จงตามเรามา
19–25 สิงหาคม 1 โครินธ์ 1–7: ‘เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน’


“19–25 สิงหาคม 1 โครินธ์ 1–7: ‘เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“19–25 สิงหาคม 1 โครินธ์ 1–7” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

โครินธ์

เมืองโครินธ์ กรีซตอนใต้ ลานประชาคมและศูนย์ราชการ ภาพวาดโดย บาลาจ บาโลกห์

19–25 สิงหาคม

1 โครินธ์ 1–7

“เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”

บันทึกความประทับใจของท่านขณะที่ท่านอ่าน 1 โครินธ์ 1–7 ความประทับใจเหล่านี้อาจรวมถึงการกระตุ้นเตือนให้ศึกษาแนวคิดหนึ่งมากขึ้น แบ่งปันบางสิ่งที่ท่านเรียนรู้กับผู้อื่น หรือทำการเปลี่ยนแปลงในชีวิตท่าน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ในช่วงหลายเดือนที่เปาโลอยู่ในโครินธ์ “ชาวโครินธ์หลายคนเมื่อฟังเปาโลแล้วก็เชื่อถือและรับบัพติศมา” (กิจการของอัครทูต 18:8) ด้วยเหตุนี้เปาโลจึงใจสลายเมื่อเขาได้ยินเพียงไม่กี่เดือนให้หลังว่ามี “ความแตกแยก” และ “การทะเลาะวิวาท” ในบรรดาวิสุทธิชนชาวโครินธ์และเมื่อท่านไม่อยู่พวกเขาเริ่มเอาใจใส่ “ปัญญาฝ่ายโลก” (1 โครินธ์ 1:10–11, 20) ด้วยเหตุนี้เปาโลจึงเขียนจดหมายที่เวลานี้เราเรียกว่า 1 โครินธ์ จดหมายเต็มไปด้วยหลักคำสอนที่ลึกซึ้ง แต่ขณะเดียวกันเปาโลดูเหมือนจะผิดหวังที่วิสุทธิชนไม่พร้อมรับหลักคำสอนทั้งหมดที่เขาต้องการให้ “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่อาจพูดกับท่านเหมือนพูดกับพวกที่อยู่ฝ่ายจิตวิญญาณ” เขาคร่ำครวญ “แต่ต้องพูดเหมือนพวกที่อยู่ฝ่ายเนื้อหนัง” (1 โครินธ์ 3:1–3) เมื่อเราเตรียมอ่านถ้อยคำของเปาโล อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าสำรวจความพร้อมของเราเองในการรับความจริง—รวมถึงความเต็มใจของเราที่จะเอาใจใส่พระวิญญาณและพยายามให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัวเรา กับเพื่อนวิสุทธิชน และกับพระผู้เป็นเจ้า

ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

1 โครินธ์ 1:10–17; 3:1–11

สมาชิกศาสนจักรของพระคริสต์เป็นหนึ่งเดียวกัน

เราไม่รู้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับการขาดความเป็นหนึ่งเดียวกันในหมู่วิสุทธิชนชาวโครินธ์ แต่เรารู้เรื่องการขาดความเป็นหนึ่งเดียวกันในความสัมพันธ์ ของเราเอง นึกถึงความสัมพันธ์ในชีวิตท่านที่อาจได้ประโยชน์จากความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น จากนั้นให้มองหาสิ่งที่เปาโลสอนไว้ใน 1 โครินธ์ 1:10–17; 3:1–11 เกี่ยวกับการขาดความเป็นหนึ่งเดียวกันในหมู่วิสุทธิชนชาวโครินธ์ ท่านได้ข้อคิดอะไรบ้างเกี่ยวกับวิธีพัฒนาความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นกับผู้อื่น

ดู โมไซยาห์ 18:21; 4 นีไฟ 1:15–17; หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:23–27; 105:1–5; “Unity,” Gospel Topics, topics.lds.org ด้วย

1 โครินธ์ 1:17–312

เพื่อทำงานของพระผู้เป็นเจ้าให้สำเร็จลุล่วง ฉันต้องมีพระปัญญาของพระผู้เป็นเจ้า

ถึงแม้การแสวงหาปัญญาในทุกที่ที่เราจะหาได้เป็นเรื่องดี—แม้จะถูกกระตุ้นก็ตาม (ดู 2 นีไฟ 9:29; คพ. 88:118) แต่เปาโลให้คำเตือนที่ใช้ภาษารุนแรงพอสมควรเกี่ยวกับปัญญาที่ไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ ซึ่งเขาเรียกว่า “ปัญญาฝ่ายโลก” ขณะที่ท่านอ่าน 1 โครินธ์ 1:17–25 ให้ไตร่ตรองว่าวลีนี้น่าจะหมายถึงอะไร ท่านคิดว่าเปาโลหมายถึงอะไรเมื่อพูดถึง “พระปัญญาของพระเจ้า” เหตุใดเราจึงต้องมีพระปัญญาของพระผู้เป็นเจ้าจึงจะทำงานของพระผู้เป็นเจ้าให้สำเร็จลุล่วง

ขณะพยายามทำหน้าที่รับผิดชอบของท่านในการทำงานของพระผู้เป็นเจ้าให้สำเร็จลุล่วง ท่านเคยประสบ “ความกลัวและความหวาดหวั่นมาก” อย่างที่เปาโลรู้สึกเมื่อเขาสอนวิสุทธิชนชาวโครินธ์หรือไม่ (1 โครินธ์ 2:3) ท่านพบอะไรใน ข้อ 1–5 ที่ให้ความกล้าแก่ท่าน พิจารณาว่าท่านจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าท่านวางใจ “ฤทธิ์เดชของพระเจ้า” มากกว่า “ปัญญาของมนุษย์”

ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:17–28 ด้วย

1 โครินธ์ 2:9–16

ฉันต้องมีพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงจะเข้าใจเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า

หากท่านต้องการเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องอย่างเช่นกลศาสตร์ยานยนต์หรือสถาปัตยกรรมยุคกลาง ท่านจะทำอย่างไร ตามที่กล่าวไว้ใน 1 โครินธ์ 2:9–16 การเรียนรู้ “เรื่องของพระผู้เป็นเจ้า” ต่างจากการเรียนรู้ “เรื่องของมนุษย์” อย่างไร เหตุใดเราจึงต้องมีพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงจะเข้าใจเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า หลังจากอ่านข้อเหล่านี้แล้ว ท่านรู้สึกว่าควรทำอะไรจึงจะเข้าใจเรื่องทางวิญญาณถ่องแท้มากขึ้น ถ้อยคำของเปาโลจะช่วยคนที่กำลังดิ้นรนกับประจักษ์พยานของเขาได้อย่างไร

1 โครินธ์ 6:13–20

ร่างกายของฉันศักดิ์สิทธิ์

คนส่วนใหญ่ในโครินธ์รู้สึกว่าการผิดศีลธรรมทางเพศเป็นเรื่องที่ยอมรับได้และร่างกายของพวกเขาในเบื้องต้นสร้างไว้เพื่อความพอใจ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ชาวโครินธ์ไม่ต่างอะไรจากโลกทุกวันนี้ เปาโลสอนอะไรใน 1 โครินธ์ 6:13–20 ที่อาจจะช่วยท่านอธิบายกับผู้อื่นได้ว่าเหตุใดท่านจึงต้องการดำเนินชีวิตให้บริสุทธิ์

อาจจะน่าสนใจเช่นกันถ้าดูว่าซิสเตอร์เวนดี ดับเบิลยู. เนลสันกระตุ้นวิสุทธิชนเช่นเดียวกับเปาโลให้บริสุทธิ์ทางเพศในคำพูดของเธอเรื่อง “ความรักและการแต่งงาน” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณทั่วโลกสำหรับคนหนุ่มสาว 8 ม.ค. 2017 broadcasts.lds.org) ความจริงเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ทางเพศที่ซิสเตอร์เนลสันพูดถึงต่างจากข่าวสารของโลกอย่างไร

ดู โรม 1:24–27; “Chastity,” Gospel Topics, topics.lds.org ด้วย

1 โครินธ์ 7:29–33

เปาโลสอนหรือไม่ว่าการไม่แต่งงานดีกว่าการแต่งงาน

หลายข้อใน 1 โครินธ์ 7 ดูเหมือนจะแนะนำว่าแม้การแต่งงานเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่การครองความเป็นโสดและการละเว้นความสัมพันธ์ทางเพศโดยสิ้นเชิงย่อมดีกว่า อย่างไรก็ตาม งานแปลของโจเซฟ สมิธ, 1 โครินธ์ 7:29–33 (ดู Bible appendix) ช่วยให้เราเข้าใจว่าเปาโลกำลังหมายถึงคนที่ได้รับเรียกเป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลา โดยสังเกตว่าพวกเขาจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าได้ดีขึ้นถ้าพวกเขายังเป็นโสดในช่วงงานเผยแผ่ของพวกเขา พระเจ้าทรงสอนผ่านผู้รับใช้ของพระองค์ รวมทั้งเปาโล ว่าการแต่งงานเป็นส่วนหนึ่งของแผนนิรันดร์ของพระองค์และจำเป็นต่อความสูงส่ง (ดู 1 โครินธ์ 11:11; คพ. 131:1–4)

ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงตามความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

1 โครินธ์ 1:10–17; 3:1–11

ขณะสมาชิกครอบครัวของท่านอ่านข้อเหล่านี้ ให้พวกเขาหาข้อคิดที่จะช่วยให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น

1 โครินธ์ 3:1–2

ท่านอาจจะอ่านข้อเหล่านี้ขณะรับประทานอาหารว่างประเภทนมและเนื้อ และท่านอาจจะเปรียบเทียบรูปแบบที่ทารกเติบโตเป็นผู้ใหญ่กับรูปแบบที่เราเติบโตทางวิญญาณ

1 โครินธ์ 3:4–9

เปาโลเปรียบเทียบงานเผยแผ่ศาสนาของเขากับการปลูกพืช การเปรียบเทียบของเขาบอกอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราควรใช้แบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น

1 โครินธ์ 6:19–20

การเปรียบเทียบร่างกายของเรากับพระวิหาร เช่นที่เปาโลทำ สามารถใช้เป็นวิธีสอนเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของร่างกายเรา บางทีท่านอาจจะให้ดูภาพพระวิหาร เช่นภาพที่ให้มากับโครงร่างนี้ เหตุใดพระวิหารจึงศักดิ์สิทธิ์ ร่างกายเราเหมือนพระวิหารอย่างไร เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อปฏิบัติต่อร่างกายให้เหมือนพระวิหาร (ดู “ความบริสุทธิ์ทางเพศ” เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน, 35–37 ด้วย) หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้ไปพระวิหารด้วยกันหรือไปเยือนรอบๆ พระวิหาร ทั้งนี้อาจเพิ่มคุณค่าของการสนทนาเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารและร่างกายเรา

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

จงอดทนกับตัวท่านเอง เปาโลสอนว่าน้ำนมมาก่อนอาหารแข็งเมื่อเรากำลังเรียนพระกิตติคุณ (ดู 1 โครินธ์ 3:1–2) หากท่านพบว่าหลักคำสอนบางข้อยากจะเข้าใจในเวลานี้ จงอดทน จงวางใจว่าคำตอบจะมาเมื่อท่านมีศรัทธาและศึกษาอย่างขยันหมั่นเพียร

พระวิหารสี่แห่ง

เปาโลเปรียบร่างกายเรากับความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหาร วนตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย: พระวิหารตีฮัวนา เม็กซิโก พระวิหารไทเป ไต้หวัน พระวิหารเตกูซิกัลปา ฮอนดูรัส และพระวิหารฮิวสตัน เทกซัส