พันธสัญญาเดิม 2022
ข้อคิดควรคำนึง: พลับพลาและการพลีบูชา


“ข้อคิดควรคำนึง: พลับพลาและการพลีบูชา” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“ข้อคิดควรคำนึง: พลับพลาและการพลีบูชา” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022

ภาพ
ไอคอนความคิด

ข้อคิดควรคำนึง

พลับพลาและการพลีบูชา

เมื่อเราอ่านพันธสัญญาเดิม บางครั้งเราพบข้อความยาวๆ เกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญอย่างชัดเจนต่อพระเจ้าแต่อาจไม่รู้สึกทันทีว่าเกี่ยวข้องกับเราในปัจจุบัน อพยพ 25–30; 35–40; เลวีนิติ 1–9; 16–17 เป็นตัวอย่าง บทเหล่านี้อธิบายเรื่องพลับพลาของอิสราเอลในถิ่นทุรกันดารและการถวายเครื่องสัตวบูชาที่นั่นอย่างละเอียด1 พลับพลาคือพระวิหารแบบเคลื่อนย้ายได้ ที่ประทับของพระเจ้าท่ามกลางผู้คนของพระองค์

พระวิหารยุคปัจจุบันของเรามีความคล้ายคลึงกับพลับพลาของอิสราเอล แต่ไม่ตรงกับที่บรรยายไว้ในอพยพ และเราไม่ฆ่าสัตว์ในพระวิหาร—การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดทำให้สัตวบูชาสิ้นสุดได้ 2,000 กว่าปีแล้ว แม้จะมีความแตกต่างเหล่านี้ แต่การอ่านรูปแบบการนมัสการของอิสราเอลโบราณก็ยังมีค่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามองแบบที่ผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าในพระคัมภีร์มอรมอนมอง—ว่าเป็นวิธี “เสริมศรัทธาของพวกเขาให้มั่นคงในพระคริสต์” (แอลมา 25:16; ดู เจคอบ 4:5; เจรอม 1:11 ด้วย) เมื่อเราเข้าใจสัญลักษณ์ของพลับพลาและสัตวบูชา เราจะได้ข้อคิดทางวิญญาณที่จะเสริมศรัทธาของเราให้มั่นคงในพระคริสต์เช่นกัน

ภาพ
คนนำลูกแกะมาให้ปุโรหิตที่พลับพลา

ภาพประกอบของคนอิสราเอลนำลูกแกะมาที่พลับพลา โดย โรเบิร์ต ที. บาร์เรตต์

พลับพลาเสริมศรัทธาของฉันให้มั่นคงในพระเยซูคริสต์

เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้โมเสสสร้างพลับพลาในค่ายคนอิสราเอล พระองค์รับสั่งถึงจุดประสงค์ของพลับพลาว่า “เพื่อเราจะอยู่ท่ามกลางพวกเขา” (อพยพ 25:8) ภายในพลับพลา ที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าแทนด้วยหีบแห่งสักขีพยาน—หีบไม้หุ้มทองคำที่เก็บบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้ากับผู้คนของพระองค์ (ดู อพยพ 25:10–22) หีบดังกล่าวเก็บไว้ในห้องชั้นในสุดที่บริสุทธิ์ที่สุด มีม่านกั้นแยกออกจากส่วนอื่นของพลับพลา ม่านนี้เป็นสัญลักษณ์ของการแยกเราจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าเพราะการตก

นอกจากโมเสสแล้ว เรารู้ว่ามีคนเดียวเท่านั้นที่จะเข้า “อภิสุทธิสถาน” นั้นได้ (อพยพ 26:34)—นั่นคือมหาปุโรหิต เช่นเดียวกับปุโรหิตคนอื่นๆ เขาต้องได้รับการล้างและการเจิมก่อน (ดู อพยพ 40:12–13) และสวมอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นสัญลักษณ์แทนตำแหน่งของเขา (ดู อพยพ 28) ปีละครั้งในวันที่เรียกว่าวันแห่งการชดใช้ มหาปุโรหิตจะถวายเครื่องบูชาแทนประชาชนก่อนเข้าไปในพลับพลาแต่ผู้เดียว ที่ม่าน เขาจะเผาเครื่องหอม (ดู เลวีนิติ 16:12) ควันจากเครื่องหอมที่ลอยขึ้นไปบนฟ้าแทนคำสวดอ้อนวอนของผู้คนขึ้นไปถึงพระผู้เป็นเจ้า (ดู สดุดี 141:2) จากนั้นมหาปุโรหิตนำเลือดจากสัตวบูชาผ่านม่านมายังบัลลังก์ของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งสัญลักษณ์คือหีบแห่งสักขีพยาน (ดู เลวีนิติ 16:14–15)

การรู้สิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และบทบาทของพระองค์ในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ทำให้ท่านเข้าใจหรือไม่ว่าพลับพลาชี้ให้เรามองไปที่พระผู้ช่วยให้รอด? พลับพลา และหีบในนั้น แทนที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าท่ามกลางผู้คนของพระองค์ฉันใด พระเยซูคริสต์ ทรงเป็น พระสิริของพระผู้เป็นเจ้าท่ามกลางผู้คนของพระองค์ฉันนั้น (ดู ยอห์น 1:14) เฉกเช่นมหาปุโรหิต พระเยซูคริสต์คือพระผู้เป็นสื่อกลางระหว่างเรากับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา พระองค์ทรงผ่านม่านมาวิงวอนแทนเราโดยอาศัยพระโลหิตจากการพลีพระชนม์ชีพของพระองค์เอง (ดู ฮีบรู 8–10)

บางด้านของพลับพลาของอิสราเอลอาจฟังคุ้นหู โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านเคยไปพระวิหารเพื่อรับศาสนพิธีของท่านเอง เหมือนอภิสุทธิสถานของพลับพลา ห้องอาณาจักรซีเลสเชียลของพระวิหารแทนที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อเข้าไปในนั้นเราต้องรับการล้างและการเจิมก่อน เราสวมอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ เราสวดอ้อนวอนที่แท่นซึ่งคำสวดอ้อนวอนจากแท่นนั้นขึ้นไปถึงพระผู้เป็นเจ้า และสุดท้ายเราผ่านม่านเข้าไปในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า

บางทีความคล้ายคลึงสำคัญที่สุดระหว่างพระวิหารสมัยใหม่กับพลับพลาสมัยโบราณคือถ้าเข้าใจถูกต้อง ทั้งสองเสริมศรัทธาของเราให้มั่นคงในพระเยซูคริสต์และทำให้เราเปี่ยมด้วยความสำนึกคุณต่อการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้บุตรธิดาทุกคนของพระองค์เข้าในที่ประทับของพระองค์ พระองค์ทรงต้องการ “อาณาจักรปุโรหิต” และปุโรหิตหญิง (อพยพ 19:6) แต่บาปของเราขัดขวางเราไม่ให้ได้รับพรนั้น เพราะ “ไม่มีสิ่งไม่สะอาดใดๆ จะพำนักอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าได้” (1 นีไฟ 10:21) ด้วยเหตุนี้พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาจึงทรงส่งพระเยซูคริสต์มา “มหาปุโรหิตแห่งบรรดาสิ่งประเสริฐซึ่งมาถึงแล้ว” (ฮีบรู 9:11) พระองค์ทรงแหวกม่านให้เราและทรงมอบอำนาจให้คนของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งหมด “มาถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณด้วยความกล้า เพื่อเราจะได้รับพระเมตตา” (ฮีบรู 4:16)

ปัจจุบัน จุดประสงค์ของพระวิหารเป็นมากกว่าการได้รับความสูงส่งเพื่อตัวเราเอง หลังจากรับศาสนพิธีของเราเองแล้ว เราสามารถเป็นตัวแทนของบรรพชนโดยรับศาสนพิธีแทนพวกเขา ในความหมายหนึ่งคือเราสามารถเป็นเช่นเดียวกับมหาปุโรหิตในสมัยโบราณ—และองค์มหาปุโรหิตผู้ยิ่งใหญ่—คือเปิดทางให้คนอื่นๆ เข้าที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า

การพลีบูชาเสริมศรัทธาให้มั่นคงในพระเยซูคริสต์

หลักธรรมเรื่องการชดใช้และการคืนดีสอนไว้อย่างมีพลังในสัตวบูชาอันเป็นการปฏิบัติสมัยโบราณ ซึ่งดำรงอยู่มานานก่อนกฎของโมเสส เพราะพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู เราจึงรู้ว่าอาดัมกับเอวาถวายเครื่องบูชา เข้าใจการอ้างอิงเชิงสัญลักษณ์ถึงการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด และสอนสิ่งนี้ให้บุตรธิดาของพวกท่าน (ดู โมเสส 5:4–12; ดู ปฐมกาล 4:4 ด้วย)

สัญลักษณ์ของสัตวบูชาอาจดูเหมือนสะเทือนอารมณ์อย่างยิ่งในวันแห่งการชดใช้ของอิสราเอลสมัยโบราณ (“Yom Kippur” ในภาษาฮีบรู) ใน เลวีนิติ 16:30 กล่าวถึงความจำเป็นของพิธีประจำปีนี้ว่า: “ในวัน‍นี้จะเป็นวันลบมลทินของพวก‍เจ้า และชำระพวก‍เจ้าให้พ้นจากความบาปทั้ง‍สิ้นของพวก‍เจ้า พวก‍เจ้าจึงสะอาดเฉพาะ‍พระ‍พักตร์พระ‍ยาห์‌เวห์” เพราะเหตุนี้ที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าจึงยังอยู่ท่ามกลางผู้คน การชดใช้นี้สำเร็จผ่านพิธีต่างๆ หนึ่งในนั้นคือแพะถูกฆ่าเป็นเครื่องถวายแทนบาปของผู้คน และมหาปุโรหิตนำเลือดแพะเข้าไปในอภิสุทธิสถาน ต่อมา มหาปุโรหิตวางมือบนแกะที่มีชีวิตและสารภาพบาปของลูกหลานอิสราเอล—ทางสัญลักษณ์หมายถึงการโอนบาปเหล่านั้นไปให้แพะ จากนั้นก็ไล่แพะตัวดังกล่าวออกจากค่ายอิสราเอล

ในพิธีกรรมนี้ แพะเป็นสัญลักษณ์ของพระเยซูคริสต์ที่ทรงรับแทนคนบาป ต้องไม่ให้บาปเข้าในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า แต่แทนที่จะทำลายหรือขับไล่คนบาป พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียมอีกวิธีหนึ่ง—นั่นคือจะต้องฆ่าหรือขับไล่แพะแทน “แพะนั้นจะบรรทุกความผิดทั้งหมด” (เลวีนิติ 16:22)

สัญลักษณ์ของพิธีกรรมเหล่านี้ชี้ให้เห็นวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียม—พระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์—เพื่อนำเรากลับเข้าในที่ประทับของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอด “ทรงแบกความเจ็บไข้ของพวกเรา และหอบความเจ็บปวดของเราไป” (อิสยาห์ 53:4, 6) พระองค์ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อไถ่โทษบาปแทนเรา แล้วทรงเอาชนะความตายผ่านการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ (ดู โมไซยาห์ 15:8–9) การพลีพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์เป็น “การพลีบูชาครั้งสุดท้ายและสำคัญยิ่ง; แท้จริงแล้ว, ไม่ใช่การพลีบูชามนุษย์, หรือสัตว์” แต่เป็น “การพลีบูชาอันไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์” (แอลมา 34:10) พระองค์ทรงเป็นสัมฤทธิผลของทุกสิ่งที่การพลีบูชาสมัยโบราณชี้ให้เห็น

ด้วยเหตุนี้ หลังจากการพลีพระชนม์ชีพของพระองค์เสร็จสมบูรณ์ พระองค์ตรัสว่า “เจ้าจะไม่ถวายเครื่องบูชาด้วยการหลั่งเลือดอีกต่อไป; แท้จริงแล้ว, เครื่องพลีบูชาของเจ้า … จะยกเลิกไป … และเจ้าจะถวายใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดแก่เราเป็นเครื่องพลีบูชา” (3 นีไฟ 9:19–20)

ดังนั้นเมื่อท่านพบข้อความในพันธสัญญาเดิมเกี่ยวกับการพลีบูชาและพลับพลา (หรือต่อมาคือพระวิหาร)—และท่านจะพบเยอะมาก—จำไว้ว่าจุดประสงค์เบื้องต้นของการพลีบูชาทั้งหมดคือเพื่อเสริมศรัทธาของท่านให้มั่นคงในพระเมสสิยาห์พระเยซูคริสต์ ขอให้ใจเราและความคิดเราหันไปหาพระองค์ ไตร่ตรองสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อนำท่านกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า—และสิ่งที่ท่านจะทำเพื่อติดตามพระองค์

อ้างอิง

  1. อพยพ 33:7–11 กล่าวถึง “เต็นท์นัดพบ” ที่โมเสสสื่อสารกับพระเจ้า แต่นี่ไม่ใช่ภาวะแวดล้อมสำหรับการพลีบูชาที่บรรยายไว้ในอพยพและเลวีนิติ การพลีบูชาเหล่านั้นทำในพลับพลาที่บรรยายไว้ใน อพยพ 25–30 ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาโมเสสให้สร้างและซึ่งลูกหลานอิสราเอลสร้าง (ดู อพยพ 35–40) พลับพลานี้ที่อาโรนกับบุตรของเขาถวายสัตวบูชามักเรียกว่า “เต็นท์นัดพบ” ด้วย (ดูตัวอย่างใน อพยพ 28:43; 38:30; เลวีนิติ 1:3)

พิมพ์