“6–12 กันยายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101: ‘จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“6–12 กันยายน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2021
6–12 กันยายน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101
“จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า”
ความท้าทายหรือการทดลองประเภทใดที่สมาชิกชั้นเรียนของท่านประสบ? ถ้อยคำแนะนำและปลอบประโลมอะไรใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101 ที่อาจช่วยพวกเขาได้?
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ท่านจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 98–101 ที่ช่วยพวกเขารับมือกับการทดลองและความท้าทายที่พวกเขาเผชิญ
สอนหลักคำสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:1–3, 11–16, 23–30, 37; 101:2–5, 9–16
การทดลองของเราจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของเรา
-
การข่มเหงหรือการต่อต้านที่เราเผชิญในวันนี้อาจแตกต่างจากที่วิสุทธิชนเผชิญในมิสซูรีเมื่อปี 1833 แต่ยังประยุกต์ใช้คำแนะนำของพระเจ้าใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98 ได้ เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้จากคำแนะนำนี้ ท่านอาจเขียนคำถามทำนองนี้บนกระดาน: พระเจ้าทรงต้องการให้วิสุทธิชนของพระองค์มองการต่อต้านด้วยวิธีใด? พระเจ้าทรงต้องการให้เราตอบสนองการต่อต้านอย่างไร? สมาชิกชั้นเรียนอาจจะทำงานเป็นกลุ่มเล็กเพื่อหาคำตอบใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:1–3, 11–16, 23–30 และจากนั้นสนทนาสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ เราพบความจริงอะไรบ้างที่สามารถช่วยให้เราเป็นสานุศิษย์ที่ดีขึ้นของพระเยซูคริสต์? ข้อความใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” จะช่วยเสริมการสนทนา
-
ในช่วงการข่มเหงหรือการทดลอง ข่าวสารนี้จาก ภาค 98 และ 101 ช่วยได้: พระเจ้าจะทรงช่วยเราถ้าเรายินดีวางใจพระองค์ เพื่อช่วยสมาชิกชั้นเรียนพบข้อความนี้ ท่านอาจเขียนรายการข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ไว้บนกระดานและเชิญสมาชิกชั้นเรียนเลือกสองสามข้อมาอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:1–3, 11–12, 37; 101:2–5, 9–16 ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบและกระตุ้นให้พวกเขาวางใจพระเจ้า ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับวิธีที่เราจะวางใจพระเจ้า? (ดู ลินดา เอส. รีฟส์, “จงมารับพรแห่งพันธสัญญาของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 118–120 ด้วย)
หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:1–8, 43–62
การทำตามคำแนะนำของพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้เราปลอดภัย
-
ท่านสามารถช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนรู้ถึงความปลอดภัยที่เกิดขึ้นเมื่อเรา “สดับฟังสุรเสียงของพระเจ้า”? (ข้อ 7) ท่านอาจเชิญสมาชิกชั้นเรียนสองสามคนแสดงเรื่องราวอุปมาใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:43–62 ขณะที่สมาชิกชั้นเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง จากนั้นท่านอาจจะสนทนาคำถามทำนองนี้: องค์ประกอบต่างๆ ของอุปมาอาจหมายถึงอะไรได้บ้าง? อะไรเป็นเหตุให้คนใช้เสียสวนองุ่นไป? เราเรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจากการกระทำของคนใช้? เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเจ้าจากการกระทำของเจ้านาย? อาจเป็นประโยชน์เช่นกันที่จะเปรียบเทียบ ข้อ 1–8 กับ ข้อ 47–51 และสนทนาว่าเราจะ “ซื่อสัตย์และมีปัญญา” ในความพยายามของเราเพื่อสร้างไซอันในชีวิตส่วนตัวของเรา ในบ้านของเรา และเป็นศาสนจักรอย่างไร
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
การหันแก้มอีกข้างหนึ่งต้องใช้ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์สอนว่า
“บางคนเข้าใจผิดคิดว่าการตอบสนองเช่นการนิ่งเงียบ ความสุภาพอ่อนน้อม ให้อภัย และแสดงประจักษ์พยานเป็นความเฉยเฉื่อยหรืออ่อนแอ แต่การ ‘รักศัตรู [ของเรา] อวยพรผู้ที่สาปแช่ง [เรา] ทำดีต่อผู้ที่เกลียดชัง [เรา] และสวดอ้อนวอนเพื่อพวกเขาผู้ที่ใช้ [เรา] อย่างมุ่งร้าย และข่มเหง [เรา]’ (มัทธิว 5:44) ต้องใช้ศรัทธา ความเข้มแข็ง และเหนือสิ่งอื่นใด ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์ …
“เมื่อเราไม่ตอบโต้—เมื่อเราหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้และสกัดกั้นความรู้สึกโกรธ—เราก็ยืนหยัดกับพระผู้ช่วยให้รอดเช่นกัน เราแสดงความรักของพระองค์ออกไป ซึ่งเป็นพลังเพียงอย่างเดียวที่จะสยบปฏิปักษ์และโต้ตอบผู้กล่าวร้ายเราโดยไม่กล่าวร้ายพวกเขาเป็นการตอบแทน นั่นไม่ใช่ความอ่อนแอ นั่นคือ ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์” (“ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งความเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 90)
การให้อภัยไม่ใช่การไม่เอาผิด
เอ็ลเดอร์เควิน อาร์. ดันแคนกล่าวว่า “พี่น้องทั้งหลายได้โปรดอย่าเข้าใจผิด การให้อภัยไม่ใช่การไม่เอาผิด เราไม่แก้ต่างให้พฤติกรรมที่ไม่ดีหรือยอมให้ผู้อื่นปฏิบัติไม่ดีต่อเรา เพราะเหตุจาก การต่อสู้ดิ้นรน ความเจ็บปวด หรือความอ่อนแอของพวกเขา แต่เรา สามารถ ได้ความเข้าใจและสันติเพิ่มขึ้นเมื่อเรามองกว้างขึ้น … การให้อภัยเป็นหลักธรรมเยียวยาที่น่าสรรเสริญ เราไม่ต้องเป็นเหยื่อครั้งที่สอง เราสามารถให้อภัยได้” (“สีผึ้งเยียวยาของการให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 35)