟเคยชวนเขาไปสำรวจแผ่นดินไซอันครั้งแรกในมิสซูรี แต่เขาสูญเสียศรัทธานับแต่นั้นและตีพิมพ์จดหมายออกมาเป็นชุดๆ ในหนังสือพิมพ์โอไฮโอเพื่อพยายามทำให้ศาสดาพยากรณ์เสื่อมเสียชื่อเสียง และดูเหมือนความพยายามของเขาได้ผล คือ “ความรู้สึกไม่เป็นมิตร … เกิดขึ้นกับศาสนจักร” ในละแวกนั้น (หัวบทของหลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 71) ผู้เชื่อทั้งหลายควรทำอะไรในกรณีแบบนี้? แม้ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องสำหรับทุกสถานการณ์ แต่ดูเหมือนว่าบ่อยทีเดียว—รวมทั้งในกรณีนี้ปี 1831—คำตอบส่วนหนึ่งของพระเจ้าคือปกป้องความจริงและแก้ไขความเท็จโดย “ประกาศพระกิตติคุณ” (ข้อ 1) ใช่ งานของพระเจ้าจะมีคนวิจารณ์เสมอ แต่สุดท้ายแล้ว “ไม่มีอาวุธใดที่ประกอบขึ้นรุกรานเจ้าจะจำเริญได้” (ข้อ 9)
ดู “Ezra Booth and Isaac Morley,” Revelations in Context, 134.
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระเจ้าจะทรงทำให้คนวิพากษ์วิจารณ์งานของพระองค์จำนนในเวลาของพระองค์เอง
เราอาจกังวลเมื่อได้ยินคนวิพากษ์วิจารณ์หรือเยาะเย้ยศาสนจักรหรือผู้นำศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากลัวว่าคำวิจารณ์นั้นจะมีอิทธิพลต่อคนที่เรารู้จักและรัก เมื่อเกิดเรื่องทำนองนี้ในโอไฮโอปี 1831 (ดู หัวบทของหลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 71) ข่าวสารของพระเจ้าถึงโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันคือจงมีศรัทธา อย่ากลัว ขณะที่ท่านศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 71 ท่านพบอะไรที่สร้างศรัทธาของท่านในพระเจ้าและงานของพระองค์? ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับคำสอนที่พระเจ้าประทานแก่ผู้รับใช้ของพระองค์ในสถานการณ์นี้?
ดู โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งความเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 89–92; ยอร์ก เคลบิงกอต “การปกป้องความเชื่อ,” เลียโฮนา, ก.ย. 2017, 49–53 ด้วย
อธิการเป็นผู้พิทักษ์ดูแลกิจจานุกิจฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณแห่งอาณาจักรของพระเจ้า
เมื่อนูเวล เค. วิทนีย์ได้รับเรียกให้รับใช้เป็นอธิการคนที่สองของศาสนจักร หน้าที่ของเขาต่างเล็กน้อยจากหน้าที่ของอธิการสมัยนี้ ตัวอย่างเช่น อธิการวิทนีย์ควบคุมดูแลการอุทิศถวายทรัพย์สินและการอนุญาตให้ตั้งรกรากในมิสซูรีในแผ่นดินไซอัน แต่เมื่อท่านอ่านเกี่ยวกับการเรียกและหน้าที่ของเขาใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 72 ท่านอาจจะสังเกตเห็นความเชื่อมโยงบางอย่างกับสิ่งที่อธิการทำในปัจจุบัน—ถ้าไม่ระบุชัดแต่อย่างน้อยก็ในเจตนารมณ์ของหน้าที่ ตัวอย่างเช่น ท่าน “รายงานเรื่องราว” ต่ออธิการของท่านในด้านใด? (ข้อ 5) อธิการของท่าน “รักษาคลังของพระเจ้า” และบริหารจัดการสิ่งที่สมาชิกวอร์ดอุทิศถวายในแง่ใด? (ดู ข้อ 10, 12) อธิการเคยช่วยเหลือท่านอย่างไร?
ดู คู่มือพระคัมภีร์ “อธิการ” scriptures.ChurchofJesusChrist.org ด้วย
ฉันสามารถมองหาโอกาสแบ่งปันพระกิตติคุณ
หลังจากโจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันกลับจากการสั่งสอนระยะสั้นมาแก้ไขความเสียหายบางอย่างที่เอซรา บูธทำไว้ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 71) พระเจ้ารับสั่งให้ท่านทั้งสองกลับไปทำงานแปลพระคัมภีร์ไบเบิล (ดู Bible Dictionary, “Joseph Smith Translation”) แต่พระองค์ทรงต้องการให้พวกท่านสั่งสอนพระกิตติคุณต่อไปเช่นกัน ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 73 พึงพิจารณาว่าท่านจะทำให้การสั่งสอนพระกิตติคุณเป็นส่วนที่ “ปฏิบัติได้” (ข้อ 4)—หรือเกิดขึ้นจริง—อย่างต่อเนื่องในชีวิตท่านท่ามกลางหน้าที่รับผิดชอบอื่นของท่านได้อย่างไร
พระเจ้าทรงอวยพรคนที่ประกาศพระกิตติคุณของพระองค์อย่างซื่อสัตย์
เพื่อทำตามพระบัญชาให้ “ไปทั่วโลก” เพื่อสั่งสอนพระกิตติคุณ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:8) เอ็ลเดอร์ที่ซื่อสัตย์หลายท่านจึงค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าพระเจ้าทรงต้องการให้พวกท่านทำพระบัญชานี้ให้เกิดสัมฤทธิผลอย่างไร ท่านพบคำและวลีใดใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 75:1–12 ที่ช่วยให้ท่านเข้าใจวิธีสั่งสอนพระกิตติคุณอย่างมีประสิทธิภาพ? พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานพรอะไรแก่ผู้สอนศาสนาที่ซื่อสัตย์? พิจารณาว่าคำแนะนำและพรเหล่านี้ประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไรเมื่อท่านแบ่งปันพระกิตติคุณ
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 71พระเจ้าทรงขอให้โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันทำอะไรเมื่อคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักรและผู้นำ? เรา “เตรียมทาง” ให้ผู้คนได้รับการเปิดเผยของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร? (หลักคำสอนและพันธสัญญา 71:4)
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 72:2อธิการเป็นพรแก่ครอบครัวเราอย่างไร? อธิการเคยขอให้เราทำอะไร และเราจะสนับสนุนท่านได้อย่างไร? ครอบครัวท่านอาจจะทำการ์ดขอบคุณอธิการสำหรับการรับใช้ของเขา
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 73:3–4ครอบครัวท่านจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้เกี่ยวกับการแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของโจเซฟ สมิธหรือไม่? (ดู คู่มือพระคัมภีร์ “งานแปลของโจเซฟ สมิธ”) ท่านจะสำรวจสองสามข้อที่แก้ไขในงานแปลของโจเซฟ สมิธและพูดถึงความจริงอันล้ำค่าที่พระเจ้าทรงเปิดเผยผ่านศาสดาพยากรณ์ ดูตัวอย่างในงานแปลของโจเซฟ สมิธ ปฐมกาล 14:25–40 และ ปฐมกาล 50:24–38 ใน Bible appendix; เชิงอรรถต่างๆ ใน มัทธิว 4:1–11; และ ลูกา 2:46, เชิงอรรถ c (ฉบับภาษาอังกฤษ)
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 74:7ข้อนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และเด็กน้อย?
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 75:3–5, 13, 16ท่านสามารถช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจว่าพระเจ้าทรงต้องการให้เรารับใช้พระองค์อย่างไรโดยพูดถึงความแตกต่างระหว่าง “เกียจคร้าน” กับ “ทำงานด้วยสุดกำลัง [ของเรา]” ท่านอาจจะเลือกงานบ้านบางอย่างและเชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวสาธิตการทำงานเหล่านั้นอย่างเกียจคร้านและจากนั้นให้ทำด้วยสุดกำลังของพวกเขา เราจะรับใช้พระเจ้าด้วยสุดกำลังของเราได้อย่างไร? ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 75:3–5, 13, 16 พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ขอให้เรารุดไป” เพลงสวด บทเพลงที่ 124