ข่าวเยี่ยมสอน
จิตใจเดียว
ศึกษาเนื้อหานี้ร่วมกับการสวดอ้อนวอนและทูลขอการดลใจให้รู้ว่าจะแบ่งปันอะไร การเข้าใจจุดประสงค์ของสมาคมสงเคราะห์จะเตรียมธิดาของพระผู้เป็นเจ้าให้พร้อมรับพรแห่งชีวิตนิรันดร์อย่างไร
“และพระเจ้าทรงเรียกผู้คนของพระองค์ว่าไซอัน, เพราะพวกเขามีจิตใจเดียวและความคิดเดียว, และดำรงอยู่ในความชอบธรรม; และไม่มีคนจนในบรรดาพวกเขา.” (โมเสส 7:18) เราจะเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างไร
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ตรงกลางของคำภาษาอังกฤษ atonement คือคำว่า one ถ้ามวลมนุษยชาติเข้าใจสิ่งนี้ย่อมไม่มีสักคนเดียวที่เราจะไม่ห่วงใย โดยไม่คำนึงถึงอายุ เชื้อชาติ เพศ ศาสนา หรือสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ เราจะพยายามเลียนแบบพระผู้ช่วยให้รอดและจะไม่มีวันใจร้าย เฉยเมย ไม่เคารพ หรือไม่ใส่ใจผู้อื่น”1
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า “ที่ใดผู้คนมีพระวิญญาณสถิตอยู่ด้วย [พวกเขา] คาดหวังได้ว่าจะมีความปรองดอง …พระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าไม่เคยก่อความขัดแย้ง (ดู 3 นีไฟ 11:29) …พระวิญญาณทำให้เกิดสันติสุขส่วนตัวและความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันกับผู้อื่น”2
เมื่อพูดถึงความท้าทายในครอบครัว แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์ผู้รับใช้เป็นที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญกล่าวว่า “ดิฉันไม่เคยต้องใช้ชีวิตผ่านการหย่าร้าง ความเจ็บปวดและความไม่มั่นคงอันเกิดจากการถูกทอดทิ้ง หรือความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการเป็นแม่ตัวคนเดียว ดิฉันไม่เคยประสบกับการสูญเสียลูก การเป็นหมัน หรือเสน่หาเพศเดียวกัน ดิฉันไม่เคยต้องทนต่อการกระทำทารุณกรรม ความเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือการเสพติด สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความทุกข์ที่ดิฉันประสบ
“… แต่การทดสอบและการทดลองส่วนตัว ของดิฉัน …ทำให้ดิฉันคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับพระองค์ผู้เข้าพระทัย …นอกจากนี้ ดิฉันเคยประสบการทดสอบของชีวิตมรรตัยทั้งหมดที่เพิ่งกล่าวถึงจากการเป็นบุตรสาว มารดา คุณย่าคุณยาย พี่สาว คุณป้า และเพื่อน
“โอกาสของเราในการเป็นธิดาที่รักษาพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าไม่เพียงเพื่อเรียนรู้จากความท้าทายของเราเองเท่านั้น แต่เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกันในความเห็นใจและความเมตตาขณะที่เราสนับสนุนช่วยเหลือสมาชิกคนอื่นในครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้าในความทุกข์ยากของพวกเขา”3
พระคัมภีร์และข้อมูลเพิ่มเติม
ยอห์น 17:20–23; เอเฟซัส 4:15; โมไซยาห์ 18:21–22; 4 นีไฟ 1:15