“17–23 เมษายน มัทธิว 18; ลูกา 10: ‘ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร์?,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“17–23 เมษายน มัทธิว 18; ลูกา 10,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
17–23 เมษายน
มัทธิว 18; ลูกา 10
“ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร์?”
ขณะที่ท่านอ่านและไตร่ตรอง มัทธิว 18 และ ลูกา 10 ร่วมกับการสวดอ้อนวอน จงเอาใจใส่การกระตุ้นเตือนเงียบๆ ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จะทรงบอกท่านว่าคำสอนและเรื่องราวเหล่านี้ประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไร บันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับ
บันทึกความประทับใจของท่าน
เมื่อท่านทูลถามพระเจ้า ท่านอาจจะได้รับคำตอบที่ท่านไม่คาดหวัง ใครเป็นเพื่อนบ้านของฉัน? ใครก็ตามที่ต้องการความช่วยเหลือและความรักของท่าน ใครเป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดินสวรรค์? เด็ก ให้อภัยคนทำผิดเจ็ดครั้งพอหรือไม่? ไม่พอ ท่านควรให้อภัยเจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด (ดู ลูกา 10:29–37; มัทธิว 18:4, 21–22) คำตอบที่ไม่คาดคิดจากพระเจ้าสามารถเชื้อเชิญให้เราเปลี่ยนวิธีที่เราคิด รู้สึก และกระทำได้ ถ้าท่านกำลังแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าเพราะท่านต้องการเรียนรู้จากพระองค์จริงๆ พระเจ้าจะทรงสอนให้ท่านรู้วิธีดำเนินชีวิตในทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์กับพระองค์
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ฉันต้องให้อภัยผู้อื่นถ้าฉันอยากได้รับการให้อภัยจากพระเจ้า
คำแนะนำของเปโตรที่ว่าเขาสามารถให้อภัยบางคนได้เจ็ดครั้งอาจดูเหมือนมีน้ำใจมาก แต่พระเยซูทรงสอนกฎที่สูงกว่านั้น พระดำรัสตอบว่า “เราไม่ได้บอกท่านว่าเจ็ดครั้ง แต่เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด” (ข้อ 22) ไม่ได้สอนเรื่องจำนวนแต่สอนเรื่องการพัฒนาเจตคติของการให้อภัยแบบพระคริสต์ ขณะที่ท่านอ่านอุปมาเรื่องทาสที่ไม่ยอมให้อภัย ให้ไตร่ตรองเวลาที่ท่านรู้สึกถึงพระเมตตาและความสงสารของพระผู้เป็นเจ้า มีคนต้องการให้ท่านเมตตาและสงสารหรือไม่?
เอ็ลเดอร์เดวิด อี. โซเรนเซ็นให้คำเตือนที่สำคัญนี้ว่า “ถึงแม้เราต้องให้อภัยเพื่อนบ้านที่ทำร้ายเรา แต่เราก็ยังควรทำงานด้วยทัศนคติเชิงบวกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำร้ายซ้ำ … การให้อภัยไม่ได้เรียกร้องให้เรายอมรับหรือยอมให้ความชั่วเกิดขึ้น … แต่ขณะต่อสู้กับบาป เราต้องไม่ยอมให้ความเกลียดชังหรือความโกรธควบคุมความคิดและการกระทำของเรา” (“การให้อภัยเปลี่ยนความขมขื่นเป็นความรัก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 15)
สาวกเจ็ดสิบเป็นใคร?
ตามแบบแผนที่กำหนดไว้ในสมัยพันธสัญญาเดิม (ดู อพยพ 24:1; กันดารวิถี 11:16) พระเยซูคริสต์ทรง “แต่งตั้งอีกเจ็ดสิบ” นอกเหนือจากอัครสาวกสิบสอง ให้เป็นพยานถึงพระองค์ สั่งสอนพระกิตติคุณของพระองค์ และช่วยงานของพระองค์ แบบแผนนี้ดำเนินต่อเนื่องในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟู สาวกเจ็ดสิบได้รับเรียกให้ช่วยอัครสาวกสิบสองในพันธกิจการเป็นพยานพิเศษของพระเยซูคริสต์ต่อชาวโลก
เพื่อได้รับชีวิตนิรันดร์ ฉันต้องรักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
เป็นประโยชน์ที่จะจำไว้ว่าอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดีคือวิธีที่พระเยซูทรงตอบคำถามสองข้อ: “ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร์” และ “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?” (ลูกา 10:25, 29) ขณะที่ท่านอ่านอุปมาเรื่องนี้ จงนึกถึงคำถามเหล่านี้เสมอ ท่านพบคำตอบอะไรบ้าง?
ในสมัยของพระเยซูความเกลียดชังระหว่างชาวยิวกับชาวสะมาเรียมีมานานหลายศตวรรษแล้ว ชาวสะมาเรียเป็นลูกหลานของชาวยิวที่อยู่ในสะมาเรียผู้แต่งงานกับคนต่างชาติ ชาวยิวรู้สึกว่าชาวสะมาเรียเป็นคนไม่ดีเพราะคบหากับคนต่างชาติและละทิ้งความเชื่อ ชาวยิวจะเดินออกนอกเส้นทางหลายไมล์เพื่อจะไม่ต้องผ่านสะมาเรีย (ดู ลูกา 9:52–54; 17:11–18; ยอห์น 4:9; 8:48 ด้วย)
ท่านคิดว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงเลือกชาวสะมาเรียที่ชาวยิวเกลียดเป็นแบบอย่างของความสงสารและการรักเพื่อนบ้านของบุคคลหนึ่ง? อุปมานี้เป็นแรงบันดาลใจให้ท่านทำอะไร?
ดู โมไซยาห์ 2:17 ด้วย
เราเลือก “ส่วนที่ดีนั้น” โดยทำการเลือกที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ทุกวัน
ใน ลูกา 10:38–42 พระเยซูทรงเชิญมารธาอย่างอ่อนโยนให้คิดเกี่ยวกับวิธีที่เธอใช้เวลาให้ต่างออกไป หลังจากอ้างข้อเหล่านี้แล้ว ซิสเตอร์แครอล เอฟ. แมคคองกีสอนดังนี้ “หากเราจะบริสุทธิ์ เราต้องเรียนรู้ที่จะนั่งฟังพระผู้บริสุทธิ์แห่งอิสราเอลอย่างตั้งใจและให้เวลากับความศักดิ์สิทธิ์ เราตัดโทรศัพท์ รายการยาวเหยียดที่ต้องทำ และความพะว้าพะวังของโลกออกไปหรือไม่? คำสวดอ้อนวอน การศึกษา และการเอาใจใส่พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเชื้อเชิญความรักที่ชำระล้างและเยียวยาของพระองค์มาสู่จิตวิญญาณของเรา ขอให้เราให้เวลากับการเป็นคนบริสุทธิ์เพื่อเราจะเปี่ยมด้วยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์และชำระให้บริสุทธิ์” (“ความงดงามแห่งความบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 11) ท่านอาจต้องการตรวจสอบว่าท่านใช้เวลาอย่างไร—แม้กับสิ่งดีๆ มีบางอย่างที่ “จำเป็น” มากกว่า (ข้อ 42) ที่สมควรได้รับความสนใจจากท่านมากกว่านี้ไหม?
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
มัทธิว 18:1–11เหตุใดพระเยซูจึงทรงต้องการให้เราเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ? เด็กมีคุณลักษณะอะไรบ้างที่เราสามารถพัฒนาให้เป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นได้? (ดู โมไซยาห์ 3:19)
-
มัทธิว 18:15เราจะนำคำแนะนำใน มัทธิว 18:15 ไปใช้กับปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวของเราได้อย่างไร? การทำเช่นนี้จะเป็นพรแก่ครอบครัวเราอย่างไร?
-
มัทธิว 18:21–35อุปมานี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์? อุปมานี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่อผู้อื่น?
-
ลูกา 10:25–37สมาชิกในครอบครัวอาจสนุกกับการสวมเครื่องแต่งกายและแสดงอุปมานี้ บางครั้งเราเป็นเหมือนบุคคลต่างๆ ในอุปมานี้อย่างไร? พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นเหมือนชาวสะมาเรียผู้ใจดีอย่างไร? เราจะเป็นเหมือนชาวสะมาเรียผู้ใจดีได้อย่างไร?
ท่านอาจร่วมกันร้องเพลงสวดหรือเพลงสำหรับเด็กที่สนับสนุนความจริงในอุปมานี้ ตัวอย่างหนึ่งคือ “พระเจ้าขอข้าตามพระองค์” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 106) แต่มีอีกหลายเพลง สมาชิกครอบครัวอาจจะชอบหาเพลงสวดหรือเพลงหนึ่งเพลงมาอธิบายว่าเพลงนี้เกี่ยวข้องกับอุปมาอย่างไร
-
ลูกา 10:38–42ยากหรือไม่ที่จะนำเรื่องทางวิญญาณมาใส่ในตารางเวลาของครอบครัวท่าน? เรื่องราวของมารีย์กับมารธาอาจเป็นแรงบันดาลใจให้จัดสภาครอบครัวหรือกิจกรรมยามค่ำที่บ้านเกี่ยวกับวิธีทำสิ่งนี้ให้ดีขึ้น ท่านกับครอบครัวอาจเขียนวิธีเลือก “ส่วนที่ดีนั้น” (ลูกา 10:42) ออกมาเป็นข้อๆ
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “พระเยซูตรัสจงรักทุกคน” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 39