“14–20 กุมภาพันธ์ ปฐมกาล 18–23: ‘มีสิ่งใดอัศจรรย์เกินกว่าที่พระเจ้าจะทรงทำได้ไหม?’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“14–20 กุมภาพันธ์ ปฐมกาล 18–23,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022
14–20 กุมภาพันธ์
ปฐมกาล 18–23
“มีสิ่งใดอัศจรรย์เกินกว่าที่พระเจ้าจะทรงทำได้ไหม?”
อ่านและไตร่ตรอง ปฐมกาล 18–23 และบันทึกความประทับใจของท่าน ท่านสามารถใช้แนวคิดในโครงร่างนี้เพื่อช่วยท่านศึกษาบทเหล่านี้ และท่านอาจได้รับแรงบันดาลใจให้ค้นหาข้อความอื่นๆ ในพระคัมภีร์ที่พระเจ้าทรงมีไว้ให้ท่านโดยเฉพาะ
บันทึกความประทับใจของท่าน
ชีวิตของอับราฮัมที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งหัวใจแตกสลายและอบอุ่นหัวใจเป็นหลักฐานของความจริงที่อับราฮัมเรียนรู้จากนิมิต—ว่าเราอยู่บนโลกที่จะได้รับการพิสูจน์ “เพื่อดูว่า [เรา] ทำสิ่งทั้งปวงไม่ว่าอะไรก็ตามที่พระเจ้า พระผู้เป็นเจ้า [ของเรา] จะทรงบัญชาหรือไม่” (อับราฮัม 3:25) อับราฮัมจะพิสูจน์ความศรัทธาในตัวของเขาหรือไม่? เขาจะยังคงมีศรัทธาในคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงมีต่อลูกหลานจำนวนมากแม้ว่าเขาและซาราห์จะไม่มีบุตรในวัยชราหรือไม่? และเมื่ออิสอัคเกิดมา ศรัทธาของอับราฮัมจะทนต่อสิ่งที่คิดไม่ถึงอย่างคำสั่งที่ให้ถวายบุตรชายเป็นเครื่องบูชาซึ่งเป็นบุตรชายคนเดียวกันกับที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาจะทำให้พันธสัญญานั้นเกิดสัมฤทธิผลหรือไม่? อับราฮัมได้พิสูจน์ความศรัทธาของเขาแล้ว อับราฮัมวางใจพระผู้เป็นเจ้าและพระผู้เป็นเจ้าทรงวางใจอับราฮัม ใน ปฐมกาล 18–23 เราพบเรื่องราวจากชีวิตของอับราฮัมและคนอื่นๆ ที่สามารถกระตุ้นให้เราฉุกคิดเกี่ยวกับความสามารถของเราที่จะเชื่อในคำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อที่จะหนีจากความชั่วร้ายและไม่หันหลังกลับ และเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าไม่ว่าจะต้องเสียสละอะไร
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระเจ้าทรงทำตามคำสัญญาในเวลาของพระองค์
พระเจ้าทรงทำสัญญาที่น่ายินดีแก่ผู้ที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้า แต่บางครั้งสถานการณ์ในชีวิตของเราอาจทำให้เราสงสัยว่าคำสัญญาเหล่านั้นจะเกิดสัมฤทธิผลได้อย่างไร อับราฮัมและซาราห์อาจรู้สึกเช่นนั้นบางครั้ง ท่านเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของพวกเขา? อาจเป็นประโยชน์ในการเริ่มศึกษาของท่านด้วยการทบทวนสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับอับราฮัมใน ปฐมกาล 17:4, 15–22 อับราฮัมและซาราห์มีปฏิกิริยาอย่างไร? (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ปฐมกาล 17:23 ; ปฐมกาล 18:9–12 ให้สังเกตว่างานแปลของโจเซฟ สมิธให้ความชัดแจ้งว่าอับราฮัม “ปีติยินดี”) พระเจ้าทรงตอบสนองอย่างไรเพื่อช่วยให้พวกเขามีศรัทธามากขึ้นในสัญญาของพระองค์? (ดู ปฐมกาล 18:14)
ท่านพบอะไรในข้อเหล่านี้ที่ช่วยสร้างศรัทธาของท่าน? ประสบการณ์อื่นเรื่องใด—ในชีวิตของท่านหรือของผู้อื่น—ที่เสริมสร้างศรัทธาของท่านว่าพระเจ้าทรงทำตามคำสัญญาของพระองค์ต่อท่านในช่วงเวลาและด้วยวิธีของพระองค์เอง?
ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:68 ด้วย
พระเจ้าทรงบัญชาให้เราหนีจากความชั่วร้าย
ท่านเรียนรู้บทเรียนอะไรเกี่ยวกับการหนีจากความชั่วร้ายในขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับโลทและครอบครัวของเขา? ตัวอย่างเช่น ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่ทูตสวรรค์กล่าวและทำเพื่อช่วยโลทและครอบครัวของเขาให้หนีจากความหายนะ? (ดู ปฐมกาล 19:12–17) พระเจ้าทรงช่วยให้ท่านและครอบครัวหนีหรือหาทางป้องกันจากอิทธิพลชั่วร้ายในโลกนี้ได้อย่างไร?
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบาปของโสโดมและโกโมราห์ที่ เอเสเคียล 16:49–50 และ ยูดา 1:7–8
ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ปฐมกาล 19:9–15 (ในคู่มือพระคัมภีร์)
ภรรยาของโลททำอะไรผิด?
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอนว่า
“เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่ภรรยาของโลททำผิดคือเธอไม่ได้แค่เหลียวกลับไป มอง เท่านั้นแต่ในใจของเธออยาก กลับ ไปด้วย ปรากฏว่าเธอคิดถึงสิ่งที่เมืองโสโดมและเมืองโกโมราห์เคยให้เธอก่อนจะข้ามเขตเมืองนั้นด้วยซ้ำ … เธอไม่มีศรัทธา เธอสงสัยในพระปรีชาสามารถของพระเจ้าว่าจะประทานสิ่งที่ดีกว่าสิ่งที่เธอมีอยู่แล้วได้หรือ …
“ถึง [คน] ทุกรุ่น ข้าพเจ้าเรียกร้อง ‘จงระลึกถึงภรรยาของโลทเถิด’ [ลูกา 17:32] ศรัทธามีไว้สำหรับอนาคต ศรัทธาสร้างบนอดีตแต่ไม่อ้อยอิ่งอยู่ที่นั่น ศรัทธาวางใจว่าพระผู้เป็นเจ้ามีสิ่งดีๆ มากมายมอบให้เราแต่ละคน และพระคริสต์ทรงเป็น ‘มหาปุโรหิตแห่งบรรดาสิ่งประเสริฐซึ่งมาถึง’ (ฮีบรู 9:11) อย่างแท้จริง” (“สิ่งดีเลิศจะตามมา,” เลียโฮนา, ม.ค. 2010, 17, 21)
ความเต็มใจของอับราฮัมที่จะถวายอิสอัคเป็นเครื่องบูชาเป็นรูปแบบที่เหมือนกับพระผู้เป็นเจ้าและพระบุตรของพระองค์
เราไม่ทราบสาเหตุทั้งหมดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้อับราฮัมถวายอิสอัคเป็นเครื่องบูชา เรารู้ว่านั่นเป็นการทดสอบศรัทธาของเขาในพระผู้เป็นเจ้า (ดู ปฐมกาล 22:12–19) ขณะที่ท่านอ่าน ปฐมกาล 22:1–19 ท่านเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของอับราฮัม?
ความเต็มใจของอับราฮัมที่จะถวายบุตรของเขาเป็นเครื่องบูชาคือ “รูปแบบที่เหมือนกับพระผู้เป็นเจ้าและพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระองค์” (ยาโคบ 4:5) ในขณะที่ท่านไตร่ตรองความคล้ายคลึงกันระหว่างการทดสอบของอับราฮัมและการที่พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาทรงมอบพระบุตรของพระองค์เป็นเครื่องพลีบูชาเพื่อเรา ท่านรู้สึกอย่างไรต่อพระบิดาบนสวรรค์ของท่าน?
นอกจากนี้ยังมีความคล้ายคลึงกันระหว่างอิสอัคและพระผู้ช่วยให้รอด พิจารณาอ่าน ปฐมกาล 22:1–19 อีกครั้ง เพื่อมองหาถึงความคล้ายคลึงเหล่านี้
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
-
ปฐมกาล 18:14มีเรื่องราวจากพระคัมภีร์ จากประวัติครอบครัวของท่าน หรือจากชีวิตของท่านเองที่ท่านสามารถแบ่งปันซึ่งสอนท่านว่าไม่มีอะไรยากเกินไปสำหรับพระเจ้า?
-
ปฐมกาล 18:16–33เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับอุปนิสัยของอับราฮัมจากข้อเหล่านี้? เราจะทำตามแบบอย่างของเขาได้อย่างไร? (ดู แอลมา 10:22–23 ด้วย)
-
ปฐมกาล 19:15–17ข้อเหล่านี้สามารถช่วยให้สมาชิกครอบครัวของท่านได้เตรียมตัวไว้เมื่อยามที่พวกเขาต้องการหนีออกจากสถานการณ์ชั่วร้าย สถานการณ์ที่ว่าเป็นอะไรได้บ้าง? ตัวอย่างเช่น ท่านอาจมีการสนทนาเกี่ยวกับสื่อที่ไม่เหมาะสมหรือการล่อลวงให้นินทา เราจะหนีจากสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร?
-
ปฐมกาล 21:9–20ครอบครัวของท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงปฏิบัติกับฮาการ์และอิชมาเอลหลังจากซาราห์และอับราฮัมขับไล่พวกเขาออกไป?
-
ปฐมกาล 22:1–14ท่านจะช่วยให้ครอบครัวของท่านเห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวของพระผู้เป็นเจ้าที่รับสั่งให้อับราฮัมถวายอิสอัคเป็นเครื่องบูชาและการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร? ท่านสามารถแสดงรูปภาพของอับราฮัมและอิสอัคและการตรึงกางเขน (ดู “อับราฮัมและอิสอัค” ใน เรื่องพันธสัญญาเดิม) ในขณะที่สมาชิกในครอบครัวพูดถึงความคล้ายคลึงกันที่พวกเขาเห็นในเหตุการณ์เหล่านี้ ท่านสามารถร้องเพลงสวดหรือเพลงเกี่ยวกับการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด อย่างเช่น “พระองค์ทรงส่งพระบุตร” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 34–35) และมองหาวลีที่อธิบายการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด
เราถูกร้องขอให้เสียสละอะไรบ้างในฐานะครอบครัว? การเสียสละเหล่านี้ทำให้เราใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นอย่างไร?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “พระผู้เป็นเจ้ารักเราจึงส่งพระบุตร” เพลงสวด บทเพลงที่ 84