“6–12 กันยายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98-101: ‘จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“6–12 กันยายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021
6–12 กันยายน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101
“จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า”
ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101 ให้เอาใจใส่ความคิดและความประทับใจที่เกิดขึ้น การทำตามความประทับใจเหล่านั้นจะช่วยให้ท่านเป็นบุคคลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้ท่านเป็นอย่างไร?
บันทึกความประทับใจของท่าน
สำหรับวิสุทธิชนในทศวรรษ 1830 อินดิเพนเดนซ์ มิสซูรีเป็นแผ่นดินที่สัญญาไว้จริงๆ เป็น “ศูนย์กลาง” ของไซอัน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 57:3)—เมืองของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก—ซึ่งพวกเขากำลังเสียสละมากเพื่อสร้างเมืองนี้ สำหรับพวกเขา การรวบรวมวิสุทธิชนที่นั่นเป็นเหตุการณ์อันน่ายินดีและน่าตื่นเต้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง แต่เพื่อนบ้านในละแวกนั้นมองต่าง พวกเขาไม่พอใจคำอ้างที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ประทานที่ดินให้วิสุทธิชน และพวกเขาไม่สบายใจกับผลทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของคนจำนวนมากจากศาสนาที่พวกเขาไม่รู้จักผู้พากันย้ายเข้ามาอย่างรวดเร็ว ไม่นานข้อกังวลก็กลายเป็นการข่มขู่ และการข่มขู่กลายเป็นการข่มเหงและความรุนแรง ในเดือนกรกฎาคม ปี 1833 สำนักพิมพ์ของศาสนจักรถูกทำลาย และในเดือนพฤศจิกายนวิสุทธิชนถูกบีบให้ทิ้งบ้านของพวกเขาในเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรี
โจเซฟ สมิธอยู่ในเคิร์ทแลนด์ห่างออกไป 800 กว่าไมล์และหลายสัปดาห์กว่าข่าวนี้จะไปถึงท่าน แต่พระเจ้าทรงทราบว่าเกิดอะไรขึ้นและทรงเปิดเผยต่อท่านศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับหลักธรรมแห่งสันติภาพและกำลังใจที่จะปลอบโยนวิสุทธิชน—หลักธรรมที่จะช่วยเราได้เช่นกันเมื่อเราประสบการข่มเหง เมื่อความปรารถนาที่ชอบธรรมของเราไม่เกิดสัมฤทธิผล หรือเมื่อเราต้องมีสิ่งเตือนใจว่าความทุกข์แต่ละวันของเราสุดท้ายแล้วจะ “ร่วมกันส่งผลเพื่อความดี [ของเรา]” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:3)
ดู Saints, 1:171–93; “Waiting for the Word of the Lord,” Revelations in Context, 196–201
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:1–3, 11–14; 101:1–16
การทดลองของฉันจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของฉัน
ความทุกข์บางอย่างในชีวิตเราเกิดจากการเลือกของเราเอง อีกหลายอย่างเกิดจากการเลือกของผู้อื่น และบางครั้งไม่ได้เกิดจากใคร—เรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นเอง ไม่ว่าด้วยเหตุใด ความยากลำบากจะช่วยให้บรรลุจุดประสงค์อันสูงส่ง ขณะที่ท่านอ่านสิ่งที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับความทุกข์ยากของวิสุทธิชน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:1–3, 11–14 และ 101:1–16 ท่านพบอะไรที่จะช่วยท่านกับการทดลองของท่าน? ข้อเหล่านี้จะส่งผลต่อวิธีที่ท่านมองความท้าทายที่ท่านประสบอย่างไร? ไตร่ตรองว่าการทดลองของท่านร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของท่านและทำให้จุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าบรรลุผลสำเร็จในชีวิตท่านอย่างไร
ดู 2 นีไฟ 2:2; หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:24 ด้วย
หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:23–48
พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันแสวงหาสันติภาพในวิธีของพระองค์
แม้ไม่ใช่ทุกอย่างใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:23–48 จะประยุกต์ใช้กับปฏิสัมพันธ์ส่วนตัวของท่านกับผู้อื่นได้ แต่ท่านพบหลักธรรมอะไรบ้างที่สามารถนำทางท่านเมื่อคนอื่นทำผิดต่อท่าน? อาจเป็นประโยชน์ถ้าทำเครื่องหมายคำหรือวลีที่บอกว่าพระเจ้าทรงต้องการให้วิสุทธิชนจัดการความขัดแย้งในมิสซูรีอย่างไร
ดู เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “พันธกิจในเรื่องการคืนดี,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 77–79 ด้วย
พระเจ้าทรงดูแลคนที่รับใช้พระองค์
เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากโจเซฟทราบข่าวการข่มเหงในมิสซูรี ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่คนหนึ่งขอให้ท่านเดินทางไปแคนาดาเพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณกับบุตรชายของเขา โจเซฟรับปากแม้จะกังวลกับการจากครอบครัวท่านไป โดยเฉพาะเนื่องจากการข่มเหงและการข่มขู่ครอบครัวของท่านและศาสนจักร ระหว่างทางไปแคนาดา โจเซฟกับซิดนีย์ ริกดันคู่ของท่านสวดอ้อนวอนขอการปลอบโยน และ ภาค 100 เป็นคำตอบที่พระเจ้าประทานแก่ท่านทั้งสอง ท่านพบอะไรในพระดำรัสตอบของพระเจ้าที่น่าจะปลอบใจและช่วยเหลือพวกเขา?
ท่านอาจจะเคยมีประสบการณ์ที่เรียกร้องให้ท่านรักษาสมดุลระหว่างความห่วงใยหน้าที่รับผิดชอบในศาสนจักรกับความห่วงใยครอบครัว พระดำรัสของพระเจ้าใน ภาค 100 จะช่วยท่านในสถานการณ์เช่นนั้นได้อย่างไร?
ดู “A Mission to Canada,” Revelations in Context, 202–207 ด้วย
หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:43–65
การทำตามคำแนะนำของพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้ฉันปลอดภัยเสมอ
พระเจ้าประทานอุปมาใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:43–62 เพื่ออธิบายว่าเหตุใดพระองค์ทรงยอมให้วิสุทธิชนถูกขับออกจากไซอัน ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ ท่านเห็นความคล้ายคลึงใดๆ หรือไม่ระหว่างตัวท่านกับคนใช้ในอุปมา? ท่านอาจจะถามตัวท่านเองว่า ฉันเคยสงสัยพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่? การขาดศรัทธาหรือความมุ่งมั่นจะปล่อยให้ “ศัตรู” มีอิทธิพลในชีวิตฉันได้อย่างไร? ฉันจะแสดงให้พระผู้เป็นเจ้าเห็นได้อย่างไรว่าฉัน “เต็มใจรับการนำทางในวิธีที่ถูกต้องและสมควรเพื่อความรอด [ของฉัน]”? (ดู ข้อ 63–65)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:16, 39–40อะไรในข้อเหล่านี้สามารถช่วยให้เรามีสันติภาพมากขึ้นในครอบครัวเรา? ท่านจะร้องเพลงเพลงหนึ่งเกี่ยวกับสันติภาพหรือการให้อภัย เช่น “ความจริงสะท้อนความรู้สึกเรา” (เพลงสวด บทเพลงที่ 137) เด็กเล็กอาจจะชอบแสดงบทบาทสมมติเรื่องการให้อภัยกัน
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 99เมื่อจอห์น เมอร์ด็อกได้รับเรียกให้ออกจากบ้านไป “ประกาศพระกิตติคุณอันเป็นนิจ” (ข้อ 1) เขาเพิ่งกลับจากงานเผยแผ่ที่ยุ่งยากนานหนึ่งปีในมิสซูรี (ดู “John Murdock’s Missions to Missouri,” Revelations in Context, 87–89) เราพบอะไรใน ภาค 99 ที่อาจจะช่วยหรือให้กำลังใจบราเดอร์เมอร์ด็อก? พระเจ้าทรงมีข่าวสารอะไรให้เราในการเปิดเผยนี้?
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 100:16; 101:3–5, 18หลังจากอ่านข้อเหล่านี้ ท่านอาจจะสนทนาว่าช่างตีเหล็กต้องทำให้โลหะร้อนจัดเพื่อเอาสิ่งเจือปนออกแล้วใช้ค้อนตีหลายต่อหลายครั้งจนขึ้นรูป (ดูวีดิทัศน์ “The Refiner’s Fire” บน ChurchofJesusChrist.org) ท่านอาจจะเรียนรู้ด้วยกันเกี่ยวกับวิธีทำให้สิ่งอื่นบริสุทธิ์ เช่นน้ำหรือเกลือ ท่านอาจจะทำให้บางอย่างบริสุทธิ์หรือสะอาด เช่นครอบครัว เหตุใดเราจึงต้องการเป็นคนบริสุทธิ์? ตัวอย่างเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับวิธีที่การทดลองของเราสามารถช่วยให้เราเป็น “ผู้คนบริสุทธิ์”?
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:22–36ข้อเหล่านี้น่าจะช่วยวิสุทธิชนที่กำลังเผชิญการข่มเหงอย่างไร? น่าจะช่วยคนที่รู้สึกกลัวสภาพของโลกเราทุกวันนี้อย่างไร?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “พระบิดาโปรดช่วยฉัน” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 52