“16–22 พฤษภาคม เฉลยธรรมบัญญัติ 6–8; 15; 18; 29–30; 34: ‘จงระวังตัวเกรงว่าพวกท่านจะลืมพระยาห์เวห์”’ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“16–22 พฤษภาคม เฉลยธรรมบัญญัติ 6–8; 15; 18; 29–30; 34” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022
16–22 พฤษภาคม
เฉลยธรรมบัญญัติ 6–8; 15; 18; 29–30; 34
“จงระวังตัวเกรงว่าพวกท่านจะลืมพระยาห์เวห์”
โมเสสบัญชาให้ลูกหลานอิสราเอลสอนพระวจนะของพระเจ้าแก่ลูกๆ ของตน (ดู เฉลยธรรมบัญญัติ 6:7) ขณะที่ท่านศึกษาเฉลยธรรมบัญญัติสัปดาห์นี้ ให้หาวิธีแบ่งปันสิ่งที่ท่านเรียนรู้กับสมาชิกในครอบครัวท่าน
บันทึกความประทับใจของท่าน
การปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลกของโมเสสเริ่มต้นบนภูเขาลูกหนึ่งเมื่อพระผู้เป็นเจ้าตรัสกับเขาจากพุ่มไม้ที่มีเปลวไฟ (อพยพ 3:1–10) และสิ้นสุดบนภูเขาในอีก 40 ปีต่อมาเช่นกันเมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงให้โมเสสเห็นแวบหนึ่งของแผ่นดินที่สัญญาไว้จากยอดเขาเนโบ (ดู เฉลยธรรมบัญญัติ 34:1–4) โมเสสใช้ชีวิตไปกับการเตรียมลูกหลานอิสราเอลเข้าสู่แผ่นดินที่สัญญาไว้นั้น และหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติบันทึกคำแนะนำ คำเตือนสติ คำชักชวน และคำขอร้องครั้งสุดท้ายของเขากับคนอิสราเอล การอ่านถ้อยคำของเขาทำให้เห็นชัดว่าวัตถุประสงค์แท้จริงของการปฏิบัติศาสนกิจของโมเสส—การเตรียมผู้คน—ไม่เกี่ยวกับการอยู่รอดในถิ่นทุรกันดาร การรบชนะชาติต่างๆ หรือการสร้างชุมชน แต่เกี่ยวกับการเรียนรู้ที่จะรักพระผู้เป็นเจ้า เชื่อฟังพระองค์ และจงรักภักดีต่อพระองค์ นั่นคือการเตรียมที่เราทุกคนต้องทำเพื่อเข้าในแผ่นดินที่สัญญาไว้แห่งชีวิตนิรันดร์ ด้วยเหตุนี้แม้โมเสสไม่ได้เหยียบ “แผ่นดินที่มีน้ำนมและน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์” (อพยพ 3:8) เพราะศรัทธาและความซื่อสัตย์ของเขา แต่เขาได้เข้าในแผ่นดินที่สัญญาไว้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมไว้ให้ทุกคนที่ติดตามพระองค์
คำอธิบายพอสังเขปของเฉลยธรรมบัญญัติ ดู “เฉลยธรรมบัญญัติ” ในคู่มือพระคัมภีร์
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4–7; 8:2–5, 11–17; 29:18–20; 30:6–10, 15–20
พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันรักพระองค์สุดหัวใจ
ในคำสอนสุดท้ายของโมเสส เขาเตือนสติลูกหลานอิสราเอลว่า “พระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าได้อยู่กับเจ้ามาสี่สิบปีแล้ว เจ้าไม่ขาดสิ่งใดเลย” แม้ขณะอยู่ในถิ่นทุรกันดาร (เฉลยธรรมบัญญัติ 2:7) ตอนนี้คนอิสราเอลกำลังเข้าในแผ่นดินที่สัญญาไว้ แผ่นดินที่มี “เมือง [ซึ่งพวกเขา] ไม่ได้สร้าง และมีบ้านที่เต็มไปด้วยของดีซึ่ง [พวกเขา] ไม่ได้สะสมไว้” (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:10–11) โมเสสจึงเกรงว่าพวกเขาจะทำใจแข็งกระด้างและลืมพระเจ้า
ลองพิจารณาสภาพใจของท่านขณะที่ท่านอ่านคำแนะนำของโมเสส ท่านอาจต้องการเน้นข้อต่อไปนี้และจดความประทับใจของท่าน:
ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรักษาใจท่านไม่ให้แข็งกระด้างและรักพระเจ้าสุดหัวใจ? ท่านเห็นความเชื่อมโยงอะไรระหว่าง เฉลยธรรมบัญญัติ 6:5–6 กับ มัทธิว 22:35–40? (ดู เลวีนิติ 19:18 ด้วย)
ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ถวิลหาบ้าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 21–24 ด้วย
“จงระวังตัวเกรงว่าพวกท่านจะลืมพระยาห์เวห์”
อนุชนคนอิสราเอลส่วนมากที่จะเข้าในแผ่นดินที่สัญญาไว้ไม่เคยเห็นภัยพิบัติในอียิปต์หรือข้ามทะเลแดง โมเสสรู้ว่าพวกเขา—และรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต—จะต้องจดจำปาฏิหาริย์ของพระผู้เป็นเจ้าและกฎของพระผู้เป็นเจ้าถ้าพวกเขาจะยังคงเป็นคนของพระผู้เป็นเจ้า
โมเสสให้คำแนะนำอะไรใน เฉลยธรรมบัญญัติ 6:4–12, 20–25 ที่อาจช่วยให้ท่านจดจำสิ่งสำคัญยิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำเพื่อท่านมาแล้ว? ท่านได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อให้พระวจนะของพระเจ้า “อยู่ในใจของท่าน” ทุกวัน? (ข้อ 6)
ท่านจะส่งต่อศรัทธาให้คนรุ่นต่อไปในอนาคตอย่างไร?
ดู เฉลยธรรมบัญญัติ 11:18–21; เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง, “ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 108–111
การช่วยเหลือคนขัดสนเกี่ยวข้องกับมือที่เอื้อเฟื้อและใจที่เต็มใจ
เฉลยธรรมบัญญัติ 15:1–15 ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนยากจนและคนขัดสน รวมทั้งการปฏิบัติเฉพาะอย่างที่ไม่ได้ปฏิบัติในสมัยนี้ แต่สังเกตสิ่งที่ข้อเหล่านี้สอนว่าเหตุใดเราจึงควรช่วยเหลือคนยากจนและเจตคติของเราเกี่ยวกับการช่วยเหลือพวกเขาสำคัญอย่างไรต่อพระเจ้า ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าทรงต้องการให้ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับการรับใช้ผู้อื่น?
ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พระบัญญัติข้อสำคัญข้อสอง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 96–100 ด้วย
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นศาสดาพยากรณ์ผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงยกขึ้นมาเช่นเดียวกับโมเสส
เปโตร นีไฟ โมโรไน และพระผู้ช่วยให้รอดพระองค์เองได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับคำพยากรณ์ใน เฉลยธรรมบัญญัติ 18:15–19 (ดู กิจการของอัครทูต 3:20–23; 1 นีไฟ 22:20–21; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:40; 3 นีไฟ 20:23) ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากข้อเหล่านี้? พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็น “เช่นเดียวกับ” โมเสสอย่างไร?? (เฉลยธรรมบัญญัติ 18:15)
เกิดอะไรขึ้นกับโมเสส?
ถึงแม้ เฉลยธรรมบัญญัติ 34:5–8 กล่าวว่าโมเสสสิ้นชีวิต แต่ความเข้าใจในยุคสุดท้ายทำให้กระจ่างว่าท่านได้รับการแปรสภาพ หรือถูกเปลี่ยนเพื่อท่านจะไม่ต้องรับความเจ็บปวดหรือความตายจนกว่าจะฟื้นคืนชีวิต (ดู แอลมา 45:18–19; คู่มือพระคัมภีร์, “โมเสส”; “สัตภาวะที่แปรสภาพ” scriptures.ChurchofJesusChrist.org) โมเสสจำเป็นต้องได้รับการแปรสภาพเพราะเขาต้องมีร่างกายจึงจะมอบกุญแจฐานะปุโรหิตให้เปโตร ยากอบ และยอห์นที่ภูเขาแห่งการเปลี่ยนสภาพ (มัทธิว 17:1–13)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
เฉลยธรรมบัญญัติ 6:10–15ข้อเหล่านี้อาจกระตุ้นให้สมาชิกครอบครัวนึกถึงด้านต่างๆ ที่ครอบครัวท่านได้รับพร เราจะทำตามคำแนะนำให้ “ระวังตัวเกรงว่าพวกท่านจะลืมพระยาห์เวห์” ได้อย่างไร? (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:12) ท่านอาจต้องการจดบันทึกความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพรของท่าน อาจจะจดไว้ในบันทึกส่วนตัวหรือบน FamilySearch
-
เฉลยธรรมบัญญัติ 6:13, 16; 8:3ข้อเหล่านี้ช่วยพระผู้ช่วยให้รอดระหว่างช่วงเวลาสำคัญในพระชนม์ชีพของพระองค์ เพื่อดูว่าช่วยอย่างไร ให้อ่าน มัทธิว 4:1–10 ด้วยกัน พระคัมภีร์ข้อใดช่วยท่านในยามจำเป็น?
-
เฉลยธรรมบัญญัติ 7:6–9ทำบางสิ่งที่จะช่วยให้สมาชิกครอบครัวท่านรู้สึกพิเศษ เช่น เตรียมอาหารโปรดให้ จากนั้นท่านอาจจะอ่าน เฉลยธรรมบัญญัติ 7:6–9 และสนทนาว่าท่านรู้สึกว่าการเป็น “ชนชาติบริสุทธิ์” (ข้อ 6) ต่อพระเจ้าหมายความว่าอย่างไร
-
เฉลยธรรมบัญญัติ 29:12–13การพูดคุยเกี่ยวกับ เฉลยธรรมบัญญัติ 29:12–13 จะเปิดโอกาสให้สมาชิกครอบครัวท่านได้สนทนาถึงพันธสัญญาที่พวกเขาจะทำหรือทำแล้วกับพระบิดาบนสวรรค์ การเป็นชนชาติของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร? พันธสัญญาของเรา “แต่งตั้ง [เรา] … ให้เป็นประชากรของ [พระผู้เป็นเจ้า]” อย่างไร? (ข้อ 13)
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ฉันจะดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 72