“21–27 มีนาคม อพยพ 1–6: ‘เราระลึกถึงพันธสัญญาของเรา,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“21–27 มีนาคม อพยพ 1–6,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022
21–27 มีนาคม
อพยพ 1–6
“เราระลึกถึงพันธสัญญาของเรา”
เริ่มต้นการศึกษาของท่านด้วยคำสวดอ้อนวอน และร้องขอความช่วยเหลือเพื่อหาข้อความใน อพยพ 1–6 ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของท่านและการเป็นผู้รับใช้ในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า
บันทึกความประทับใจของท่าน
คำเชิญให้อาศัยอยู่ในอียิปต์ช่วยครอบครัวของยาโคบอย่างแท้จริง แต่หลังจากหลายร้อยปีที่ผ่านไป ลูกหลานของพวกเขาถูกกดขี่และคุกคามโดยฟาโรห์องค์ใหม่ที่ “ไม่ทรงรู้จักโยเซฟ” (อพยพ 1:8) คงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับชาวอิสราเอลที่จะสงสัยว่าทำไมพระผู้เป็นเจ้าทรงอนุญาตให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับพวกเขา ผู้คนในพันธสัญญาของพระองค์ พระองค์ทรงจำพันธสัญญาที่พระองค์ทรงทำไว้กับพวกเขาได้หรือไม่? พวกเขายังคงเป็นประชากรของพระองค์หรือไม่? พระองค์ทรงเห็นหรือไม่ว่าพวกเขากำลังทุกข์ทรมานมากเพียงใด?
อาจมีบางครั้งที่ท่านรู้สึกอยากถามคำถามที่คล้ายกันเหล่านี้ ท่านอาจสงสัยว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบหรือไม่ว่าฉันกำลังพบเจออะไรอยู่? พระองค์ทรงได้ยินคำวิงวอนขอความช่วยเหลือจากฉันหรือไม่? เรื่องราวในอพยพเกี่ยวกับการปลดปล่อยชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ได้ตอบคำถามเหล่านี้อย่างชัดเจน: พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงลืมประชากรของพระองค์ พระองค์ทรงระลึกถึงพันธสัญญาของพระองค์กับเราและจะทรงทำให้สำเร็จในเวลาของพระองค์และในวิธีการของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:68) “เราจะไถ่พวกเจ้าด้วยแขนที่เงื้อง่า” พระองค์ทรงประกาศ “เราจะเป็นพระเจ้าของพวกเจ้า ผู้นำพวกเจ้าให้พ้นจากงานหนัก [ของเจ้า]” (อพยพ 6:6–7)
สำหรับคำอธิบายพอสังเขปของหนังสืออพยพ ดู “อพยพ” ใน คู่มือพระคัมภีร์
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ปลดปล่อยของฉัน
หนึ่งในประเด็นหลักในหนังสืออพยพคือพระผู้เป็นเจ้าทรงมีเดชานุภาพที่จะปลดปล่อยประชากรของพระองค์จากการถูกกดขี่ ความเป็นทาสของชาวอิสราเอลดังที่อธิบายไว้ใน อพยพ 1 สามารถมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการถูกจองจำที่เราเผชิญเนื่องจากบาปและความตาย (ดู 2 นีไฟ 2:26–27; 9:10; แอลมา 36:28) และโมเสสซึ่งเป็นผู้ปลดปล่อยชาวอิสราเอลสามารถมองว่าเป็นรูปแบบหรือเป็นตัวแทนของพระเยซูคริสต์ (ดู เฉลยธรรมบัญญัติ 18:18–19; 1 นีไฟ 22:20–21) อ่าน อพยพ 1–2 ด้วยการเปรียบเทียบเหล่านี้ในใจ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจสังเกตเห็นว่าทั้งโมเสสและพระเยซูได้รับการปกป้องจากความตายเมื่อเป็นเด็กเล็ก (ดู อพยพ 1:22–2:10; มัทธิว 2:13–16) และทั้งสองใช้เวลาอยู่ในแดนทุรกันดารก่อนเริ่มปฏิบัติศาสนกิจ (ดู อพยพ 2:15–22; มัทธิว 4:1–2) ท่านได้ความเข้าใจลึกซึ้งอย่างไรเพิ่มเติมจากหนังสืออพยพเกี่ยวกับการถูกจองจำทางวิญญาณ? เกี่ยวกับการปลดปล่อยของพระผู้ช่วยให้รอด?
ดู ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “การไถ่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 109–112
พระผู้เป็นเจ้าทรงให้พลังแก่ผู้ที่พระองค์ทรงเรียกให้ทำงานของพระองค์
วันนี้เรารู้ว่าโมเสสเป็นศาสดาพยากรณ์และผู้นำที่ยิ่งใหญ่ แต่โมเสสไม่เห็นว่าตนเองเป็นอย่างนั้นเมื่อพระเจ้าทรงเรียกเขาครั้งแรก “ข้าพระองค์เป็นใคร” โมเสสสงสัย “ที่จะไปเข้าเฝ้าฟาโรห์” (อพยพ 3:11) อย่างไรก็ตาม พระเจ้าทรงทราบดีว่าจริงๆ แล้วโมเสสเป็นใคร—และเขาจะกลายเป็นใคร ขณะที่ท่านอ่าน อพยพ 3–4 ให้สังเกตว่าพระเจ้าทรงให้ความมั่นใจกับโมเสสและตอบกลับข้อกังวลของเขาอย่างไร ท่านพบอะไรในบทเหล่านี้ที่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านเมื่อท่านรู้สึกว่าไม่ดีพอ? พระเจ้าประทานพรผู้รับใช้ของพระองค์ด้วยพลังที่เพิ่มขึ้นเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระองค์อย่างไร? (ดู โมเสส 1:1–10, 24–39; 6:31–39, 47) ท่านเคยเห็นพระผู้เป็นเจ้าทำงานของพระองค์ผ่านท่านหรือผู้อื่นเมื่อใด?
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของโมเสส ดู “โมเสส” ใน คู่มือพระคัมภีร์
จุดประสงค์ของพระเจ้าจะสำเร็จในเวลาของพระองค์
แม้ว่าโมเสสจะไปอยู่ต่อหน้าฟาโรห์อย่างกล้าหาญตามที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบัญชา และบอกให้เขาปล่อยชาวอิสราเอล ฟาโรห์ปฏิเสธ ในความเป็นจริงแล้ว เขาทำให้ชีวิตของชาวอิสราเอลยากลำบากขึ้น โมเสสและชาวอิสราเอลอาจสงสัยว่าทำไมสิ่งต่างๆ จึงไม่ได้ผลแม้เมื่อโมเสสทำในสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้เขาทำ (ดู อพยพ 5:22–23)
ท่านเคยรู้สึกว่าท่านทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แต่ไม่เห็นความสำเร็จตามที่ท่านคาดไว้ใช่หรือไม่? ทบทวน อพยพ 6:1–8 มองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสไว้เพื่อช่วยโมเสสให้อดทน พระเจ้าทรงช่วยให้ท่านยืนหยัดในการทำตามพระประสงค์ของพระองค์อย่างไร?
พระเยโฮวาห์คือใคร?
พระเยโฮวาห์เป็นหนึ่งในพระนามของพระเยซูคริสต์ซึ่งหมายถึงพระผู้ช่วยให้รอดก่อนประสูติ งานแปลของโจเซฟ สมิธอธิบายไว้ว่าศาสดาพยากรณ์อับราฮัม อิสอัค และยาโคบรู้จักพระนามนี้ของพระเจ้า (ดู อพยพ 6:3) โดยปรกติเมื่อวลี “พระเจ้า” ปรากฏในภาคพันธสัญญาเดิม นั่นหมายถึงพระเยโฮวาห์ ใน อพยพ 3:13–15 พระนาม “เราเป็น” ยังหมายถึงพระเยโฮวาห์เช่นกัน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:1; 39:1 ด้วย)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
-
อพยพ 1–2ผู้หญิงหลายคนมีบทบาทสำคัญในแผนของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเลี้ยงดูผู้ปลดปล่อยให้กับชาวอิสราเอล ท่านสามารถอ่านเป็นครอบครัวเกี่ยวกับนางผดุงครรภ์ชิฟราห์และปูอาห์ (อพยพ 1:15–20) โยเคเบดมารดาของโมเสสและมิเรียมพี่สาวของเขา (อพยพ 2:2–9; กันดารวิถี 26:59) พระราชธิดาของฟาโรห์ (อพยพ 2:5–6, 10) และศิปโปราห์ภรรยาของโมเสส (อพยพ 2:16–21) ผู้หญิงเหล่านี้ช่วยทำให้แผนของพระผู้เป็นเจ้ารุดหน้าอย่างไร? ประสบการณ์ของพวกเขาทำให้เรานึกถึงพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์อย่างไร? ท่านอาจรวบรวมรูปภาพของญาติและบรรพบุรุษที่เป็นผู้หญิง และแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับพวกเธอด้วย เราได้รับพรอย่างไรจากหญิงผู้ชอบธรรม? ข่าวสารของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน “คำวิงวอนต่อพี่น้องสตรีของข้าพเจ้า” (เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 95–98) สามารถเสริมการสนทนาของท่าน
-
อพยพ 3:1–6เมื่อโมเสสเข้าใกล้พุ่มไม้ที่มีไฟลุกโชน พระเจ้าทรงบอกให้เขาถอดรองเท้าเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความคารวะ เราจะแสดงความคารวะต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร? ตัวอย่างเช่น เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้บ้านของเราเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พระวิญญาณของพระเจ้าทรงสถิตอยู่ได้? เราจะแสดงความคารวะมากขึ้นในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ได้อย่างไร?
-
อพยพ 4:1–9พระเจ้าประทานอำนาจแก่โมเสสเพื่อทำปาฏิหาริย์สามประการเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงให้ชาวอิสราเอลเห็นว่าพระองค์ทรงส่งโมเสสมา เครื่องหมายเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์?
-
อพยพ 5:2การ “รู้จัก” พระเจ้าอาจหมายความว่าอย่างไรสำหรับเรา? เราจะรู้จักพระองค์ได้อย่างไร? (ดูตัวอย่างที่ แอลมา 22:15–18) ความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ส่งผลต่อความปรารถนาของเราที่จะเชื่อฟังพระองค์อย่างไร? (ดู ยอห์น 17:3; โมไซยาห์ 5:13)
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “Reverence Is Love” Children’s Songbook, 31