เซมินารี
บทเรียน 54: ประเมินการเรียนรู้ของท่าน 3: หลักคำสอนและพันธสัญญา 20–40


“ประเมินการเรียนรู้ของท่าน 3: หลักคำสอนและพันธสัญญา 20–40” หลักคำสอนและพันธสัญญา คู่มือครูเซมินารี (2025)

“ประเมินการเรียนรู้ของท่าน 3” หลักคำสอนและพันธสัญญา เซมินารี

บทเรียน 54: หลักคำสอนและพันธสัญญา 37–40

ประเมินการเรียนรู้ของท่าน 3

หลักคำสอนและพันธสัญญา 20–40

พระเยซูทอดพระเนตรเด็กที่นั่งข้างๆ พระองค์

การใคร่ครวญและการประเมินการเรียนรู้ทางวิญญาณของเราสามารถช่วยให้เราเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนจดจำและประเมินได้ว่าจนถึงตอนนี้ประสบการณ์การศึกษาหลักคำสอนและพันธสัญญาได้ช่วยให้พวกเขาเติบโตทางวิญญาณอย่างไร

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

การเติบโตทางกายและทางวิญญาณ

ท่านอาจให้ดูการเทียบเคียงภาพต่างๆ ที่แสดงให้เห็นการเติบโต

เพื่อวัดการเติบโต การเปลี่ยนแปลง และความก้าวหน้า ผู้คนมักใช้รูปภาพทำการเทียบเคียง

  • รูปภาพตัวเราจะช่วยให้เรารับรู้ด้านที่เราอาจเปลี่ยนไปหรือเติบโตได้อย่างไร?

  • มีวิธีใดให้รับรู้การเติบโตของเราอีกบ้าง?

เพื่อช่วยนักเรียนไตร่ตรองและสนทนาเรื่องการเติบโตทางวิญญาณ ท่านจะให้ดูภาพพระเยซูและเด็กคนหนึ่ง เหมือนภาพตอนเริ่มบทเรียนนี้

นึกถึงสิ่งที่ท่านจะบอกเด็กคนหนึ่งเกี่ยวกับศักยภาพของเขาในการเติบโตและเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้น

  • คนคนหนึ่งจะรับรู้ด้วยวิธีใดได้บ้างว่าพวกเขาจะเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นได้อย่างไร? (ดู ลูกา 2:52; และดู แอลมา 5:14)

เชื้อเชิญให้นักเรียนแสวงหาความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะใคร่ครวญการเติบโตของตน ขอให้พวกเขาเขียนในสมุดบันทึกเกี่ยวกับบางด้านที่รู้สึกว่าตนกำลังเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้น ท่านอาจจะกระตุ้นนักเรียนให้นึกถึงคุณลักษณะของพระผู้ช่วยให้รอดที่ได้เรียนรู้ในการศึกษาหลักคำสอนและพันธสัญญา กระตุ้นนักเรียนให้ดูบันทึกในสมุดบันทึกหรือพระคัมภีร์ที่พวกเขาทำเครื่องหมายไว้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ขอให้พวกเขาไตร่ตรองว่าพวกเขาเห็นพระคุณลักษณะใดของพระเยซูคริสต์ในตัวเองมากกว่าเดิม (แม้จะในด้านเล็กๆ ก็ตาม)

นักเรียนบางคนอาจไม่รับรู้การเติบโตของตน เตือนนักเรียนว่าการเติบโตมักรับรู้ได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวพวกเขาเอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่เติบโต ในบทเรียนนี้นักเรียนจะมีโอกาสอธิบายจุดประสงค์ของศีลระลึก ใคร่ครวญความปรารถนาจะทำตามศาสดาพยากรณ์ และทบทวนแผนแบ่งปันพระกิตติคุณของตน การศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 20–40 ของชั้นเรียนอาจเน้นความจริงนอกเหนือจากความจริงในกิจกรรมต่อไปนี้ไปแล้ว หากเป็นเช่นนั้น ท่านจะปรับกิจกรรมให้มีความจริงเหล่านั้นรวมอยู่ด้วย

อธิบายจุดประสงค์ของศีลระลึก

เปิดโอกาสให้นักเรียนอธิบายจุดประสงค์ของศีลระลึก เพื่อเตรียมความพร้อม ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้พวกเขาทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับศีลระลึกในหลักคำสอนและพันธสัญญา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:75–79; 27:1–2) ท่านจะทบทวนข้อความที่บันทึกไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาด้วย

ท่านอาจจะแนะนำสถานการณ์สมมติดังต่อไปนี้และขอให้นักเรียนอธิบายจุดประสงค์ของศีลระลึกโดยใช้หนึ่งในวิธีต่อไปนี้: การแสดงบทบาทสมมติ การสร้างอินโฟกราฟิกหรือการนำเสนอ หรือการเขียนลงในสมุดบันทึก

ไอแซคชวนเพื่อนคนหนึ่งมาเจอเขาที่โบสถ์วันอาทิตย์ เนื่องจากเพื่อนของเขาไม่เคยเข้าร่วมการประชุมศีลระลึกมาก่อน ไอแซคจึงอยากอธิบายรายละเอียดสำคัญบางอย่างก่อนถึงวันนั้น

  • ท่านคิดว่าไอแซคควรอธิบายรายละเอียดอะไรบ้างเกี่ยวกับศาสนพิธีศีลระลึก?

ท่านจะให้ดูตัวกระตุ้นความคิดต่อไปนี้เพื่อช่วยนักเรียนเตรียมความคิดและให้พวกเขาแสดงประจักษ์พยาน

เลือกรายละเอียดสองสามอย่างเกี่ยวกับศาสนพิธีแห่งศีลระลึกที่ท่านอาจจะมุ่งเน้น ใช้พระคัมภีร์หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นช่วยท่านอธิบายและเป็นพยาน

  • คำสวดอ้อนวอนให้พรขนมปังและน้ำ

  • สิ่งที่เราสัญญากับพระบิดาบนสวรรค์

  • สิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงสัญญากับเรา

  • เจตคติที่เราแสดงให้เห็นเมื่อรับส่วนศีลระลึก

  • การจดจ่อกับพระเยซูคริสต์

  • ประสบการณ์ส่วนตัว

หลังจากนักเรียนตอบสถานการณ์สมมติแล้ว ท่านจะเชื้อเชิญให้พวกเขาใคร่ครวญและแบ่งปันว่าศาสนพิธีศีลระลึกจะช่วยให้เห็นได้อย่างไรว่าพวกเขากำลังเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร

รู้สึกปรารถนาจะทำตามศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่มากขึ้น

ในบทเรียนล่าสุด นักเรียนอาจมีโอกาสศึกษาความสำคัญของการทำตามศาสดาพยากรณ์ในยุคสมัยของเรา กิจกรรมการเรียนรู้นี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนใคร่ครวญว่าความปรารถนาจะทำตามศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างระหว่างศึกษาหลักคำสอนและพันธสัญญา

ท่านอาจต้องเตือนนักเรียนให้นึกถึงการประเมินตนเองต่อไปนี้ในบทเรียนก่อนหน้า (ดูบทเรียนเรื่อง หลักคำสอนและพันธสัญญา 21)

ในบทเรียนก่อนหน้านี้ เราขอให้ท่านนึกถึงคำแนะนำจากศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่ท้าทายให้ท่านทำตาม พยายามนึกให้ออกว่าคืออะไร ท่านอาจจะดูสิ่งที่ท่านบันทึกไว้ในสมุดบันทึกการศึกษา

ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีดูสมุดบันทึกการศึกษาหากพวกเขาจดบันทึกไว้ในนั้น

  • เมื่อเร็วๆ นี้เราศึกษาพระคัมภีร์ข้อใดบ้างที่เน้นความสำคัญของการทำตามศาสดาพยากรณ์?

    พระคัมภีร์บางข้อที่นักเรียนอาจจะหยิบยกขึ้นมา ได้แก่ โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:21–35; หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:38–39; 21:4–6 เปิดโอกาสให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาค้นพบ การให้นักเรียนแบ่งปันเป็นกลุ่มเล็กจะช่วยให้นักเรียนอีกหลายคนได้แบ่งปันว่าอะไรสำคัญต่อพวกเขา

    ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนบันทึกคำตอบของคำถามต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งข้อ ให้นักเรียนเลือกรูปแบบและวิธีบันทึกความรู้สึกเหล่านี้ของตน หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดหากพวกเขายินดีทำเช่นนั้น ถึงแม้ความรู้สึกปัจจุบันที่นักเรียนมีเกี่ยวกับการทำตามศาสดาพยากรณ์อาจไม่ดีนัก แต่ท่านสามารถกระตุ้นให้พวกเขาทำตามความปรารถนาเล็กน้อยที่สุดของตน และแสวงหาพรของพระเจ้าผ่านการทำตามศาสดาพยากรณ์ของพระองค์

  • ปัจจุบันท่านมีความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการทำตามศาสดาพยากรณ์ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้? ท่านคิดว่าอะไรส่งผลต่อความรู้สึกของท่านมากที่สุดเกี่ยวกับการทำตามศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้า?

  • ท่านคิดว่าการทำตามศาสดาพยากรณ์จะช่วยให้ท่านเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นได้อย่างไร?

การแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์กับผู้อื่น

ช่วยให้นักเรียนนึกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการศึกษาหลักคำสอนและพันธสัญญาเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้นักเรียนดูภาคหรือข้อที่พวกเขามุ่งเน้นขณะศึกษา ซึ่งจะรวมถึง หลักคำสอนและพันธสัญญา 18 และ หมวด 30–36

นักเรียนมีโอกาสวางแผนแบ่งปันพระกิตติคุณกับใครบางคนไปแล้วเมื่อศึกษา “หลักคำสอนและพันธสัญญา 30–36 ตอน 2” ท่านอาจติดตามผลของแผนนี้โดยถามคำถามดังต่อไปนี้ (นักเรียนจะสนทนาคำถามเหล่านี้เป็นกลุ่มเล็กได้เช่นกัน):

  • เมื่อเร็วๆ นี้ท่านได้ทำอะไรบ้างเพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น? ท่านรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้?

  • ท่านพบเจออุปสรรคอะไรบ้างเมื่อพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในวิธีที่ปกติและเป็นธรรมชาติ?

  • ท่านกำลังเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์?

สนทนาในชั้นเรียนเกี่ยวกับความพยายามของท่านในการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอด นักเรียนจะสนทนาสิ่งที่ราบรื่นดีหรือความยากที่พวกเขาประสบ การสนทนานี้จะให้โอกาสนักเรียนช่วยกันแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ท่านจะช่วยให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาเติบโตขึ้นอย่างไรเมื่อพยายามพูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์