จงตามเรามา
25 กุมภาพันธ์–3 มีนาคม มัทธิว 6–7: ‘พระองค์ทรงสั่งสอนพวกเขาอย่างผู้มีสิทธิอำนาจ’


“25 กุมภาพันธ์–3 มีนาคม มัทธิว 6–7: ‘พระองค์ทรงสั่งสอนพวกเขาอย่างผู้มีสิทธิอำนาจ’” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: พันธสัญญาใหม่ 2019 (2019)

“25 กุมภาพันธ์–3 มีนาคม มัทธิว 6–7,” จงตามเรามา—สำหรับโรงเรียนวันอาทิตย์: 2019

พระเยซูทรงสอนที่ริมฝั่งทะเล

พระเยซูทรงสอนผู้คนริมฝั่งทะเล โดย เจมส์ ทิสสอท

25 กุมภาพันธ์–3 มีนาคม

มัทธิว 6–7

“พระองค์ทรงสั่งสอนพวกเขาอย่างผู้มีสิทธิอำนาจ”

ขณะที่ท่านเตรียมสอน ให้เริ่มโดยเตรียมตนเอง ศึกษา มัทธิว 6–7 และบันทึกความประทับใจทางวิญญาณของท่าน การทำเช่นนี้จะช่วยให้ท่านได้รับการเปิดเผยว่าจะตอบรับความต้องการของชั้นเรียนให้ดีที่สุดอย่างไร จากนั้นให้ค้นคว้าโครงร่างนี้เพื่อหาแนวคิดการสอน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันว่าข้อใดในคำเทศนาบนภูเขาที่พวกเขารู้สึกว่าจำเป็นที่สุดในปัจจุบัน กระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนเสริมข้อคิดของกันและกัน

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน

มัทธิว 6–7

ถ้าเราได้ยินและปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้า ชีวิตเราจะตั้งบนฐานที่มั่นคง

  • คำสอนใดจาก มัทธิว 6–7 จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ท่านสอนมากที่สุด ท่านอาจจะเขียนข้ออ้างอิงหลายๆ ข้อจาก มัทธิว 6–7 ที่มีคำสอนเหล่านี้ไว้บนกระดาน สมาชิกชั้นเรียนอาจจะเลือกศึกษาข้ออ้างอิงหนึ่งข้อในใจ แล้วเขียนความจริงทางวิญญาณที่เรียนรู้ไว้บนกระดาน คำสอนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อชีวิตเรามาแล้วอย่างไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสรุปคำเทศนาด้วยอุปมาที่อาจจะช่วยให้ชั้นเรียนของท่านเข้าใจความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดดีขึ้น (ดู มัทธิว 7:24–27; ดู ฮีลามัน 5:12 ด้วย) เพื่อให้เห็นภาพอุปมาเรื่องนี้ สมาชิกชั้นเรียนอาจช่วยกันสร้างฐานที่แข็งแรงโดยใช้อิฐ ถ้วย หรือวัสดุอื่น จากนั้นให้ทดสอบความแข็งแรงของฐานที่พวกเขาสร้าง พวกเขาอาจจะเขียนสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อประยุกต์ใช้คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดติดไว้ที่วัสดุเหล่านั้นด้วยก็ได้ การทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยเราต้านมรสุมของชีวิตได้อย่างไร

มัทธิว 6:5–13

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนวิธีสวดอ้อนวอน

  • การศึกษาคำสวดอ้อนวอนของพระเจ้าอาจจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนค้นพบว่าพวกเขาจะปรับปรุงการสวดอ้อนวอนของตนเองโดยทำตามแบบอย่างของพระเจ้าได้อย่างไร ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนวลีจาก มัทธิว 6:9–13 (หรือ ลูกา 11:1–4) ที่สะดุดใจพวกเขาไว้บนกระดาน ขณะที่เราไตร่ตรองคำสวดอ้อนวอนของพระผู้ช่วยให้รอด เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเจตคติที่เราควรมีขณะที่เราสวดอ้อนวอน เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับประเภทของสิ่งที่เราควรสวดอ้อนวอนขอหรือสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับสิ่งนั้น อาจเป็นประโยชน์ถ้าให้สมาชิกชั้นเรียนถอดความบางวลีของพระผู้ช่วยให้รอดออกมาเป็นสิ่งที่พวกเขาจะกล่าวในคำสวดอ้อนวอนของพวกเขาเอง อาทิ “ขอประทานอาหารประจำวันแก่พวกข้าพระองค์ในวันนี้” อาจจะถอดความได้ว่า “ขอทรงช่วยข้าพระองค์ขณะข้าพระองค์พยายามหาเลี้ยงครอบครัวของข้าพระองค์”

  • คนที่ท่านสอนอาจได้ประโยชน์จากการศึกษาตัวอย่างอื่นของพระผู้ช่วยให้รอดขณะทรงสวดอ้อนวอนพระบิดาของพระองค์ เช่น มัทธิว 26:36–42 และ ยอห์น 17 ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนศึกษาบางข้อเหล่านี้โดยค้นหาคำตอบของคำถามเช่น “เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนจากวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสวดอ้อนวอน” และ “เราจะทำให้การสวดอ้อนวอนของเราเป็นเหมือนการสวดอ้อนวอนของพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นได้อย่างไร” ดูตัวอย่างการสวดอ้อนวอนของคนอื่นๆ ใน อีนัส 1:3–17; แอลมา 31:26–35; 33:3–11

  • ท่านมีประสบการณ์เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนที่สามารถแบ่งปันได้หรือไม่ การแบ่งปันประสบการณ์ของท่านอาจกระตุ้นให้สมาชิกชั้นเรียนทำเช่นเดียวกัน ประธานโธมัส เอส. มอนสันแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนหลายครั้งในข่าวสารของท่านเรื่อง “พิจารณาพร” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 86–89) ท่านอาจสนทนาหลักธรรมจากข่าวสารนี้และจากคำพูดอ้างอิงใน “แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม” ข้อมูลเรื่อง “สวดอ้อนวอน (การ)” ในคู่มือพระคัมภีร์อาจเป็นประโยชน์เช่นกัน

มัทธิว 7:7–11

พระบิดาบนสวรรค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอน

  • เพื่อช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนเสริมสร้างศรัทธาของตนว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงฟังและตอบคำสวดอ้อนวอนของพวกเขา ท่านอาจจะเขียนคำว่า ขอ หา และ เคาะ ไว้บนกระดาน จากนั้นให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้าพระคัมภีร์เพื่อหาตัวอย่างของคนที่ “ขอ” “หา” และ “เคาะ” (ดูตัวอย่างใน 1 นีไฟ 11:1; อีเธอร์ 2:18–3:6; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:11–17) เราเรียนรู้อะไรจากตัวอย่างเหล่านี้เกี่ยวกับการได้รับคำตอบการสวดอ้อนวอนของเรา

  • บริบทที่สำคัญบางส่วนของ มัทธิว 7:7–11 อยู่ใน Joseph Smith Translation of Matthew 7:12–17 (ใน Bible appendix) ในข้อเหล่านี้ เหล่าสาวกของพระเยซูคาดคะเนเหตุผลบางประการที่ผู้คนอาจจะให้กับการไม่แสวงหาความจริงจากพระบิดาบนสวรรค์ ท่านอาจจะขอให้สมาชิกชั้นเรียนสมมติว่าพวกเขามีเพื่อนคนหนึ่งที่ไม่ยินยอมแสวงหาการนำทางหรือพรจากพระเจ้า สมาชิกชั้นเรียนจะพูดให้กำลังใจเพื่อนคนนี้ว่าอย่างไร พวกเขาจะใช้พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน มัทธิว 7:7–11 อย่างไร

มัทธิว 7:15–20

เราสามารถแยกแยะศาสดาพยากรณ์ตัวจริงกับตัวปลอมได้โดยผลของพวกเขา

  • สมาชิกในชั้นเรียนของท่านอาจจะเคยพบเจอปรัชญาเท็จและคำหลอกลวงอื่นๆ ของปฏิปักษ์ ไม่ว่าบนอินเทอร์เน็ตหรือจากแหล่งอื่น พวกเขาอาจจะเคยได้ยินคนอื่นวิพากษ์วิจารณ์ผู้รับใช้ของพระเจ้าเช่นกัน ท่านจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจวิธีแยกแยะศาสดาพยากรณ์ปลอมและคำสอนเท็จจากศาสดาพยากรณ์ตัวจริงได้อย่างไร ท่านอาจจะให้ดูผลไม้หลายๆ ชิ้นและถามว่าเราสามารถบอกได้หรือไม่ว่าผลเหล่านั้นมาจากต้นอะไร แบบฝึกหัดนี้ช่วยให้เราเข้าใจ มัทธิว 7:15–20 อย่างไร ท่านอาจจะอ่านข่าวสารล่าสุดจากศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ด้วยกัน การทำตามคำแนะนำของพวกท่านเกิด “ผล” หรือผลลัพธ์อะไรบ้าง

    ผล

    เรารู้จักศาสดาพยากรณ์ตัวจริงได้โดยผลของพวกท่าน

  • มัทธิว 7:15–20 อาจจะช่วยสร้างศรัทธาของสมาชิกชั้นเรียนในพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ อะไรคือผลของงานที่โจเซฟ สมิธทำสำเร็จ ดูแนวคิดบางประการได้จากข่าวสารของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นเรื่อง “โจเซฟ สมิธ” ( เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 28–31) เราจะใช้แนวเทียบของพระผู้ช่วยให้รอดใน มัทธิว 7:15–20 แสดงประจักษ์พยานเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้เพื่อนๆ และครอบครัวฟังได้อย่างไร

ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

สัปดาห์นี้ เมื่อสมาชิกชั้นเรียนศึกษาปาฏิหาริย์มากมายที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ ให้พวกเขาไตร่ตรองตัวอย่างของปาฏิหาริย์ยุคปัจจุบัน—ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก—ที่พวกเขาเคยประสบหรือเคยได้ยิน

ไอคอนแหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

มัทธิว 6–7

เพลงให้ชั้นเรียนใช้

  • สมาชิกชั้นเรียนเรียนรู้หลักธรรมอะไรบ้างเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนจากคำร้องของเพลง “การสวดอ้อนวอนดวงจิตต้องการ” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 67)

  • การอ่าน ร้อง หรือฟังเพลง “สรรเสริญบุรุษ,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 14 อาจจะช่วยให้สมาชิกชั้นเรียนนึกถึงผลบางอย่างซึ่งทำให้เรารู้ได้ว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า (ดู คพ. 135:3; “Joseph Smith,” Gospel Topics, topics.lds.orgด้วย)

เรื่องเล่าเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์เล่าเรื่องการสวดอ้อนวอนของครอบครัวท่านก่อนท่านเดินทางไปแคลิฟอร์เนีย สัตวแพทย์บอกว่าวัวของพวกท่านจะอยู่ไม่พ้นวันนั้น “ลูกชายตัวเล็กของเรากล่าวคำสวดอ้อนวอน หลังจากเขาทูลขอพระบิดาบนสวรรค์ให้ ‘คุ้มครองคุณพ่อในการเดินทางและคุ้มครองเราทุกคน’ แล้วเขาก็เริ่มวิงวอน ว่า ‘พระบิดาบนสวรรค์ โปรดประทานพรให้แม่วัวบอสซีหายเป็นปกติด้วยเถิด’”

“ในแคลิฟอร์เนีย ข้าพเจ้าเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและพูดว่า เขาต้องเรียนรู้ว่าเราจะไม่ได้ทุกอย่างที่เราสวดอ้อนวอนของ่ายๆ แบบนั้น’

“มีบทเรียนให้เรียนรู้ แต่คนที่เรียนรู้คือข้าพเจ้าไม่ใช่ลูกชาย เมื่อข้าพเจ้ากลับบ้านคืนวันอาทิตย์ บอสซี ‘หายเป็นปกติ’” (“การสวดอ้อนวอนและการกระตุ้นเตือน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 55)

บราเดอร์แมงกอล แดน ดิพที สมาชิกคนหนึ่งของศาสนจักรจากอินเดียกล่าวว่า “สมัยผมเป็นเด็กผมเข้าโบสถ์เยอรมันลูเธอรันเป็นประจำ เราจะไปสวดอ้อนวอนบนเขาด้วยกันบ่อยๆ วันฝนตกวันหนึ่ง ทุกคนในกลุ่มสวดอ้อนวอนตัวเปียกโชก และนักเทศน์คนหนึ่งกล่าวคำสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาแรงกล้าทูลขอพระเจ้าให้ทรงห้ามฝน ยังความประหลาดใจแก่พวกเรา ฝนหยุดตก นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของศรัทธาที่ผมมีต่อพระผู้เป็นเจ้าและการสวดอ้อนวอน” (“การเดินทางของผมในฐานะผู้บุกเบิกจากอินเดีย,” เลียโฮนา, ก.ค. 2016, 21)

ดูเรื่องอื่นเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนได้จากหมวดเสียงวิสุทธิชนยุคสุดท้ายของ เลียโฮนา

ปรับปรุงการสอนของเรา

อย่ากลัวความเงียบ “คำถามที่ดีใช้เวลาในการตอบ คำถามดังกล่าวต้องการการไตร่ตรอง การค้นคว้า และการดลใจ เวลาที่ท่านใช้รอคำตอบอาจเป็นเวลาศักดิ์สิทธิ์แห่งการไตร่ตรอง หลีกเลี่ยงความรู้สึกอยากจบช่วงเวลานี้เร็วเกินไปโดยการตอบคำถามของท่านเองหรือเปลี่ยนไปเรื่องอื่น” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 31)