การปกป้อง ความเชื่อ
พระเจ้าทรงต้องการให้ผู้คนเต็มใจและสามารถปกป้องพระคริสต์และอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนทว่าหนักแน่น
ในการดำรงอยู่ก่อนเกิดเราครอบครองสิทธิ์เสรี อำนาจการใช้เหตุผล และความรู้แจ้ง ที่นั่นเรา “ได้รับเรียกและเตรียมไว้ … ตามความรู้ล่วงหน้าของพระผู้เป็นเจ้า” และในตอนแรกเราอยู่ “ในฐานะเดียว” กับพี่น้องชายหญิงของเรา (แอลมา 13:3, 5) โอกาสให้เติบโตและเรียนรู้มีอยู่อย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ดี การเข้าถึงคำสอนของบ้านบนสวรรค์อย่างเท่าเทียมกันไม่ได้ทำให้เกิดความปรารถนาจะฟัง เรียนรู้ และเชื่อฟังแบบเดียวกันในหมู่พวกเรา—บุตรธิดาทางวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์ เราใช้สิทธิ์เสรีดังที่เราใช้ในทุกวันนี้ เราฟังตามระดับความสนใจและความตั้งใจต่างกัน พวกเราบางคนพยายามเรียนรู้และเชื่อฟังอย่างจริงจัง เนื่องจากสงครามในสวรรค์จะเกิดขึ้นในไม่ช้า เราจึงเตรียมสำเร็จการศึกษาจากบ้านก่อนเกิด มีการสอนและท้าทายความจริง มีการแสดงประจักษ์พยานและการเย้ยหยัน พร้อมด้วยวิญญาณก่อนเกิดแต่ละวิญญาณกำลังเลือกว่าจะปกป้องหรือออกจากแผนของพระบิดา
ไม่มีความครึ่งๆ กลางๆ
สุดท้ายแล้ว การถอยไปอยู่ตรงกลางโดยไม่เลือกฝ่ายใดไม่ใช่ทางเลือกในความขัดแย้งครั้งนี้ ทั้งไม่ใช่ทางเลือกในปัจจุบัน พวกเราที่มีศรัทธาในการชดใช้ในอนาคตของพระเยซูคริสต์เป็นอาวุธ มีพลังจากประจักษ์พยานในบทบาทอันสูงส่งของพระองค์ ครอบครองความรู้ทางวิญญาณ และกล้าใช้ความรู้นั้นปกป้องพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ต่างสู้อยู่แนวหน้าในสงครามวาทะครั้งนี้ ยอห์นสอนว่าวิญญาณที่กล้าหาญเหล่านั้นและคนอื่นๆ ชนะลูซิเฟอร์ ด้วยพระโลหิตของพระเมษโปดก และด้วย คำพยานของพวกเขาเอง (วิวรณ์ 12:11; เน้นตัวเอน)
ใช่ สัญญาเรื่องพระผู้ช่วยให้รอด เรื่องเกทเสมนีกับคัลวารีที่เปื้อนคราบโลหิตชนะสงครามในโลกก่อนเกิด แต่ ความกล้าหาญและประจักษ์พยาน ก่อนเกิดของเรา ความเต็มใจจะอธิบาย โน้มน้าวด้วยเหตุผล และชักชวนวิญญาณอื่นช่วยยับยั้งไม่ให้กระแสความเท็จแพร่กระจายโดยไม่มีใครคัดค้าน!
เพราะเราต่อสู้เพื่อปกป้องพระองค์ในโลกก่อนเกิดสำเร็จ เราจึงกลายเป็นพยานถึงพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ โดยแท้แล้ว เพราะเราพิสูจน์ให้เห็นในการต่อสู้จนเราเกิดความมั่นใจและความกล้าหาญ พระเจ้าจึงตรัสถึงเรา—สมาชิกของเชื้อสายอิสราเอล—ในเวลาต่อมาว่า “เจ้าทั้งหลายเป็นสักขีพยานของเรา” (อิสยาห์ 43:10) ขอให้เราถามตัวเราเองว่า คำประกาศเช่นนั้นยังเป็นจริงกับเราในทุกวันนี้หรือไม่
การต่อสู้ปัจจุบันของเรา
ความขัดแย้งเพื่อโน้มนำความคิด จิตใจ และจิตวิญญาณของลูกๆ พระบิดาของเรายังคงเกิดขึ้นในปัจจุบันขณะรอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ แม้คนมากมายในโลกสนใจใคร่รู้อย่างจริงใจเกี่ยวกับคำสอนของศาสนจักร แต่อ่าวอันกว้างใหญ่ที่นับวันจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างคนชั่วร้ายกับคนชอบธรรมแยกโลกที่เสื่อมถอยอย่างรวดเร็วจากความจริงพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟุ เมื่อวิสุทธิชนที่ไม่ดีพร้อมแต่ยังพยายามแสวงหาแสงสว่างถูกกล่าวหาว่าเดินตามความมืด เมื่อความหวานของเจตนาและงานของพวกเขาถูกประกาศว่าเป็นความขม (ดู อิสยาห์ 5:20) จึงไม่แปลกที่มีคนชี้นิ้วเยาะเย้ยศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเจ้าและผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ (ดู 1 นีไฟ 8:27)
ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนว่า “เรามีชีวิตอยู่ในยุคที่สิ่งต่างๆ มากมายรอบตัวเรามุ่งหมายชักจูงเราไปในเส้นทางซึ่งอาจนำเราไปสู่หายนะได้ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้นเราต้องมีความมุ่งมั่นและความกล้าหาญ”
การเป็นสมาชิกในลักษณะเฉยเฉื่อยนับว่าไม่พอในความขัดแย้งยุคสุดท้ายนี้! ประธานมอนสันกล่าวต่อไปว่า “ขณะที่เราดำเนินชีวิตในแต่ละวัน แทบหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ศรัทธาของเราจะถูกทดสอบ … เรามีความกล้าหาญทางศีลธรรมเพื่อยืนหยัดสนับสนุนความเชื่อของเราหรือไม่แม้ต้องยืนคนเดียวขณะทำเช่นนั้น”1
แม้จะมีเสียงรบกวนตลอดเวลาจากอาคารใหญ่และกว้าง (ดู 1 นีไฟ 8:26–27) เราตั้งใจจะเดินอย่างแน่วแน่ไปตามถนนที่มีคนเดินไม่มากหรือไม่2 เราเต็มใจอีกทั้งสามารถร่วมวงสนทนาอย่างสุภาพกับผู้มีคำถามที่จริงใจหรือไม่ เราเต็มใจและสามารถชี้แจงและปกป้องคำสอนของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์โดยไม่ใช้ความขัดแย้งหรือไม่
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะนำให้เราเห็นแย้งได้โดยไม่ขัดแย้งดังนี้ “แม้แต่ขณะที่เราพยายามสุภาพ … เราต้องไม่อะลุ้มอล่วยหรือคลายคำมั่นสัญญาของเราต่อความจริงที่เราเข้าใจ”3
จงกล้าหาญ
ขอให้เราพิจารณาคำเชื้อเชิญของประธานมอนสันอย่างละเอียดถี่ถ้วน “เมื่อเรามีประจักษ์พยาน เรามีหน้าที่ต้องแบ่งปันประจักษ์พยานกับผู้อื่น … ขอให้เรากล้าหาญและพร้อมจะยึดมั่นสิ่งที่เราเชื่อ ถ้าเราต้องยืนคนเดียวในระหว่างนั้น ขอให้เรายืนอย่างกล้าหาญ รับพลังจากความรู้ที่ว่าแท้จริงแล้วเราไม่มีวันโดดเดี่ยวเมื่อเรายืนกับพระบิดาในสวรรค์ของเรา”4
การเป็นสมาชิกศาสนจักรคนเดียวไม่ได้ทำให้บุคคลนั้นเป็นพยานที่กล้าหาญของพระคริสต์และศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์โดยอัตโนมัติ พระเจ้าทรงสอนให้เราส่องความสว่างของเราผ่านการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ทว่าสมาชิกบางคนเก็บงำการเป็นสมาชิกของพวกเขาโดยวางแสงสว่างของตนไว้ใต้ถังที่ครอบไว้ บางคนจะตอบคำถามพระกิตติคุณเป็นครั้งคราวแต่ไม่กล้าเป็นพยานและเชื้อเชิญ ทว่าหลายคนมองหาโอกาสแบ่งปันพระกิตติคุณและเต็มใจทำเช่นนั้น มีพวกเรากี่คนเป็น ผู้ปกป้อง ความเชื่อที่กล้าหาญและมั่นใจ
เพื่อรักษาที่มั่นและได้ที่มั่นคืนมาในสงครามวาทะยุคปัจจุบัน พระเจ้าทรงต้องการให้ผู้คนเต็มใจและสามารถปกป้องพระคริสต์ ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่มีชีวิตอยู่ของพระองค์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ พระคัมภีร์ และมาตรฐานของศาสนจักรได้อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนทว่าหนักแน่น พระองค์ทรงต้องการให้ผู้คน “เตรียมพร้อมเสมอที่จะอธิบายกับทุกคนที่ขอทราบเหตุผลเกี่ยวกับความหวัง [ของพวกเขา]” (1 เปโตร 3:15) พระองค์ทรงต้องการให้กองทัพวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่แท้จริงเต็มใจเป็นพยานถึงความจริงด้วยความอ่อนน้อมและความรักเมื่อมีคนท้าทายแง่มุมใดก็ตามของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู!
แบบอย่างของแม่ทัพโมโรไน
หากท่านรู้สึกไม่คู่ควรเป็นผู้กล้าปกป้องความจริงในสมัยของเรา ท่านไม่ได้รู้สึกคนเดียว พวกเราส่วนใหญ่รู้สึกเช่นนั้นไม่มากก็น้อย ทว่ามีสิ่งง่ายๆ ที่เราทำได้เพื่อให้มีทั้งความสามารถและความมั่นใจ
ในพระคัมภีร์มอรมอน เราเรียนรู้ว่าแม่ทัพโมโรไน “เตรียมจิตใจผู้คนให้ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา” (แอลมา 48:7) เขาทราบดีว่าแนวป้องกันแรกคือชีวิตที่สร้างบนรากฐานของการเชื่อฟังส่วนตัว นอกจากนี้ เขายังได้ “ตั้งป้อมเล็กๆ … กองมูลดินไว้โดยรอบ … , และสร้างกำแพงศิลาขึ้นล้อมรอบพวกเขา” ด้วย (ข้อ 8) เขาไม่เพียงใช้มาตรการป้องกันที่ชัดเจนบางอย่างเท่านั้น แต่เขาเสริม “แนวปราการที่อ่อนแอที่สุด” อย่างมีกลยุทธ์ด้วย (ข้อ 9) กลยุทธ์ป้องกันของเขาประสบผลสำเร็จจนศัตรู “ฉงนอย่างยิ่ง” (แอลมา 49:5) และไม่สามารถดำเนินแผนชั่วของตนได้
ท่านอาจจะถามว่า “คนอ่อนแออย่างฉันจะเป็นผู้กล้าปกป้องพระคริสต์และพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูได้หรือ” ความอ่อนแอที่ท่านรับรู้จะเป็นความเข้มแข็งเมื่อท่านยอมรับว่าทั้งหมดที่พระเจ้าทรงเรียกร้องในขั้นต้นคือ “ใจและความคิดที่เต็มใจ [ของท่าน]” (คพ. 64:34) เพราะมีจิตใจที่กล้าหาญ คน “เล็กและเรียบง่าย” ของโลกจึงเป็นทหารเกณฑ์คนโปรดของพระองค์ จำไว้ว่าโดย “วิธีเล็กๆ น้อยๆ” พระองค์ทรงยินดี “ทำให้ผู้มีปัญญาจำนน” (ดู แอลมา 37:6, 7) หากท่านเต็มใจแบ่งปันและปกป้องพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู ผู้นำและหลักคำสอนของศาสนจักร ท่านอาจพิจารณาข้อเสนอแนะต่อไปนี้
1. รู้ว่าปกป้องใครและปกป้องอะไร กลยุทธ์การตั้งรับอย่างเข้มแข็งเป็นพื้นฐานของการบุกโจมตีอย่างเข้มแข็ง แม้ท่าน ไม่สามารถ ปกป้องสิ่งที่ท่านไม่รู้หรือรู้เล็กน้อยได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ท่าน จะไม่ ปกป้องหากท่านไม่ใส่ใจอย่างลึกซึ้ง เฉกเช่นคนรับจ้างผู้ได้รับค่าดูแลแกะ เขาจะถอยหรือหนีเมื่อเกิดสัญญาณความเดือดร้อนครั้งแรก ท่านจะรักษาแนวป้องกันได้ไม่นานเว้นแต่ท่านมีความเชื่อมั่นทางวิญญาณว่าอุดมการณ์ของท่านเที่ยงธรรมและจริง เพื่อเป็นพยานและปกป้องพระคริสต์และศาสนจักรของพระองค์ ท่านต้องรู้ว่าพระองค์ทรงพระชนม์และนี่คือศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์
คนที่รู้ และ ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณล้วนเปี่ยมด้วยความเข้าใจและความเชื่อมั่นแรงกล้าอันเกิดจากความมีค่าควรและประสบการณ์ส่วนตัว พวกเขาพร้อมจะเป็นพยานถึงความจริงมากกว่าคนที่ใส่ใจเพียงเรียนรู้วิธีให้คำตอบ
2. ประเมินป้อมปราการของท่าน จงทำตามแบบอย่างของแม่ทัพโมโรไน จงประเมินข้อดีและข้อด้อยของความเข้าใจพระกิตติคุณของท่านอย่างซื่อสัตย์ ท่านกำลังเป็นแบบอย่างที่ดีโดยดำเนินชีวิตเฉกเช่นพระคริสต์หรือไม่ ท่านสามารถหาคำตอบของคำถามโดยค้นคว้าพระคัมภีร์หรือไม่ ท่านสะดวกใจกับการแสดงประจักษ์พยานหรือไม่ ท่านใช้พระคัมภีร์ตอบคำถามเกี่ยวกับหลักคำสอนและคำสอนของศาสนจักรได้หรือไม่ แม้คำถามบางข้อจะอธิบายยากก็ตาม ท่านพร้อมจะพูดหรือไม่ว่า “ผมไม่รู้ แต่ผมจะหาให้” หรือดึงคนไปยังที่ซึ่งพวกเขาจะหาคำตอบได้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าการหมั่นศึกษาจะช่วยให้ท่านเกิดความมั่นใจและความกล้าหาญที่ท่านแสวงหา5
3. เสริมความแข็งแกร่งให้ป้อมปราการของท่าน เมื่อประเมิน “ป้อมปราการ” หลักคำสอนตรงหน้าท่านแล้ว ให้เริ่มการศึกษาระยะยาวแบบเจาะจงโดยมีเป้าหมายว่าจะทำให้สิ่งอ่อนแอกลายเป็นความเข้มแข็งสำหรับท่าน (ดู อีเธอร์ 12:27) จงตอบรับคำร้องขอของโมเสสว่า “ข้าพเจ้าอยากให้ประชาชนของพระยาห์เวห์เป็นผู้เผยพระวจนะทุกคน และข้าพเจ้าอยากให้พระยาห์เวห์ทรงใส่วิญญาณของพระองค์ไว้บนพวกเขา” (กันดารวิถี 11:29) จงทำให้พระเจ้าอ่อนพระทัยกับการทูลขอให้พระองค์ทรงพูนดินไว้บนกำแพงป้องกันของท่านขณะที่ท่านพยายามวันละเล็กละน้อยทุกวัน
จงอ่านพระคัมภีร์ร่วมกับการสวดอ้อนวอน อ่านหลายๆ รอบ อย่าซึมซับเรื่องราวที่คุ้นเคยอยู่แล้วเท่านั้น แต่จงดื่มด่ำ ท่านอาจจะจดบันทึกการศึกษาหลักคำสอนและจดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับแต่ละหัวข้อท่านอาจจะระบุและท่องจำพระคัมภีร์สองสามข้อตามลำดับเหตุผลเพื่อสนับสนุนคำสอนและความคิดของท่านเอง ดังที่เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอน “เมื่อใช้พระคัมภีร์ตามที่พระเจ้าทรงให้บันทึก พระคัมภีร์มีพลังภายในที่จะไม่ถ่ายทอดเมื่อมีการถอดความ”6
ท่านอาจจะท่องจำคำพูดอ้างอิงของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกสักสองสามประโยค พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถ “ทำให้ระลึกถึง” เฉพาะที่ท่านจำได้ก่อน (ดู ยอห์น 14:26) ความรู้จริงในเรื่องหลักคำสอนที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางผนวกกับ “ดาบแห่งพระวิญญาณ [ของพระองค์]” (คพ. 27:18) เป็นปราการและอาวุธร้ายแรงที่สุดที่ท่านครอบครอง
4. ปฏิบัติ! ศาสนจักรกระตุ้นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาให้ฝึกแสดงบทบาทสมมติเตรียมรับสถานการณ์ซึ่งพวกเขาจะพบเจอด้วยตนเอง เพราะอาจจะขอให้ท่านปกป้องศาสนจักรหรืออธิบายหลักคำสอนในเวลาหรือสถานที่ซึ่งท่านคาดไม่ถึงมากที่สุด ท่านจึงอาจจะทำตามแบบอย่างของผู้สอนศาสนาโดยเตรียมตัว ทางวิญญาณ ก่อนจึงจะมีการสนทนา อย่างเป็นธรรมชาติ (ดู โมเสส 3:5, 7) ฝึกแสดงบทบาทสมมติก่อนท่านจะอยู่ในสภาวการณ์ซึ่งท่านกำลังสอนหรือปกป้องมาตรฐานพระกิตติคุณ ให้ตั้งคำถามสมมติแล้วตอบคำถามเหล่านั้นคนเดียวหรือกับครอบครัวหรือเพื่อนๆ! เมื่อท่านเตรียมพร้อมมากขึ้น ท่านจะ “เข้มแข็งยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น” ในความมั่นใจของท่านในฐานะพยานของพระคริสต์ (ดู ฮีลามัน 3:35) เริ่มด้วยคำตอบสั้นๆ ง่ายๆ คำตอบแบบนั้นจะเหมาะกับสถานการณ์ส่วนใหญ่ แต่ท่านสามารถเสริมเครื่องป้องกันของท่านให้แข็งแกร่งขึ้นได้โดยศึกษาพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงหลักคำสอนต่างๆ
5. แสวงหาโอกาส หลังจากเตรียมตนเองแล้ว จงสวดอ้อนวอนขอให้มีโอกาสแบ่งปันอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนทว่ามั่นใจและปกป้องพระกิตติคุณหากจำเป็น จำไว้ว่า “ความไม่กล้าไม่ใช่ขาดความพร้อมแต่ขาดความกล้า”7 จงสวดอ้อนวอนขอให้ท่านรักบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ทั้งในและนอกศาสนจักรมากพอจะแบ่งปันและปกป้องมาตรฐานพระกิตติคุณ จงสวดอ้อนวอนขอให้ท่านไม่เมินเฉยหรือยอมรับหลักคำสอนที่ทำให้ท่านสับสนโดยไม่พินิจพิเคราะห์ แต่พยายามเอาชนะความสับสนด้วยศรัทธาในพระคริสต์
พึงระลึกว่าแม้แต่เด็กก็สามารถเป็นผู้ปกป้องพระคริสต์ที่สนามเด็กเล่นได้โดยแสดงประจักษ์พยานที่เรียบง่าย ท่านไม่ต้องเป็นผู้รอบรู้พระกิตติคุณก็เป็นพยานถึงความจริงได้ ท่านไม่ต้องมีคำตอบทั้งหมด ไม่เป็นไรถ้าบางครั้งจะบอกว่า “ผมไม่รู้” หรือ “ความลี้ลับเหล่านี้ยังไม่เผยให้เป็นที่รู้โดยสมบูรณ์แก่ [ผม]; ฉะนั้น [ผม] จะหยุดก่อน” (แอลมา 37:11) การไม่ “ละอายในเรื่องข่าวประเสริฐ” (โรม 1:16) เป็นมากกว่าการเพิกเฉยหรือทนรับความจริงครึ่งๆ กลางๆ และความเท็จ แต่หมายถึงการรู้และปกป้องหลักคำสอน! ต่อจากนั้น หากท่านยังเงียบอยู่ อย่าให้ความเงียบนั้นเกิดจากความกลัวแต่เพราะเรากำลังทำตามการกระตุ้นเตือน (ดูตัวอย่างใน แอลมา 30:29)
ยืนเป็นพยานที่มั่นใจ
ขณะท่านยังคงปกป้องพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ “ศรัทธา, ความหวัง, จิตกุศลและความรัก, โดยดวงตาที่เห็นแก่รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว, ย่อมทำให้ [ท่าน] สมกับงาน” (คพ. 4:5) ขอให้เราจำไว้ว่าพระคริสต์ทรงอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ—พระองค์ทรงเชื้อเชิญแต่ไม่ทรงติเตียน และพระองค์ตรัสเช่นกันว่า “คนที่มีวิญญาณของความขัดแย้งย่อมไม่เป็นของเรา” (3 นีไฟ 11:29)
ขณะโลกที่ชั่วร้ายยังคงฝ่าฝืนมาตรฐานด้านศีลธรรมและหลักคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า พระคริสต์ทรงพึ่งพาแม้วิสุทธิชนส่วนน้อยให้เป็นพยานที่มีชีวิตถึงพระนามของพระองค์
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) เตือนเราว่า “เป็นคนดีเท่านั้นไม่พอ ท่านต้องทำประโยชน์บางอย่าง ท่านต้องเอื้อประโยชน์ต่อโลก โลกจะต้องน่าอยู่มากขึ้นเพราะมีท่าน … ในโลกนี้เต็มไปด้วยปัญหา ถูกความท้าทายที่ชั่วร้ายและป่าเถื่อนคุกคามตลอดเวลา ท่านสามารถดีกว่าและต้องดีกว่าคนทั่วไปและไม่ เฉยเมย ท่านสามารถมีส่วนและพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นสนับสนุนสิ่งที่ถูกต้อง”8
หากท่านปรารถนาจะเป็นพยานของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู จงเข้าร่วมขบวนพยานยุคสุดท้ายโดยให้แสงสว่างของท่านฉายส่อง! ขอให้การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ และ การปกป้องพระกิตติคุณเดียวกันนั้นเป็นภาพสะท้อนความลึกซึ้งของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเยซูคริสต์ของท่าน