“12–18 สิงหาคม โรม 7–16: ‘จงชนะความชั่วด้วยความดี’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“12–18 สิงหาคม โรม 7–16” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019
12–18 สิงหาคม
โรม 7–16
“จงชนะความชั่วด้วยความดี”
เราสามารถรวมหลักธรรมพระกิตติคุณใน โรม 7–16 ไว้ในโครงร่างนี้ได้เพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จงอย่าจำกัดตัวท่านให้ศึกษาเฉพาะที่กล่าวไว้ในโครงร่าง จงใส่ใจการดลใจที่ท่านได้รับขณะศึกษา
บันทึกความประทับใจของท่าน
เมื่อเปิดสาส์นถึงชาวโรมัน เปาโลทักทายสมาชิกศาสนจักรในกรุงโรมโดยเรียกพวกเขาว่า “ผู้ซึ่งพระเจ้าทรงรัก” ผู้ “ทรงเรียกให้เป็นธรรมิกชน” เขากล่าวว่า “ความเชื่อ [ของคนเหล่านั้น] เลื่องลือไปทั่วโลก” (โรม 1:7–8) ถึงแม้เปาโลใช้สาส์นส่วนใหญ่ของเขาแก้ไขแนวคิดผิดๆ และความประพฤติด่างพร้อย แต่ดูเหมือนเขาต้องการทำให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่เหล่านี้มั่นใจด้วยว่าพวกเขาเป็นวิสุทธิชนที่รักของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง เปาโลยอมรับด้วยความอ่อนน้อมและเห็นอกเห็นใจว่าบางครั้งเขารู้สึกเหมือน “คนน่าสมเพช” (โรม 7:24) แต่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้พลังเขาเอาชนะบาป (see Joseph Smith Translation, Romans 7:22–27 [in the Bible appendix]) เขาเริ่มแบ่งปันคำแนะนำที่ละเอียดอ่อนให้เราทุกคนผู้พยายามรู้สึกเป็นที่รักและให้ผู้ที่ความเป็นวิสุทธิชนดูเหมือนไกลเกินเอื้อม “อย่าให้ความชั่วชนะเราได้” เขากล่าว—ทั้งความชั่วในโลกและความชั่วในตัวเรา—“แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี” (โรม 12:21)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
หากฉันทำตามพระวิญญาณ ฉันสามารถเอาชนะบาปและเตรียมรับมรดกกับพระผู้เป็นเจ้า
แม้หลังจากเข้าสู่ “ชีวิตใหม่” ผ่านศาสนพิธีบัพติศมา (โรม 6:4) แต่ท่านอาจจะรู้สึกขัดแย้งอยู่บ้างในใจดังที่เปาโลอธิบายไว้ใน โรม 7—ซึ่งคือการ “ต่อสู้” ระหว่างความเป็นมนุษย์ปุถุชนกับความปรารถนาอันชอบธรรมของเรา (โรม 7:23) แต่เปาโลพูดถึงความหวังใน โรม 8:23–25 เช่นกัน ใน บทที่ 8 ท่านพบเหตุผลอะไรให้มีความหวังนี้ ท่านอาจจะมองหาพรที่มาจากการมี “พระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในพวกท่าน” (โรม 8:9) ท่านจะแสวงหาความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างเต็มที่มากขึ้นในชีวิตท่านได้อย่างไร
รัศมีภาพนิรันดร์ที่รอคอยผู้ซื่อสัตย์มีค่ายิ่งกว่าการทดลองของความเป็นมรรตัย
หลังจากเปาโลเขียนสาส์นฉบับนี้เพียงไม่กี่ปี วิสุทธิชนในกรุงโรมก็ทนทุกข์กับการข่มเหงที่น่าหวาดกลัว ท่านพบอะไรใน โรม 8:17–39 ที่อาจจะช่วยวิสุทธิชนเหล่านี้ได้เมื่อเกิดการข่มเหง ถ้อยคำเหล่านี้จะประยุกต์ใช้กับท่านและการทดลองที่ท่านประสบในปัจจุบันได้อย่างไร
มองหาความเชื่อมโยงระหว่างข้อเหล่านี้กับคำแนะนำจากซิสเตอร์ลินดา เอส. รีฟส์ “ดิฉันไม่ทราบว่าเหตุใดจึงมีการทดลองมากมายเช่นนี้ แต่ความรู้สึกส่วนตัวของดิฉันคือรางวัลนั้นยิ่งใหญ่ เป็นนิรันดร์และยั่งยืน เปี่ยมปีติ และอยู่เหนือความเข้าใจของเราถึงขนาดว่าในวันรับรางวัล เราจะรู้สึกอยากทูลพระบิดาผู้ทรงเปี่ยมด้วยรักและเมตตาว่า ‘นั่นคือ ทั้งหมด ที่ทรงเรียกร้องหรือ’ ดิฉันเชื่อว่าถ้าเราจดจำและตระหนักทุกวันถึงความรักอันลึกซึ้งนั้นที่พระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดทรงมีต่อเรา เราจะเต็มใจทำทุกอย่างเพื่อกลับไปที่ประทับของพระองค์อีกครั้ง รายล้อมด้วยความรักของพระองค์ตลอดกาล สิ่งที่เราทนทุกข์ที่นี่จะสำคัญอะไรถ้าสุดท้ายแล้วการทดลองเหล่านั้นคือสิ่งซึ่งทำให้เราคู่ควรกับชีวิตนิรันดร์และความสูงส่งในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้ากับพระบิดาและพระผู้ช่วยให้รอด” (“มีค่าควรต่อพรที่สัญญาไว้ของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 11)
ตัดสินใจว่าท่านจะทำอะไรเพื่อ “จดจำและตระหนักทุกวัน” ถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อท่าน
เปาโลหมายความว่าอย่างไรเมื่อพูดคำว่า “กำหนดไว้ก่อน” “การทรงเลือก” และ “เลือกไว้ก่อนแล้ว”
เปาโลใช้คำเหล่านี้เพื่อสอนว่าบุตรธิดาบางคนของพระผู้เป็นเจ้าได้รับการกำหนดไว้หรือได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าให้ได้รับพรพิเศษและหน้าที่เพื่อว่าพวกเขาจะเป็นพรแก่ประชาชาติของโลก (ดู คู่มือพระคัมภีร์ “เลือก (การ)”) ทั้งนี้เป็นไปตามความรู้ล่วงหน้าของพระผู้เป็นเจ้าว่าบุตรธิดาของพระองค์จะเต็มใจติดตามพระเยซูคริสต์และเป็นเหมือนพระองค์ (ดู เอเฟซัส 1:3–4; 1 เปโตร 1:2) อย่างไรก็ดี เปาโลเน้นใน โรม 9–11 ว่าไม่สำคัญว่าเราเข้ามาในเชื้อสายอิสราเอล—หรือเป็นสมาชิกของศาสนจักร—อย่างไร แต่ทุกคน ต้องได้รับความรอดเป็นรายตัวผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์
ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน แอลมา 13:1–5; “Foreordination,” Gospel Topics (topics.lds.org)
เปาโลเชื้อเชิญให้ฉันเป็นวิสุทธิชนและผู้ติดตามที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์
ห้าบทสุดท้ายของโรมมีคำแนะนำพิเศษหลายสิบข้อเกี่ยวกับวิธีที่วิสุทธิชนควรดำเนินชีวิต ท่านอาจจะไม่สามารถนำคำแนะนำนี้มาใช้ทั้งหมดในคราวเดียว แต่จงฟังพระวิญญาณ และพระองค์จะทรงช่วยให้ท่านพบคำแนะนำหนึ่งหรือสองข้อที่ท่านจะเริ่มปฏิบัติวันนี้ ทูลความปรารถนาของท่านกับพระบิดาบนสวรรค์ในการสวดอ้อนวอนและขอความช่วยเหลือจากพระองค์
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงตามความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:
เพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับ “การต่อสู้” ที่เปาโลอธิบายไว้ในข้อนี้ ท่านอาจจะเล่าเรื่องสุนัขจิ้งจอกในบทความของเอ็ลเดอร์เชย์น เอ็ม. โบเว็นเรื่อง “Agency and Accountability” (New Era, Sept. 2012, 8–9
ข่าวสารของเอ็ลเดอร์วิลฟอร์ด ดับเบิลยู. แอนเดอร์เซ็นเรื่อง “เสียงดนตรีของพระกิตติคุณ” ( เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 54–56) จะช่วยอธิบายสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับกฎ งาน และศรัทธา ครอบครัวท่านอาจจะชอบสนทนาคำพูดเรื่องนี้และพยายามเต้นรำโดยมีเพลงและไม่มีเพลงประกอบ การเต้นรำโดยไม่มีเพลงประกอบเหมือนการเชื่อฟังพระกิตติคุณโดยไม่มีศรัทธาอย่างไร
การศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าทำให้เราได้รับพรที่บรรยายไว้ในข้อเหล่านี้อย่างไร บางทีสมาชิกครอบครัวท่านอาจจะแบ่งปันพระคัมภีร์บางข้อที่พวกเขาโปรดปราน (ดู 2 นีไฟ 25:26 ด้วย)
การทำให้ตัวเราเป็น “เครื่องบูชาอันบริสุทธิ์ที่มีชีวิตและเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า” หมายความว่าอย่างไร (โรม 12:1)
ครอบครัวท่านอาจจะได้ประโยชน์จากการศึกษาคำแนะนำของเปาโลเกี่ยวกับการตัดสินและการโต้เถียงกันเกี่ยวกับความชอบส่วนตัวของผู้อื่น บางทีท่านอาจจะสนทนาวิธีตอบสนองอย่างเหมาะสมเมื่อการเลือกของผู้อื่นต่างจากท่าน เราจะใส่ใจมากขึ้นได้อย่างไรในเรื่องที่ว่าการเลือกของเราเองส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร วีดิทัศน์ “Judging Others? Stop It!” และ “Looking through Windows” (LDS.org) อาจจะให้ข้อคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย