“9–15 พฤษภาคม กันดารวิถี 11–14; 20–24: ‘อย่าให้เรากบฏต่อพระยาห์เวห์ อย่ากลัว’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“9–15 พฤษภาคม กันดารวิถี 11–14; 20–24” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022
9–15 พฤษภาคม
กันดารวิถี 11–14; 20–24
“อย่าให้เรากบฏต่อพระยาห์เวห์ อย่ากลัว”
ไม่จำเป็นต้องสอนตามโครงร่างนี้ทีเดียว แต่ให้ใช้เพื่อได้รับแนวคิดและการดลใจสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะเป็นพรแก่เด็กในชั้นเรียนของท่าน
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ให้เด็กดูภาพใดภาพหนึ่งในโครงร่างนี้หรือใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว ให้พวกเขาแบ่งปันกับท่านถึงสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพ
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
ฉันสามารถขอบพระทัยสำหรับสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้ฉัน
แม้พระเจ้าจะทรงทำสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ ให้ลูกหลานของอิสราเอล แต่พวกเขามักจะมุ่งสนใจสิ่งที่พวกเขาไม่มี ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะขอบพระทัยสำหรับสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้พวกเขา
กิจกรรมที่ทำได้
-
ถามเด็กว่าพวกเขาจำปาฏิหาริย์บางอย่างที่พระเจ้าทรงทำเพื่อเป็นพรแก่ชาวอิสราเอลในแดนทุรกันดารได้หรือไม่ (หากเด็กต้องการความช่วยเหลือ ให้พวกเขาดูภาพจาก โครงร่าง 4–10 เมษายน ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว; ดู อพยพ 14:21–22; 15:23–25; 16:4 ด้วย) จากนั้นสรุป กันดารวิถี 11:4–10 ให้พวกเขาฟังโดยเน้นว่าพระเจ้าไม่พอพระทัยเพราะชาวอิสราเอลบ่นว่า ช่วยเด็กคิดวิธีที่พวกเขาจะแสดงความสำนึกคุณต่อพระเจ้าได้
-
ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับความสำนึกคุณ เช่น “นับพระพรท่าน” (เพลงสวด บทเพลงที่ 118) เชื้อเชิญให้เด็กทุกคนวาดรูปพรที่พระเจ้าประทานให้พวกเขาหรือครอบครัวพวกเขา กระตุ้นให้พวกเขานึกถึงหรือมองที่ภาพไม่ว่าเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาถูกล่อลวงให้บ่นว่าเกี่ยวกับบางสิ่งที่พวกเขาไม่มี
ศรัทธาสามารถช่วยให้ฉันไม่กลัว
เมื่อโมเสสส่งชาย 12 คนไปค้นหาเกี่ยวกับแผ่นดินที่สัญญาไว้ ชาย 10 คนในบรรดาพวกเขากลัวกลับมาเพราะผู้คนที่มีกำลังมากอาศัยอยู่ที่นั่น มีสองคนในบรรดาพวกเขาชื่อคาเลบและโยชูวาที่ไม่กลัวเพราะพวกเขามีศรัทธาในพระเจ้า
กิจกรรมที่ทำได้
-
ใช้ภาพหรือวาดรูปองุ่น น้ำผึ้ง คนเนฟิล [ยักษ์] และตั๊กแตนเพื่อเล่าให้เด็กฟังสั้นๆ เกี่ยวกับชาย 12 คนที่โมเสสส่งไปสำรวจแผ่นดินที่สัญญาไว้ (ดู กันดารวิถี 13:17–33; ดู “สี่สิบปีในแดนทุรกันดาร” ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม ด้วย) อธิบายว่าพวกเขาพบผลไม้และอาหารอื่นๆ มากมาย (เชื้อเชิญให้เด็กทำท่ารับประทานอาหาร) แต่พวกเขาก็กลัวเช่นกันเพราะคนที่นั่นมีร่างใหญ่และแข็งแรง (เชื้อเชิญให้เด็กทำท่ากลัว) ให้ดูภาพระเยซู และชี้ให้เห็นว่าชาวอิสราเอลสองคน คาเลบกับโยชูวาไม่กลัวเพราะพวกเขามีศรัทธาในพระเยซูคริสต์
-
อ่าน กันดารวิถี 14:9 ให้เด็กฟัง และพูดถึงช่วงเวลาที่ท่านกลัวแต่ศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์ช่วยให้ท่านมีความกล้า ช่วยให้เด็กนึกถึงประสบการณ์คล้ายๆ กันที่พวกเขาเคยมี
ฉันสามารถพึ่งพาพระเยซูคริสต์ได้
ลูกหลานของอิสราเอลได้รับการรักษาโดยมองที่งูทองสัมฤทธิ์ฉันใด เด็กในชั้นเรียนของท่านจะได้รับความรอดโดยมองที่พระผู้ช่วยให้รอดฉันนั้น
กิจกรรมที่ทำได้
-
ใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้หรือภาพใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว บอกเด็กว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อ “งูพิษ” มาที่ค่ายของชาวอิสราเอล (ดู กันดารวิถี 21:6–9) ช่วยให้พวกเขาเห็นว่างูทองสัมฤทธิ์เหมือนกับพระเยซูคริสต์อย่างไร (ดู ยอห์น 3:14–15) จากนั้นให้เด็กผลัดกันใช้ภาพเล่าเรื่องให้ฟัง
-
ขอให้เด็กหลับตาขณะท่านวางภาพพระผู้ช่วยให้รอดไว้ที่ใดที่หนึ่งในห้อง จากนั้นให้เด็กลืมตา หาภาพ และมองที่ภาพนั้น ให้พวกเขาผลัดกันเป็นคนไปวางภาพ ทุกครั้งที่เด็กพบภาพ ให้ช่วยพวกเขานึกถึงบางสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อพึ่งพาพระผู้ช่วยให้รอด
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันทำตามศาสดาพยากรณ์ของพระองค์
กันดารวิถี 12 มีบทเรียนอันทรงคุณค่าที่สามารถช่วยเด็กเมื่อพวกเขาได้ยินผู้คนพูดสิ่งไม่ดีเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้าหรือผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ
กิจกรรมที่ทำได้
-
บอกเด็กว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง พระเจ้าไม่พอพระทัยอาโรนและมิเรียม พี่ชายและพี่สาวของโมเสส เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน กันดารวิถี 12:1–2 เพื่อหาเหตุผล ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5–8 พระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรที่อาโรนและมิเรียมพูดต่อต้านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์?
-
ช่วยให้เด็กนึกถึงแบบอย่างของผู้คนในพระคัมภีร์ที่ทำตามศาสดาพยากรณ์และได้รับพร (ดูตัวอย่างใน ปฐมกาล 7:7; 1 นีไฟ 3:7) ศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่สอนอะไรเราบ้าง? เราได้รับพรอย่างไรเมื่อเราทำตามคำสอนของท่าน?
พระเยซูคริสต์ทรงมีอำนาจที่จะเยียวยาฉันทางวิญญาณ
ชาวอิสราเอลหลายคนเสียชีวิตเพราะพวกเขาไม่มีศรัทธาว่าพระเจ้าจะทรงรักษาพวกเขาได้หากพวกเขามองที่งูทองสัมฤทธิ์ (ดู แอลมา 33:18–20) ท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนมีศรัทธาในอำนาจการช่วยให้รอดของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปสิ่งที่พวกเขาอ่านใน กันดารวิถี 21:4–9 ให้พวกเขาใช้ภาพเหล่านั้นเล่าเรื่อง ขอให้เด็กแต่ละคนเลือกพระคัมภีร์ข้อใดข้อหนึ่งจากข้อต่อไปนี้และแบ่งปันสิ่งที่ทำให้เข้าใจเรื่องราวมากขึ้น: ยอห์น 3:14–15; 1 นีไฟ 17:41; แอลมา 33:18–20; ฮีลามัน 8:13–15; หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:36
-
เขียนคำถามทำนองนี้บนกระดาน เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อ “มองดูพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าด้วยศรัทธา”? (ฮีลามัน 8:15) แจกกระดาษให้เด็กคนละแผ่น และเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนคำตอบของคำถามนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่พวกเขาจะนึกได้ เก็บกระดาษ อ่านออกเสียงคำตอบสองสามข้อ และเชื้อเชิญให้เด็กพูดว่าการทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยเราได้อย่างไรเมื่อเราต้องการอำนาจในการรักษาของพระผู้ช่วยให้รอด
ฉันสามารถทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แม้ผู้อื่นจะพยายามชักจูงฉันไม่ให้ทำ
บาลาคพยายามชักจูงให้บาลาอัมสาปแช่งชาวอิสราเอล แต่บาลาอัมรู้ว่าสิ่งนี้จะขัดต่อพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แบบอย่างของบาลาอัมอาจช่วยเด็กได้เมื่อพวกเขาเผชิญแรงกดดันให้ไม่เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า
กิจกรรมที่ทำได้
-
สรุป กันดารวิถี 22:1–18 ให้เด็กฟังโดยเน้นว่าบาลาอัมปฏิเสธที่จะสาปแช่งผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร แม้บาลาคผู้เป็นกษัตริย์ของโมอับเสนอเกียรติยศและเงินทองให้เขา ขอให้เด็กค้นข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้เพื่อหาวลีที่พวกเขารู้สึกว่าแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบาลาอัมที่จะทำตามพระผู้เป็นเจ้า: กันดารวิถี 22:18; 23:26; 24:13 เชื้อเชิญให้เด็กเลือกมาหนึ่งวลีที่พวกเขาชอบและเขียนวลีนั้นลงบนการ์ดเพื่อช่วยให้พวกเขาจดจำว่าจะเชื่อฟังพระเจ้า
-
พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับสถานการณ์เมื่อเพื่อนหรือผู้อื่นอาจพยายามชักจูงให้พวกเขาทำสิ่งผิด ดังที่บาลาคชักจูงบาลาอัม คำมั่นสัญญาของบาลาอัมที่มีต่อพระเจ้าช่วยให้เขาต้านทานแรงกดดันจากบาลาคได้อย่างไร? เชื้อเชิญให้เด็กฝึกตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านี้โดยใช้ถ้อยคำของบาลาอัม
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันบางสิ่งกับครอบครัวพวกเขา เช่น ภาพ ข้อพระคัมภีร์ หรือเพลงๆ หนึ่งที่แสดงถึงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในปฐมวัย