“ความขัดแย้งในชีวิตสมรส” แหล่งช่วยให้คำปรึกษา (2020)
“ความขัดแย้งในชีวิตสมรส” แหล่งช่วยให้คำปรึกษา
ความขัดแย้งในชีวิตสมรส
การแต่งงานนิรันดร์ที่ประสบความสำเร็จสร้างบนรากฐานของศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์และการปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์
จะมีความขัดแย้งในชีวิตสมรสเช่นเดียวกับในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ แต่บางครั้งคู่สามีภรรยาจัดการความบาดหมางในวิธีที่ทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นน้อยลงและทำลายทั้งสองฝ่าย ในฐานะผู้นำ ท่านควรสนับสนุนทั้งคู่ให้พยายามแก้ไขความขัดแย้งของตนแทนที่ตัวท่านจะพยายามแก้ไขให้ ส่งเสริมภาระรับผิดชอบและความซื่อสัตย์ทั้งนี้เพื่อคู่สมรสจะสามารถรับการนำทางและการเล็งเห็นจากพระวิญญาณบริสุทธิ์
พยายามเข้าใจ
การช่วยให้คู่สมรสแต่ละฝ่ายรู้สึกว่ามีคนฟังและเข้าใจอาจสำคัญเท่าๆ คำแนะนำที่ท่านให้ ขณะที่ท่านพูดคุยกับคู่สมรส พึงแสดงความรักและความเห็นใจเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทำ พิจารณาการถามคำถามดังต่อไปนี้กับคู่สมรสแต่ละฝ่ายร่วมกับการสวดอ้อนวอนด้วยความเมตตาและความรักเพื่อช่วยให้ท่านสังเกตเห็นและเข้าใจสถานการณ์ดีขึ้น และเล็งเห็นความต้องการ จงเต็มใจใช้เวลาฟังเฉยๆ
-
คุณกำลังประสบอะไรตอนนี้?
-
คุณกังวลเรื่องใดมากที่สุดในชีวิตสมรสของคุณ?
-
คุณรู้สึกอย่างไรกับพันธสัญญาการแต่งงานของคุณ?
-
ที่ผ่านมาคุณเปิดเผยแค่ไหนหรือคุณยินดีอยู่ในการสนทนาปัญหานี้กับคู่สมรสของคุณหรือเปล่า?
-
คุณกำลังเป็นคู่สมรสและเป็นคนในแบบที่คุณอยากเป็นหรือเปล่า?
-
คุณกำลังทำอะไรเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์กับพระบิดาบนสวรรค์ของคุณ?
-
คุณอาจมีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งในความสัมพันธ์ของคุณได้อย่างไร?
-
หลักธรรมพระกิตติคุณข้อใดน่าจะให้วิธีแก้ปัญหา?
-
คุณยินดีทำอะไรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา?
-
คุณจำเป็นต้องทำอะไรเพื่อให้อภัยหรือรับการอภัยในความสัมพันธ์ของคุณ?
-
คุณมีแหล่งสนับสนุนหรือแหล่งช่วยอะไรช่วยคุณบ้าง?
-
คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหันมาหาพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์และเข้าถึงพลังแห่งพระคุณของพระองค์?
ช่วยเหลือบุคคล
ขณะที่ท่านช่วยคู่สามีภรรยา พึงให้พวกเขาเข้าใจว่าพวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบในการหาวิธีแก้ไขความท้าทายของตน แสดงความรักและความห่วงใยของท่านอย่างเหมาะสมต่อคู่สามีภรรยาขณะที่ท่านพิจารณาข้อเสนอแนะบางข้อต่อไปนี้
เน้นหน้าที่รับผิดชอบและภาระรับผิดชอบที่แต่ละฝ่ายมีต่อความสัมพันธ์ในชีวิตสมรส คู่สมรสที่ประเมินพฤติกรรมของตนอย่างซื่อสัตย์และทำสิ่งจำเป็นทันทีเพื่อกลับใจและปรับปรุงจะประสบการเยียวยาในชีวิตสมรสของพวกเขา
-
ช่วยให้คู่สมรสแต่ละฝ่ายรับรู้ว่าไม่มีใครเปลี่ยนใครได้ แต่ด้วยศรัทธา ความพยายาม และความช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้า แต่ละฝ่ายสามารถเปลี่ยนใจตนเองได้
กระตุ้นให้แต่ละฝ่ายหลีกเลี่ยงการเรียกร้องให้ใช้วิธีของตน พูดราวกับตนมีศีลธรรมมากกว่า หรือพยายามให้ตนพ้นผิด
ช่วยให้แต่ละฝ่ายพิจารณาว่าอีกฝ่ายจะรู้สึกอย่างไรในความสัมพันธ์และพยายามพัฒนาความเห็นใจ เชิญชวนให้พวกเขาสนทนาปัญหาด้วยกัน
ช่วยคู่สามีภรรยาพิจารณาว่าพวกเขายังโกรธอีกฝ่ายเรื่องอะไรที่จำเป็นต้องเลิกโกรธ
ทำให้แต่ละฝ่ายรู้สึกปลอดภัยมากพอจะสนทนาเรื่องความขัดแย้งในชีวิตสมรสอย่างเปิดเผย บางครั้งฝ่ายหนึ่งอาจบ่ายเบี่ยงแทนที่จะร่วมการสนทนาโดยตรงเพราะเขารู้สึกไม่ปลอดภัยทางร่างกายหรือทางอารมณ์
-
ช่วยให้แต่ละฝ่ายเข้าใจว่าเขาสามารถรับการดลใจให้กำหนดขอบเขตที่ชัดเจนในความสัมพันธ์ของชีวิตแต่งงานและในบ้าน
-
บอกให้ชัดเจนว่าแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบพฤติกรรมของตนเท่านั้นและเขาไม่ควรอดทนต่อพฤติกรรมทารุณกรรม
-
หากท่านทราบเรื่องการทารุณกรรม ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง มี สายด่วน สำหรับอธิการด้วย อ่านแหล่งข้อมูล การทารุณกรรม (ความช่วยเหลือสำหรับเหยื่อ) และแหล่งข้อมูล การทารุณกรรม (ความช่วยเหลือสำหรับผู้กระทำความผิด)
หากคู่สมรสต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม กระตุ้นให้พวกเขารับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้วยกันเมื่อทำได้เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดระหว่างพวกเขาและส่งเสริมความซื่อสัตย์โดยสมบูรณ์
สนับสนุนคู่สามีภรรยาและครอบครัว
ความขัดแย้งในชีวิตสมรสส่งผลต่อสมาชิกครอบครัวทุกคน พิจารณาผลกระทบของความขัดแย้งต่อสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ และแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องอันเนื่องจากความขัดแย้งนั้น
สนับสนุนรูปแบบของการสื่อสารที่ดี (ดู “Communicating with Love,” Strengthening Marriage: Resource Guide for Couples [2006], 4, 7)
-
ช่วยให้คู่สามีภรรยารับรู้และเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารเชิงลบและบ่อนทำลาย เช่น การวิพากษ์วิจารณ์หรือปฏิบัติต่อกันด้วยการดูหมิ่น
-
กระตุ้นให้คู่สมรสให้อภัยโดยเร็วและขออภัยจากอีกฝ่าย
-
ช่วยให้พวกเขาใช้คำว่า “ฉัน” แทนคำว่า “คุณ” ตัวอย่างเช่น “ฉันรู้สึกขาดความมั่นใจและไม่มีใครรักเมื่อคุณไม่ติดต่อกลับมา” แทนที่จะพูดว่า “คุณไม่รักฉัน” หรือ “ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองบกพร่องต่อความคาดหวังของคุณเสมอ” แทนที่จะพูดว่า “คุณทำให้ฉันรู้สึกเหมือนฉันทำอะไรไม่เคยถูก”
แนะนำให้สามีภรรยาปฏิบัติต่อกันฉันหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน
-
กระตุ้นให้คู่สมรสซื่อสัตย์ เปิดเผย และเคารพกัน
-
กระตุ้นให้คู่สมรสบอกกล่าวและให้อีกฝ่ายเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญและเกี่ยวข้อง
-
กระตุ้นให้คู่สมรสตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์ในฐานะคู่สามีภรรยา
-
กระตุ้นให้คู่สมรสหลีกเลี่ยงการปฏิบัติทางวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ซึ่งฝ่ายหนึ่งข่มหรือปฏิบัติต่ออีกฝ่ายเหมือนเป็นหุ้นส่วนชั้นสองในชีวิตสมรส การปฏิบัติเหล่านี้ขัดกับหลักธรรมพระกิตติคุณ และคู่สมรสควรแทนที่การปฏิบัติเหล่านั้นด้วยรูปแบบพฤติกรรมที่ถูกต้อง
ช่วยคู่สามีภรรยาประเมินรูปแบบศรัทธา ขอบเขตครอบครัว และการปฏิบัติอื่นๆ ของตน
-
สนทนาเรื่องการเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร การสังสรรค์ในครอบครัวทุกสัปดาห์ การสวดอ้อนวอนและการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวและกับครอบครัว และการรับประทานอาหารด้วยกันเป็นครอบครัว
-
สนทนาว่าการใช้สื่อและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของคู่สมรสอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ของพวกเขาอย่างไร
-
แนะนำให้คู่สามีภรรยากำหนดขอบเขตในสื่อ โซเชียลมีเดีย และการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระตุ้นให้แต่ละฝ่ายบอกรหัสผ่าน ทำให้การใช้โซเชียลมีเดียโปร่งใส และหลีกเลี่ยงการใช้อินเทอร์เน็ตแบบลับๆ
-
กระตุ้นให้แต่ละฝ่ายหลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้อื่นในลักษณะที่อาจทรยศต่อความไว้วางใจอันศักดิ์สิทธิ์ของอีกฝ่ายหรือมีลักษณะไม่เหมาะสม
หากมีเด็กในครอบครัว พวกเขาอาจรู้สึกเครียดและวิตกกังวลกับความสัมพันธ์ของพ่อแม่ ช่วยพวกเขาแก้ปัญหาที่อาจพบเจอ
-
ช่วยให้คู่สามีภรรยาเข้าใจผลกระทบที่ความไม่ลงรอยโต้เถียงกันและความขัดแย้งมีผลต่อบุตรธิดาของพวกเขา
-
กระตุ้นให้คู่สามีภรรยายอมรับกับบุตรธิดาอย่างเหมาะสมถึงความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในชีวิตสมรส นี่จะช่วยให้บุตรธิดาไม่ถูกทิ้งให้รับมือกับผลของความขัดแย้งตามลำพัง
-
เชิญชวนให้คู่สมรสสนทนากับบุตรธิดาเป็นรายตัวโดยใช้คำพูดที่เหมาะกับวัยว่าพวกเขากำลังทำอะไรเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง
-
หากท่านทราบเรื่องการทารุณกรรมเด็กหรือความรุนแรงในบ้าน ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทันที อธิการมีสายด่วนที่เขาจะโทรขอความช่วยเหลือในสถานการณ์เหล่านี้ด้วย
เชิญชวนให้คู่สามีภรรยาระบุแหล่งช่วยที่มีอยู่ที่อาจช่วยพวกเขาปรับปรุงความสัมพันธ์ต่อกันและกับบุตรธิดา
-
เชิญชวนให้คู่สามีภรรยาเขียนพรสวรรค์ ทักษะ ความสัมพันธ์ แหล่งช่วย สมาชิกครอบครัว และแหล่งช่วยอื่นที่พวกเขาสามารถดึงมาใช้แก้ไขความขัดแย้งในชีวิตสมรส
-
แนะนำให้คู่สามีภรรยาหลีกเลี่ยงการเลือกสรรแหล่งช่วยหรือคนมาอยู่อีกฝั่งของความขัดแย้งหรือในการโต้เถียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ใช้แหล่งช่วยของวอร์ดและสเตค
หลังจากได้รับอนุญาตจากคู่สามีภรรยาให้สนทนาสถานการณ์กับผู้อื่น พึงพิจารณาการขอให้ผู้นำวอร์ดหรือคนที่ไว้ใจได้ให้การสนับสนุน การชี้แนะ และความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
พิจารณาการจัดชั้นเรียนเพิ่มนอกเหนือจากการประชุมของศาสนจักรหรือให้ครูพี่เลี้ยงพบปะพูดคุยกับคู่สามีภรรยาเป็นรายตัวโดยใช้หลักสูตรและเนื้อหาหลักสูตร Strengthening Marriage และ Strengthening the Family
ภายใต้การกำกับดูแลของอธิการ ให้ระบุชื่อคู่สามีภรรยาที่ไว้ใจได้ผู้สามารถเป็นพี่เลี้ยงและผู้สนับสนุนสามีภรรยาคู่นี้ ถ้าจะให้ดีสามีภรรยาคู่นี้จะต้องเคยแก้ไขปัญหาคล้ายกันสำเร็จมาแล้ว แต่คู่ที่มีวุฒิภาวะทางวิญญาณและมีความเห็นอกเห็นใจก็สามารถให้การสนับสนุนดูแลได้
ท่านอาจส่งต่อคู่สามีภรรยาไปรับความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หาแหล่งช่วยในท้องที่ซึ่งให้บริการสอดคล้องกับหลักธรรมพระกิตติคุณ
-
ศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัว (หากมี) สามารถให้คำปรึกษาสำหรับผู้นำและให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งช่วยในชุมชนของท่าน