“14–20 มีนาคม ปฐมกาล 42–50: ‘พระผู้เป็นเจ้าทรงดำริให้เกิดผลดี,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“14–20 มีนาคม ปฐมกาล 42–50,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022
14–20 มีนาคม
ปฐมกาล 42–50
“พระผู้เป็นเจ้าทรงดำริให้เกิดผลดี”
การอ่านพระคัมภีร์อัญเชิญพระวิญญาณ ฟังการกระตุ้นเตือนของพระองค์เมื่อท่านอ่าน แม้ว่าจะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่ท่านกำลังอ่าน
บันทึกความประทับใจของท่าน
เป็นเวลานานถึง 22 ปีตั้งแต่โยเซฟถูกขายไปในอียิปต์โดยพี่ๆ ของเขา เขาทุกข์ทรมานจากการทดสองหลายครั้ง รวมถึงการถูกกล่าวหาอย่างไม่ถูกต้องและถูกจำคุก ในที่สุดเมื่อเขาเห็นพี่น้องของเขาอีกครั้ง โยเซฟเป็นผู้ปกครองของอียิปต์ทั้งหมดรองจากฟาโรห์ เขาสามารถแก้แค้นพวกพี่ของเขาได้อย่างง่ายดาย และเมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่พวกเขาทำกับโยเซฟ ก็ดูเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่กระนั้นโยเซฟให้อภัยพี่น้องของเขา ไม่เพียงเท่านั้น แต่เขายังช่วยให้พวกเขาเห็นจุดประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ในความทุกข์ทรมานของเขา “พระเจ้าทรงดำริให้เกิดผลดี” (ปฐมกาล 50:20) เขาบอกแก่พวกพี่ชายของเขา เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้เขาได้อยู่ในฐานะที่สามารถช่วย “ครอบครัวของบิดา” (ปฐมกาล 47:12) จากความอดอยาก
ในหลายๆ ทาง ชีวิตของโยเซฟนั้นคล้ายคลึงกับของพระเยซูคริสต์ แม้ว่าบาปของเราจะทำให้พระองค์ทนทุกข์ทรมานอย่างมาก แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงให้อภัยและปลดปล่อยเราทุกคนจากชะตากรรมที่เลวร้ายยิ่งกว่าความอดอยาก ไม่ว่าเราจะต้องได้รับการให้อภัยหรือมอบการให้อภัย—แต่ในจุดหนึ่งเราทุกคนต้องทำทั้งสองอย่าง—เรื่องราวแบบอย่างของโยเซฟชี้ให้เราเห็นถึงพระผู้ช่วยให้รอด ผู้เป็นแหล่งที่แท้จริงของการรักษาและการปรองดอง
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
“พระเจ้าทรงใช้ฉันมาก่อนพวกพี่ เพื่อสงวนคนที่เหลือ”
ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับโยเซฟ ท่านสังเกตเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างเรื่องราวของเขากับพระพันธกิจการชดใช้ของพระเยซูคริสต์หรือไม่? ท่านอาจไตร่ตรองว่าบทบาทของโยเซฟในครอบครัวของเขาคล้ายคลึงกับบทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดในครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร ท่านเห็นความคล้ายคลึงอะไรบ้างระหว่างประสบการณ์ของโยเซฟกับพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอด ผู้ที่ถูกส่งมา “ช่วยชีวิต [เรา] ไว้ด้วยการช่วยกู้อันยิ่งใหญ่”? (ปฐมกาล 45:7)
การให้อภัยนำมาซึ่งการเยียวยา
การอ่านเกี่ยวกับการที่โยเซฟให้อภัยพี่น้องของเขาสำหรับสิ่งเลวร้ายที่พวกเขาทำกับเขาอาจทำให้ท่านนึกถึงคนที่ท่านกำลังพยายามยกโทษให้ หรืออาจเป็นการทดสอบการให้อภัยที่ยากลำบากในอนาคตของท่าน ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม นี่อาจช่วยให้ไตร่ตรองว่าทำไมโยเซฟจึงให้อภัยได้ ท่านพบเบาะแสอะไรเกี่ยวกับลักษณะนิสัยและทัศนคติของโยเซฟใน ปฐมกาล 45; 50:15–21 บ้าง? ประสบการณ์ของเขาอาจส่งผลให้เขาให้อภัยมากขึ้นได้อย่างไร? เรื่องราวของโยเซฟแนะนำอะไรเกี่ยวกับวิธีที่ท่านสามารถให้อภัยมากขึ้นด้วยความช่วยเหลือของพระผู้ช่วยให้รอด?
สังเกตเห็นพรที่มาถึงครอบครัวของโยเซฟเนื่องมาจากการให้อภัยของเขาด้วย ท่านเห็นพรอะไรบ้างจากการให้อภัย? ท่านรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจในการติดต่อกับคนที่ทำผิดต่อท่านหรือไม่?
ดู ปฐมกาล 33:1–4; หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9–11; แลร์รี่ เจ. เอคโค ฮอว์ก, “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัยพวกท่านอย่างไร ท่านก็จงทำอย่างนั้นด้วย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 15–16
สัญลักษณ์ในพรของยาโคบหมายความว่าอย่างไร?
คำอวยพรของยาโคบที่มีต่อลูกหลานของเขานั้นมีภาพที่สดใส แต่ผู้อ่านบางคนอาจพบว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก เป็นเรื่องดีที่พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูช่วยให้เรามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เมื่อท่านอ่านพรแก่โยเซฟใน ปฐมกาล 49:22–26 ให้อ่านข้อต่อไปนี้ด้วย และดูว่ามีความเข้าใจลึกซึ้งอย่างไรบ้าง: 1 นีไฟ 15:12; 2 นีไฟ 3:4–5; ยาโคบ 2:25; หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:44
ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับพรของยูดาห์ใน ปฐมกาล 49:8–12 จดจำไว้ว่าทั้งกษัตริย์ดาวิดและพระเยซูคริสต์ต่างเป็นทายาทของยูดาห์ คำและวลีใดในข้อเหล่านี้ทำให้ท่านนึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด? เมื่อท่านศึกษาพรของยูดาห์ การอ่าน วิวรณ์ 5:5–6, 9 อาจช่วยได้; 1 นีไฟ 15:14–15; หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:59; 133:46–50
หากท่านต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับบุตรของยาโคบและเผ่าทั้งหลายของอิสราเอล ผู้เป็นทายาทของพวกเขา สามารถหาอ่านเพิ่มได้จาก คู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org)
ปฐมกาล 50:24–25; งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ปฐมกาล 50:24–38 (ในคู่มือพระคัมภีร์)
“พระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าจะทรงยกผู้หยั่งรู้คนหนึ่งขึ้น”
ผ่านความฝันของโยเซฟ (ดู ปฐมกาล 37:5–11) และการตีความความฝันของผู้อื่นของเขา (ดู ปฐมกาล 40–41) พระเจ้าเปิดเผยสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีกหลายวันหรือหลายปีข้างหน้า แต่พระเจ้ายังทรงเปิดเผยแก่โยเซฟเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่จะมาถึงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาเรียนรู้เกี่ยวกับพันธกิจในการเป็นศาสดาพยากรณ์ของโมเสสและโจเซฟ สมิธ ขณะที่ท่านอ่านถ้อยคำของโยเซฟใน ปฐมกาล 50:24–25 และใน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ปฐมกาล 50:24–38 (ในคู่มือพระคัมภีร์) ให้ลองถามตนเองว่าการรู้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจเป็นพรแก่โยเซฟและลูกหลานอิสราเอลได้อย่างไร ท่านคิดว่าเหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พระเจ้าจะทรงฟื้นฟูคำพยากรณ์นี้ผ่านโจเซฟ สมิธ? (ดู 2 นีไฟ 3)
โจเซฟ สมิธทำให้คำพยากรณ์ในงานแปลของโจเซฟ สมิธ, ปฐมกาล 50: 27–28, 30–33 เกิดสัมฤทธิผลได้อย่างไร? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:17–23; 20:7–12; 39:11; 135:3)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
-
ปฐมกาล 42–46ครอบครัวของท่านอาจสนุกสนานไปกับการแสดงเรื่องราวของโยเซฟที่กลับมารวมกันกับพี่น้องของเขา (“โยเซฟกับความอดอยาก” ใน เรื่องพันธสัญญาเดิม อาจช่วยท่านได้) สนุกสนานไปกับเรื่องราว—ใช้ชุดและอุปกรณ์ประกอบฉากหากท่านต้องการ กระตุ้นให้สมาชิกในครอบครัวพยายามเข้าใจอารมณ์และมุมมองของตัวละคร ท่านอาจมุ่งเน้นเฉพาะความรู้สึกของโยเซฟต่อพี่น้องของเขา และวิธีที่พวกเขาอาจรู้สึกเมื่อโยเซฟยกโทษให้พวกเขา เรื่องนี้อาจนำไปสู่การสนทนาว่าการให้อภัยสามารถเป็นพรแก่ครอบครัวของท่านได้อย่างไร
เมื่อโยเซฟพบกับพี่น้องอีกครั้งหลังจากหลายปีผ่านไป พวกเขาแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเปลี่ยนไปอย่างไรตั้งแต่โยเซฟเห็นพวกเขาครั้งสุดท้าย? เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการกลับใจจากเรื่องราวของพวกเขา?
-
ปฐมกาล 45:3–11; 50:19–21โยเซฟยอมรับว่าแม้ว่าประสบการณ์ของเขาในอียิปต์นั้นยาก แต่ “พระเจ้าทรงดำริให้เกิดผลดี” (ปฐมกาล 50:20) ครอบครัวของท่านเคยประสบกับการทดสอบใดๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าได้เปลี่ยนความยากลำบากให้เป็นพรหรือไม่?
เพลงสวดเกี่ยวกับความดีของพระผู้เป็นเจ้าในช่วงเวลาของการทดสอบ (อย่างเช่น “ฐานมั่นคงหนักหนา” [เพลงสวด, บทเพลงที่ 33]) สามารถปรับปรุงการสนทนานี้ รายละเอียดอะไรจากประสบการณ์ของโยเซฟเป็นแบบอย่างสิ่งที่เพลงสวดนี้สอน?
-
ปฐมกาล 49:9–11, 24–25เราพบอะไรในข้อเหล่านี้ที่สอนเราเกี่ยวกับบทบาทและพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์? (เพื่อช่วยให้เข้าใจวลีในข้อเหล่านี้ ดูเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ปฐมกาล 49 ใน “แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว”)
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ฐานมั่นคงหนักหนา” เพลงสวด บทเพลงที่ 33