“12–18 สิงหาคม โรม 7–16: ‘ชนะความชั่วด้วยความดี’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“12–18 สิงหาคม โรม 7–16,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2019
12–18 สิงหาคม
โรม 7–16
“ชนะความชั่วด้วยความดี”
ขณะที่ท่านอ่าน โรม 7–16 บันทึกความประทับใจของท่านเกี่ยวกับวิธีที่ท่านจะสอนเด็กถึงความจริงในบทเหล่านี้
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ถามเด็กว่าพวกเขาแบ่งปันบางสิ่งที่เรียนรู้ในปฐมวัยสัปดาห์ที่แล้วกับครอบครัวพวกเขาหรือไม่ (ท่านอาจต้องทบทวนสั้นๆ บทเรียนของสัปดาห์ที่แล้วกับพวกเขา) หากทำแล้ว พวกเขาแบ่งปันอะไรบ้าง
สอนหลักคำสอน
เด็กเล็ก
พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักฉัน
ท่านจะใช้ถ้อยคำของเปาโลสอนเด็กได้อย่างไรว่าพระบิดาบนสวรรค์จะทรงรักพวกเขาเสมอ
กิจกรรมที่ทำได้
-
ช่วยเด็กท่องจำวลี “[ไม่มีสิ่งใด] สามารถทำให้เราขาดจากความรักของพระเจ้า” (โรม 8:39) เพื่อแสดงให้เห็นความจริงนี้ ตอกตะปูแผ่นกระดานสองแผ่นติดกัน เขียนแผ่นหนึ่งว่า “เรา” และอีกแผ่นว่า “ความรักของพระเจ้า” ให้เด็กพยายามแยกแผ่นกระดานออกจากกัน
-
พาเด็กไปข้างนอกเพื่อรับแสงแดด หรือให้ดูภาพดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์เป็นเหมือนความรักของพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าแม้ดวงอาทิตย์จะอยู่ไกล แต่ก็ช่วยให้เรารู้สึกอบอุ่นได้ เราสามารถสัมผัสถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์ได้ตลอดเวลา แม้พระองค์ไม่ได้ทรงอยู่กับเราจริงๆ ท่านอาจจะร้องเพลง “พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักฉัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 16–17) ด้วยกัน
ศรัทธาเกิดจากการได้ยินพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า
เมื่อเด็กได้ยินพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและตั้งใจฟัง ศรัทธาของพวกเขาในพระผู้เป็นเจ้าจะเติบโต ท่านจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจความสำคัญของการฟังพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่าน โรม 10:17 ให้เด็กฟัง และให้พวกเขาดูภาพสถานการณ์ซึ่งพวกเขาสามารถได้ยินพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าได้ (เช่นการศึกษาพระคัมภีร์ของครอบครัว โบสถ์ หรือการประชุมใหญ่สามัญ ดูหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้) ถามเด็กว่าพวกเขาได้ยินพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อใด
-
เล่าเรื่องเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งที่ฟังพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในวิธีต่างๆ ขณะที่ท่านกำลังเล่าเรื่อง เป่าลูกโป่งทีละนิดเพื่อแสดงถึงศรัทธาของเด็กซึ่งเติบโตขึ้นทุกครั้งที่เขาได้ยินพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า
-
เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจว่าศรัทธาของพวกเขาสามารถเติบโตได้ ช่วยพวกเขาร้องเพลง “ศรัทธา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 50–51) ขณะที่พวกเขาร้องเพลง ขอให้พวกเขาทำเป็นเมล็ดโดยการหมอบลง ทุกครั้งที่พวกเขาร้องคำว่า ศรัทธา ให้พวกเขาลุกขึ้นเหมือนต้นไม้ที่กำลังงอก
-
ซ่อนพระคัมภีร์ชุดหนึ่งในชั้นเรียน ภาพของประธานศาสนจักร และนิตยสาร เลียโฮนา ขอให้เด็กหาสิ่งเหล่านี้และแบ่งปันว่าแต่ละอย่างทำให้เราสามารถได้ยินพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร
ฉันสามารถพูดขอบคุณคนที่ช่วยเหลือฉัน
เปาโลสำนึกคุณต่อผู้คนที่ช่วยเหลือท่าน ท่านสามารถช่วยเด็กสังเกตเห็นสิ่งดีๆ ที่คนอื่นทำเพื่อพวกเขาและเตือนพวกเขาให้ขอบคุณคนเหล่านั้น
กิจกรรมที่ทำได้
-
อธิบายว่าเปาโลรู้สึกขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือที่เขาได้รับจากหญิงคนหนึ่งชื่อเฟบีและคู่สามีภรรยาชื่อปริสคาและอาควิลลา (ดู โรม 16:1–4) ขอให้เด็กวาดภาพเปาโลและคนทั้งสามคนนี้ขณะที่ท่านแบ่งปันถ้อยคำและวลีจากข้อพระคัมภีร์
-
เชื้อเชิญเด็กแต่ละคนแบ่งปันสิ่งที่ดีบางอย่างที่บางคนทำให้เขาเมื่อไม่นานมานี้ ช่วยเด็กทำการ์ดขอบคุณสำหรับคนเหล่านั้น
-
ช่วยเด็กเรียนรู้วิธีกล่าวขอบคุณในภาษาต่างๆ เพลง “เด็กๆ ทั่วโลก” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 4–5) สามารถช่วยได้
สอนหลักคำสอน
เด็กโต
พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันเตรียมตัวรับทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมี
แผนของพระบิดาบนสวรรค์ทำให้เราสามารถเป็นเหมือนพระองค์ได้และได้รับมรดกทุกสิ่งที่พระองค์ทรงมี ความจริงนี้สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กที่ท่านสอนดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณอย่างซื่อสัตย์ยิ่งขึ้น
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่าน โรม 8:16–18 ด้วยกัน เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้ว่าเราเป็นใครและเราสามารถเป็นใครได้ อธิบายว่า “ทายาท” คือคนที่ได้รับมรดก หรือได้รับสิ่งที่พ่อแม่ของเขามี เขียนบนกระดานว่า เราต้องทำอย่างไรเพื่อจะได้รับมรดกทุกสิ่งที่พระบิดาในสวรรค์ของเราทรงมี ร้องเพลงเกี่ยวกับการเชื่อฟังด้วยกัน เช่น “ฉันจะทำตามแผนของพระเจ้า” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 86–87) มองหาคำตอบ เด็กนึกถึงคำตอบใดได้อีกบ้าง
-
ขอให้เด็กนึกถึงกษัตริย์คนหนึ่งที่ต้องการให้โอรสและธิดาของพระองค์ปกครองอาณาจักรของพระองค์สักวันหนึ่ง อธิบายว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นเหมือนกษัตริย์ และเราคือบุตรธิดารัชทายาทของพระองค์ ท่านอาจแบ่งปันเรื่องราวพระโอรสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส ในคำพูดของซิสเตอร์อีเลน เอส. ดัลตันเรื่อง “พึงระลึกว่าท่านเป็นใคร!” (เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 151) การระลึกได้ว่าเราเป็นลูกของพระบิดาบนสวรรค์และเกิดมาเพื่อวันหนึ่งจะเป็นเหมือนพระองค์ช่วยให้เราดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมบนแผ่นดินโลกอย่างไร (สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ดู แน่วแน่ต่อศรัทธา, 187–190)
ศรัทธาเกิดจากการได้ยินพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า
เด็กมีโอกาสมากมายที่จะได้ยินพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าการได้ยินพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าจะช่วยเสริมสร้างศรัทธาให้พวกเขาได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
เขียนประโยคต่อไปนี้บนกระดาน เกิดขึ้นได้ก็เพราะ และ เกิดขึ้นได้ก็เพราะ ขอให้เด็กเติมคำในช่องว่างหลังจากอ่าน โรม 10:17 แบ่งปันช่วงเวลาที่มีใครบางคนสอนความจริงแห่งพระกิตติคุณซึ่งช่วยเสริมสร้างศรัทธาของท่าน—บางทีท่านอาจแบ่งปันข้อพระคัมภีร์ที่ชอบหรือคำพูดสั้นๆ จากการประชุมใหญ่สามัญ เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา
-
ติดป้ายชื่อแก้วน้ำสี่ห้าใบเขียนสิ่งที่เราจะพบพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าได้ (เช่นพระคัมภีร์ การประชุมที่โบสถ์ และการประชุมใหญ่สามัญ) สนทนาว่าพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเพิ่มศรัทธาของเราอย่างไรขณะที่ท่านเทน้ำจากแก้วใส่ลงในภาชนะที่ติดป้ายชื่อว่า “ศรัทธา”
-
ให้เด็กคนหนึ่งดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาใครบางคนโดยไม่ให้เด็กคนอื่นเห็นภาพ ขอให้เด็กคนนั้นบอกคำใบ้เพื่อช่วยเด็กคนอื่นๆ เดาว่าเป็นภาพอะไร เราจะแบ่งปันกับผู้อื่นได้อย่างไรบ้างถึงสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อพวกเขาจะได้มีศรัทธาในพระองค์
“อย่าให้เรากล่าวโทษกันและกัน”
เมื่อเด็กปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่เลือกแตกต่างจากพวกเขา พวกเขาอาจจะอยากกล่าวโทษ พิจารณาว่าคำแนะนำของเปาโลต่อผู้คนในกรุงโรมสามารถช่วยพวกเขาหลีกเลี่ยงการกล่าวโทษเช่นนั้นได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชิญเด็กคนหนึ่งอ่าน โรม 14:10, 13 ขอให้เด็กคนอื่นๆ นับจำนวนครั้งที่เปาโลใช้คำว่า กล่าวโทษ การกล่าวโทษใครบางคนหมายความว่าอย่างไร เหตุใดเราจึงควรหลีกเลี่ยงการกล่าวโทษผู้อื่น
-
ให้ดูภาพคนบางคน และถามเด็กว่าเรารู้อะไรเกี่ยวกับบุคคลนี้เพียงแค่ดูจากภาพ อะไรคือบางสิ่งที่เราไม่รู้เกี่ยวกับเขา เหตุใดพระเจ้าจึงทรงเหมาะสมที่สุดที่จะตัดสินบุคคลนี้ (ดู 1 ซามูเอล 16:7)
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
ขอให้เด็กเลือกกิจกรรมหนึ่งอย่างที่ท่านทำร่วมกันเป็นชั้นเรียนและไปทำร่วมกับครอบครัวของพวกเขา บอกพวกเขาว่าสัปดาห์หน้าให้มาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาทำ