หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021
14–20 มิถุนายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64–66: “พระเจ้าทรงเรียกร้องใจและความคิดที่เต็มใจ”


“14–20 มิถุนายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64–66: ‘พระเจ้าทรงเรียกร้องใจและความคิดที่เต็มใจ’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)

“14–20 มิถุนายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64–66” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2021

ทุ่งกว้างตอนอรุณรุ่ง

เทศมณฑลเดวีส์ มิสซูรี

14–20 มิถุนายน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 64–66

“พระเจ้าทรงเรียกร้องใจและความคิดที่เต็มใจ”

ขณะเตรียมสอนจงพิจารณาว่าท่านจะปรับวิธีให้เหมาะกับความต้องการของเด็กอย่างไร จำไว้ว่าท่านสามารถใช้กิจกรรมใดก็ได้ในโครงร่างนี้สำหรับเด็กเล็กหรือเด็กโต

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เปิดโอกาสให้เด็กแต่ละคนถือภาพพระผู้ช่วยให้รอดและแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์และพระกิตติคุณ

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9–10

พระเยซูคริสต์ทรงขอให้ฉันให้อภัยผู้อื่น

ท่านคิดจะใช้กิจกรรมหรือบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริงอะไรช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของการให้อภัย? ขณะสนทนาเรื่องการให้อภัยจงเตือนเด็กว่าการให้อภัยไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้ผู้อื่นทำร้ายเรา

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่านวลี “เจ้าควรให้อภัยกัน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9) และถามเด็กว่าการให้อภัยคนบางคนหมายความว่าอย่างไร เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจ ท่านจะยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายสักสองสามตัวอย่าง ช่วยพวกเขาแสดงบทบาทสมมุติของตัวอย่างเหล่านี้เพื่อฝึกการให้อภัย

  • อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:10 ช้าๆ ให้เด็กฟัง และให้พวกเขาจับมือกันเมื่อได้ยินคำว่า “ให้อภัย” แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับสันติสุขและความสุขที่เกิดขึ้นเมื่อเราให้อภัยผู้อื่น

  • ร้องเพลงหนึ่งเพลงเกี่ยวกับการให้อภัย เช่น “พระบิดาโปรดช่วยฉัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 52) เพลงนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการให้อภัยผู้อื่น?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:34

ฉันสามารถเชื่อฟังพระเยซูด้วยใจและความคิด

พระเจ้าทรงสอนวิสุทธิชนว่า เพื่อสร้างไซอันพวกเขาต้องถวายใจและความคิดที่เต็มใจแด่พระองค์ พิจารณาว่าท่านจะช่วยให้เด็กเริ่มคิดอย่างไรว่านี่มีความหมายอะไรต่อพวกเขา

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:34 ให้เด็กฟัง: “ดูเถิด, พระเจ้าทรงเรียกร้องใจและความคิดที่เต็มใจ” ทวนวลีนี้สองสามครั้งโดยชี้ที่หัวใจและศีรษะของท่านเมื่อท่านอ่านคำเหล่านี้และให้เด็กทำตาม เราจะถวายใจและความคิดเราแด่พระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร? (อาจจะช่วยได้ถ้าอธิบายว่าใจเราหมายถึงความรู้สึกและความรักของเรา ความคิดเราหมายถึงความนึกคิดของเรา)

  • ร้องเพลงหนึ่งเพลงเกี่ยวกับการรักและทำตามพระผู้ช่วยให้รอด เช่น “ฉันรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วย” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 42–43; โดยเฉพาะข้อ 3) เราแสดงให้พระผู้ช่วยให้รอดเห็นอย่างไรว่าเรารักพระองค์? แบ่งปันความรู้สึกที่ท่านมีต่อพระเยซูคริสต์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 66

พระเจ้าทรงทราบว่าฉันเป็นใครและทรงรักฉัน

วิลเลียม อี. แม็คเลลลินมีคำถามห้าข้อสำหรับพระเจ้า โจเซฟ สมิธได้รับคำตอบของคำถามเหล่านั้นในการเปิดเผยทั้งที่ท่านไม่ทราบว่าคำถามของวิลเลียมคืออะไร ประสบการณ์นี้จะช่วยให้ท่านสอนเด็กว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้จักพวกเขาและสามารถตอบคำถามของพวกเขาได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • บอกเด็กว่าพระเจ้าทรงตอบคำถามของวิลเลียม อี. แม็คเลลลินผ่านการเปิดเผยจากศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอย่างไร (ดู หัวบทของหลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 66) เป็นพยานว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้จักเราและทรงต้องการช่วยเหลือเรา ขอให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักพวกเขา

  • อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:4 ให้เด็กฟัง เล่าให้เด็กฟังตอนที่พระเจ้าทรงแสดงให้ท่านเห็นว่าพระองค์ทรงต้องการให้ท่านทำอะไร อ่านข้อนี้อีกครั้ง คราวนี้ให้ใส่ชื่อเด็กคนหนึ่งแทนคำว่าเจ้า ทำซ้ำกับเด็กแต่ละคน

    พระเยซูและเด็ก

    พระเยซูคริสต์ทรงรักเราแต่ละคน

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:7–10

พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันให้อภัยทุกคน

ตามที่ข้อเหล่านี้แสดงให้เห็น แม้แต่สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องการให้อภัยกัน พิจารณาว่าท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจพระบัญชาของพระเจ้า “ให้อภัยมนุษย์ทั้งปวง” ได้อย่างไร (ชี้แจงว่าการให้อภัยไม่ได้หมายถึงการยอมให้ผู้อื่นทำร้ายเรา พวกเขาควรบอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจเสมอถ้ามีคนทำร้ายพวกเขา)

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กสมมติว่าพวกเขาต้องสอนน้องเกี่ยวกับการให้อภัย พวกเขาจะสอนว่าอย่างไร? เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:7–10 เป็นคู่ๆ และหาวลีที่พวกเขาจะใช้สอน พวกเขาฝึกสอนกันได้ด้วย

  • ร้องเพลง “พระบิดาโปรดช่วยฉัน” ด้วยกัน (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 52) พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยให้เราให้อภัยผู้อื่นอย่างไร?

  • คิดเรื่องเปรียบเทียบที่อาจจะช่วยให้เด็กเข้าใจว่าเรา “ทุกข์ทรมาน” เมื่อเราไม่ให้อภัย (ข้อ 8) ตัวอย่างเช่น ให้เด็กดูถุงดินหรือถุงโคลน ขอให้พวกเขาสมมติว่ามีคนปาโคลนใส่พวกเขา การไม่ให้อภัยเหมือนกับการเก็บโคลนแบกไว้กับตัวตลอดเวลาอย่างไร? เหตุใดการโยนโคลนทิ้งจึงดีกว่า? ช่วยให้เด็กคิดถึงเรื่องเปรียบเทียบอื่นที่สอนว่าเหตุใดการให้อภัยจึงสำคัญ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:33–34

พระเจ้าทรงเรียกร้อง “ใจและความคิดที่เต็มใจ” ของฉัน

การสร้างไซอัน—หรือช่วยให้ศาสนจักรเติบโต—เป็น “งานอันสำคัญยิ่ง” เพื่อทำงานนั้นให้สำเร็จ พระเจ้าทรงเรียกร้องให้เราถวายใจและความคิดที่เต็มใจแด่พระองค์ คนที่อยู่ในไซอันมี “จิตใจเดียวและความคิดเดียว” (โมเสส 7:18)

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้เด็กดูของบางอย่างที่ทำจากชิ้นส่วนเล็กๆ หลายชิ้น เช่น ภาพตัวต่อหรือพรม ช่วยให้พวกเขานึกถึงตัวอย่างอื่น เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:33 พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เราทำอะไรเพื่อช่วยทำ “งานอันสำคัญยิ่ง” ของพระองค์ให้สำเร็จ? “สิ่งเล็กน้อย” อะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อจะช่วยทำงานนี้ให้สำเร็จ?

  • ขอให้เด็กทำงานที่ต้องใช้ของสองอย่าง แต่มอบของให้พวกเขาอย่างเดียว (ตัวอย่างเช่น เขียนกระดานโดยไม่มีชอล์กหรือตัดกระดาษโดยไม่มีกรรไกร) เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:34 เพื่อหาสองสิ่งที่พระเจ้าทรงขอจากเรา เหตุใดเราจึงต้องถวายทั้งใจเราและความคิดเราแด่พระเจ้า? เราทำสิ่งนี้อย่างไร?

หลักคำสอนและพันธสัญญา 65

ฉันสามารถช่วยเตรียมโลกให้พร้อมรับพระเยซูคริสต์

พันธกิจของศาสนจักร—อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก—คือเตรียมโลกให้พร้อมรับการเสด็จกลับของพระผู้ช่วยให้รอด เด็กที่ท่านสอนเป็นส่วนสำคัญของพันธกิจนี้ ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วม?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้เด็กทั้งชั้นหรือเป็นคู่ๆ อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 65 และนับจำนวนครั้งของคำว่า “เตรียม” พระเจ้าทรงขอให้เราเตรียมรับอะไร? เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมตัวเราและแผ่นดินโลก?

  • ให้ดูภาพการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 66) และขอให้เด็กบรรยายสิ่งที่พวกเขาเห็นหรือรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ให้หาคำและวลีสำคัญๆ ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 65 (เช่น “เต็มทั้งแผ่นดินโลก” และ “งานอันน่าพิศวง”) คำและวลีเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองและบทบาทของเราในการเตรียมรับ?

ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ช่วยเด็กหาข้อพระคัมภีร์หนึ่งข้อใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 64–66 ที่พวกเขาชอบและต้องการแบ่งปันให้กับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อน

ปรับปรุงการสอนของเรา

ฝึกรับรู้การเปิดเผย ขณะท่านสวดอ้อนวอนและไตร่ตรองพระคัมภีร์ ท่านจะพบว่าแนวคิดและความประทับใจเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา—“ขณะท่านเดินทางไปทำงาน ทำงานบ้าน หรือปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวหรือเพื่อนๆ” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 12)