การเรียกในวอร์ดหรือสาขา
สุขภาพจิต


“สุขภาพจิต” แหล่งช่วยให้คำปรึกษา (2020)

“สุขภาพจิต” แหล่งช่วยให้คำปรึกษา

สุขภาพจิต

สุขภาพจิตส่งผลต่อความนึกคิด อารมณ์ พฤติกรรม และความสัมพันธ์ของเรา คนที่มีความท้าทายหรือความเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิตอาจสูญเสียความสามารถในการจัดการกิจวัตรประจำวันและข้อเรียกร้องของชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งอาการดังกล่าวทำให้บุคคลตลอดจนคนที่พวกเขารักและผู้นำที่พยายามปฏิบัติศาสนกิจเกิดความละเหี่ยใจและสับสน

เราไม่ได้คาดหวังหรือส่งเสริมให้คนที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตวินิจฉัยหรือให้การรักษาบุคคลที่กำลังประสบปัญหาสุขภาพจิต เมื่อบุคคลดูเหมือนไม่ตอบรับเมื่อผู้นำพยายามช่วย ไม่ควรมีใครขุ่นเคืองที่พวกเขาไม่ตอบรับ แต่ผู้นำควรพิจารณาอย่างจริงจังเรื่องการกระตุ้นให้บุคคลไปรับการประเมินสุขภาพจิตจากผู้มีคุณวุฒิ (ดู คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย [2020], 31.2.6) ศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัว (หากมี) สามารถให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่ผู้นำเกี่ยวกับแหล่งช่วยประเมินสุขภาพจิตในชุมชน ผู้นำควรอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพจิตจาก “Mental Illness” ในหมวด Disabilities Resources ของ ChurchofJesusChrist.org

พยายามเข้าใจ

ขณะที่ท่านสนทนาเรื่องข้อกังวลด้านสุขภาพจิต พึงแสดงความรักและความเห็นใจเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทำ หากบุคคลติดต่อขอความช่วยเหลือ ให้ขอบคุณที่เขาขอความช่วยเหลือ เพราะทุกสถานการณ์ต่างกันและสภาวการณ์ของแต่ละบุคคลแตกต่าง จงพิจารณาการถามคำถามทำนองนี้ร่วมกับการสวดอ้อนวอนแล้วฟังพระวิญญาณเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจข้อกังวลและเล็งเห็นความต้องการของเขา

  • คุณเคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการทางจิตหรือเปล่า? ถ้าเคย คุณมีอาการนานแค่ไหน? ส่งผลต่องานอาชีพและความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างไร?

  • ตอนนี้คุณกังวลหรือเป็นห่วงเรื่องใดมากที่สุด?

  • คุณกำลังได้รับการดูแล (หากมี) อย่างไรจากผู้ให้การดูแลสุขภาพจิต? คุณทำตามคำแนะนำจากผู้ให้การดูแลและสบายใจกับการดูแลที่ได้รับหรือเปล่า?

  • คุณรู้สึกว่าอาการทางจิตดีขึ้น เหมือนเดิม หรือแย่ลง?

  • คุณรับมือกับอาการของคุณอย่างไร?

  • คนในครอบครัวจัดการอาการของคุณอย่างไร? พวกเขาเคยแนะนำอะไรที่ตอนนี้คุณไม่ได้ทำและคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หรือเปล่า?

  • คุณมีแหล่งช่วยสนับสนุนอะไรบ้าง?

  • คุณเคยได้รับความเข้าใจจากพระบิดาบนสวรรค์เกี่ยวกับอาการของคุณหรือเปล่า? หากเคย ความเข้าใจเหล่านั้นคืออะไร?

ให้พิจารณาการติดต่อสมาชิกครอบครัวเพื่อขอความเข้าใจเพิ่มเติมของปัญหานั้นเมื่อบุคคลอนุญาตและเคารพความรู้สึกของเขา

ช่วยเหลือบุคคล

ขณะที่ท่านช่วยให้แต่ละบุคคลเข้าใจว่าความท้าทายของพวกเขากำลังส่งผลต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร ให้พิจารณาการใช้ข้อเสนอแนะบางข้อต่อไปนี้:

รับรองกับบุคคลนั้นว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักเขาและพระผู้ช่วยให้รอดเข้าพระทัยความท้าทายของเขา

  • ช่วยให้บุคคลเข้าใจว่าความเจ็บป่วยทางจิตไม่ใช่การลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้า

  • ช่วยให้บุคคลตระหนักว่าความเจ็บป่วยทางจิตไม่สามารถเอาชนะได้ด้วยความตั้งใจจริงอย่างเดียว ความเจ็บป่วยทางจิตไม่ได้บ่งบอกว่าบุคคลขาดศรัทธา อุปนิสัย หรือความมีค่าควร

จงให้บุคคลมีส่วนร่วมในกิจกรรมศาสนจักรและโอกาสการรับใช้ที่เหมาะสม

  • ปรึกษากับบุคคล สมาชิกครอบครัว และคนอื่นๆ ที่รู้จักบุคคลดีเพื่อทราบจุดเด่นและข้อจำกัดของบุคคล

พิจารณาการปรึกษากับศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัว (หากมี) หรือผู้ให้บริการสุขภาพจิตในท้องที่เพื่อระบุทางเลือกในการสนับสนุนและการรักษา พึงทราบว่าอาการบางอย่างจะอยู่ชั่วชีวิตแม้จะรักษาดีที่สุดแล้วก็ตาม

  • คนที่กินยาไม่ควรเปลี่ยนหรือหยุดการรักษาโดยไม่ปรึกษาผู้ให้การดูแลสุขภาพจิตของพวกเขาก่อน

การฆ่าตัวตายมักเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับคนที่สุขภาพจิตไม่ดี ทำความคุ้นเคยกับสัญญาณเตือนการฆ่าตัวตายและถ้าสังเกตเห็นให้มองเป็นเรื่องจริงจัง

  • หากสมาชิกดูเหมือนจะ “กล่าวลา” พูดเรื่องการฆ่าตัวตาย หรือแสดงความรู้สึกสิ้นหวังอย่างรุนแรง จงขอความช่วยเหลือให้เขาทันที ปรึกษากับอธิการ ผู้ให้การดูแลสุขภาพ ครอบครัวของบุคคล หรือห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล มีสายด่วนให้ผู้นำด้วย พิจารณาการโทรขอความช่วยเหลือทันทีจากผู้ให้บริการเหตุฉุกเฉินในท้องที่ อ่านบทความเรื่อง suicide ในหมวด Gospel Topics ของ ChurchofJesusChrist.org เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายและการป้องกัน

  • เชิญชวนให้บุคคลพิจารณากลุ่มสนับสนุนในชุมชนหากมี

สนับสนุนครอบครัว

ความท้าทายด้านสุขภาพจิตของบุคคลจะส่งผลต่อชีวิตสมาชิกครอบครัวของเขาได้เช่นกัน พิจารณาผลกระทบต่อครอบครัวของบุคคลและพิจารณาวิธีปฏิบัติศาสนกิจตามความต้องการของพวกเขาให้ดีที่สุด แสดงความรักและความเห็นใจขณะที่ท่านทำงานกับสมาชิกครอบครัว

กระตุ้นให้ครอบครัว ญาติพี่น้อง และคนอื่นที่เกี่ยวข้องหารือกันเกี่ยวกับความต้องการของสมาชิกและแหล่งช่วยที่อาจจะช่วยได้ (ดู คู่มือทั่วไป, 22.3–22.11)

  • กระตุ้นให้สมาชิกครอบครัวเตรียมความพร้อมเมื่อบุคคลอาจต้องได้รับความช่วยเหลือในเรื่องความต้องการตามปกติของชีวิต

  • เมื่อจำเป็นให้สนทนากันว่าสมาชิกครอบครัวจะช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ บัญชี การเดินทาง และแหล่งช่วยดูแลสุขภาพที่จำเป็น (ตัวอย่างเช่น การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ การรักษาด้วยยา และการรักษาตัวในโรงพยาบาล) อย่างไร

แนะนำสมาชิกครอบครัวไม่ให้คาดหวังมากไปหรือน้อยไป การหายเป็นปกติมักขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและการรักษาที่ได้รับ ในบางสถานการณ์ สิ่งดีที่สุดที่พวกเขาจะหวังได้คืออาการที่ดีขึ้นบ้างแทนที่จะหายขาด

พิจารณาแหล่งช่วยสนับสนุนสำหรับสมาชิกครอบครัวและเพื่อนของคนที่มีอาการทางสุขภาพจิต

  • ผู้ให้การดูแลสุขภาพมักช่วยหากลุ่มสนับสนุนได้ตรงกับความท้าทายของบุคคล

ใช้แหล่งช่วยของวอร์ดและสเตค

เมื่อเห็นควร ให้พิจารณาขอผู้นำวอร์ดหรือคนที่ไว้ใจได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ขออนุญาตบุคคลก่อนสนทนาสถานการณ์กับผู้อื่น

หาคนที่ไว้ใจได้มาเป็นพี่เลี้ยงให้สมาชิกและครอบครัวของเขา และกระตุ้นให้พวกเขาพบปะพูดคุยกันเป็นประจำ

  • พี่เลี้ยงควรเป็นคนที่บุคคลนั้นรู้สึกอยู่ด้วยแล้วสบายใจ และอาจเป็นซิสเตอร์หรือบราเดอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ

  • จงระวังอย่าให้พี่เลี้ยงแต่ละคนอยู่ในสถานการณ์ที่พวกเขาอาจเกิดอันตรายได้

หากเห็นควร จงกระตุ้นให้ครอบครัวใช้ผู้นำศาสนจักรในการปฏิบัติศาสนกิจต่อคนที่พวกเขารัก

  • กระตุ้นให้คนที่กำลังช่วยสมาชิกทำสิ่งต่างๆ กับ บุคคลนั้นแทนที่จะทำ ให้ (ตัวอย่างเช่น พาไปร่วมกิจกรรมหรือทำงานมอบหมายด้านสวัสดิการเคียงข้างเขา)

หากสมาชิกต้องการความช่วยเหลือจากผู้ดูแลเพราะความเจ็บป่วยทางจิตของสมาชิก ให้อ่านแหล่งช่วย การสนับสนุนผู้ดูแล

ช่วยสมาชิกหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อจำเป็น

  • ใช้แหล่งช่วยในท้องที่ซึ่งให้บริการสอดคล้องกับหลักธรรมพระกิตติคุณ

  • ติดต่อศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัวในท้องที่หรือสำนักงานภาคเพื่อขอแหล่งช่วยหรือตัวเลือกให้คำปรึกษาเพิ่มเติม

พิมพ์