“26 สิงหาคม–1 กันยายน 1 โครินธ์ 8–13: ‘ท่านทั้งหลายเป็นกายของพระคริสต์’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)
“26 สิงหาคม–1 กันยายน 1 โครินธ์ 8–13,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019
26 สิงหาคม–1 กันยายน
1 โครินธ์ 8–13
“ท่านทั้งหลายเป็นกายของพระคริสต์”
ขณะที่ท่านอ่าน 1 โครินธ์ 8–13ร่วมกับการสวดอ้อนวอน พระวิญญาณบริสุทธิ์จะตรัสกับท่านอย่างแผ่วเบา (ดู 1 พงศ์กษัตริย์ 19:11–12) การบันทึกความประทับใจเหล่านี้จะช่วยให้ท่านนึกถึงความรู้สึกและความคิดที่เคยมีระหว่างศึกษา
บันทึกความประทับใจของท่าน
ในสมัยของเปาโล โครินธ์เป็นศูนย์การค้าที่มั่งคั่งและมีคนจากทั่วจักรวรรดิโรมันมาอาศัยอยู่ที่นั่น เนื่องจากวัฒนธรรมและศาสนาในเมืองนั้นต่างกันมาก สมาชิกศาสนจักรในโครินธ์จึงต้องพยายามรักษาความเป็นหนึ่งเดียวกัน เปาโลจึงพยายามช่วยให้พวกเขาพบความเป็นหนึ่งเดียวกันของความเชื่อในพระคริสต์ ความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ต้องมากกว่าการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ เปาโลไม่ได้ขอเพียงให้พวกเขาเปิดใจรับความแตกต่างของกันและกันเท่านั้น แต่เขาสอนว่าเมื่อท่านเข้าร่วมศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ ท่าน “ได้รับบัพติศมาเข้าเป็นกายเดียวกัน” และกายนั้นต้องการอวัยวะทุกส่วน (1 โครินธ์ 12:13) เมื่อสมาชิกคนหนึ่งหายไป ก็เหมือนร่างกายสูญเสียแขนขา และร่างกายจึงอ่อนแอลง เมื่อสมาชิกคนหนึ่งเป็นทุกข์ เราทุกคนควรรู้สึกเป็นทุกข์และทำส่วนของเราเพื่อบรรเทาทุกข์นั้น ในความเป็นหนึ่งเดียวกันเช่นนี้ ไม่เพียงยอมรับความแตกต่างเท่านั้นแต่เห็นค่าด้วย เพราะหากปราศจากสมาชิกที่มีของประทานและความสามารถต่างกัน กายนั้นย่อมถูกจำกัด ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าท่านรู้สึกว่าศาสนจักรเป็นเหมือนบ้านท่านหรือกำลังสงสัยว่าท่านเป็นส่วนหนึ่งของศาสนจักรจริงหรือ ข่าวสารของเปาโลบอกท่านว่าความเป็นหนึ่งเดียวกันไม่ใช่ความเหมือนกัน ท่านต้องการเพื่อนวิสุทธิชน และเพื่อนวิสุทธิชนต้องการท่าน
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียมวิธีให้หนีพ้นการล่อลวง
ประสบการณ์ทางวิญญาณ แม้แต่ประสบการณ์อันน่าพิศวง ไม่ละเว้นเราจากการล่อลวงที่ “เคยเกิดกับมนุษย์” (1 โครินธ์ 10:13) นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เปาโลเขียนวิธีที่ชาวอิสราเอลในสมัยของโมเสสประสบปัญหากับการล่อลวงทั้งที่พวกเขาเห็นปาฏิหาริย์ยิ่งใหญ่มากมาย (ดู อพยพ 13:21; 14:13–31 ขณะที่ท่านอ่าน 1 โครินธ์ 10:1–13 คำเตือนอะไรในประสบการณ์ของชาวอิสราเอลดูเหมือนจะประยุกต์ใช้กับท่านได้ พระบิดาบนสวรรค์ทรงจัดเตรียม “ทางออก” จากการล่อลวงแบบใดให้ท่าน (ดู แอลมา 13:27–30; 3 นีไฟ 18:18–19 ด้วย)
ศีลระลึกทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะผู้ติดตามพระคริสต์
ถึงแม้ศาสนพิธีศีลระลึกเกี่ยวข้องกับคำมั่นสัญญาส่วนตัวระหว่างแต่ละบุคคลกับพระเจ้า แต่เป็นประสบการณ์ที่เรามีร่วมกับผู้อื่นเช่นกัน—กลุ่มวิสุทธิชนของเรารับส่วนศีลระลึกด้วยกันแทบจะทุกครั้ง อ่านสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับศีลระลึก และคิดว่าศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้สามารถช่วยให้ “หลายคน” เป็นหนึ่ง “เดียว” ในพระคริสต์อย่างไร (1 โครินธ์ 10:17) ท่านจะดึงพลังมาจากการรับส่วนศีลระลึกกับผู้เชื่อคนอื่นๆ ได้อย่างไร สิ่งนี้ส่งผลอย่างไรต่อวิธีที่ท่านเตรียมรับศีลระลึกและวิธีที่ท่านพยายามรักษาพันธสัญญาบัพติศมาของท่าน
เหตุใดเปาโลจึงเขียนเกี่ยวกับการคลุมศีรษะและทรงผม
เปาโลกล่าวถึงขนมธรรมเนียมประเพณีของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเพื่อสอนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงกับพระเจ้า แม้เราไม่ได้ถือธรรมเนียมเหล่านี้แล้ว แต่เรายังคงเรียนรู้จากคำประกาศของเปาโลใน 1 โครินธ์ 11:11 ได้ว่าในแผนของพระเจ้าต้องการทั้งชายและหญิง ทั้งในการแต่งงานและในศาสนจักร ดังที่เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์สอน “ความประสงค์คือให้ชายและหญิงเรียนรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็ง เป็นพร และเติมเต็มกันและกัน” ขณะพวกเขาเจริญก้าวหน้าไปด้วยกันสู่ความสูงส่ง (“เราเชื่อในการเป็นคนบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 42; ดู มาระโก 10:6–9 ด้วย)
ของประทานฝ่ายวิญญาณประทานให้เพื่อประโยชน์ของบุตรธิดาทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์
ใน 1 โครินธ์ 12–13 ไม่ได้ระบุชื่อของประทานฝ่ายวิญญาณอย่างละเอียด แต่นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีเมื่อท่านค้นพบและไตร่ตรองของประทานฝ่ายวิญญาณที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานแก่ท่าน หัวข้อ “Spiritual Gifts” ใน Gospel Topics (topics.lds.org) อาจช่วยให้ท่านเข้าใจของประทานเหล่านี้ดีขึ้น ท่านอาจจะเพิ่มของประทานที่ท่านสังเกตเห็นในผู้อื่น ในตัวท่านเอง หรือผู้คนในพระคัมภีร์เข้าไปในรายการของเปาโล หากท่านมีปิตุพร ปิตุพรอาจจะกล่าวถึงของประทานฝ่ายวิญญาณบางอย่างของท่าน ของประทานเหล่านี้ช่วยเราสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร พิจารณาสิ่งที่ท่านจะทำเพื่อตั้งใจแสวงหา “ของประทานต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่า” (1 โครินธ์ 12:31)
ดู โมโรไน 10:8–21, 30; หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:8–26; หลักแห่งความเชื่อ 1:7 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว จงแสวงหาการดลใจเพื่อให้ตรงตามความต้องการของครอบครัวท่าน ข้อเสนอแนะต่อไปนี้อาจช่วยได้:
เนื่องจากเปาโลเปรียบเทียบการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณกับการวิ่งแข่ง ท่านอาจจะให้ครอบครัววิ่งแข่งเพื่ออธิบายประเด็นนี้ สวมมงกุฎให้ทุกคนที่วิ่งถึงเส้นชัย และสนทนาว่าทุกคนที่เพียรพยายามติดตามพระเยซูคริสต์ในชีวิตนี้จะได้รับรางวัลที่ “ไม่ร่วงโรย” (1 โครินธ์ 9:25; ดู 2 ทิโมธี 4:7–8 ด้วย) นักวิ่งที่ชนะเลิศทำอะไรเพื่อเตรียมวิ่ง ทำนองเดียวกัน เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์
ท่านอาจจะแจกกระดาษให้ทุกคนโดยมีชื่อของสมาชิกครอบครัวอีกคนหนึ่งอยู่ด้านบน ขอให้ทุกคนเขียนของประทานฝ่ายวิญญาณที่พวกเขาสังเกตเห็นในบุคคลนั้น จากนั้นท่านอาจจะส่งกระดาษต่อไปในวงกลมจนกว่าทุกคนมีโอกาสเขียนของประทานของสมาชิกครอบครัวแต่ละคน
เหตุใดพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงจำเป็นต่อการมีประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์ เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่ออัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เสริมสร้างประจักษ์พยานของเราเกี่ยวกับพระองค์
อุปมานิทัศน์เรื่องร่างกายของเปาโลอาจเป็นวิธีที่น่าจะนำมาใช้สนทนาเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัว ตัวอย่างเช่น สมาชิกครอบครัวอาจจะลองวาดร่างกายที่มีเพียงตาหรือหู (ดู ข้อ 17) ข้อเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อกันฉันสมาชิกครอบครัว
นิยามจิตกุศลของเปาโลอาจทำเป็นคำขวัญสร้างแรงบันดาลใจให้ครอบครัวท่าน ท่านอาจจะมอบหมายให้สมาชิกครอบครัวแต่ละคนศึกษาวลีหนึ่งใน ข้อ 4–8 และสอนคนอื่นๆ ในครอบครัวโดยใช้นิยาม ตัวอย่าง และประสบการณ์ส่วนตัวว่าวลีนั้นหมายถึงอะไร พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของคุณลักษณะเหล่านี้อย่างไร ท่านอาจจะช่วยกันทำโปสเตอร์สำหรับวลีเหล่านี้แต่ละวลีและติดไว้ทั่วบ้าน จงสร้างสรรค์!
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย