“หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:15–27, 34–42: จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)
“หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:15–27, 34–42” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี
บทเรียน 52: หลักคำสอนและพันธสัญญา 37–40
หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:15–27, 34–42
จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
พระเจ้าประทานคำแนะนำแก่วิสุทธิชนขณะที่พวกเขาเตรียมเสียสละครั้งใหญ่เพื่อไปรวมกันที่โอไฮโอ ในการเปิดเผยต่อวิสุทธิชน พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดเผยพระอุปนิสัยของพระองค์และเชื้อเชิญให้ผู้คนของพระองค์ดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์ บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นโดยเห็นคุณค่าของผู้อื่นและแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวกัน
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
พระเจ้าทรงต้องการให้เราเป็นเหมือนพระองค์
ท่านจะเริ่มบทเรียนโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนแต่ละคนเขียนสิ่งที่ตนสนใจมาห้าอย่าง แล้วแบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เชิญพวกเขาแบ่งปันสิ่งที่ตนสนใจและเขียนสิ่งที่พวกเขาสนใจเหมือนกัน หลังจากนั้นขอให้พวกเขาสนทนาว่าเหตุใดบางครั้งคนที่มีความสนใจต่างกันจึงเป็นหนึ่งเดียวกันได้ยาก และเหตุใดความเป็นหนึ่งเดียวกันจึงสำคัญสำหรับสานุศิษย์ของพระคริสต์
ให้นักเรียนนึกถึงคนที่พวกเขาจะปฏิบัติดีขึ้นหรือกับคนที่พวกเขาจะมีความสัมพันธ์ดีขึ้นได้ กระตุ้นให้นักเรียนแสวงหาการดลใจผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยให้พวกเขาปฏิบัติต่อบุคคลนี้ดีขึ้นหรือปรับปรุงความสัมพันธ์กับบุคคลนี้ ให้พวกเขาคิดว่าการเข้าถึงความสัมพันธ์แบบนี้จะช่วยสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร
ในเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 1830 โจเซฟ สมิธทำงานแก้ไขพระคัมภีร์ไบเบิลด้วยการดลใจและได้รับสิ่งที่เวลานี้คือ โมเสส 6–7 ในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า สองบทนี้มีเรื่องราวของศาสดาพยากรณ์ชื่อเอโนคและผู้คนของท่าน เพราะความชอบธรรมและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพวกเขา พระเจ้าจึงทรงเรียกผู้คนเหล่านี้ว่า ไซอัน
ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 38 พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำวิสุทธิชนเกี่ยวกับการรวมกันที่โอไฮโอ พระองค์ทรงสอนพวกเขาเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระองค์และทรงเน้นหลักธรรมของการสร้างไซอัน การเชื่อฟังหลักธรรมเหล่านี้จะช่วยวิสุทธิชนเตรียมตนเองให้พร้อมรับกฎของพระผู้ช่วยให้รอดและได้รับเดชานุภาพของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:32)
อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:24–27 โดยมองหาคุณลักษณะที่พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้เราพัฒนา
ขณะที่นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:24–27 ท่านจะชี้ให้เห็นวลีที่กล่าวซ้ำใน ข้อ 24–25 ท่านอาจจะเชิญนักเรียนสองสามคนแสดงท่าประกอบอุปมาใน ข้อ 26–27
-
ท่านคิดว่านับถือพี่น้องของเราเสมือนหนึ่งนับถือตนเองหมายความว่าอย่างไร? (ดู มัทธิว 22:36–39; ยอห์น 13:34–35; เจคอบ 2:17–19)
-
เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากอุปมาใน ข้อ 26–27?
-
ข้อ 24–27 สอนอะไรเราเกี่ยวกับวิธีที่เราจะเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์?
ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมทำนองนี้: เราจะเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์ได้เมื่อเราเห็นคุณค่าของผู้อื่นและแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะสานุศิษย์ของพระองค์
ใช้คำถามต่อไปนี้บางข้อหรือคำถามอื่นที่ท่านคิดว่าจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้นักเรียนคิดระหว่างสนทนาเกี่ยวกับคนที่พวกเขาต้องการมีความสัมพันธ์ดีขึ้นในระหว่างที่สนทนากัน
-
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของการเห็นคุณค่าของผู้อื่นอย่างไร? ของการส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างไร?
-
เหตุใดบางครั้งการเป็นหนึ่งเดียวกันกับสมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ จึงทำได้ยาก?
-
การแสดงความรักต่อผู้อื่นมากขึ้นและเป็นหนึ่งเดียวกันกับศาสนจักรมากขึ้นจะส่งผลดีอะไรในชีวิตท่าน?
ท่านอาจฉายวีดิทัศน์เรื่อง “One in Christ” (4:48) ที่ ChurchofJesusChrist.org เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างไร
One in Christ
อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:34–36, 39–42 เพื่อดูว่าวิสุทธิชนที่เตรียมมารวมกันในโอไฮโอได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างไร
-
ท่านพบอะไรที่จะช่วยให้ผู้ย้ายไปโอไฮโอเห็นคุณค่าของกันและกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน?
ความพยายามของเราในการเห็นคุณค่าของผู้อื่นและแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวกัน
ใช้ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์เพื่อเน้นหลักคำสอนและหลักธรรม: เพื่อฝึกเรื่องนี้ ให้ดูการอบรมชื่อว่า “สอนจากพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย” ใน ทักษะการพัฒนาครู ท่านอาจฝึกทักษะ “เตรียมคำเชิญที่ช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงความจริงที่พบในพระคัมภีร์กับสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตกล่าว” ตามที่อธิบายไว้ในคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เรนลันด์
เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนวิธีที่เราจะเป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์ อ่านคำกล่าวหรือดูวีดิทัศน์เรื่อง “สันติภาพของพระคริสต์ขจัดความเป็นอริ” (12:39; ดูตั้งแต่รหัสเวลา 4:49 ถึง 6:32) ที่ ChurchofJesusChrist.org
สันติภาพของพระคริสต์ขจัดความเป็นอริ
ความเป็นหนึ่งเดียวกันต้องใช้ความพยายาม สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อเราปลูกฝังความรักของพระผู้เป็นเจ้าในใจ และจดจ่ออยู่ที่จุดหมายนิรันดร์ของเรา เราเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยอัตลักษณ์หลักที่มีเหมือนกันคือ เป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าและยึดมั่นต่อความจริงของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู แล้วความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ก็จะทำให้เราห่วงใยผู้อื่นอย่างจริงใจ เราเห็นค่าความลานตาของคุณลักษณะ มุมมอง และพรสวรรค์ของผู้อื่น ถ้าเราไม่สามารถให้การเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์อยู่เหนือความสนใจและทัศนะส่วนตัว เราควรสำรวจลำดับความสำคัญของเราอีกครั้งและเปลี่ยนแปลง
เรามีแนวโน้มจะพูดว่า “เราเป็นหนึ่งเดียวกันได้อยู่แล้ว—ถ้าคุณแค่เห็นด้วยกับฉัน!” วิธีที่ดีกว่าคือถามว่า “ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวกัน? ฉันจะตอบสนองอย่างไรเพื่อช่วยให้คนนี้เข้าใกล้พระคริสต์มากขึ้น? ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อลดความขัดแย้งและสร้างชุมชนศาสนจักรที่ห่วงใยและเห็นใจกัน?”
เมื่อความรักของพระคริสต์โอบล้อมชีวิตเรา เราจะจัดการข้อขัดแย้งด้วยความอ่อนโยน ความอดทน และความเมตตากรุณา เรากังวลน้อยลงกับความอ่อนไหวของตัวเองและกังวลมากขึ้นกับของเพื่อนบ้าน เรา “พยายามรอมชอมและสร้างเอกภาพ” [ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ปกป้องรัฐธรรมนูญที่ได้รับการดลใจจากสวรรค์ของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 107] เราไม่ร่วมวง “โต้เถียงกันในเรื่องที่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว” ตัดสินคนที่เราไม่เห็นด้วย หรือพยายามทำให้พวกเขาสะดุด [ดู โรม 14:1–3, 13, 21] แต่เราคิดว่าคนที่เราไม่เห็นด้วยกำลังทำเต็มที่สุดความสามารถด้วยประสบการณ์ชีวิตที่พวกเขามี (เดล จี. เรนลันด์, “สันติภาพของพระคริสต์ขจัดความเป็นอริ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 84)
ขอให้นักเรียนแบ่งปันว่าพวกเขาได้รับพรอย่างไรจากการพยายามเห็นคุณค่าของผู้อื่น และเป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะสานุศิษย์ของพระคริสต์
เชื้อเชิญให้นักเรียนประเมินร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าพวกเขารู้สึกว่าตนกำลังทำดีเพียงใดกับการเห็นคุณค่าของผู้อื่นและการกระชับความสัมพันธ์
นักเรียนอาจต้องการตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษา
เลือกความสัมพันธ์ที่ท่านต้องการกระชับกับคนๆ หนึ่งหรือภายในกลุ่ม ตอบคำถามต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งข้อ:
-
ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเห็นคุณค่าของบุคคลนี้หรือคนกลุ่มนี้และแสดงความรักต่อพวกเขา?
-
ท่านจะหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อเอาชนะอุปสรรคที่ท่านพบเจอได้อย่างไร?
-
การทำเช่นนี้ช่วยให้เราเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นอย่างไร?