“19–25 กรกฎาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 81–83: ที่ใด ‘ประทานให้มากก็เรียกร้องมาก’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“19–25 กรกฎาคม หลักคำสอนและพันธสัญญา 81–83” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021
19–25 กรกฎาคม
หลักคำสอนและพันธสัญญา 81–83
ที่ใด “ประทานให้มากก็เรียกร้องมาก”
ขณะที่ท่านศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 81–83 ให้บันทึกหลักธรรมที่จะช่วยให้ท่านทำดีท่ามกลางครอบครัว มิตรสหาย และคนอื่นๆ
บันทึกความประทับใจของท่าน
ในเดือนมีนาคม ปี 1832 พระเจ้าทรงเรียกเจสซี กอซเป็นที่ปรึกษาของโจเซฟ สมิธในฝ่ายประธานของฐานะปุโรหิตระดับสูง (ปัจจุบันเรียกว่าฝ่ายประธานสูงสุด) หลักคำสอนและพันธสัญญา 81 เป็นการเปิดเผยต่อบราเดอร์กอซ ทรงสอนเขาในการเรียกใหม่ของเขาและสัญญาจะประทานพรเขาหากเขารับใช้อย่างซื่อสัตย์ แต่เจสซี กอซไม่รับใช้อย่างซื่อสัตย์ ด้วยเหตุนี้จึงทรงเรียกเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์แทนเขา และในการเปิดเผยจึงใช้ชื่อของบราเดอร์วิลเลียมแทนชื่อบราเดอร์กอซ
นั่นอาจดูเหมือนเป็นรายละเอียดเล็กๆ แต่บอกเป็นนัยถึงความจริงสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ การเปิดเผยส่วนใหญ่ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญากล่าวกับคนๆ หนึ่งโดยเฉพาะ แต่เราสามารถหาวิธีประยุกต์ใช้กับตัวเราได้เสมอ (ดู 1 นีไฟ 19:23) พระดำรัสแนะนำของพระเจ้าให้เฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์ “ให้กำลังเข่าที่อ่อนล้า” สามารถทำให้เราหันมานึกถึงคนที่เราจะให้กำลังได้ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:5) พระดำรัสแนะนำของพระเจ้าให้สมาชิกใน United Firm “ผูกมัดตนโดยพันธสัญญานี้” เพื่อสนองความจำเป็นทางโลกของศาสนจักรสามารถทำให้เราหันมานึกถึงพันธสัญญาของเราเอง และสัญญาของพระเจ้าที่ว่าพระองค์จะทรง “ถูกผูกมัดเมื่อเจ้าทำสิ่งที่เรากล่าว” สามารถทำให้เรานึกถึงสัญญาที่ทรงทำกับเราเมื่อเราเชื่อฟัง (หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:10, 15) นั่นเป็นดังที่ควรเป็น เพราะพระเจ้าทรงประกาศเช่นกันว่า “สิ่งใดที่เรากล่าวแก่คนหนึ่ง เราจึงกล่าวแก่ทุกคน” (ข้อ 5)
ดู “Newel K. Whitney and the United Firm,” “Jesse Gause: Counselor to the Prophet,” Revelations in Context, 142–47, 155–57.
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ฉันสามารถซื่อสัตย์ในการทำสิ่งที่พระเจ้าทรงขอให้ฉันทำ
บางครั้งท่านสงสัยหรือไม่ว่าจะทำความรับผิดชอบสำคัญๆ ในชีวิตท่านให้เกิดสัมฤทธิผลได้อย่างไร? ในฐานะที่ปรึกษาของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ เฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์มีความรับผิดชอบสำคัญๆ มากมายแน่นอน ใน ภาค 81 พระเจ้าทรงแนะนำเขาเกี่ยวกับวิธีทำความรับผิดชอบเหล่านั้นให้เกิดสัมฤทธิผล ท่านพบอะไรในภาคนี้ที่จะช่วยให้ท่านทำความรับผิดชอบที่พระเจ้าประทานแก่ท่านให้เกิดสัมฤทธิผล?
ต่อไปนี้เป็นคำถามบางข้อที่จะช่วยท่านไตร่ตรอง ข้อ 5:
-
คนเรา “อ่อนแอ” ในด้านใดได้บ้าง? “ช่วยเหลือ” คนที่อ่อนแอหมายความว่าอย่างไร?
-
ในเชิงเปรียบเทียบอะไรอาจเป็นเหตุให้มือของคนๆ หนึ่ง “อ่อนแรง”? เราจะ “ยก” มือเหล่านี้ได้อย่างไร?
-
วลี “เข่าที่อ่อนล้า” น่าจะหมายถึงอะไร? เราจะ “ให้กำลัง” คนที่เข่าอ่อนล้าได้อย่างไร?
การศึกษาข้อนี้อาจจะทำให้นึกถึงคนที่ท่านสามารถ “ช่วยเหลือ” “ยก” หรือ “ให้กำลัง” ท่านจะทำอะไรเพื่อปฏิบัติศาสนกิจต่อบุคคลนั้น?
พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ฉันกลับใจและทิ้งบาปของฉัน
ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:1–7 ท่านอาจจะเขียนสิ่งที่ท่านเรียนรู้เป็นสองรายการ: คำเตือนเกี่ยวกับบาปและความจริงเกี่ยวกับการให้อภัย ความจริงเหล่านี้จะช่วยท่านต่อต้านการล่อลวงของปฏิปักษ์ได้อย่างไร?
พระบัญญัติมีไว้เพื่อความรอดของฉันและคุ้มครองฉัน
ถ้าท่าน—หรือคนที่ท่านรู้จัก—เคยสงสัยว่าเหตุใดพระเจ้าประทานพระบัญญัติให้มากมายขนาดนี้ หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:8–10 จะช่วยได้ ข้อคิดอะไรในข้อเหล่านี้จะช่วยท่านอธิบายให้บางคนรู้ว่าเหตุใดท่านจึงเลือกปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้า? ท่านอาจจะพิจารณาเช่นกันว่าพระบัญญัติของพระองค์เปลี่ยนชีวิตท่านอย่างไร ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเจ้าขณะที่ท่านอ่าน ข้อ 10?
ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:20–21; แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์, “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 118–120 ด้วย
“หญิงหม้ายและเด็กกำพร้าพึงได้รับการจัดหาให้”
ในเดือนเมษายน 1832 พระเจ้าทรงแนะนำให้โจเซฟ สมิธเดินทางราว 800 ไมล์ไปเยี่ยมวิสุทธิชนที่มารวมกันในมิสซูรี (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:9) ชุมชนหนึ่งที่ท่านไปเยี่ยมมีหญิงหม้ายที่เลี้ยงดูบุตรตามลำพังอยู่ด้วย ฟีบี เพ็คกับแอนนา โรเจอร์สผู้ที่ท่านศาสดาพยากรณ์รู้จักเป็นส่วนตัวอยู่ในบรรดาคนเหล่านั้นด้วย ในมิสซูรีทศวรรษ 1830 กฎหมายรัฐให้สิทธิจำกัดแก่หญิงม่ายในเรื่องทรัพย์สินของสามีที่ล่วงลับ ท่านเรียนรู้อะไรจาก ภาค 83 ว่าพระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรต่อหญิงหม้ายและเด็กกำพร้า? ท่านรู้จักใครในสถานการณ์นี้ผู้จะได้ประโยชน์จากความรักหรือความห่วงใยของท่านหรือไม่?
ดู อิสยาห์ 1:17; ยากอบ 1:27 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:3ท่านจะแจกหัวใจกระดาษให้สมาชิกครอบครัวแล้วให้พวกเขาวาดหรือเขียนบางอย่างที่พวกเขาประสงค์จะสวดอ้อนวอน พูดคุยกันว่าสวดอ้อนวอน “เสมอ, โดยออกเสียงและในใจเจ้า” หมายความว่าอย่างไร
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:5เพื่อเรียนรู้หลักธรรมต่างๆ ในข้อนี้ สมาชิกครอบครัวอาจจะยกตัวอย่างเมื่อพวกเขารู้สึก “อ่อนแอ” หรือ “อ่อนล้า” และมีคนช่วยเหลือและให้กำลังพวกเขา ท่านจะดูวีดิทัศน์เกี่ยวกับการรับใช้ผู้อื่นด้วย เช่น “Works of God” หรือ “The Miracle of the Roof” (ChurchofJesusChrist.org) สนทนาว่าครอบครัวท่านจะรับใช้กันอย่างเรียบง่ายเป็นประจำได้อย่างไร
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:8–10เกมง่ายๆ อาจจะช่วยให้ครอบครัวท่านรู้สึกขอบพระทัยสำหรับพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า สมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวจะให้คำแนะนำเพื่อช่วยคนที่ถูกปิดตาทำแซนด์วิชหรือเดินตามทางที่มีสิ่งกีดขวาง คิดบางอย่างที่สนุกและสร้างสรรค์! จากนั้นสนทนาว่าพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเหมือนคำแนะนำในเกมนี้อย่างไร
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:18–19สมาชิกครอบครัวแต่ละคนจะทำอะไรได้บ้างเพื่อ “เพิ่มพูนพรสวรรค์ของตน” และ “ได้รับพรสวรรค์อื่นๆ”? คงจะสนุกถ้าจัดงานแสดงพรสวรรค์ของครอบครัว คิดวิธีรวมพรสวรรค์ที่แสดงได้ไม่ง่ายไว้ในงานนั้นด้วย (เช่น ของประทานฝ่ายวิญญาณ; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:11–26) เราจะใช้พรสวรรค์ของเราและแบ่งปันสิ่งที่เรามีเพื่อเป็นพรแก่ครอบครัวเราและเพื่อนบ้านได้อย่างไร? ใช้พรสวรรค์ของเรา “ด้วยดวงตาที่เห็นแก่รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว” หมายความว่าอย่างไร?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ฉันทำความดีบ้างหรือไม่?” เพลงสวด บทเพลงที่ 109; ดู “แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวท่าน” ด้วย