“8–14 พฤศจิกายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 129–132: ‘เมื่อเราได้รับพรประการใดจากพระผู้เป็นเจ้า, ย่อมเป็นไปเนื่องจากการเชื่อฟัง’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“8–14 พฤศจิกายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 129–132” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2021
8–14 พฤศจิกายน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 129–132
“เมื่อเราได้รับพรประการใดจากพระผู้เป็นเจ้า, ย่อมเป็นไปเนื่องจากการเชื่อฟัง”
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์อธิบายว่า “การบอกและพูดอย่างเดียวไม่ใช่การสอน การสั่งสอนพระกิตติคุณในวิธีของพระเจ้าได้แก่ การสังเกต ฟัง และเล็งเห็น” (“Becoming a Preach My Gospel Missionary,” New Era, Oct. 2013, 6) พระวิญญาณทรงสอนอะไรท่านขณะท่านสังเกตและฟังเด็กที่ท่านสอน?
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เลือกหัวข้อหนึ่งจาก ภาค 129–132 และให้เด็กบอกสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ไปแล้วเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ตัวอย่างเช่น พวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์หรือพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์? เกี่ยวกับการแต่งงานนิรันดร์? เกี่ยวกับอาณาจักรซีเลสเชียล?
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:20–21; 132:5
พรมาจากการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า
โจเซฟ สมิธสอนว่าพรทุกประการจากพระผู้เป็นเจ้ามีพื้นฐานบนการเชื่อฟังกฎของพระองค์ ท่านจะสอนหลักธรรมนี้ให้เด็กเข้าใจได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
แบ่งปันการเปรียบเทียบง่ายๆ กับเด็กที่แสดงให้เห็นว่าการทำตามคำแนะนำสำคัญเพียงใด ตัวอย่างเช่น พูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับขั้นตอนที่เราต้องทำตามเพื่อเตรียมอาหารหรือเล่นเกมหรือสร้างบางสิ่งบางอย่าง เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราไม่ทำตามคำแนะนำ? (ท่านอาจจะมีประสบการณ์ส่วนตัวที่แบ่งปันได้) อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:21 และเปรียบเทียบคำแนะนำเหล่านี้กับพระบัญญัติที่เราต้องทำตามเพื่อรับพรจากพระบิดาบนสวรรค์
-
ถามเด็กว่าพวกเขานึกถึงเวลาที่พวกเขาเชื่อฟังพระบัญญัติข้อหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าออกหรือไม่ พวกเขารู้สึกอย่างไร? ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับการเชื่อฟัง เช่น “รักษาพระบัญญัติ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 68) และระบุพรของการเชื่อฟังที่กล่าวไว้ในเพลง สนทนาบางสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาให้เราทำ พระผู้เป็นเจ้าประทานพรเราอย่างไรเมื่อเรารักษาพระบัญญัติเหล่านั้น?
พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงมีพระวรกายเป็นอมตะ
เมื่อเราเข้าใจว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์ทรงมีพระวรกายเหมือนร่างกายของเรา เราจะรู้สึกใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น และความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์แน่นแฟ้นขึ้น
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูภาพพระเยซูคริสต์ และเชื้อเชิญให้พวกเขาชี้ตา ปาก และอวัยวะส่วนอื่นที่พระวรกายของพระองค์ จากนั้นให้พวกเขายืนและชี้อวัยวะเดียวกันที่ร่างกายของตน อ่านจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:22: “พระบิดาทรงมีพระวรกายเป็นเนื้อหนังและกระดูก …; พระบุตรก็เช่นกัน” เป็นพยานว่าร่างกายของเราเหมือนพระวรกายของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์
-
ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับร่างกายของเรา เช่น “ศีรษะ ไหล่ เข่า และเท้า” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 129) และให้เด็กทำท่าตามเนื้อร้อง ขอให้เด็กบอกบางสิ่งที่พวกเขาทำได้กับร่างกายของพวกเขา แสดงความกตัญญูต่อร่างกายที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ท่าน เราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าเราขอบพระทัยสำหรับของประทานพิเศษนี้?
-
เชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปพระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ และตนเอง ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าร่างกายของเราเหมือนพระวรกายของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูอย่างไร
พระบิดาบนสวรรค์ทรงทำให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันตลอดไป
ความสัมพันธ์ในครอบครัวเราจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ผ่านอำนาจการผนึกของพระเจ้าและศาสนพิธีของพระวิหารหากเรารักษาพันธสัญญาของเรา
กิจกรรมที่ทำได้
-
ช่วยให้เด็กนึกถึงตัวอย่างของสิ่งที่ไม่คงอยู่ตลอดไป—อาหารที่เน่าเสีย ดอกไม้ที่เหี่ยวแห้ง และอื่นๆ ให้ดูภาพครอบครัวของท่าน และบอกว่าท่านรู้สึกอย่างไรกับครอบครัว เป็นพยานว่าพระเจ้าทรงทำให้ครอบครัวคงอยู่ตลอดไปผ่านศาสนพิธีของพระวิหาร
-
เปิดหลักคำสอนและพันธสัญญาที่ ภาค 132 และบอกเด็กว่านี่เป็นการเปิดเผยต่อโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับการแต่งงานและครอบครัว ให้พวกเขาดู ข้อ 19 และชี้ให้เห็นคำว่า “ตราบชั่วนิรันดร” ขณะที่ท่านอ่าน เชื้อเชิญให้เด็กอ่านคำเหล่านี้กับท่าน
-
ช่วยพวกเขาทำตุ๊กตากระดาษแทนสมาชิกในครอบครัวของพวกเขา (ดูหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้) ตัดออก และใส่ไว้ในซองหรือใช้คลิปหนีบติดกันแทนอำนาจการผนึกที่สามารถทำให้ครอบครัวเราดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:18–19
พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันได้ความรู้และความรู้แจ้ง
สิ่งต่างๆ มากมายที่เราได้รับในชีวิตนี้จะไม่ไปกับเราในชีวิตหน้า แต่ “ความรู้และความรู้แจ้ง” ของเราจะไปกับเรา (หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:19)
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขอให้เด็กแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในโรงเรียนหรือจากบิดามารดา เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:18–19 เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับความรู้และความรู้แจ้งของเราในชีวิตหน้า
-
ข้อ 19 สอนอะไรเราเกี่ยวกับวิธีที่เราได้ความรู้และความรู้แจ้ง? เราจะขยันหมั่นเพียรและเชื่อฟังได้อย่างไรขณะที่เราพยายามเรียนรู้? (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้ที่ “การศึกษา” ใน เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [หน้า 9-10])
หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:20–21; 132:5, 21–23
พรมาจากการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า
ไตร่ตรองวิธีที่พระเจ้าประทานพรท่านเมื่อท่านเชื่อฟังกฎของพระองค์ ท่านจะแบ่งปันประสบการณ์อะไรได้บ้างกับเด็กเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับการเชื่อฟัง เช่น “รักษาพระบัญญัติ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 68–69) และให้เด็กอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:20–21 และ 132:5 ช่วยเด็กหาคำและวลีในพระคัมภีร์ที่คล้ายกับคำและวลีในเพลง เราได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร? ขอให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขาได้รับพรอย่างไรเพราะการเชื่อฟังกฎของพระผู้เป็นเจ้า
-
อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:21–23 ด้วยกันและเชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปต่างๆ แทนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากข้อเหล่านี้ ส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ และเสนอแนะให้พวกเขารวมกฎหรือพระบัญญัติที่ช่วยให้เราอยู่บนทางแคบสู่ชีวิตนิรันดร์ไว้ในภาพวาดของพวกเขาด้วย
หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:1–4; 132:15, 19
พระบิดาบนสวรรค์ทรงทำให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันตลอดไป
ไม่ว่าสถานการณ์ครอบครัวเราในปัจจุบันเป็นอย่างไร เราสามารถทำการเลือกตอนนี้ที่จะเตรียมเราให้พร้อมรับพรของครอบครัวนิรันดร์ในอนาคต
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขอให้นักเรียนบางคนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:1–4 และคนอื่นๆ อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:15 ช่วยให้พวกเขาค้นพบสิ่งที่ข้อเหล่านี้สอนเกี่ยวกับการแต่งงาน เลือกวลีสำคัญๆ จาก 132:19 (เช่น “หากชายแต่งภรรยา” “พันธสัญญาเป็นนิจ” “ผนึก” “ปฏิบัติตามพันธสัญญาของเรา” “ตราบชั่วนิรันดร” และ “ตลอดกาลและตลอดไป”) และขอให้เด็กหาวลีเหล่านี้ในข้อนั้น วลีเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการแต่งงาน?
-
ร้องเพลง “ครอบครัวสามารถอยู่ด้วยกันชั่วนิรันดร์” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 98) หรือทบทวน “บทที่ 55: การเปิดเผยเกี่ยวกับการแต่งงาน” (เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา, 198) ขอให้เด็กฟังและเตรียมแบ่งปันสิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้ครอบครัวเราดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ เป็นพยานว่าไม่ว่าสถานการณ์ครอบครัวเราในปัจจุบันเป็นอย่างไร เราสามารถเตรียมตัวให้พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนิรันดร์ได้
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กบอกครอบครัวว่าพวกเขารักครอบครัวมากเพียงใดและต้องการเป็นหนึ่งเดียวกันกับครอบครัวชั่วนิรันดร์