หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
20–26 ธันวาคม คริสต์มาส: ของประทานอันไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้จากพระบุตรแห่งสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า


“20–26 ธันวาคม คริสต์มาส: ของประทานอันไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้จากพระบุตรแห่งสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“20–26 ธันวาคม คริสต์มาส” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021

ภาพ
งานศิลป์ภาพมารีย์กับพระกุมารเยซู

ภาพการประสูติสีทองแดงและสีน้ำตาลอมแดง โดย เจ. เคิร์ค ริชาร์ดส์

20–26 ธันวาคม

คริสต์มาส

ของประทานอันไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้จากพระบุตรแห่งสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า

วิธีหนึ่งที่จะทำให้ความคิดท่านจดจ่อกับพระผู้ช่วยให้รอดในช่วงคริสต์มาสนี้คือศึกษา “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” โครงร่างนี้เสนอวิธีที่ท่านจะทำให้ประจักษ์พยานของศาสดาพยากรณ์ฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพระกิตติคุณเป็นส่วนตัวและกับครอบครัว

บันทึกความประทับใจของท่าน

ในปี 1838 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธประกาศว่า “หลักธรรมพื้นฐานของศาสนาเราคือประจักษ์พยานของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ ทรงถูกฝัง ทรงคืนพระชนม์อีกครั้งในวันที่สาม และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ เรื่องอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเราล้วนเป็นเพียงส่วนประกอบของเรื่องดังกล่าว” (คำสอนของประธานศาสนจักร: โจเซฟ สมิธ, 52) หลายปีต่อมาประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสังเกตว่า “ถ้อยแถลงของศาสดาพยากรณ์นี่เองที่เป็นแรงจูงใจให้ศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย 15 ท่านออกถ้อยแถลงและลงนามประจักษ์พยานของพวกท่านเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 2,000 ปีวันประสูติของพระเจ้า ประจักษ์พยานประวัติศาสตร์นั้นมีชื่อว่า ‘พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์’ สมาชิกหลายท่านท่องจำความจริงในนั้นได้ บางคนแทบจะไม่รู้เลยว่ามีถ้อยแถลงนี้อยู่ เมื่อท่านพยายามเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้ากระตุ้นให้ท่านศึกษา ‘พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์’” (“ดึงพลังของพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 40)

ในฐานะวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เราชื่นชมยินดีในพรของการเปิดเผยต่อเนื่องผ่านศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคปัจจุบัน เราขอบคุณสำหรับคำแนะนำ คำเตือน และคำพูดให้กำลังใจที่มาจากการดลใจของพวกท่าน แต่สำคัญที่สุดคือเราได้รับพรจากประจักษ์พยานอันเปี่ยมด้วยพลังของพวกท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์—เนื่องในเทศกาลคริสต์มาสและตลอดปี ถ้อยคำเหล่านี้เป็นมากกว่าคำพูดปลุกใจของนักเขียนฝีมือดีหรือนักพูดผู้มีชื่อเสียงหรือข้อคิดจากผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ สิ่งนี้เป็นถ้อยคำของ “พยานพิเศษถึงพระนามของพระคริสต์ในทั่วโลก” ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือก ทรงเรียก และทรงมอบอำนาจ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:23)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

“ไม่มีผู้ใดอื่นอีกแล้วที่มีอิทธิพลลึกซึ้งเช่นนั้น”

ท่านนึกถึงอะไรบ้างขณะอ่าน ลูกา 2:10–11 และย่อหน้าแรกของ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์”? ท่านจะพูดอะไรในการสนับสนุนถ้อยแถลงที่ว่า “ไม่มีผู้ใดอื่นอีกแล้วที่มีอิทธิพลลึกซึ้งเช่น [พระเยซูคริสต์] ต่อผู้คนที่มีชีวิตอยู่และยังจะมีชีวิตอยู่ต่อไปบนแผ่นดินโลก”? มองหาความจริงใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ที่พูดถึงอิทธิพลอันลึกซึ้งของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงมีอิทธิพลต่อท่านและทรงทำให้ท่านเกิด “ความยินดีอย่างยิ่ง” อย่างไร? (ลูกา 2:10)

“พระองค์ทรงลุกขึ้นจากความตาย”

ใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” อัครสาวกเป็นพยานถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด โดยกล่าวถึงการปรากฏสามครั้งของพระเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์ (ดูย่อหน้าห้า) ท่านอาจจะอ่านการเสด็จเยือนเหล่านี้ใน ยอห์น 20–21; 3 นีไฟ 11–26; และ โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:14–20 ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากพระคำและพระกรณียกิจของพระองค์ในระหว่างการปรากฏเหล่านี้?

“ฐานะปุโรหิตของพระองค์และศาสนจักรของพระองค์ได้รับการฟื้นฟู”

ระหว่างศึกษาพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาปีนี้ ท่านได้มีโอกาสเรียนรู้มากขึ้นว่า “ฐานะปุโรหิตและศาสนจักรของพระองค์ได้รับการฟื้นฟู” อย่างไร ความจริงหรือหลักธรรมที่ได้รับการฟื้นฟูข้อใดมีความหมายต่อท่านเป็นพิเศษ? ท่านอาจจะทบทวนพระคัมภีร์บางข้อต่อไปนี้ที่สอนเกี่ยวกับการฟื้นฟู: หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:17–23; 13; 20:1–12; 65; 110; 112:30–32; 124:39–42; 128:19–21 ไตร่ตรองว่าความจริงของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูช่วยให้ท่านรู้จักและนมัสการพระเยซูคริสต์อย่างไร (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:19)

“วันหนึ่งพระองค์จะเสด็จกลับมายังแผ่นดินโลก”

คริสต์มาสเป็นเวลาให้หวนนึกถึงวันที่พระเยซูคริสต์ประสูติและตั้งตารอวันที่พระองค์จะเสด็จมาอีกครั้ง ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการเสด็จกลับมาของพระองค์จากย่อหน้าที่สองถึงย่อหน้าสุดท้ายของ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์”? ท่านอาจจะสนใจอ่าน ร้องเพลง หรือฟังเพลงสวดคริสต์มาสที่สอนเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองด้วย เช่น “โลกจงสุขี” หรือ “ในยามเที่ยงคืนสุกใสนั้นนา” (เพลงสวด บทเพลงที่ 94, 99)

“พระองค์ทรงเป็นความสว่าง ทรงเป็นชีวิต และความหวังของโลก”

ในย่อหน้าสุดท้ายของ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ให้สังเกตคุณลักษณะและพระนามที่ประทานแด่พระผู้ช่วยให้รอด พระคัมภีร์ต่อไปนี้จะช่วยให้ท่านไตร่ตรองว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็น “ความสว่าง ทรงเป็นชีวิต และความหวังของโลก” อย่างไร: ลูกา 2:25–32; 1 โครินธ์ 15:19–23; โมโรไน 7:41; หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:24; 84:44–46; 93:7–10 พระองค์ทรงเป็นความสว่าง ชีวิต และความหวังของท่านอย่างไร? คุณลักษณะหรือพระนามอะไรอีกบ้างของพระผู้ช่วยให้รอดที่มีความหมายต่อท่านมากที่สุด?

การศึกษา “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ส่งผลต่อศรัทธาและความรักที่ท่านมีต่อพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร?

ภาพ
พระเยซูคริสต์

ความสว่างของโลก โดย ฮาเวิร์ด ลีออน

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์”เพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจความจริงที่สอนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ท่านจะเลือกวลีสำคัญบางวลีและช่วยกันหาภาพหรือวาดรูปที่อธิบายวลีเหล่านั้น จากนั้นท่านจะรวบรวมภาพและวลีเป็นเล่ม

“เราแสดงประจักษ์พยาน”เราเรียนรู้อะไรจาก “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” เกี่ยวกับความหมายของการแสดงประจักษ์พยาน? ท่านอาจต้องการบันทึกประจักษ์พยานของท่านในพระคริสต์เพื่อระลึกถึงการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด

“พระองค์เสด็จไปกระทำคุณประโยชน์”ครอบครัวท่านจะทำตามแบบอย่างการรับใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดในช่วงคริสต์มาสนี้ได้อย่างไร? ท่านจะแผ่ขยาย “สันติสุขและไมตรี” ในครอบครัวและชุมชนของท่านอย่างไร? ท่านจะช่วยนำการ “รักษา [มาให้] ผู้ป่วย” ได้อย่างไร? ท่านอาจจะหาแนวคิดใน Christmas videos บางเรื่องบนแอปพลิเคชัน Gospel Media หรือ Gospel Media library (medialibrary.ChurchofJesusChrist.org)

“เราสำนึกในพระกรุณาธิคุณแห่งพระผู้เป็นเจ้าสำหรับของประทานอันไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้จากพระบุตรแห่งสวรรค์ของพระองค์”เราได้รับของประทานใดเพราะพระเยซูคริสต์บ้าง? สมาชิกครอบครัวอาจจะหาคำตอบใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” แล้วห่อสิ่งของแทนของประทานเหล่านั้นจากพระผู้ช่วยให้รอดให้เป็นของขวัญ ครอบครัวท่านอาจจะแกะของขวัญในวันคริสต์มาสหรือตลอดสัปดาห์และอ่านข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับของขวัญแต่ละอย่าง ต่อไปนี้เป็นพระคัมภีร์บางข้อ แต่ครอบครัวท่านจะหาได้อีกหลายข้อ: ลูกา 2:10–14; 1 เปโตร 2:21; โมไซยาห์ 3:8; แอลมา 11:42–43; หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–12 ท่านอาจจะร้องเพลงเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดด้วย เช่น “พระองค์ทรงส่งพระบุตร” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 20–21) เพื่อหาของประทานอื่นที่มาจากพระองค์

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “จงฟัง เพลงแห่งเทพสวรรค์เพลงสวด, บทเพลงที่ 101

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

เน้นพระผู้ช่วยให้รอด “การอ่าน ‘พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์’ ร่วมกับการสวดอ้อนวอนก็เหมือนการอ่านประจักษ์พยานของมัทธิว มาระโก ลูกา ยอห์น และศาสดาพยากรณ์ของพระคัมภีร์มอรมอน ซึ่งจะเพิ่มศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดและช่วยให้ท่านยังคงจดจ่ออยู่ที่พระองค์” (เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “หวนคืนและได้รับ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 65)

พิมพ์