“20–26 ธันวาคม คริสต์มาส: ของประทานอันไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้จากพระบุตรแห่งสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“20–26 ธันวาคม คริสต์มาส” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2021
ภาพการประสูติ สีทองแดงและสีน้ำตาลอมแดง โดย เจ. เคิร์ค ริชาร์ดส์
20–26 ธันวาคม
คริสต์มาส
ของประทานอันไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้จากพระบุตรแห่งสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า
คริสต์มาสเป็นช่วงเวลาน่าตื่นเต้นสำหรับเด็กหลายคน พิจารณาว่าท่านจะช่วยพวกเขาเชื่อมโยงปีติในช่วงเทศกาลคริสต์มาสกับปีติของพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เชิญเด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาทำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อฉลองการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
ฉันสามารถ “มอบประจักษ์พยาน [ของฉัน]” เพื่อฉลองการประสูติของพระเยซู
ใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” (ChurchofJesusChrist.org) ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองให้ประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์เพื่อ “ระลึกถึงการประสูติของพระเยซูคริสต์” พิจารณาว่าท่านจะกระตุ้นให้เด็กแบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขากับผู้อื่นอย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูสำเนา “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) ชี้คำว่า พระคริสต์ ในชื่อเรื่อง และให้เด็กชี้คำนั้นด้วย ชี้ให้เห็นลายเซ็นที่อยู่ด้านล่างของหน้าเช่นกัน และบอกเด็กว่าในปี 2000 ฝ่ายประธานสูงสุดและอัครสาวกสิบสองเขียนประจักษ์พยานของพวกท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ลงชื่อ และแบ่งปันกับชาวโลก
-
ให้ดูภาพพระเยซูคริสต์ และเชิญเด็กแต่ละคนยืนแบ่งปันบางอย่างที่เขารู้เกี่ยวกับพระองค์ หากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ แนะนำให้ใช้ความจริงจาก “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” เตือนเด็กว่าเมื่อพวกเขาบอกคนอื่นเกี่ยวกับพระเยซู พวกเขากำลังแบ่งปันประจักษ์พยานของตน
-
บอกเด็กว่าท่านมีประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร และท่านกำลังทำอะไรเพื่อรักษาประจักษ์พยานให้เข้มแข็ง ช่วยพวกเขาคิดวิธีที่พวกเขาจะเสริมสร้างประจักษ์พยานของตนในพระเยซูคริสต์ และเลือกหนึ่งวิธีที่พวกเขาจะทำ
พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งพระบุตรมาเป็นของขวัญแก่เรา
การให้และรับของขวัญเป็นประเพณีคริสต์มาสสำหรับหลายคน ประเพณีนี้ควรช่วยให้เราระลึกถึง “ของประทานอันไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้จากพระบุตรแห่งสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า” (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์”)
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขอให้เด็กเล่าเเรื่องของขวัญที่พวกเขาเคยให้หรือเคยได้รับ อ่านประโยคสุดท้ายของ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ให้เด็กฟังและเชื้อเชิญให้พวกเขาฟังของประทานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เรา (หากจำเป็น ให้ช่วยพวกเขาเข้าใจว่า “ไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้” หมายถึง “ดีกว่าอย่างอื่น”) เหตุใดพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าพระเยซูคริสต์จึงเป็นของขวัญที่ดีที่สุด?
-
ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เช่น “พระองค์ทรงส่งพระบุตร” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 20–21) ช่วยเด็กเลือกหนึ่งวลีจากเพลงที่พวกเขาต้องการวาด (เช่น “พระบุตรมาบังเกิดใหม่” หรือ “เดินกับมนุษย์”) ขณะที่เด็กวาด ขอให้พวกเขาบอกท่านว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่พระเยซูทรงทำเพื่อพวกเขา แบ่งปันความรู้สึกของท่านเช่นกัน
พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญให้ฉันทำตามแบบอย่างของพระองค์
“อิทธิพลลึกซึ้ง” ส่วนหนึ่งของพระผู้ช่วยให้รอดบนโลกนี้คือแบบอย่างที่สมบูรณ์ของพระองค์ ท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กทำตามพระองค์อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
จากย่อหน้าที่สองของ “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ให้อ่านบางสิ่งที่พระเยซูทรงทำ ให้ดูภาพจากพระชนม์ชีพของพระองค์ (ดูหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้) และเชื้อเชิญให้เด็กพูดเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำในภาพ ช่วยพวกเขาคิดวิธีทำตามแบบอย่างของพระองค์
-
เลือกวีดิทัศน์ “แสงส่องโลก” (ComeuntoChrist.org) ฉายให้เด็กดูเรื่องหนึ่ง หรือเล่าให้พวกเขาฟังเวลาที่ท่านได้รับพรเพราะการรับใช้เหมือนพระคริสต์ของบางคน ให้เด็กคนหนึ่งทำท่าการรับใช้ง่ายๆ และให้เด็กคนอื่นทายว่าเขากำลังทำอะไร ให้เด็กแต่ละคนผลัดกันทำท่า ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อรับใช้คนในครอบครัว
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
“เรามอบประจักษ์พยานของเรา”
แบบอย่างของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกผู้เขียน “พระคริสต์ผู้ทรงประชนม์” สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กแบ่งปันประจักษ์พยานของตนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์
กิจกรรมที่ทำได้
-
เขียนบนกระดานว่า ฉันรู้ว่าพระเยซูคริสต์ … และให้เด็กเติมประโยคให้สมบูรณ์ แนะนำให้พวกเขาดูแนวคิดใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเสริมสร้างประจักษ์พยานของเราในพระเยซูคริสต์? คนอื่นๆ ได้รับพรอย่างไรเมื่อเราแบ่งปันประจักษ์พยานของเรา?
-
ชี้ให้เห็นว่า “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” มีลายเซ็นของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:23 ด้วยกัน อะไรทำให้อัครสาวกต่าง “จากเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในศาสนจักร”? เลือกวีดิทัศน์ “พยานพิเศษของพระคริสต์” (ChurchofJesusChrist.org) ให้เด็กดูหนึ่งเรื่อง เหตุใดเราจึงสำนึกคุณที่มีพยานพิเศษของพระคริสต์ในสมัยของเรา?
“ไม่มีผู้ใดอื่นอีกแล้วที่มีอิทธิพลลึกซึ้งเช่นนั้น”
ใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกประกาศว่าไม่มีใครมีอิทธิพลต่อบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้ามากไปกว่าพระเยซูคริสต์ ไตร่ตรองว่าท่านจะช่วยให้เด็กเรียนรู้อย่างไรเกี่ยวกับอิทธิพลลึกซึ้งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีต่อเราทุกคน
กิจกรรมที่ทำได้
-
แจกวลีหรือประโยคจาก “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์ ให้เด็กแต่ละคนและขอให้พวกเขาวาดรูปของวลีหรือประโยคที่ได้ ขณะที่เด็กแต่ละคนแสดงภาพของตน ขอให้เด็กคนอื่นทายว่าภาพนั้นแสดงให้เห็นอะไรและหาประโยคใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ที่สอดคล้องกับภาพ เราได้รับพรอย่างไรเพราะพระชนม์ชีพและพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์?
-
ช่วยเด็กหาชื่อหรือพระนามต่างๆ ของพระเยซูคริสต์ใน “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” และขีดเส้นใต้ชื่อเหล่านั้น หากทำได้ (ตัวอย่างเช่น พระเมสสิยาห์ พระบุตรหัวปี ต้นและปลาย ผู้วิงวอน และศิลามุมเอก) พูดคุยกันว่าแต่ละพระนามสอนอะไรเราเกี่ยวกับพระองค์ (บางพระนามมีนิยามอยู่ใน คู่มือพระคัมภีร์ หรือ Bible Dictionary)
“พระองค์ทรงเป็นความสว่าง ทรงเป็นชีวิต และความหวังของโลก”
คริสต์มาสเป็นเทศกาลรื่นเริงเพราะความหวังที่พระเยซูคริสต์ทรงนำมาให้ชาวโลกผ่านคำสอน แบบอย่าง และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์
ความสว่างของโลก โดย ฮาเวิร์ด ลีออน
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชิญเด็กแต่ละคนวาดรูปต้นคริสต์มาส หรือวาดบนกระดาน ให้พวกเขาตกแต่งต้นคริสต์มาสด้วยคำหรือวลีจาก “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” ที่พูดถึงของขวัญที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบให้เรา (เช่น “ความสว่าง” “ชีวิต” และ “ความหวัง”) ให้พวกเขาพูดคุยกันว่าเหตุใดพวกเขาเลือกคำหรือวลีเหล่านั้น
-
ช่วยเด็กๆ หาเพลงสวดคริสต์มาสที่พูดถึงความสว่าง ชีวิต และความหวังที่การประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดนำมาให้ชาวโลก—ตัวอย่างเช่น “โอ้ หมู่บ้านน้อยชื่อเบ็ธเลเฮ็ม” หรือ “จงฟัง เพลงแห่งเทพสวรรค์” (เพลงสวด บทเพลงที่ 100, 101) ร้องเพลงสวดด้วยกัน และให้เด็กแบ่งปันว่าพระเยซูทรงนำความสว่าง ชีวิต และความหวังเข้ามาในชีวิตพวกเขาอย่างไร
-
ขอให้เด็กบางคนอ่านเรื่องคนเลี้ยงแกะใน ลูกา 2:8–20 ขอให้เด็กคนอื่นอ่านเรื่องสิเมโอนใน ลูกา 2:25–33 เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันกันว่าคนเลี้ยงแกะและสิเมโอนรู้สึกอย่างไรเมื่อทราบว่าพระเยซูประสูติ เหตุใดพวกเขาจึงรู้สึกเช่นนั้น? เหตุใดการประสูติของพระองค์จึงทำให้เราเกิด “ความยินดีอย่างยิ่ง”?
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กนึกถึงคนในครอบครัวที่พวกเขาสามารถแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ให้คนนั้นได้ ช่วยพวกเขาพิจารณาว่าพวกเขาจะพูดอะไรเพื่อทำให้บุคคลนั้นมีศรัทธาแรงกล้าในพระองค์
ปรับปรุงการสอนของเรา
เตรียมโดยศึกษาพระคัมภีร์ “การศึกษาพระคำของพระผู้เป็นเจ้าร่วมกับการสวดอ้อนวอนทำให้เรามีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับเรา พระองค์ทรงสามารถดลใจเราให้ดึงสิ่งที่เราศึกษามาใช้เมื่อเราสอนและหนุนใจผู้อื่น” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 12)