“16–22 พฤษภาคม เฉลยธรรมบัญญัติ 6–8; 15; 18; 29–30; 34: ‘จงระวังตัวเกรงว่าพวกท่านจะลืมพระยาห์เวห์’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“16–22 พฤษภาคม เฉลยธรรมบัญญัติ 6–8; 15; 18; 29–30; 34” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022
16–22 พฤษภาคม
เฉลยธรรมบัญญัติ 6–8; 15; 18; 29–30; 34
“จงระวังตัวเกรงว่าพวกท่านจะลืมพระยาห์เวห์”
ไตร่ตรองว่าท่านจะปรับกิจกรรมในโครงร่างนี้ให้เหมาะกับความต้องการของเด็กที่ท่านสอนได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น หากท่านสอนเด็กเล็ก ท่านอาจช่วยเตรียมพวกเขาให้พร้อมรับบัพติศมาโดยปรับกิจกรรมใต้ “การรักษาพันธสัญญาของฉันนำมาซึ่งพรอันยิ่งใหญ่” ในหมวดเด็กโต
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับโมเสสในปฐมวัยหรือที่บ้านในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา หากจำเป็น ให้ดูภาพเหตุการณ์จากชีวิตของโมเสสเพื่อช่วยให้พวกเขาจำได้ บอกพวกเขาว่าวันนี้ท่านจะพูดเกี่ยวกับสิ่งที่โมเสสสอนในวาระสุดท้ายของชีวิตเขาบนแผ่นดินโลก
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
ฉันสามารถรักพระเจ้าสุดหัวใจ
โมเสสสอนลูกหลานของอิสราเอลว่าพวกเขาควรรักพระเจ้าด้วยสุดจิต สุดใจ และสุดกำลัง คิดวิธีที่ท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนเพิ่มพูนความรักของพวกเขาที่มีต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอด
กิจกรรมที่ทำได้
-
วาดรูปหัวใจ โครงร่างกาย และแขนที่แข็งแรงไว้บนกระดาน อ่าน เฉลยธรรมบัญญัติ 6:5 และชี้ไปที่รูปขณะที่ท่านอ่านคำว่า “จิต” “ใจ” และ “กำลัง” เชื้อเชิญให้เด็กผลัดกันชี้ที่รูปขณะที่ชั้นเรียนพูดทวนข้อพระคัมภีร์กับท่าน
-
ร้องเพลงๆ หนึ่งที่สอนเกี่ยวกับความรักของพระผู้เป็นเจ้า เช่น “พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักฉัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 16–17) ช่วยเด็กหาคำในเพลงที่แสดงให้เห็นว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักเรา ช่วยพวกเขาคิดวิธีที่เราสามารถแสดงให้พระองค์เห็นว่าเรารักพระองค์เช่นกัน
พระคัมภีร์เป็นพระคำของพระผู้เป็นเจ้า
คำแนะนำใน เฉลยธรรมบัญญัติ 6:6–9 มีไว้เพื่อช่วยให้ชาวอิสราเอล “ระวังตัวเกรงว่า [พวกเขา] จะลืมพระยาห์เวห์” และพระคำของพระองค์ (ข้อ 12) ท่านจะช่วยเด็กทำให้พระคัมภีร์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตพวกเขาอย่างสม่ำเสมอได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กซ่อนพระคัมภีร์เล่มหนึ่งในห้องขณะเด็กที่เหลือหลับตา จากนั้นให้เด็กลืมตาและพยายามหาพระคัมภีร์ ใช้วลีที่สำคัญจาก เฉลยธรรมบัญญัติ 6:6–9 แบ่งปันกับเด็กว่าโมเสสบอกให้ชาวอิสราเอลวางข้อพระคัมภีร์ในสถานที่ซึ่งพวกเขาจะเห็นและเรียนรู้จากข้อเหล่านั้นทุกวัน ช่วยให้เด็กนึกถึงสถานที่ในบ้านที่พวกเขาอาจวางพระคัมภีร์ไว้เพื่อจะเห็นได้ทุกวัน
-
ร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับพระคัมภีร์ เช่น “ค้นหาไตร่ตรองและสวด” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 66) แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระคัมภีร์เป็นพระคำของพระผู้เป็นเจ้า และบอกเด็กว่าพระคัมภีร์เป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร
ศาสดาพยากรณ์สอนเราเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์
โมเสสพยากรณ์ว่าพระเยซูคริสต์จะเสด็จมา และเราควรฟังพระคำที่พระเยซูจะทรงสอน
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูภาพศาสดาพยากรณ์ในปัจจุบัน และแบ่งปันบางสิ่งที่ท่านสอนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด เชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปศาสดาพยากรณ์และแบ่งปันกับครอบครัวพวกเขา
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
ฉันสามารถรักษาพระคำของพระผู้เป็นเจ้าไว้ในใจฉันได้
โมเสสสอนว่าเราควรรักษาพระคำของพระผู้เป็นเจ้าไว้ในใจเรา และเขาให้คำแนะนำแก่ชาวอิสราเอลเกี่ยวกับวิธีรักษาพระคำของพระผู้เป็นเจ้าอย่างสม่ำเสมอต่อหน้าพวกเขา ท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเรียนรู้จากพระคำของพระผู้เป็นเจ้าทุกวันได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
เขียนคำและวลีจาก เฉลยธรรมบัญญัติ 6:6–9 ไว้บนกระดานที่ระบุว่าชาวอิสราเอลควรจดจำพระคำของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อใดและอย่างไร (เช่น นั่ง เดิน นอนลง มือ และ บ้าน) เชื้อเชิญให้เด็กหาคำในข้อเหล่านั้น คำเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีทำให้พระคัมภีร์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา? ถามเด็กว่ามีอะไรบ้างที่พวกเขาทำได้เพื่อจดจำพระคำของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตประจำวันของพวกเขา
-
แจกกระดาษให้เด็ก และเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนวลีจาก เฉลยธรรมบัญญัติ 6 ที่มีความหมายต่อพวกเขา ขอให้พวกเขาแบ่งปันว่าเหตุใดจึงเลือกวลีของตน แนะนำให้พวกเขาตกแต่งกระดาษและแสดงไว้ในบ้านเพื่อจดจำ กระตุ้นให้เด็กจดและแสดงวลีอื่นๆ ที่พบในพระคัมภีร์
ฉันสามารถรับใช้คนที่เดือดร้อนได้อย่างมีความสุข
คำสอนใน เฉลยธรรมบัญญัติ 15:7–11 สามารถช่วยให้เด็กที่ท่านสอนเข้าใจว่าการช่วยเหลือผู้อื่นเกี่ยวข้องมากกว่าการกระทำ ซึ่งควรทำด้วยใจที่เต็มใจ
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขอให้เด็กนึกถึงใครบางคนที่อาจช่วยได้—โดยเฉพาะในครอบครัวของตน ให้เวลาพวกเขาเขียนสิ่งที่จะทำในสัปดาห์นี้เพื่อช่วยเหลือคนนั้น หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ วางแผนให้ทั้งชั้นเรียนยื่นมือช่วยเหลือคนที่ขัดสน
การรักษาพันธสัญญาของฉันนำมาซึ่งพรอันยิ่งใหญ่
เช่นเดียวกับลูกหลานของอิสราเอล เราต้องการสิ่งเตือนใจให้ดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาของเราอย่างสม่ำเสมอ การอ่าน เฉลยธรรมบัญญัติ 30:8–10 อาจช่วยให้เด็กเข้าใจมากขึ้นว่าพันธสัญญาคืออะไรและสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขารักษาพันธสัญญาของตน
กิจกรรมที่ทำได้
-
ถามเด็กว่าพันธสัญญาคืออะไร (หากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ แนะนำให้พวกเขาค้นหาคำนิยาม “พันธสัญญา” ในคู่มือพระคัมภีร์ [scriptures.ChurchofJesusChrist.org]) วาดตารางสองคอลัมน์บนกระดานกับหัวข้อเหล่านี้: สัญญาของชาวอิสราเอล และ สัญญาของพระผู้เป็นเจ้า เชื้อเชิญให้เด็กค้นหา เฉลยธรรมบัญญัติ 30:8–10 และเติมลงในคอลัมน์ (หากจำเป็น ช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของวลีใน ข้อ 9) เป็นพยานถึงพรที่มาถึงท่านจากการรักษาพันธสัญญา
-
เชื้อเชิญให้เด็กเขียนสัญญาที่เราทำเมื่อบัพติศมาและสัญญาที่พระบิดาบนสวรรค์ทำกับเราไว้บนกระดาน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37, 77) เราทำอะไรได้บ้างเพื่อระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดตลอดเวลาและรักษาพันธสัญญาของเรา?
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กแสร้งว่าท่านเป็นสมาชิกในครอบครัวของพวกเขา และขอให้พวกเขาบอกท่านหนึ่งอย่างที่เรียนรู้ในชั้นเรียนวันนี้ กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาบอกท่านกับสมาชิกครอบครัวเมื่อกลับถึงบ้าน