“3–9 มิถุนายน ยอห์น 13–17: ‘จงติดสนิทอยู่กับความรักของเรา’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“3–9 มิถุนายน ยอห์น 13–17,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019
3–9 มิถุนายน
ยอห์น 13–17
“จงติดสนิทอยู่กับความรักของเรา”
ขณะที่ท่านอ่านคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน ยอห์น 13–17 พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยให้ท่านค้นพบข่าวสารสำหรับท่าน บันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ
บันทึกความประทับใจของท่าน
วันนี้เราเรียกว่า “พระกระยาหารมื้อสุดท้าย” แต่เราไม่รู้ว่าเหล่าสาวกของพระเยซูรู้แน่แก่ใจหรือไม่เมื่อพวกเขามาร่วมงานเลี้ยงปัสกาประจำปีว่านั่นจะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายของพวกเขากับพระอาจารย์ก่อนการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ อย่างไรก็ดี พระเยซู “ทรงทราบว่าถึงเวลาแล้ว” (ยอห์น 13:1) อีกไม่นานพระองค์จะทรงประสบความทุกขเวทนาที่เกทเสมนี การทรยศและการปฏิเสธของเพื่อนสนิทที่สุดของพระองค์ และความตายที่เจ็บปวดบนกางเขน แม้ทั้งหมดนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับพระเยซู แต่พระองค์มิได้ทรงคำนึงถึงแต่ตัวพระองค์เอง พระองค์ทรงมุ่งไปที่การปฏิบัติศาสนกิจต่อเหล่าสาวกของพระองค์ พระองค์ทรงล้างเท้าพวกเขาอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน พระองค์ทรงสอนพวกเขาเกี่ยวกับความรัก พระองค์ทรงรับรองกับพวกเขาว่าพระองค์จะไม่มีวันทิ้งพวกเขาและพวกเขาต้องไม่ทิ้งพระองค์ เหล่าสาวกสมัยนั้นและสมัยนี้มักจะพบคำปลอบใจในสัญญาของพระองค์ที่ว่า “เราจะไม่ละทิ้งพวกท่านไว้ให้เป็นลูกกำพร้า” (ยอห์น 14:18) “ถ้าพวกท่านประพฤติตามบัญญัติของเรา ท่านก็จะติดสนิทอยู่กับความรักของเรา” (ยอห์น 15:10)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ฉันแสดงความรักต่อพระเยซูคริสต์โดยรักษาพระบัญญัติของพระองค์เรื่องความรัก
พระเยซูทรงสอนแล้วว่าพระบัญญัติข้อสำคัญที่สุดสองข้อเกี่ยวข้องกับความรัก (ดู มัทธิว 22:34–40) เพื่อให้สอดคล้องกับการเน้นเรื่องนี้ ความรักจึงเป็นหัวข้อหลักของคำแนะนำสุดท้ายที่พระองค์ประทานแก่เหล่าอัครสาวก ขณะที่ท่านอ่าน ยอห์น 13–15 ท่านอาจจะจดหรือทำเครื่องหมายทุกครั้งที่ใช้คำว่า รัก
ท่านอาจสังเกตเห็นคำว่า พระบัญญัติ ซ้ำบ่อยๆ ในความเชื่อมโยงกับคำว่า รัก ในบทเหล่านี้ ท่านสามารถเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความรักกับพระบัญญัติจากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านพบคำอะไรอีกที่ใช้ซ้ำบ่อยๆ กับคำว่า รัก ในบทเหล่านี้ ท่านอาจจะเขียนสรุปย่อคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับความรักตามที่ท่านเรียนรู้
ดู ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ติดสนิทอยู่กับความรักของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 48–51 ด้วย
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้ฉันบรรลุจุดประสงค์ของฉันในการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์
พระเยซูคริสต์ทรงทราบว่าอีกไม่นานพระองค์จะทรงจากเหล่าสาวกของพระองค์ และทรงทราบว่าพวกเขาจะต้องได้รับการสนับสนุนทางวิญญาณทันทีที่พระองค์ไป เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพวกเขาจะได้รับการสนับสนุนนี้อย่างไร พระองค์จึงทรงสอนพวกเขาเกี่ยวกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์จากพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อต่อไปนี้
เหตุใดเหล่าสาวกจึงต้องการความช่วยเหลือในลักษณะนี้จากพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำบทบาทเหล่านี้ให้เกิดสัมฤทธิผลในชีวิตท่านอย่างไร ขณะที่ท่านยังคงศึกษาพันธสัญญาใหม่ ให้มองหาด้านต่างๆ ที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพรแก่เหล่าสาวกของพระเยซู ชีวิตท่านจะต่างไปอย่างไรถ้าท่านอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้มีอิทธิพลต่อท่านลึกซึ้งมากขึ้น
ดู โมไซยาห์ 3:19; 5:1–3; 3 นีไฟ 27:20; โมโรไน 8:25–26; 10:5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:12–14; โมเสส 6:61; “Holy Ghost,” Gospel Topics, topics.lds.org ด้วย
เมื่อฉันติดสนิทอยู่กับพระคริสต์ ฉันจะเกิดผลดี
“ติดสนิทอยู่กับ [พระคริสต์]” อาจจะหมายถึงอะไร (ยอห์น 15:4) “ผล” อะไรแสดงให้เห็นว่าท่านติดอยู่กับเถาองุ่นซึ่งหมายถึงพระเยซูคริสต์
พระเยซูคริสต์ทรงวิงวอนแทนเหล่าสาวกของพระองค์
พระดำรัสของพระเยซูที่บันทึกไว้ใน ยอห์น 17 รู้กันในชื่อว่าคำสวดวิงวอนแทน ในคำสวดอ้อนวอนครั้งนี้ พระเยซูทรงสวดอ้อนวอนให้เหล่าอัครสาวกของพระองค์และ “ทุกคนที่วางใจใน [พระองค์] เพราะ ถ้อยคำของพวกเขา” (ยอห์น 17:20) นั่นหมายความว่าพระองค์ทรงกำลังสวดอ้อนวอนให้ท่าน พระเยซูทรงขออะไรจากพระบิดาของพระองค์เพื่อท่านและผู้เชื่อทั้งหมด
คำสวดอ้อนวอนครั้งนี้สอนความจริงนิรันดร์อันลึกซึ้งเช่นกัน ท่านพบความจริงอะไรบ้างขณะที่ท่านอ่าน
พระเยซูคริสต์และพระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างไร
ในคำสวดอ้อนวอนของพระองค์ใน ยอห์น 17 พระเยซูทรงเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระองค์กับพระบิดา แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าพระองค์กับพระบิดาเป็นองค์เดียวกัน เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงสวดอ้อนวอนขอให้เหล่าสาวกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน “ดังเช่น”—หรือในแบบเดียวกับที่—พระองค์กับพระบิดาทรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (ยอห์น 17:22) พระองค์ไม่ได้ขอให้เหล่าสาวกเป็นคนเดียวกัน แต่ความปรารถนาของพระองค์คือให้พวกเขามีความเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนพระองค์ทรงมีกับพระบิดา—ความเป็นหนึ่งเดียวกันในจุดประสงค์ จิตใจ และความคิด
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตอบรับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:
ครอบครัวเราเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้ เราจะทำตามแบบอย่างของพระองค์ในด้านใดบ้าง
ขณะที่ท่านสนทนาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับความรัก ให้พิจารณาคำพูดเหล่านี้จากประธานโธมัส เอส. มอนสันด้วย “ในโลกทุกวันนี้ไม่มีที่ใดเป็นฐานมั่นของความรักที่ต้องการมากไปกว่าในบ้าน และไม่มีที่ใดให้โลกหาแบบอย่างที่ดีของรากฐานดังกล่าวมากไปกว่าในบ้านของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้ทำให้ความรักเป็นหัวใจของชีวิตครอบครัว … ความรักคือแก่นแท้ของพระกิตติคุณ เป็นคุณลักษณะสูงส่งที่สุดของจิตวิญญาณมนุษย์” (“ดังเรานั้นรักเจ้า,” เลียโฮนา, ก.พ. 2017, 4–5)
สมาชิกครอบครัวท่านอาจจะชอบวาดรูปหรือเขียนบางสิ่งที่พวกเขาชอบในกันและกันบนกระดาษรูปหัวใจ พวกเขาอาจจะวางหัวใจเหล่านี้ไว้รอบบ้านเป็นเครื่องเตือนใจให้แสดงความรักต่อกัน
อาจจะสนุกถ้าอ่านข้อเหล่านี้นอกบ้านข้างเถาองุ่น ข้างต้นไม้ใหญ่ หรือพรรณไม้อื่น กิจกรรมนี้ช่วยให้สมาชิกครอบครัวของฉันเข้าใจคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดดีขึ้นอย่างไร
ท่านคิดว่าเหตุใดพระเยซูคริสต์ทรงเตือนเหล่าสาวกของพระองค์เรื่องการข่มเหง เหล่าสาวกของพระคริสต์ถูกข่มเหงอย่างไรในปัจจุบัน คำแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้จะช่วยเราเมื่อเราประสบการข่มเหงได้อย่างไร
พระคริสต์ทรงเอาชนะโลกอย่างไร การชดใช้ของพระองค์ทำให้เราเกิดสันติสุขและความรื่นเริงอย่างไร (ดู คพ. 68:6 ด้วย)
ครอบครัวเราจะเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นเหมือนพระเยซูคริสต์กับพระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร เหตุใดพระเจ้าทรงต้องการให้เราเป็นหนึ่งเดียวกัน (ดู คพ. 38:27 ด้วย)
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย