พันธสัญญาเดิม 2022
14–20 มีนาคม ปฐมกาล 42–50: “พระเจ้าทรงดำริให้เกิดผลดี”


“14–20 มีนาคม ปฐมกาล 42–50: ‘พระเจ้าทรงดำริให้เกิดผลดี’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“14–20 มีนาคม ปฐมกาล 42–50” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022

โยเซฟแห่งอียิปต์

ภาพประกอบโยเซฟแห่งอียิปต์ โดย โรเบิร์ต ที. บาร์เรตต์

14–20 มีนาคม

ปฐมกาล 42–50

“พระเจ้าทรงดำริให้เกิดผลดี”

การรู้พระคัมภีร์ที่ท่านกำลังสอนเป็นเรื่องสำคัญ แต่การรู้จักเด็กที่ท่านกำลังสอนสำคัญเช่นกัน ใช้เวลาไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับทั้งสอง

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เพราะเรื่องราวใน ปฐมกาล 42–50 ต่อเนื่องกับเรื่องราวในบทเรียนของสัปดาห์ที่แล้วจาก ปฐมกาล 37–41 จงใช้เวลาตอนเริ่มชั้นเรียนให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาจำได้เกี่ยวกับโยเซฟ รวมทั้งสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในปฐมวัยและที่บ้าน

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

ปฐมกาล 45:4–15

ฉันสามารถแสดงความรักต่อครอบครัวของฉัน

สำหรับเด็กเล็ก ท่านอาจต้องการเน้นเรื่องนี้ตอนที่โยเซฟแสดงความรักต่อครอบครัว

กิจกรรมที่ทำได้

  • ใช้ “พี่ๆ ของโยเซฟในอียิปต์” (ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม) หรือภาพใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว เล่าให้เด็กฟังเกี่ยวกับการพบกันอีกครั้งของโยเซฟกับพี่ๆ เน้นว่าโยเซฟแสดงความรักต่อพี่ๆ อย่างไร

  • อ่านวลีต่างๆ จาก ปฐมกาล 45:4–15 ซึ่งบอกสิ่งที่โยเซฟทำเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขารักครอบครัว เชื้อเชิญให้เด็กแสร้งทำสิ่งที่ข้อเหล่านี้พูดถึง ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจทำท่าขอให้สมาชิกครอบครัว “เข้ามาใกล้” (ข้อ 4) หรือให้อาหารแก่สมาชิกครอบครัวคนหนึ่ง (ดู ข้อ 11)

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับความรัก เช่น “จงรักกันและกัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 74) ช่วยเด็กร่างภาพมือของพวกเขาและเขียนบางสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อแสดงความรักต่อครอบครัวไว้ในภาพนั้น

ปฐมกาล 48:8–9

พรฐานะปุโรหิตช่วยฉัน

ยาโคบให้พรบุตรชายและหลานชายของเขา (ดู ปฐมกาล 48–49) ปัจจุบันเราสามารถรับพรฐานะปุโรหิตที่ให้การปลอบโยน การรักษา การนำทาง และพลังทางวิญญาณแก่เรา

เด็กชายได้รับพร

เราสามารถรับพรจากผู้ดำรงฐานะปุโรหิต

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน ปฐมกาล 48:8–9 ให้เด็กฟัง อธิบายว่าอิสราเอลหรืออีกชื่อหนึ่งคือยาโคบ เป็นบิดาของโยเซฟและเขาต้องการให้พรฐานะปุโรหิตแก่บุตรของโยเซฟ ถ้าเด็กคนใดเคยได้รับพรฐานะปุโรหิต ให้เชิญพวกเขาเล่าประสบการณ์นั้น หรือแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเอง

  • ช่วยให้เด็กนึกถึงเหตุผลที่พวกเขาจะขอพรฐานะปุโรหิต ช่วยพวกเขาบอกชื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตที่พวกเขาจะขอพรได้ เช่น บิดา ปู่ ตา หรือบราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ

ปฐมกาล 50:15–21

ฉันสามารถให้อภัย

เด็กสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการให้อภัยจากแบบอย่างการให้อภัยพี่ๆ ของโยเซฟ?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ช่วยให้เด็กจำได้ว่าพี่ๆ ของโยเซฟใจร้ายต่อท่านอย่างไร อ่าน ปฐมกาล 50:17 ให้เด็กฟังโดยเน้นว่าพี่ๆ เสียใจในสิ่งที่ทำลงไปและต้องการให้โยเซฟให้อภัยพวกเขา อ่าน ข้อ 21 เพื่อแสดงว่าโยเซฟให้อภัยพี่ๆ—เขาไม่โกรธพี่ๆ อีก

  • ร้องเพลง “พระบิดาโปรดช่วยฉัน” ด้วยกัน (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 52) เมื่อท่านร้องเพลงเกี่ยวกับการให้อภัย ให้เด็กชี้ไปที่โยเซฟบนหน้ากิจกรรม เมื่อท่านร้องเพลงเกี่ยวกับการกลับใจ ให้พวกเขาชี้ไปที่พี่ๆ ของโยเซฟ

  • ช่วยให้เด็กนึกถึงสถานการณ์ซึ่งพวกเขาอาจต้องให้อภัยใครบางคน เชื้อเชิญให้เด็กฝึกสิ่งที่พวกเขาอาจจะพูดหรือทำเพื่อแสดงการให้อภัยต่อบุคคลนั้น

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

ปฐมกาล 42–44; 45:1–15

การให้อภัยทำให้เกิดสันติสุข

พี่ๆ ของโยเซฟได้ทำเรื่องเลวร้ายต่อเขา แต่โยเซฟให้อภัยและทำให้ครอบครัวของเขาเกิดสันติ

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยให้เด็กแสดงเหตุการณ์จาก ปฐมกาล 42–44 ขณะแสดง ถามพวกเขาว่าโยเซฟน่าจะรู้สึกอย่างไรเมื่อพบพี่ๆ อีกครั้งหรือพี่ๆ น่าจะรู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขาจำโยเซฟได้ในที่สุด

  • ถามเด็กว่าการให้อภัยใครบางคนหมายความว่าอย่างไร ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าการให้อภัยใครบางคนรวมถึงการปฏิบัติต่อคนนั้นด้วยความรักเหมือนพระคริสต์ ถามเด็กว่าพวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องราวการให้อภัยพี่ๆ ของโยเซฟ หรืออ่านข้อต่างๆ จาก ปฐมกาล 45:1–15 กับเด็ก โยเซฟทำหรือพูดอะไรเพื่อให้พี่ๆ รู้ว่าเขาให้อภัย? เราจะพูดหรือทำอะไรได้บ้างเมื่อคนอื่นขอให้เราให้อภัยพวกเขา?

  • ขอให้เด็กนึกถึงเวลาที่พวกเขาให้อภัยใครบางคนหรือเมื่อใครบางคนให้อภัยพวกเขา เพื่อให้เวลาพวกเขานึก ให้แบ่งปันประสบการณ์ของท่านเอง และเป็นพยานถึงพรที่มาจากการให้อภัย เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์ถ้าพวกเขาประสงค์จะทำเช่นนั้น พวกเขารู้สึกอย่างไร? เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการให้อภัยจากแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด? (ดู ลูกา 23:33–34)

ปฐมกาล 45:5–11

พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งพระเยซูคริสต์มาช่วยให้ฉันรอด

เรื่องที่โยเซฟช่วยให้ครอบครัวรอดจากความอดอยากสามารถสอนเราเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงช่วยให้เรารอดจากบาปและความตาย

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียนบนกระดานว่า โยเซฟ และ พระเยซูคริสต์ ช่วยเด็กค้นคว้าพระคัมภีร์เป็นคู่ๆ ต่อไปนี้และเขียนสิ่งที่โยเซฟและพระเยซูทรงมีเหมือนกันไว้บนกระดาน: ปฐมกาล 37:3 กับ มัทธิว 3:17; ปฐมกาล 37:26–28 กับ มัทธิว 26:14–16; ปฐมกาล 45:5–7 กับ ลูกา 4:18; และ ปฐมกาล 47:12 กับ ยอห์น 6:35

  • ถามเด็กว่าช่วยชีวิตหรือช่วยให้ใครบางคนรอดหมายความว่าอย่างไร ถ้าใครเคยมีประสบการณ์ที่คนอื่นช่วยพวกเขาให้รอดพ้นหรือรอดชีวิตจากอันตราย ให้พวกเขาแบ่งปัน โยเซฟช่วยพี่ๆ อย่างไร? (ดู ปฐมกาล 42:1–3; 45:5–7) ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูทรงช่วยให้เรารอดอย่างไร?

งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ปฐมกาล 50:27–33 (ในคู่มือพระคัมภีร์)

พระบิดาบนสวรรค์ทรงเตรียมโจเซฟ สมิธให้เป็นศาสดาพยากรณ์ในสมัยของเรา

โยเซฟแห่งอียิปต์เห็นหลายพันปีล่วงหน้าว่าพระเจ้าจะทรงเรียกโจเซฟ สมิธให้ทำงานสำคัญยิ่งในยุคสุดท้าย สอนเด็กว่าพระเจ้าประทานพรเราอย่างไรผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้คำไขเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธและเชื้อเชิญให้เด็กทายว่าท่านกำลังพูดถึงใคร รวมคำไขจาก งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ปฐมกาล 50:27–33 (ในคู่มือพระคัมภีร์) ไว้ด้วย เช่น “ท่านสอนเราเกี่ยวกับพันธสัญญา” (ดู ข้อ 28) “ท่านให้พระวจนะของพระเจ้าแก่เรา” (ดู ข้อ 30) และ “ท่านมีชื่อตามบิดาท่าน” (ดู ข้อ 33) หลังจากเด็กทายถูกแล้ว ให้พวกเขาหาคำไขเหล่านี้ในข้อพระคัมภีร์ เราเรียนรู้อะไรอีกบ้างเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธจากคำพยากรณ์ของโยเซฟในอียิปต์?

ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชิญเด็กแบ่งปันหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้กับครอบครัวของพวกเขาที่บ้าน พวกเขาสามารถใช้สิ่งนี้ทบทวนเรื่องราวของโยเซฟกับพี่ๆ และสนทนาความสำคัญของความรักและการให้อภัยในครอบครัวเรา

ปรับปรุงการสอนของเรา

เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ ถึงแม้พันธสัญญาเดิมไม่เอ่ยพระนามพระเยซูคริสต์ แต่อ้างถึงพระองค์ด้วยชื่ออื่น และเป็นพยานถึงพระองค์ผ่านสัญลักษณ์และเรื่องราวต่างๆ ช่วยเด็กฝึกมองหาความจริงเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อไรก็ตามที่พวกเขาอ่านพระคัมภีร์