“สิ่งที่ควรคำนึง: พันธสัญญา,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“สิ่งที่ควรคำนึง: พันธสัญญา,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022
สิ่งที่ควรคำนึง
พันธสัญญา
ตลอดทั้งพันธสัญญาเดิม คำที่ท่านจะอ่านเจอบ่อยครั้งคือคำว่า พันธสัญญา ทุกวันนี้เรามักจะนึกถึงพันธสัญญาว่าเป็นสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระผู้เป็นเจ้า แต่ในโลกโบราณ พันธสัญญาก็เป็นส่วนสำคัญของการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนด้วยกัน เพื่อความปลอดภัยและการเอาชีวิตรอด ผู้คนจำเป็นต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน และพันธสัญญาเป็นวิธีที่จะรักษาความไว้วางใจนั้น
ดังนั้นเมื่อพระผู้เป็นเจ้าตรัสกับโนอาห์ อับราฮัม หรือโมเสส เกี่ยวกับพันธสัญญา พระองค์ทรงเชื้อเชิญพวกเขาให้เข้าสู่สัมพันธภาพในการไว้วางใจกับพระองค์ หนึ่งในตัวอย่างที่รู้จักกันดีที่สุดของพันธสัญญาในพันธสัญญาเดิมคือตัวอย่างพันธสัญญาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำกับอับราฮัมและซาราห์—จากนั้นต่อพันธสัญญาใหม่กับลูกหลานของอิสอัคและยาโคบ (ดังที่เรียกว่าอิสราเอล) เรามักจะเรียกสิ่งนี้ว่าพันธสัญญาแห่งอับราฮัม ถึงแม้ว่าในพันธสัญญาเดิมเป็นที่รู้จักกันในคำเรียกง่ายๆ ว่า “พันธสัญญา” ท่านจะเห็นว่าพันธสัญญาเดิมโดยพื้นฐานเป็นเรื่องราวของผู้คนที่มองตนเองว่าเป็นผู้สืบทอดของพันธสัญญานี้—ผู้คนแห่งพันธสัญญา
พันธสัญญาแห่งอับราฮัมยังคงมีความสำคัญในทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เพราะเหตุใด? นั่นเป็นเพราะเราเป็นผู้คนแห่งพันธสัญญาด้วย ไม่ว่าเราจะเป็นลูกหลานของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบโดยตรงหรือไม่ก็ตาม (ดู กาลาเทีย 3:27–29) ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจว่าพันธสัญญาแห่งอับราฮัมคืออะไรและนำมาประยุกต์ใช้กับเราในปัจจุบันอย่างไร
พันธสัญญาแห่งอับราฮัมคืออะไร?
อับราฮัมต้องการ “เป็นผู้ดำเนินชีวิตในความชอบธรรมอย่างซื่อสัตย์ยิ่งขึ้น” (อับราฮัม 1:2) ดังนั้นพระผู้เป็นเจ้าทรงเชื้อเชิญเขาให้เข้าสู่สัมพันธภาพพันธสัญญา อับราฮัมไม่ใช่คนแรกที่ปรารถนาสิ่งนี้ และเขาไม่ใช่คนแรกที่ได้รับพันธสัญญา เขาแสวงหา “พรของบรรพบุรุษ” (อับราฮัม 1:2)—พรที่มีให้โดยพันธสัญญาต่ออาดัมและเอวาและต่อผู้ที่แสวงหาพรเหล่านี้อย่างขยันขันแข็งนับแต่นั้นมา
พรอันยอดเยี่ยมที่สัญญาไว้ของพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้ากับอับราฮัม: มรดกของแผ่นดิน ลูกหลานมากมาย การเข้าถึงศาสนพิธีฐานะปุโรหิต และชื่อที่จะได้รับเกียรติสำหรับอนุชนรุ่นต่อๆ ไป แต่จุดที่ต้องเน้นย้ำของพันธสัญญานี้ไม่เพียงแต่เรื่องพรที่อับราฮัมและครอบครัวของเขาที่จะ ได้รับ แต่ยังรวมถึงพรที่พวกเขา เป็น ต่อบุตรธิดาที่เหลือของพระผู้เป็นเจ้า “เจ้าจะเป็นพร” พระผู้เป็นเจ้าทรงประกาศ “บรรดาเผ่าพันธุ์ทั่วโลกจะได้พรเพราะเจ้า” (ปฐมกาล 12:2–3)
พันธสัญญานี้ทำให้อับราฮัม ซาราห์ และลูกหลานของพวกเขาได้รับสิทธิพิเศษในบรรดาบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่? เฉพาะในแง่ที่ว่าเป็นสิทธิพิเศษที่จะเป็นพรแก่ผู้อื่น ครอบครัวของอับราฮัมจะ “นำการปฏิบัติศาสนกิจและฐานะปุโรหิตนี้สู่ประชาชาติทั้งปวง” แบ่งปัน “พรแห่งพระกิตติคุณ, ซึ่งคือพรแห่งความรอด, แม้แห่งชีวิตนิรันดร์” (อับราฮัม 2:9, 11)
พันธสัญญานี้เป็นพรที่อับราฮัมปรารถนาที่จะได้รับ หลังจากได้รับพร อับราฮัมกล่าวในใจว่า “ผู้รับใช้ของพระองค์แสวงหาพระองค์มาอย่างตั้งใจจริง; บัดนี้ข้าพระองค์พบพระองค์แล้ว” (อับราฮัม 2:12)
นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อหลายพันปีมาแล้ว แต่พันธสัญญานี้ได้รับการฟื้นฟูในสมัยของเรา (ดู 1 นีไฟ 22:8–12) และขณะนี้กำลังเกิดสัมฤทธิผลในชีวิตของผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า อันที่จริง การบรรลุพันธสัญญากำลังสร้างแรงผลักดันในยุคสุดท้ายเมื่องานของพระผู้เป็นเจ้าดำเนินอย่างก้าวหน้า เป็นพรให้แก่ครอบครัวทั่วโลก และไม่ว่าใครก็ตามที่ต้องการเป็นผู้ดำเนินชีวิตในความชอบธรรมเหมือนอย่างอับราฮัม ใครก็ตามที่แสวงหาพระเจ้าอย่างจริงจัง สามารถเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญานี้ได้
พันธสัญญาแห่งอับราฮัมมีความหมายกับฉันอย่างไร?
ท่านเป็นบุตรธิดาของพันธสัญญานี้ ท่านทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าเมื่อท่านรับบัพติศมา ท่านต่อพันธสัญญานั้นทุกครั้งที่ท่านรับศีลระลึก และท่านได้ทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ในพระวิหาร ด้วยกันนี้ พันธสัญญาเหล่านี้ทำให้ท่านมีส่วนร่วมในพันธสัญญาแห่งอับราฮัม ความสมบูรณ์ที่พบได้ในศาสนพิธีพระวิหาร ดังที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันได้สอนไว้ว่า “ท้ายที่สุด ในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ เราจะกลายเป็นทายาทรับพรแห่งครอบครัวนิรันดร์ร่วมกับพระองค์ ดังที่เคยสัญญาไว้กับอับราฮัม อิสอัค ยาโคบ และลูกหลานของท่านเหล่านั้น”1
ผ่านพันธสัญญาและศาสนพิธีเหล่านี้ เราได้กลายเป็นผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า (ดู อพยพ 6:7; เฉลยธรรมบัญญัติ 7:6; 26:18; เอเสเคียล 11:20) เราแตกต่างจากโลกรอบตัวเรา พันธสัญญาของเราทำให้เป็นไปได้ที่เราจะเป็นสานุศิษย์ที่มุ่งมั่นและแท้จริงของพระเยซูคริสต์ ประธานเนลสันได้อธิบายไว้ว่า “พันธสัญญาของเราผูกมัดเรากับพระองค์และให้พลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าแก่เรา”2 และเมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรประชาชนของพระองค์ด้วยพลังของพระองค์ นี่คือคำเชื้อเชิญและความคาดหวังว่าพวกเขาจะอวยพรผู้อื่น—ว่าพวกเขาจะ “เป็นพร” ให้กับ “ครอบครัวทั้งหมดของแผ่นดินโลก” (อับราฮัม 2:9, 11)
นี่คือความเข้าใจอันมีค่าที่เราได้รับเนื่องจากการฟื้นฟูพันธสัญญาแห่งอับราฮัมผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ดังนั้นเมื่อท่านอ่านเกี่ยวกับพันธสัญญาในพันธสัญญาเดิม จงอย่านึกถึงแต่เพียงความสัมพันธ์ของพระผู้เป็นเจ้ากับอับราฮัม อิสอัค และยาโคบเท่านั้น ให้นึกถึงความสัมพันธ์ของพระองค์กับท่านด้วย เมื่อท่านได้อ่านเกี่ยวกับคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับลูกหลานนับไม่ถ้วน (ดู ปฐมกาล 28:14) อย่าแค่นึกถึงคนเป็นล้านที่เรียกอับราฮัมว่าเป็นพ่อของพวกเขาในวันนี้ ให้นึกถึงคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อท่านเกี่ยวกับครอบครัวนิรันดร์และการเพิ่มพูนชั่วนิรันดร์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:1–4; 132:20–24) เมื่อท่านอ่านเกี่ยวกับคำมั่นสัญญาของแผ่นดินที่เป็นมรดก อย่าเพียงนึกถึงเกี่ยวกับดินแดนที่สัญญาไว้กับอับราฮัม ให้นึกถึงจุดหมายปลายทางซีเลสเชียลของโลกด้วย—มรดกที่สัญญาไว้กับ “คนที่สุภาพอ่อนโยน” ผู้ซึ่ง “รอคอยพระยาห์เวห์” (มัทธิว 5:5; สุดดี 37:9, 11; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:17–20) และเมื่อท่านอ่านเกี่ยวกับคำสัญญาที่ผู้คนในพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าจะเป็นพรแก่ “ครอบครัวทั้งหมดของแผ่นดินโลก” (อับราฮัม 2:11) อย่านึกถึงแต่เพียงการปฏิบัติศาสนกิจของอับราฮัมหรือผู้เผยพระวจนะที่สืบเชื้อสายมาจากเขาเท่านั้น ให้นึกถึงสิ่งที่ท่านทำได้—ในฐานะผู้ติดตามพันธสัญญาของพระเยซูคริสต์—เพื่อเป็นพรแก่ครอบครัวรอบตัวท่าน