จงตามเรามา
2–8 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16: ‘พระเจ้าไม่ใช่พระเจ้าแห่งความวุ่นวาย แต่ทรงเป็นพระเจ้าแห่งสันติ’


“2–8 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16: ‘พระเจ้าไม่ใช่พระเจ้าแห่งความวุ่นวาย แต่ทรงเป็นพระเจ้าแห่งสันติ’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“2–8 กันยายน 1 โครินธ์ 14–16” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

อ่างบัพติศมาในพระวิหาร

2–8 กันยายน

1 โครินธ์ 14–16

“พระเจ้าไม่ใช่พระเจ้าแห่งความวุ่นวาย แต่ทรงเป็นพระเจ้าแห่งสันติ”

บันทึกความประทับใจของท่านขณะอ่าน 1 โครินธ์ 14–16 สวดอ้อนวอนเกี่ยวกับสิ่งที่พระวิญญาณทรงสอนท่าน และทูลถามพระบิดาบนสวรรค์ว่ามีอีกหรือไม่ที่พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านเรียนรู้

บันทึกความประทับใจของท่าน

เพราะศาสนจักรและหลักคำสอนค่อนข้างใหม่ในโครินธ์ จึงเข้าใจได้ว่าวิสุทธิชนชาวโครินธ์เกิดความสับสน เปาโลเคยสอนความจริงพื้นฐานของพระกิตติคุณแก่พวกเขาแล้ว นั่นคือ “พระคริสต์วายพระชนม์เพราะบาปของเรา… และทรงถูกฝังไว้ แล้ววันที่สามพระองค์ทรงถูกทำให้เป็นขึ้นมา” (1 โครินธ์ 15:3–4) แต่ไม่นานสมาชิกบางคนก็เริ่มสอนว่า “การเป็นขึ้นจากความตายไม่มี” (1 โครินธ์ 15:12) เปาโลขอร้องให้พวกเขา “ยึดมั่น” ความจริงที่สอนพวกเขาแล้ว (1 โครินธ์ 15:2) เมื่อเราพบเจอความเห็นแย้งเกี่ยวกับความจริงพระกิตติคุณ เป็นการดีที่จะจดจำว่า “พระเจ้าไม่ใช่พระเจ้าแห่งความวุ่นวาย แต่ทรงเป็นพระเจ้าแห่งสันติ” (1 โครินธ์ 14:33) การฟังผู้รับใช้ที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งและการยึดมั่นความจริงอันเรียบง่ายที่สอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะช่วยให้เราพบสันติและ “มั่นคงในความเชื่อ” (1 โครินธ์ 16:13)

ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

1 โครินธ์ 14

ฉันสามารถแสวงหาของประทานแห่งการพยากรณ์

ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าของประทานแห่งการพยากรณ์คืออะไร คือความสามารถในการทำนายอนาคตหรือ ใครๆ ก็มีของประทานนี้ได้อย่างนั้นหรือ หรือมีเฉพาะศาสดาพยากรณ์เท่านั้น

ประธานศาสนจักรเป็นบุคคลเดียวที่สามารถพยากรณ์และรับการเปิดเผยแทนคนทั้งศาสนจักร แต่คู่มือพระคัมภีร์นิยามว่า คำพยากรณ์ หมายถึง “ถ้อยคำหรืองานเขียนที่ได้รับการดลใจจากเบื้องบน ซึ่งบุคคลได้รับผ่านการเปิดเผยจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ … เมื่อบุคคลหนึ่งพยากรณ์ เขาจะพูดหรือเขียนสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เขารู้ เพื่อประโยชน์ของเขาเองหรือประโยชน์ของผู้อื่น” (คู่มือพระคัมภีร์, “คำพยากรณ์, พยากรณ์,” scriptures.lds.org; ดู คพ. 100:5–8 ด้วย) วิวรณ์ 19:10 นิยามวิญญาณแห่งการพยากรณ์ว่าเป็น “คำพยานของพระเยซู”

ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับของประทานฝ่ายวิญญาณดังกล่าวจาก 1 โครินธ์ 14:3, 31, 39–40 เปาโลน่าจะหมายถึงอะไรเมื่อเขาเชื้อเชิญให้ชาวโครินธ์ “ขวนขวายการเผยพระวจนะ (ปรารถนาจะพยากรณ์)” (1 โครินธ์ 14:39) ท่านจะยอมรับคำเชื้อเชิญนี้ได้อย่างไร

ดู กันดารวิถี 11:24–29; เจคอบ 4:6–7; แอลมา 17:3; หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:23–28 ด้วย

1 โครินธ์ 14:34–35

เหตุใดเปาโลจึงกล่าวว่าผู้หญิงควรอยู่เงียบๆ ในศาสนจักร

คำสอนของเปาโลใน 1 โครินธ์ 14:34–35 อาจดูสับสน เนื่องจากช่วงแรกในสาส์นฉบับเดียวกันนี้เขาเขียนว่าผู้หญิงสวดอ้อนวอนและพยากรณ์ (ดู 1 โครินธ์ 11:5) งานแปลของโจเซฟ สมิธแทนคำว่า พูด ใน ข้อ 34 และ 35 ด้วยคำว่า ปกครอง คำชี้แจงนี้บอกว่าเปาโลน่าจะหมายถึงผู้หญิงที่กำลังพยายามยึดอำนาจในการประชุมต่างๆ ของศาสนจักร (ดู 1 ทิโมธี 2:11–12 ด้วย)

ดู “Women in the Church” Gospel Topics, topics.lds.org ด้วย

1 โครินธ์ 15:1–34, 53–58

พระเยซูคริสต์ทรงมีชัยชนะเหนือความตาย

การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เป็นรากฐานของศาสนาคริสต์ กล่าวได้ว่าหากปราศจากรากฐานนี้ย่อมไม่ มี ศาสนาคริสต์—ถ้าจะใช้คำของเปาโลก็คือ “การประกาศของเรานั้นก็ไร้ประโยชน์ และความเชื่อของท่านทั้งหลายก็ไร้ประโยชน์ด้วย” (1 โครินธ์ 15:14) ทว่าวิสุทธิชนชาวโครินธ์บางคนกำลังสอนว่าจะไม่มี “การเป็นขึ้นจากความตาย” (1 โครินธ์ 15:12) ขณะที่ท่านอ่านคำตอบของเปาโลใน 1 โครินธ์ 15 ให้ใช้เวลาไตร่ตรองสักครู่ว่าชีวิตท่านจะต่างจากนี้อย่างไรหากท่านไม่เชื่อเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์ การฟื้นคืนพระชนม์เป็นพรแก่ท่านอย่างไร พรใดจะมาถึงท่านเพราะพระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ (ดู 2 นีไฟ 9:6–19; แอลมา 40:19–23; หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:33–34) วลี “ถ้าพระคริสต์ไม่ได้ทรงถูกทำให้เป็นขึ้นมา ความเชื่อของพวกท่านก็ไร้ประโยชน์” มีความหมายอะไรต่อท่าน (ข้อ 17)

1 โครินธ์ 15:35–54

ร่างกายที่ฟื้นคืนชีวิตต่างจากร่างกายมรรตัย

ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าร่างกายที่ฟื้นคืนชีวิตเป็นอย่างไร ตามที่กล่าวไว้ใน 1 โครินธ์ 15:35 ชาวโครินธ์บางคนสงสัยเรื่องนี้เช่นกัน อ่านคำตอบของเปาโลใน ข้อ 36–54 ให้สังเกตคำและวลีที่พูดถึงความแตกต่างระหว่างร่างกายมรรตัยกับร่างกายที่ฟื้นคืนชีวิต ยกตัวอย่างเช่น ข้อ 40–42 สอนว่าร่างกายที่ฟื้นคืนชีวิตจะสว่างในรัศมีภาพระดับต่างกัน เฉกเช่นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวมีความสว่างต่างกัน (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, 1 โครินธ์ 15:40; คพ. 76:50–112 ด้วย)

ดู แอลมา 11:43–45; ลูกา 24:39 ด้วย

อรุณรุ่ง

“รัศมีของดวงอาทิตย์ก็อย่างหนึ่ง” (1 โครินธ์ 15:41)

ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงตามความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

1 โครินธ์ 15:29

เราเรียนรู้จาก ข้อ 29 ว่าวิสุทธิชนสมัยโบราณมีส่วนร่วมในบัพติศมาแทนคนตาย เช่นที่เราทำในศาสนจักรปัจจุบัน ครอบครัวเรากำลังทำอย่างไรในการเตรียมชื่อบรรพชนของเราสำหรับศาสนพิธีพระวิหาร ดู “Baptisms for the Dead,” Gospel Topics, topics.lds.org

1 โครินธ์ 15:35–54

ท่านจะให้ดูสิ่งของหรือรูปอะไรเพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจคำบางคำที่เปาโลใช้อธิบายว่าร่างกายมรรตัยต่างจากร่างกายที่ฟื้นคืนชีวิต ยกตัวอย่างเช่น เพื่อสาธิตความแตกต่างระหว่าง เสื่อมสลาย กับ ไม่เสื่อมสลาย (ดู ข้อ 52–54) ท่านอาจจะให้ดูโลหะที่เป็นสนิม (เช่นเหล็ก) และโลหะที่ไม่เป็นสนิม (เช่นเหล็กกล้าไร้สนิม) หรือท่านอาจจะเปรียบเทียบสิ่งที่อ่อนกำลังกับสิ่งที่มีพลัง (ดู ข้อ 43)

1 โครินธ์ 15:55–57

การสนทนาเกี่ยวกับข้อเหล่านี้จะมีความหมายเป็นพิเศษถ้าครอบครัวท่านรู้จักคนที่สิ้นชีวิตแล้ว สมาชิกครอบครัวอาจจะแสดงประจักษ์พยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงเอา “เหล็กไนของความตาย” ออก (ข้อ 56) ข่าวสารของเอ็ลเดอร์พอล วี. จอห์นสันเรื่อง “และความตายจะไม่มีอีกต่อไป” ( เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 121–123) อาจจะเสริมการสนทนาของท่านได้เป็นอย่างดี

1 โครินธ์ 16:13

เพื่อช่วยให้สมาชิกครอบครัวของท่านเชื่อมโยงกับข้อนี้ ท่านอาจจะวาดวงกลมบนพื้นและแนะนำให้สมาชิกครอบครัวคนหนึ่งยืน “มั่นคง” ในวงกลมขณะมีผ้าปิดตาขณะที่คนอื่นๆ พยายามดึงเขาออกจากวงกลม จะแตกต่างอย่างไรถ้าคนที่ยืนในวงกลมไม่มีผ้าปิดตาและ “เฝ้าระวัง” เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อ “ยืนหยัดเข้มแข็ง” ในชีวิตเราเมื่อเราถูกล่อลวงให้ทำการเลือกที่ไม่ดี

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

มองหารูปแบบ ในพระคัมภีร์เราพบรูปแบบที่แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงทำงานของพระองค์อย่างไร ท่านพบรูปแบบอะไรบ้างใน 1 โครินธ์ 14 ที่ช่วยให้เราเข้าใจวิธีสอนและจรรโลงใจกัน ดู คพ. 50:13–23 ด้วย

พระคริสต์ทรงปรากฏต่อมารีย์ที่อุโมงค์ในสวน

หญิงเอ๋ย ร้องไห้ทำไม โดย ไซมอน ดิวอี