จงตามเรามา
9–15 กันยายน 2 โครินธ์ 1–7: ‘คืนดีกับพระเจ้า’


“9–15 กันยายน 2 โครินธ์ 1–7: ‘คืนดีกับพระเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“9–15 กันยายน 2 โครินธ์ 1–7” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

พระเยซูคริสต์

9–15 กันยายน

2 โครินธ์ 1–7

“คืนดีกับพระเจ้า”

ขณะท่านศึกษาจดหมายที่เปาโลเขียนถึงชาวโครินธ์ ให้จดหลักธรรมพระกิตติคุณบางข้อที่ท่านค้นพบและไตร่ตรองว่าจะประยุกต์ใช้ในชีวิตท่านอย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

บางครั้งการเป็นผู้นำศาสนจักรหมายถึงการต้องพูดเรื่องยากๆ บางเรื่อง ในสมัยของเปาโลก็เหมือนสมัยนี้ เห็นได้ชัดว่าจดหมายฉบับก่อนที่เปาโลเขียนถึงวิสุทธิชนชาวโครินธ์พูดถึงการตีสอนและทำให้รู้สึกเจ็บด้วย ในจดหมายที่กลายเป็น 2 โครินธ์ เขาพยายามอธิบายว่าอะไรทำให้เขาต้องพูดคำรุนแรง “เพราะว่าข้าพ‌เจ้าเขียนจด‍หมายถึงพวก‍ท่านด้วยความยากลำ‌บากและระทมใจอย่าง‍ยิ่ง รวมทั้งน้ำ‍ตาไหลมาก‍มาย ไม่ใช่เพื่อจะทำให้พวก‍ท่านทุกข์‍โศก แต่เพื่อให้ท่านรู้‍จักความรักมาก‍มายที่ข้าพ‌เจ้ามีต่อท่าน‍ทั้ง‍หลาย” (2 โครินธ์ 2:4) เมื่อท่านได้รับคำตำหนิจากผู้นำ ช่วยได้แน่นอนถ้ารู้ว่าคำตำหนินั้นเกิดจากความรักเหมือนพระคริสต์ ถึงจะไม่ใช่การตำหนิเพราะรักเรา แต่หากเราเต็มใจมองผู้อื่นด้วยความรักแบบเดียวกับที่เปาโลรู้สึก เราจะตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อความผิดทุกอย่างได้ง่ายขึ้น ดังที่เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แนะนำ “จงมีน้ำใจกับความเปราะบางของมนุษย์—ทั้งของตัวท่านเองและคนที่รับใช้กับท่านในศาสนจักรซึ่งนำโดยชายและหญิงอาสาสมัครซึ่งเป็นมนุษย์ ยกเว้นในกรณีของพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์ คนไม่ดีพร้อมคือคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องทำงานด้วย” (“ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 94)

ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

2 โครินธ์ 1:3–7; 4:6–10, 17–18; 7:4–7

การทดลองของฉันจะเป็นพรแก่ฉันได้

เพราะความทุกข์ยากที่เปาโลประสบในการปฏิบัติศาสนกิจ จึงไม่แปลกที่เขาเขียนถึงจุดประสงค์และพรของความทุกข์ยากไว้มากมาย นึกถึงด้านต่างๆ ที่การทดลองของท่านจะเป็นพรแก่ท่านได้เมื่อท่านอ่าน 2 โครินธ์ 1:3–7; 4:6–10, 17–18; และ 7:4–7 ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะไตร่ตรองว่าพระผู้เป็นเจ้า “ทรงหนุนใจ [ท่าน] ในความยากลำบากทั้งหมด [ของท่าน]” อย่างไร และต่อจากนั้นท่านสามารถ “หนุนใจคนทั้งหลายที่มีความยากลำบากอย่างใดอย่างหนึ่ง” ได้อย่างไร (2 โครินธ์ 1:4) หรือท่านอาจจะเน้นเรื่องแสงสว่างของพระเยซูคริสต์ที่ “ส่องสว่างเข้ามาในใจของเรา” แม้เมื่อท่าน “เผชิญความยากลำบาก” และ “สับสน” (2 โครินธ์ 4:6–10)

ดู โมไซยาห์ 24:13–17; Gospel Topics, “Adversity,” topics.lds.org ด้วย

2 โครินธ์ 2:5–11

ฉันได้รับพรและเป็นพรแก่ผู้อื่นเมื่อฉันให้อภัย

เรารู้ไม่มากนักเกี่ยวกับคนที่เปาโลกล่าวถึงใน 2 โครินธ์ 2:5–11—รู้เพียงว่าเขาล่วงละเมิด (ดู ข้อ 5–6) และเปาโลต้องการให้วิสุทธิชนให้อภัยเขา (ดู ข้อ 7–8) เหตุใดบางครั้งเราไม่ “ยืนยันความรัก [ของเรา] ต่อ” คนที่ทำผิดต่อเรา (ข้อ 8) การไม่ให้อภัยทำร้ายผู้อื่นและตัวเราอย่างไร (ดู ข้อ 7, 10–11) การไม่ให้อภัยผู้อื่นทำให้ “ซาตานได้เปรียบเรา” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 11)

ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9–11 ด้วย

2 โครินธ์ 5:14–21

โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ฉันสามารถคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า

เปาโลรู้เท่ากับคนอื่นๆ ว่าการเป็น “คนที่ถูกสร้างใหม่” นั้นเป็นอย่างไร เขาเปลี่ยนจากการเป็นผู้ข่มเหงคริสต์ศาสนิกชนเป็นผู้ปกป้องพระคริสต์โดยไม่หวั่นเกรง เขารู้ด้วยตนเองว่าพระเยซูผู้ “ทรงไม่มีบาป” สามารถขจัดบาปของเราและประทาน “ความชอบธรรม” ของพระองค์แก่เราเพื่อให้เรากลับมาเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้าอีกครั้ง ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ ให้คิดว่าการคืนดีกับอีกคนหนึ่งหมายความว่าอย่างไร ช่วยให้ท่านเข้าใจความหมายของการคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร ไตร่ตรองว่าอะไรอาจจะแยกท่านจากพระผู้เป็นเจ้า ท่านต้องทำอะไรจึงจะคืนดีกับพระองค์อย่างสมบูรณ์มากขึ้น

ดู 2 นีไฟ 10:23–25 ด้วย

2 โครินธ์ 7:8–11

ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้านำไปสู่การกลับใจ

เรามักไม่คิดว่าความเสียใจเป็นเรื่องดี แต่เปาโลพูดว่า “ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า” เป็นส่วนจำเป็นของการกลับใจ ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าจากข้อต่อไปนี้ 2 โครินธ์ 7:8–11; แอลมา 36:16–21; มอรมอน 2:11–15; และ Gospel Topics, “Repentance,” topics.lds.org ท่านเคยรู้สึกเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าเมื่อใด และความรู้สึกนั้นมีผลอะไรในชีวิตท่าน

ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงตามความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

2 โครินธ์ 3:1–3

สมาชิกในครอบครัวท่านเคยขอให้ใครบางคนเขียนจดหมายแนะนำพวกเขาหรือไม่ เช่น จดหมายสมัครงานหรือสมัครเรียน ขอให้พวกเขาพูดถึงประสบการณ์นี้และสิ่งที่จดหมายกล่าวเกี่ยวกับพวกเขา เปาโลสอนว่าชีวิตของวิสุทธิชนเปรียบเสมือนจดหมายแนะนำพระกิตติคุณจากพระคริสต์พระองค์เอง “ไม่ได้เขียนด้วยน้ำหมึก แต่ด้วยพระวิญญาณของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์” ขณะที่ท่านอ่าน 2 โครินธ์ 3:1–3 ด้วยกัน ให้สนทนาว่าแบบอย่างของเราเปรียบเสมือนจดหมายแนะนำพระกิตติคุณให้ “ทุกคนรู้และอ่าน” อย่างไร บางทีสมาชิกครอบครัวแต่ละคนอาจจะเขียนจดหมายหรือ “สาส์น” อธิบายว่าสมาชิกครอบครัวอีกคนเป็นแบบอย่างที่ดีของสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์อย่างไร พวกเขาอาจจะอ่านจดหมายเหล่านั้นให้ครอบครัวฟังและมอบให้สมาชิกครอบครัวที่พวกเขาเขียนถึง เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าชีวิตเราเป็น “จดหมายของพระคริสต์”

2 โครินธ์ 5:6–7

การ “ดำเนินโดยความเชื่อ ไม่ใช่โดยสิ่งที่มองเห็น” หมายความว่าอย่างไร เรากำลังทำอะไรเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเชื่อในสิ่งที่เรามองไม่เห็น

2 โครินธ์ 5:17

ครอบครัวท่านนึกถึง—หรือพบ—ตัวอย่างในธรรมชาติของสิ่งที่ผ่านการเปลี่ยนสภาพจนกลายเป็นสิ่งที่ถูกสร้างใหม่หรือไม่ (ดูภาพที่มากับโครงร่างนี้) ตัวอย่างเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับวิธีที่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์สามารถเปลี่ยนเราได้

2 โครินธ์ 6:1–10

ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ การเป็น “คนปรนนิบัติของพระเจ้า” หมายความว่าอย่างไร

2 โครินธ์ 6:14–18

เราจะทำตามคำแนะนำของเปาโลให้ “ออกจากท่ามกลาง [คนอธรรม] และจงแยกตัวออก” ได้อย่างไรขณะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนรอบข้างเราไปด้วย

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

แบ่งปันบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริง แนวความคิดบางอย่างของพระกิตติคุณ เช่นการชดใช้ อาจจะเข้าใจยาก ท่านอาจจะใช้รูปภาพหรืออุปกรณ์จริงเพื่อช่วยให้ครอบครัวเข้าใจหลักธรรมที่ท่านค้นพบในพระคัมภีร์

หนอนผีเสื้อ ดักแด้ และผีเสื้อ

เมื่อเราเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระคริสต์ การเปลี่ยนแปลงของเราลึกซึ้งจนเปาโลเรียกว่าเป็น “คนที่ถูกสร้างใหม่” (2 โครินธ์ 5:17)