“22–28 พฤษภาคม โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 24–25; มาระโก 12–13; ลูกา 21: ‘บุตรมนุษย์เสด็จมา,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“22–28 พฤษภาคม โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 24–25; มาระโก 12–13; ลูกา 21,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
22–28 พฤษภาคม
โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 24–25; มาระโก 12–13; ลูกา 21
“บุตรมนุษย์เสด็จมา”
ขณะที่ท่านอ่าน โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1; มัทธิว 24–25; มาระโก 12–13; และ ลูกา 21 ท่านอาจจะถามว่า “บทเหล่านี้มีข่าวสารอะไรสำหรับฉัน สำหรับครอบครัวฉัน สำหรับการเรียกของฉัน?”
บันทึกความประทับใจของท่าน
สานุศิษย์ของพระเยซูต้องเคยพบว่าคำพยากรณ์ของพระองค์น่าตื่นตระหนก เช่น พระวิหารที่ใหญ่มหึมาของเยรูซาเล็มซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางทางวิญญาณและทางวัฒนธรรมของชาวยิวจะถูกทำลายสิ้นจน “จะไม่เหลือ … หินสักก้อนซ้อนทับกัน” เป็นธรรมดาที่เหล่าสานุศิษย์ต้องการรู้มากขึ้น “เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อใด?” พวกเขาถาม “และอะไรเป็นหมายสำคัญว่าพระองค์จะเสด็จมา?” (โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:2–4) พระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดเปิดเผยว่าความพินาศครั้งใหญ่ที่จะเกิดกับเยรูซาเล็ม—คำพยากรณ์เกิดสัมฤทธิผลใน ค.ศ. 70—จะเล็กมากเมื่อเทียบกับเครื่องหมายการเสด็จมาของพระองค์ในวันเวลาสุดท้าย สิ่งที่ดูมั่นคงกว่าพระวิหารในเยรูซาเล็มจะพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่จีรัง—อาทิ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ประชาชาติ และทะเล แม้แต่ “อำนาจแห่งฟ้าสวรรค์ [ก็] ถูกเขย่า” (โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:33) ถ้าเราตระหนักรู้ทางวิญญาณ ความสับสนวุ่นวายนี้จะสอนให้เราวางใจในสิ่งที่ถาวรจริงๆ ดังที่พระเยซูทรงสัญญา “ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกจะสูญสิ้นไป; ทว่าถ้อยคำของเราจะไม่สูญสิ้นไป … และผู้ใดที่สั่งสมคำของเรา, จะไม่ถูกหลอกลวง” (โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:35, 37)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
โจเซฟ สมิธ—มัทธิวคืออะไร?
โจเซฟ สมิธ—มัทธิวซึ่งอยู่ในไข่มุกอันล้ำค่าคืองานแปลของโจเซฟ สมิธในข้อสุดท้ายของ มัทธิว 23 และ มัทธิว 24 ทั้งหมด การแก้ไขด้วยการดลใจของโจเซฟ สมิธฟื้นฟูความจริงอันล้ำค่าที่หายไป ข้อ 12–21 กล่าวถึงความพินาศของเยรูซาเล็มสมัยโบราณ; ข้อ 21–55 ประกอบด้วยคำพยากรณ์เกี่ยวกับวันเวลาสุดท้าย
โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:21–37; มาระโก 13:21–37; ลูกา 21:25–38
คำพยากรณ์เกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถช่วยเราเผชิญอนาคตด้วยศรัทธา
การอ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์อาจทำให้จิตใจว้าวุ่นได้ แต่เมื่อพระเยซูพยากรณ์ถึงเหตุการณ์เหล่านี้ พระองค์รับสั่งกับเหล่าสานุศิษย์ไม่ให้ “กังวลใจ” (โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:23) ท่านจะ “ไม่กังวลใจ” ขณะท่านได้ยินเรื่องแผ่นดินไหว สงคราม การหลอกลวง และความอดอยากได้อย่างไร? นึกถึงคำถามนี้ขณะท่านอ่านข้อเหล่านี้ ทำเครื่องหมายหรือจดคำแนะนำที่ท่านพบและปลอบใจท่าน
โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:26–27, 38–55; มัทธิว 25:1–13; ลูกา 21:29–36
ฉันต้องพร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลา
พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงเปิดเผย “วันหรือโมงที่บุตรมนุษย์จะเสด็จมา” (เปรียบเทียบ มัทธิว 25:13) แต่พระองค์ไม่ทรงต้องการให้วันนั้นเกิดขึ้นกับเรา “โดยไม่คาดฝัน” (ลูกา 21:34) พระองค์จึงประทานคำแนะนำแก่เราว่าจะเตรียมอย่างไร
ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ ให้ระบุชื่ออุปมาและการเปรียบเทียบอื่นที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้สอนเราให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์เสมอ ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้? ท่านได้รับการดลใจให้ทำอะไร?
ท่านอาจพิจารณาเช่นกันว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้ท่านช่วยเตรียมโลกให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์อย่างไร ท่านรู้สึกว่าการพร้อมรับพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อพระองค์เสด็จมาหมายความว่าอย่างไร? ข่าวสารของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน “เตรียมรับการเสด็จกลับมาของพระเจ้า” (เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 81–84) สามารถช่วยท่านไตร่ตรองเรื่องนี้ได้
ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “เผชิญอนาคตด้วยศรัทธา,” เลียโฮนา พ.ค. 2020, 73–76 ด้วย
พระบิดาบนสวรรค์ทรงคาดหวังให้ฉันใช้ของประทานของพระองค์อย่างฉลาด
ในอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอด “ตะลันต์” หมายถึงเงิน แต่อุปมาเรื่องเงินตะลันต์สามารถกระตุ้นให้เราไตร่ตรองว่าเรากำลังใช้พรของเราอย่างไร ไม่ใช่แค่เงิน หลังจากอ่านอุปมาเรื่องนี้แล้ว ท่านอาจจะเขียนพรและความรับผิดชอบบางอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมอบให้ท่าน พระองค์ทรงคาดหวังให้ท่านทำอะไรกับพรเหล่านี้? ท่านจะใช้ของประทานเหล่านี้อย่างฉลาดมากขึ้นได้อย่างไร?
เมื่อฉันรับใช้ผู้อื่น ฉันกำลังรับใช้พระเจ้า
ถ้าท่านสงสัยว่าพระเจ้าจะพิพากษาชีวิตท่านอย่างไร ให้อ่านอุปมาเรื่องแกะกับแพะ ท่านคิดว่าเหตุใดการดูแลคนขัดสนจะช่วยเตรียมท่านให้พร้อม “รับเอาราชอาณาจักร” ของพระผู้เป็นเจ้า?
คำอุปมานี้คล้ายกับอีกสองเรื่องใน มัทธิว 25 อย่างไร? ทั้งสามเรื่องมีอะไรเหมือนกัน?
ดู โมไซยาห์ 2:17; 5:13 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
โจเซฟ สมิธ—มัทธิวเพื่อช่วยครอบครัวสำรวจบทนี้ เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดว่าเราจะเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์อย่างไร (ดูตัวอย่างใน ข้อ 22–23, 29–30, 37, 46–48) เราจะทำอย่างไรเพื่อทำตามคำแนะนำนี้? ครอบครัวของท่านอาจชอบร้องเพลง “คราพระเสด็จมา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 46–47) และวาดภาพสิ่งที่พวกเขาจินตนาการว่าการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดจะเป็นเช่นไร
-
โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:22, 37สั่งสมพระคำของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร? เราจะทำสิ่งนี้ด้วยตนเองและกับครอบครัวได้อย่างไร? การทำเช่นนี้จะช่วยเราหลีกเลี่ยงการถูกหลอกอย่างไร?
-
มัทธิว 25:1–13ท่านอาจจะใช้ภาพหญิงพรหมจารีสิบคนที่ให้มากับโครงร่างนี้สนทนา มัทธิว 25:1–13 เราเห็นรายละเอียดอะไรในภาพที่ข้อเหล่านี้บรรยายไว้?
ท่านอาจตัดกระดาษเป็นรูปหยดน้ำมันและซ่อนหยดน้ำมันไว้รอบๆ บ้านของท่าน ท่านอาจติดหยดน้ำมันนั้นลงบนสิ่งของต่างๆ เช่น พระคัมภีร์หรือภาพพระวิหาร เมื่อสมาชิกครอบครัวพบหยดน้ำมัน ท่านอาจพูดคุยว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยเราเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองได้อย่างไร
-
มาระโก 12:38–44; ลูกา 21:1–4ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมองการถวายของเรา? แสดงให้ครอบครัวเห็นวิธีจ่ายส่วนสิบและเงินบริจาคอดอาหารแด่พระเจ้า ของถวายเหล่านี้ช่วยสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร? มีวิธีอื่นใดบ้างที่เราสามารถถวาย “ทั้งสิ้น [ที่เรามี]” แด่พระเจ้า? (มาระโก 12:44)
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “คราพระเสด็จมา” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 46–47