พันธสัญญาเดิม 2022
ข้อคิดควรคำนึง: หนังสือแนวประวัติศาสตร์ในพันธสัญญาเดิม


“ข้อคิดควรคำนึง: หนังสือแนวประวัติศาสตร์ในพันธสัญญาเดิม” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“ข้อคิดควรคำนึง: หนังสือแนวประวัติศาสตร์ในพันธสัญญาเดิม” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022

ไอคอนข้อคิด

ข้อคิดควรคำนึง

หนังสือแนวประวัติศาสตร์ในพันธสัญญาเดิม

เราทราบมาโดยตลอดว่าหนังสือ โยชูวา ถึง เอสเธอร์ เป็น “หนังสือแนวประวัติศาสตร์” ของพันธสัญญาเดิม นี่ไม่ได้หมายความว่าหนังสืออื่นในพันธสัญญาเดิมไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่ที่เรียกว่าหนังสือแนวประวัติศาสตร์เพราะวัตถุประสงค์หลักของผู้เขียนคือเพื่อแสดงให้เห็นพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าในประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอล จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อสรุปกฎของโมเสสเหมือน เลวีนิติ และ เฉลยธรรมบัญญัติ ไม่ใช่เพื่อกล่าวสรรเสริญหรือคร่ำครวญในรูปบทกวีเหมือน สดุดี และ เพลงคร่ำครวญ และไม่ใช่เพื่อบันทึกถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์เหมือนหนังสือ อิสยาห์ และ เอเสเคียล แต่หนังสือแนวประวัติศาสตร์จะเล่าเรื่องราว

เรื่องของมุมมอง

ปกติจะเล่าเรื่องนั้นจากทัศนะด้านหนึ่ง—จริงๆ แล้ว บาง ทัศนะที่หลากหลาย เฉกเช่นเราไม่มีทางดูดอกไม้ ก้อนหิน หรือต้นไม้ได้ทีละหลายมุมฉันใด เรื่องราวแนวประวัติศาสตร์ย่อมสะท้อนมุมมองของบุคคลหรือกลุ่มคนที่เขียนอย่างเลี่ยงไม่ได้ฉันนั้น มุมมองนี้รวมถึงความผูกพันในชาติหรือชาติพันธุ์ บรรทัดฐานทางวัฒนธรรม และความเชื่อของผู้เขียนด้วย การรู้เช่นนี้ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าผู้เขียนและผู้รวบรวมหนังสือแนวประวัติศาสตร์มุ่งเน้นรายละเอียดบางอย่างขณะข้ามรายละเอียดอื่น1 พวกเขาตั้งสมมุติฐานที่คนอื่นอาจไม่ตั้ง และพวกเขาได้ข้อสรุปอิงกับรายละเอียดและสมมุติฐานเหล่านั้น เราสามารถเห็นแม้กระทั่งมุมมองต่างๆ ทั่วหนังสือพระคัมภีร์ไบเบิล (และบางครั้งเห็นในหนังสือเดียวกัน)2 ยิ่งเราตระหนักในมุมมองเหล่านี้มากเพียงใด เราจะยิ่งเข้าใจหนังสือแนวประวัติศาสตร์มากเพียงนั้น

มุมมองหนึ่งที่เห็นทั่วไปในหนังสือแนวประวัติศาสตร์ทั้งหมดของพันธสัญญาเดิมคือมุมมองของลูกหลานอิสราเอลซึ่งเป็นผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า ศรัทธาของพวกเขาในพระเจ้าช่วยให้พวกเขาเห็นพระหัตถ์ของพระองค์ในชีวิตและเห็นการแทรกแซงของพระองค์ในเรื่องประเทศชาติของตน แม้หนังสือประวัติทางโลกไม่ได้มองแบบนี้ แต่มุมมองทางวิญญาณเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังสือแนวประวัติศาสตร์ของพันธสัญญาเดิมมีค่ามากต่อคนเหล่านั้นผู้กำลังหมายมั่นสร้างศรัทธาของตนในพระผู้เป็นเจ้า

บริบทในส่วนที่เหลือของพันธสัญญาเดิม

หนังสือแนวประวัติศาสตร์เริ่มตรงที่หนังสือ เฉลยธรรมบัญญัติ จบพอดี ด้วยการระหกระเหินของคนอิสราเอลนานหลายปีในถิ่นทุรกันดารกำลังจะสิ้นสุด หนังสือ โยชูวา แสดงให้เห็นว่าลูกหลานของอิสราเอลพร้อมเข้าไปในคานาอัน แผ่นดินที่ทรงสัญญาไว้กับพวกเขา และบรรยายว่าพวกเขาเข้าครองแผ่นดินนั้นอย่างไร หนังสือที่ตามมาคือ ผู้วินิจฉัย ถึง 2 พงศาวดาร พรรณนาประสบการณ์ของอิสราเอลในแผ่นดินที่สัญญาไว้ ตั้งแต่เวลาที่พวกเขาตั้งรกรากจนถึงเวลาที่พวกเขาพ่ายแพ้ต่ออัสซีเรียและบาบิโลน หนังสือ เอสรา และ เนหะมีย์ เล่าเรื่องคนอิสราเอลหลายกลุ่มกลับมาเยรูซาเล็มเมืองหลวงของตนในอีกหลายทศวรรษต่อมา สุดท้าย หนังสือ เอสเธอร์ เล่าเรื่องคนอิสราเอลถูกเนรเทศภายใต้การปกครองของเปอร์เซีย

และพงศาวดารของพันธสัญญาเดิมสิ้นสุดตรงนั้น ผู้อ่านพระคัมภีร์ไบเบิลครั้งแรกบางคนประหลาดใจเมื่อพบว่าตนอ่าน เรื่องราว ของพันธสัญญาเดิมจบก่อนจะอ่านได้เกินครึ่งเล่ม หลังจาก เอสเธอร์ เราได้ข้อมูลไม่มากเกี่ยวกับประวัติของคนอิสราเอล แต่หนังสือที่อยู่ต่อจากนั้น—โดยเฉพาะหนังสือของศาสดาพยากรณ์—อยู่ ภายใน ลำดับเหตุการณ์ที่หนังสือแนวประวัติศาสตร์นำเสนอพอดี3 ตัวอย่างเช่น การปฏิบัติศาสนกิจของศาสดาพยากรณ์เยเรมีย์เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ต่างๆ ที่บันทึกไว้ใน 2 พงศ์กษัตริย์ 22–25 (และเรื่องราวสอดคล้องกันใน 2 พงศาวดาร 34–36) การรู้เช่นนี้จะส่งผลต่อวิธีที่ท่านอ่านทั้งบทบรรยายแนวประวัติศาสตร์และหนังสือศาสดาพยากรณ์

มือถือตัวต่อของภาพบนโต๊ะที่ยังต่อไม่เสร็จ

พระคัมภีร์บางข้ออาจเหมือนตัวต่อที่เราไม่รู้ว่าจะต่อกับภาพที่เหลืออย่างไร

เมื่อบางอย่างไม่พอดี

เมื่ออ่านพันธสัญญาเดิม เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ใดก็ตาม มีทางเป็นไปได้ว่าท่านจะอ่านเกี่ยวกับคนที่กำลังทำหรือพูดสิ่งที่ดูแปลกประหลาดหรือน่าหนักใจในสายตาคนยุคปัจจุบัน เราควรคาดหวังเช่นนี้—เพราะผู้เขียนพันธสัญญาเดิมมองต่างจากมุมมองที่ค่อนข้างแตกต่างจากเราในบางด้าน ความรุนแรง ความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ และบทบาทของสตรีเป็นประเด็นที่ผู้เขียนสมัยก่อนอาจมองต่างจากที่เรามองในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้เราควรทำอะไรเมื่อบังเอิญเห็นข้อพระคัมภีร์ที่ดูน่าหนักใจ? อันดับแรก การพิจารณาแต่ละข้อในบริบทที่กว้างขึ้นอาจช่วยได้ ข้อนั้นเข้ากับแผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร? ข้อนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับพระลักษณะของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างไร? ข้อนั้นสอดคล้องกับความจริงที่เปิดเผยในพระคัมภีร์ข้ออื่นหรือคำสอนของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอย่างไร? และข้อนั้นสอดคล้องกับสุรเสียงกระซิบของพระวิญญาณต่อใจและความคิดท่านเองอย่างไร?

ในบางกรณี ข้อนั้นอาจไม่สอดคล้องกับสิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ บางครั้งข้อนั้นอาจเป็นเหมือนตัวต่อที่ดูเหมือนไม่มีที่ท่ามกลางตัวต่ออื่นที่ท่านต่อไว้แล้ว การพยายามดันตัวต่อชิ้นนั้นให้ลงช่องพอดีไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่การจะเลิกต่อทั้งภาพก็ไม่ใช่เช่นกัน ท่านอาจต้องเอาตัวต่อชิ้นนั้นแยกไว้ต่างหากก่อน ขณะที่ท่านเรียนรู้มากขึ้นและต่อภาพได้มากขึ้น ท่านอาจจะเห็นชัดขึ้นว่าจะต่อชิ้นต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างไร

การจดจำว่านอกจากการถูกจำกัดไปที่มุมมองบางมุมอาจจะช่วยแล้ว ประวัติศาสตร์ในพระคัมภีร์มักขึ้นอยู่กับความผิดพลาดของมนุษย์ด้วย (ดู หลักแห่งความเชื่อ 1:8) ตัวอย่างเช่น ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา “หลายสิ่งที่แจ้งชัดและมีค่าถูกนำออกไปจาก [พระคัมภีร์ไบเบิล]” รวมทั้งความจริงสำคัญๆ เกี่ยวกับหลักคำสอนและศาสนพิธี (1 นีไฟ 13:28; ดู ข้อ 29,40 ด้วย) ขณะเดียวกัน เราควรเต็มใจยอมรับว่ามุมมองของเราเองก็จำกัดเช่นกัน มักจะมีสิ่งที่เราไม่เข้าใจถ่องแท้และคำถามที่เรายังตอบไม่ได้

การหาเพชรพลอย

แต่ในระหว่างนั้น คำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบไม่จำเป็นต้องขัดขวางเราไม่ให้ได้รับเพชรพลอยล้ำค่าของความจริงนิรันดร์ที่พบในพันธสัญญาเดิม—ถึงแม้เพชรพลอยเหล่านั้นบางครั้งถูกซ่อนไว้ใต้พื้นหินของประสบการณ์ที่น่าหนักใจและการเลือกที่ไม่ดีของคนไม่ดีพร้อมก็ตาม บางทีเพชรพลอยล้ำค่าที่สุดเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องราวและข้อความที่เป็นพยานถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า—โดยเฉพาะเรื่องราวและข้อความที่ชี้นำความคิดเราไปถึงการพลีพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ ไม่ว่าจะมองมุมใด เพชรพลอยเหล่านี้แวววาวสดใสในสมัยนี้เท่าๆ กับในสมัยก่อน และเพราะเรื่องราวเหล่านี้พูดถึงผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า—ชายหญิงผู้มีความอ่อนแอตามประสามนุษย์แต่ยังรักและรับใช้พระเจ้า—เพชรพลอยแห่งความจริงจึงมีมากมายในหนังสือแนวประวัติศาสตร์ของพันธสัญญาเดิม

อ้างอิง

  1. หลักๆ แล้วบทบรรยายแนวประวัติศาสตร์ของพระคัมภีร์ไบเบิลที่เรามีในปัจจุบันเป็นผลงานของผู้เขียนและผู้รวบรวมนิรนามหลายคนซึ่งบางครั้งทำงานหลายปี แม้กระทั่งหลายศตวรรษ หลังจากช่วงเวลาที่พวกเขาพูดถึง พวกเขาอาศัยแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลายแหล่งและตัดสินใจว่าจะรวมอะไรไว้ในเรื่องราวของพวกเขาและตัดอะไรออก

  2. ตัวอย่างเช่น ถึงแม้ 1–2 พงศาวดาร ครอบคลุมช่วงเวลาเดียวกับ 1 ซามูเอล 31 จนถึงท้ายๆ 2 พงศ์กษัตริย์ แต่ 1–2 พงศาวดาร เน้นรายละเอียดต่างออกไปและนำเสนอมุมมองต่างออกไป ไม่เหมือน 1 ซามูเอล–2 พงศ์กษัตริย์ ตรงที่ 1–2 พงศาวดาร เกือบทั้งหมดเน้นเรื่องอาณาจักรทางใต้ของยูดาห์และมักจะตัดเรื่องไม่ดีเกี่ยวกับดาวิดและซาโลมอนออก (ตัวอย่างเช่น ลองเปรียบเทียบ 2 ซามูเอล 10–12 กับ 1 พงศาวดาร 19–20 และ 1 พงศ์กษัตริย์ 10–11 กับ 2 พงศาวดาร 9) จงตามเรามา เน้นการศึกษาเรื่องราวใน 1และ 2 พงศ์กษัตริย์ แม้จะมีคุณค่าในการเปรียบเทียบเรื่องนั้นกับ 1และ 2 พงศาวดาร ก็ตาม อาจจะเป็นประโยชน์ถ้ารู้ว่าการเขียน 1 ซามูเอล–2 พงศ์กษัตริย์ น่าจะเริ่มก่อนจักรวรรดิบาบิโลนรบชนะยูดาห์และสิ้นสุดระหว่างการเนรเทศในบาบิโลน ส่วนบันทึกที่กลายเป็น 1–2 พงศาวดาร รวบรวมขึ้นหลังจากชาวยิวกลับมาเยรูซาเล็มจากการเนรเทศ ขณะที่อ่าน ท่านอาจพิจารณาว่าสภาวการณ์ต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อมุมมองของผู้รวบรวมเรื่องราวต่างๆ อย่างไร

  3. ในช่วงต้นของหนังสืออ่านประกอบเล่มนี้ท่านจะพบ “พันธสัญญาเดิมโดยสังเขป” ลำดับเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติศาสนกิจของศาสดาพยากรณ์แต่ละท่านสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของอิสราเอลอย่างไร (และระบุได้) ท่านจะสังเกตเห็นว่าหนังสือศาสดาพยากรณ์ส่วนใหญ่ของพันธสัญญาเดิมอยู่เกือบท้ายๆ ของลำดับเหตุการณ์—ก่อนและหลังจากพงศ์พันธุ์อิสราเอลพ่ายแพ้สงคราม ถูกเนรเทศ และกระจัดกระจายไป