จงตามเรามา
4–10 พฤศจิกายน ฮีบรู 1–6: ‘พระเยซูคริสต์ ‘แหล่งกำเนิดแห่งความรอดนิรันดร์’’


“4–10 พฤศจิกายน ฮีบรู 1–6: ‘พระเยซูคริสต์ ‘แหล่งกำเนิดแห่งความรอดนิรันดร์’’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“4–10 พฤศจิกายน ฮีบรู 1–6” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2019

ภาพ
พระคริสต์ทรงยืนอยู่กับเด็กหญิงและผู้ชายคนหนึ่ง

พิมเสนแห่งกิเลอาด, โดย แอนนี เฮนรี

4–10 พฤศจิกายน

ฮีบรู 1–6

พระเยซูคริสต์ “แหล่งกำเนิดแห่งความรอดนิรันดร์”

การบันทึกความประทับใจของท่านช่วยให้ท่านรับรู้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงต้องการสอนอะไรท่าน การทำตามความประทับใจของท่านแสดงให้เห็นศรัทธาของท่านว่าการกระตุ้นเตือนเหล่านั้นเป็นจริง

บันทึกความประทับใจของท่าน

เราทุกคนต้องยอมทิ้งบางอย่างเพื่อยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์—ไม่ว่าจะเป็นนิสัยไม่ดี ความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีงาม หรืออื่นๆ สำหรับคนต่างชาติ การเปลี่ยนใจเลื่อมใสมักจะหมายถึงการทิ้งพระเจ้าปลอม แต่สำหรับคนฮีบรู (ชาวยิว) การเปลี่ยนใจเลื่อมใสยากกว่านั้นหรือไม่ก็ซับซ้อนกว่านั้นเล็กน้อย ความเชื่อและประเพณีที่พวกเขานับถือมานานหยั่งรากในการนมัสการพระผู้เป็นเจ้าองค์จริงและคำสอนของศาสดาพยากรณ์ ย้อนกลับไปหลายพันปี แต่เหล่าอัครสาวกสอนว่ากฎของโมเสสเกิดสัมฤทธิผลแล้วในพระเยซูคริสต์และเวลานี้กฎที่สูงกว่าเป็นมาตรฐานสำหรับผู้เชื่อ การยอมรับศาสนาคริสต์จะหมายความว่าคนฮีบรูต้องยอมทิ้งความเชื่อเดิมและประวัติความเป็นมาของพวกเขาหรือไม่ สาส์นถึงคนฮีบรูมุ่งหมายจะช่วยตอบคำถามเช่นนั้นโดยสอนว่ากฎของโมเสส ศาสดาพยากรณ์ และศาสนพิธีล้วนสำคัญ แต่พระเยซูคริสต์สำคัญยิ่งกว่า (ดู ฮีบรู 1:1–4; 3:1–6; 7:23–28) อันที่จริง สิ่งทั้งหมดนี้ล้วนชี้ไปที่พระคริสต์และเป็นพยานว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ซึ่งชาวยิวรอคอย ข่าวสารสำหรับคนฮีบรู และสำหรับเราทุกคนคือบางครั้งเราต้องยอมทิ้งประเพณีต่างๆ เพื่อทำให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางของการนมัสการและชีวิตเรา—“เพื่อเราจะได้รับพระเมตตา” ผ่านพระคริสต์ (ฮีบรู 4:16)

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

ฮีบรู

ใครเขียนสาส์นถึงคนฮีบรู

นักวิชาการบางคนสงสัยว่าเปาโลเขียนสาส์นถึงคนฮีบรูหรือไม่ สำนวนของฮีบรูค่อนข้างต่างจากจดหมายฉบับอื่นของเปาโล และเนื้อความฉบับล่าสุดไม่ได้เอ่ยชื่อผู้เขียน แต่เพราะแนวคิดที่แสดงไว้ในฮีบรูสอดคล้องกับคำสอนอื่นของเปาโล วิสุทธิชนยุคสุดท้ายจึงยอมรับกันทั่วไปตามประเพณีชาวคริสต์ว่าอย่างน้อยเปาโลก็มีส่วนในการเขียนสาส์นฉบับนี้

ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สาส์นของเปาโล” ด้วย

ฮีบรู 1–5

พระเยซูคริสต์ทรงเป็น “แก่นแท้เดียว” กับพระบิดาบนสวรรค์

ชาวยิวจำนวนมากพบว่ายากจะยอมรับพระเยซูคริสต์เป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า สาส์นถึงคนฮีบรูสอนว่าทุกอย่างเกี่ยวกับพระเยซูเป็นพยานและทำตามแบบอย่างพระบิดาของพระองค์ ขณะที่ท่านอ่านห้าบทแรกของฮีบรู ท่านอาจจะจดพระนาม บทบาท คุณลักษณะ และงานของพระเยซูคริสต์ที่ท่านพบในนั้น สิ่งเหล่านี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด และสอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์

คำกล่าวต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เพิ่มอะไรให้ความเข้าใจของท่านเกี่ยวกับคำสอนในบทเหล่านี้ “พระเยซู … เสด็จมาเพื่อปรับทัศนะของมนุษย์ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า และขอร้องพวกเขาให้รักพระบิดาบนสวรรค์ดังที่พระองค์ทรงรักพวกเขาตลอดมาและจะรักตลอดไป … เมื่อพระองค์ทรงให้อาหารคนหิวโหย รักษาคนป่วย ตำหนิความหน้าซื่อใจคด วิงวอนขอศรัทธา—นี่คือพระคริสต์ผู้ทรงกำลังแสดงให้เราเห็นทางของพระบิดา” (“ความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 86)

ฮีบรู 2:9–18; 4:12–16; 5:7–8

พระเยซูคริสต์ทรงทนรับการล่อลวงและความทุพพลภาพเพื่อพระองค์จะเข้าพระทัยและช่วยฉันได้

ท่านรู้สึกหรือไม่ว่าท่านสามารถ “เข้ามาถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณด้วยความกล้า” และแสวงหาพระเมตตา (ฮีบรู 4:16) ข่าวสารเรื่องหนึ่งในสาส์นถึงคนฮีบรูคือแม้เราจะมีบาปและความอ่อนแอ แต่เราสามารถเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าและรับพระคุณของพระองค์ได้ ท่านพบอะไรใน ฮีบรู 2:9–18; 4:12–16; 5:7–8 ที่เสริมความมั่นใจของท่านว่าพระเยซูคริสต์จะทรงช่วยท่านจัดการกับความท้าทายของท่าน ท่านอาจจะบันทึกความคิดและความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อท่านไว้ในบันทึกส่วนตัว

ดู โมไซยาห์ 3:7–11; แอลมา 7:11–1334

ฮีบรู 3:7–4:11

เพื่อให้ได้รับพรของพระผู้เป็นเจ้า ฉันต้อง “ไม่ให้ [จิตใจ] ดื้อรั้น”

ถึงแม้พวกเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่ศาสนาคริสต์ แต่วิสุทธิชนชาวยิวบางคนพบว่ายากจะยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และพรของพระกิตติคุณอย่างสมบูรณ์ เปาโลเล่าเรื่องราวของชาวอิสราเอลสมัยโบราณโดยหวังจะชักชวนให้ชาวยิวหลีกเลี่ยงความผิดที่บรรพชนทำไว้—นั่นคือการปฏิเสธพรของพระผู้เป็นเจ้าเพราะความไม่เชื่อ (ท่านสามารถอ่านเรื่องที่เปาโลพูดถึงได้ใน กันดารวิถี 14:1–12, 26–35)

พิจารณาว่า ฮีบรู 3:7–4:11 จะประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไร เพื่อทำสิ่งนี้ ท่านอาจจะไตร่ตรองคำถามทำนองนี้

  • ชาวอิสราเอลทำให้พระเจ้าทรงมีพระพิโรธอย่างไร (ดู ฮีบรู 3:8–11) อะไรคือผลของการมีจิตใจดื้อรั้น

  • ฉันเคยยอมให้จิตใจดื้อรั้นเมื่อใด มีพรใดหรือไม่ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จะประทานแก่ฉันที่ฉันไม่รับเพราะขาดศรัทธา

  • ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาใจที่อ่อนโยนและสำนึกผิด (ดู อีเธอร์ 4:15; สุภาษิต 3:5–6; แอลมา 5:14–15)

ดู 1 นีไฟ 2:16; 15:6–11; เจคอบ 1:7–8; แอลมา 12:33–36 ด้วย

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงตามความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ:

ฮีบรู 1:8–9

พระเยซูทรงแสดงให้เห็นในด้านใดบ้างว่าพระองค์ทรงรักความชอบธรรมและเกลียดความอธรรม ถ้าเรามีความปรารถนาที่ไม่ชอบธรรม เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเปลี่ยนความปรารถนานั้น

ฮีบรู 2:1–4

ให้ท่านนึกถึงบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงหนึ่งชิ้นที่จะช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจว่าการยึดมั่นความจริงของพระกิตติคุณ “ที่เราได้ยิน” หมายความว่าอย่างไร ท่านอาจจะอธิบายเรื่องนี้โดยใช้สิ่งของที่จับไว้ให้มั่นได้ยาก การที่เราพยายามรักษาประจักษ์พยานเหมือนการจับของชิ้นนี้อย่างไร เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า “สิ่งต่างๆ ที่เราได้ยิน” ไม่ “ห่าง (ลื่นหลุด)” ไปจากเรา (ข้อ 1)

ฮีบรู 2:9–10

เพื่อสำรวจวลี “ผู้เบิกทางสู่ความรอดของพวกเขา” ท่านอาจจะเริ่มโดยสนทนาว่าผู้เบิกทางคืออะไร ผู้เบิกทางทำอะไร พระเยซูคริสต์ทรงเปรียบเสมือนผู้เบิกทางให้เราและความรอดของเราอย่างไร

ฮีบรู 5:1-5

ข้อเหล่านี้จะช่วยให้ท่านได้สนทนาว่าการได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าให้ดำรงฐานะปุโรหิตหรือทำการเรียกอื่นในศาสนจักรให้เกิดสัมฤทธิผลโดยผู้มีสิทธิอำนาจหมายความว่าอย่างไร เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างจากแบบอย่างของพระเยซูคริสต์เกี่ยวกับการรับและทำการเรียกให้เกิดสัมฤทธิผล

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

พยายามใช้หลายๆ วิธี แทนที่จะศึกษาพระคัมภีร์แบบเดิมตลอดเวลา ให้พิจารณาแนวคิดการศึกษาหลายๆ แบบ ดูแนวคิดบางอย่างได้ใน “แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวของท่าน” ตอนต้นหนังสือเล่มนี้

ภาพ
พระคริสต์ทรงปรากฏต่อชาวนีไฟ

พระคริสต์เสด็จเยือนโลกใหม่ โดยวอลเตอร์ เรน

พิมพ์