“บทที่ 25 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การสืบทอดในฝ่ายประธานและการเดินทางไปตะวันตก” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2019)
“บทที่ 25 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 25 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
การสืบทอดในฝ่ายประธานและการเดินทางไปตะวันตก
หลังจากประกาศการสิ้นชีวิตของโจเซฟกับไฮรัม สมิธ บทความหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งสรุปว่า “ลัทธิมอรมอนอวสานเสียแล้ว” (Weekly Herald, July 13, 1844, 220) เนื่องจากการสิ้นชีวิตของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ ผู้สังเกตการณ์ภายนอกบางคนเชื่อว่าศาสนจักรจะล่มสลาย และสมาชิกศาสนจักรสงสัยว่าใครจะนำพวกเขา ขณะศึกษาสื่อการเรียนการสอนบทนี้ ให้มองหาว่าพระเจ้าทรงนำศาสนจักรนี้ต่อไปอย่างไรหลังจากการสิ้นชีวิตของศาสดาพยากรณ์
หัวข้อ 1
ใครนำศาสนจักรของพระเจ้าเมื่อศาสดาพยากรณ์สิ้นชีวิต?
ทำ หนึ่ง ตัวเลือกต่อไปนี้สำหรับหัวข้อนี้:
-
ดูวีดิทัศน์เรื่อง “The Succession Crisis after Joseph Smith’s Murder” (8:03) แล้วทำกิจกรรมไตร่ตรองทั้งหมดท้ายหัวข้อนี้
NaN:NaN -
ศึกษาเนื้อหาต่อไปนี้ แล้วทำกิจกรรมไตร่ตรอง
ความรู้สึกเศร้าหมองเกิดขึ้นทั่วนอวูเมื่อทราบข่าวการสิ้นชีวิตของโจเซฟกับไฮรัม สมิธ ในช่วงความสับสนครั้งนี้ หลายคนอ้างว่าพวกเขามีสิทธิ์นำศาสนจักร หนึ่งในนั้นคือซิดนีย์ ริกดัน
ตอนที่โจเซฟสิ้นชีวิต บริคัม ยังก์และอัครสาวกคนอื่นๆ กำลังรับใช้งานเผยแผ่ทางภาคตะวันออกของสหรัฐ แต่บริคัมไม่ได้รับจดหมายแจ้งการฆาตรกรรมโจเซฟกับไฮรัม สมิธจนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1844
เมื่ออ่านจดหมาย บริคัมรู้สึกเหมือนศีรษะจะแตก ท่านไม่เคยรู้สึกสิ้นหวังแบบนี้มาก่อน
ท่านนึกถึงฐานะปุโรหิตขึ้นมาทันที โจเซฟถือกุญแจทั้งหมดที่จำเป็นต่อการประสาทและผนึกวิสุทธิชนไว้ด้วยกันชั่วนิรันดร์ หากปราศจากกุญแจเหล่านั้น งานของพระเจ้าจะก้าวหน้าต่อไปไม่ได้ ชั่วขณะหนึ่งบริคัมเกรงว่าโจเซฟได้นำกุญแจเหล่านั้นไปหลุมศพด้วย
จากนั้น ในการเปิดเผยที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน บริคัมจำได้ว่าโจเซฟได้มอบกุญแจให้อัครสาวกสิบสองแล้ว ท่านกล่าวขณะวางมือบนเข่าว่า “กุญแจของอาณาจักรอยู่กับศาสนจักรที่นี่” (Saints: The Story of the Church of Jesus Christ in the Latter Days, vol. 1, The Standard of Truth, 1815–1846 [2018], 559)
วันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1844 อัครสาวกสิบสองและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นมารวมกันในสภา ระหว่างการประชุมนี้ซิดนีย์ ริกดันผู้ไม่พอใจศาสนจักรได้ยืนกรานว่าเพราะเขาเคยได้รับการเรียกและการแต่งตั้งเป็นกระบอกเสียงของโจเซฟ สมิธ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 100:9) จึงเป็นหน้าที่รับผิดชอบของเขาที่ต้อง “ดูแลให้มีการปกครองศาสนจักรอย่างถูกต้อง” (ใน History, 1838–1856 [Manuscript History of the Church], volume F-1, 295, josephsmithpapers.org)
หลังจากซิดนีย์ ริกดันพูดจบ บริคัม ยังก์ประกาศดังนี้
โจเซฟประสาทกุญแจและพลังอำนาจทั้งหมดที่เป็นของอัครสาวกไว้บนศีรษะ [ของอัครสาวกสิบสอง] ซึ่งตัวท่านถือกุญแจเหล่านั้นก่อนท่านถูกสังหาร (Brigham Young, in History, 1838–1856, volume F-1, 296, josephsmithpapers.org)
วันต่อมา วิสุทธิชนในนอวูมารวมกันฟังซิดนีย์ ริกดันอ้างสิทธิ์การเป็นผู้นำของเขา หลังจากเขาพูดจบ บริคัม ยังก์ก็พูดสั้นๆ สนับสนุนให้โควรัมอัครสาวกสิบสองผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตทั้งหมดที่ฟื้นฟูให้แก่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธนำศาสนจักรในเวลานี้
ขณะที่เอมิลี [ฮอยต์] ฟังบริคัมพูด เธอรู้ตัวว่ากำลังจ้องมองท่านเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่โจเซฟพูด ท่านมีสีหน้า วิธีใช้เหตุผล และแม้กระทั่งเสียงพูดของโจเซฟ …
เจ็ดปีต่อมา เอมิลีบันทึกประสบการณ์ของเธอขณะจ้องมองบริคัมพูดกับวิสุทธิชน โดยเป็นพยานว่าท่านมีท่าทางและเสียงพูดเหมือนโจเซฟบนยกพื้นมาก หลายปีต่อมา วิสุทธิชนหลายสิบคนได้เพิ่มพยานของพวกเขาเข้ากับพยานของเธอ โดยบอกว่าพวกเขาเห็นเสื้อคลุมการเป็นศาสดาพยากรณ์ของโจเซฟตกมาบนบริคัมวันนั้น (Saints, 1:565–566)
วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์เขียนว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่เคยเห็นท่าน [บริคัม] ด้วยตาตนเอง คงไม่มีใครทำให้ข้าพเจ้าเชื่อได้ว่านั่นไม่ใช่โจเซฟ สมิธ” (ใน History of the Church, 7:236)
เนื่องด้วยคำประกาศของบริคัม ยังก์เกี่ยวกับการประสาทกุญแจและอำนาจการเป็นอัครสาวกของโจเซฟไว้บนอัครสาวกสิบสองและพยานยืนยันของพระวิญญาณบริสุทธิ์ วิสุทธิชนจึงเข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้าและสนับสนุนโควรัมอัครสาวกสิบสองให้เป็นผู้นำศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์
หัวข้อ 2
พระเจ้าจะทรงนำทางเราเมื่ออนาคตดูไม่แน่นอนได้อย่างไร?
ในเดือนมกราคม ปี 1846 ท่ามกลางการข่มเหงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัครสาวกสิบสองกำหนดแผนขั้นสุดท้ายให้วิสุทธิชนออกจากนอวูไปตะวันตก ในปี 1842 โจเซฟ สมิธพยากรณ์ “ว่าวิสุทธิชนจะยังคงได้รับความทุกข์ทรมานมากและจะถูกขับไล่ไปจนถึงเทือกเขาร็อคกี้ … [และตั้ง] ถิ่นฐานและสร้างเมืองและ … กลายเป็นผู้คนที่เกรียงไกรท่ามกลางเทือกเขาร็อคกี้” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 517)
ขณะวิสุทธิชนกำลังเตรียมออกจากนอวู พวกเขาทำงานเพื่อสร้างพระวิหารนอวูให้เสร็จด้วย เมื่อพระวิหารใกล้เสร็จ วิสุทธิชนหลายพันคนเข้าชุมนุมที่พระวิหารทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อรับศาสนพิธีเอ็นดาวเม้นท์และการผนึก ซิสเตอร์ซาราห์ ริชตั้งข้อสังเกตดังนี้
หากไม่เป็นเพราะศรัทธาและความรู้ที่มอบให้เราในพระวิหารแห่งนั้นโดยอิทธิพลและความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้า การเดินทางของเราคงจะเหมือนคนกระโดดในความมืด … แต่เรามีศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์ และเราวางใจในพระองค์โดยรู้สึกว่าเราเป็นผู้คนที่พระองค์ทรงเลือก (ซาราห์ ริช ใน Daughters in My Kingdom: The History and Work of Relief Society [2011], 30)
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงวิสุทธิชนที่อยู่ในนอวูเวลานั้นว่า
พันธสัญญาของพวกเขากับพระเจ้าในพระวิหารนอวูเป็นเครื่องคุ้มครองพวกเขาระหว่างการเดินทางไปตะวันตก เฉกเช่นคุ้มครองเราแต่ละคนวันนี้และตลอดชีวิตเรา (โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “Temple Blessings,” New Era, Feb. 2014, 4)
ขณะที่การข่มเหงทวีความรุนแรง วิสุทธิชนกำหนดแผนขั้นสุดท้ายและวิสุทธิชนกลุ่มใหญ่กลุ่มแรกเริ่มเดินทางข้ามไอโอวาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1846 พวกเขาเผชิญอากาศหนาวเหน็บ เสบียงไม่พอ และความไม่เป็นระเบียบ ฤดูใบไม้ผลิทำให้ฝนตกตลอดเวลา น้ำในคลองสูงกว่าปกติ และมีโคลน วิสุทธิชนจึงเดินทางได้เพียง 300 ไมล์ (483 กิโลเมตร) ใน 131 วัน เนื่องจากความล่าช้าและเสบียงร่อยหรอ บริคัม ยังก์จึงหยุดการเดินทางชั่วคราวและตั้งที่พักระหว่างทางเรียกว่าวินเทอร์ควอร์เตอร์ส ราวฤดูใบไม้ร่วง ประชากรของวินเทอร์ควอร์เตอร์สเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมากกว่า 7,000 คน
หลายคนป่วยจากภาวะขาดสารอาหารและความตรากตรำ บางคนถูกท้าทายศรัทธา สภาพการณ์ที่ยากลำบากเหล่านี้ทำให้ฤดูหนาวของปี 1846–1847 เป็นช่วงเวลายากที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตของบริคัม ยังก์ ท่านรู้สึก “เหมือนเป็นพ่อที่มีลูกหลายคนอยู่รอบๆ” และจำได้ว่าความรับผิดชอบของท่านทับลงบนท่านเหมือน “น้ำหนักยี่สิบห้าตัน” (“This Shall Be Our Covenant,” Revelations in Context [2016], 307–8; see also Saints: The Story of the Church of Jesus Christ in the Latter Days, vol. 2, No Unhallowed Hand, 1846–1893 [2020], 40–44, 46–51)
ภายใต้น้ำหนักนี้ บริคัม ยังก์ทูลวิงวอนขอการนำทางจากพระเจ้าและได้รับการเปิดเผยให้สถาปนา “พระคำและพระประสงค์ของพระเจ้าเกี่ยวกับค่ายของอิสราเอลในการเดินทางของพวกเขาไปตะวันตก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 136:1) ขณะที่ท่านศึกษาตัวเลือกต่อไปนี้ของการเปิดเผยดังกล่าว ท่านอาจจะทำเครื่องหมายคำแนะนำและคำสัญญาที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชน
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดให้ข้อคิดที่สำคัญเกี่ยวกับจังหวะเวลาของการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 136. ท่านกล่าวว่า
หลักเบื้องต้นของการพยายามให้ได้รับการเปิดเผยคือความมุ่งมั่นตั้งใจทำสุดความสามารถด้วยความพยายามและวิจารณญาณของเราเอง หมายความว่าเราต้องรับใช้และลงมือทำงาน
การก้าวไปข้างหน้าด้วยการรับใช้และงานของเราเป็นวิธีสำคัญที่จะทำให้เรามีคุณสมบัติคู่ควรรับการเปิดเผย ในการศึกษาพระคัมภีร์ข้าพเจ้าสังเกตว่าการเปิดเผยส่วนใหญ่ต่อบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเกิดขึ้นขณะพวกเขากำลังทำบางสิ่งบางอย่าง ไม่ใช่ขณะนั่งผ่อนคลายอยู่ในบ้านแล้วรอให้พระเจ้าทรงบอกว่าควรทำอะไรเป็นอย่างแรก
ตัวอย่างเช่น สำคัญมากที่ต้องสังเกตว่าการเปิดเผยที่รู้กันว่าเป็น “พระคำและพระประสงค์ของพระเจ้าเกี่ยวกับค่ายของอิสราเอล” (คพ. 136:1) มิได้ประทานให้ในนอวูเมื่อโควรัมอัครสาวกสิบสองวางแผนอพยพออกจากนอวู … ทั้งมิได้ประทานให้ที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี … การเปิดเผยเพื่อนำทางให้วิสุทธิชนเคลื่อนขบวนข้ามทุ่งราบประทานให้ในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1847 เมื่อวิสุทธิชนเดินทางไปได้หนึ่งในสามของเส้นทางสู่หุบเขาระหว่างภูเขาที่นั่น (ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ในเวลาของพระองค์ ในวิธีของพระองค์,” เลียโฮนา, ส.ค. 2013, 22, 24)
พิจารณาสักหนึ่งนาทีว่าจะประยุกต์ใช้ข้อคิดนี้จากประธานโอ๊คส์กับคำถามและการตัดสินใจของท่านเองที่ส่งผลต่ออนาคตของท่านอย่างไร
ต้นเดือนเมษายน ปี 1847 บริคัม ยังก์ออกจากวินเทอร์ควอเทอร์สพร้อมวิสุทธิชนกลุ่มแรก พวกเขาเดินทาง 1,031 ไมล์ (1660 กิโลเมตร) ในสี่เดือนและมาถึงหุบเขาซอลท์เลควันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1847 วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์บันทึกว่าเมื่อบริคัม ยังก์เห็นหุบเขา “ท่านถูกโอบล้อมอยู่ในนิมิตนานหลายนาที เมื่อนิมิตผ่านไป ท่านกล่าวว่า ‘พอแล้ว ตรงนี้แหละ ไปต่อเถอะ’” (ใน คำสอนของประธานศาสนาจักร: วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ [2004], 151) ราวเดือนตุลาคม วิสุทธิชนประมาณ 1,700 คนตั้งถิ่นฐานในยูทาห์ แต่อีกประมาณ 10,000 คนยังอยู่ตามแม่น้ำมิสซูรีในไอโอวาและเนบราสกา และจะเดินทางไปตะวันตกภายในห้าปีต่อจากนั้น (ดู “Sustaining a New First Presidency in 1847,” ChurchofJesusChrist.org)
อัครสาวกสิบสองนำศาสนจักรนานกว่าสามปีขณะยังไม่มีฝ่ายประธานสูงสุด ในเดือนธันวาคม ปี 1847 อัครสาวกประชุมกันในเคาน์ซิลบลัฟส์ ไอโอวา วิสุทธิชนจำนวนมากยังอยู่ที่นั่น พวกเขามารวมกันในบ้านไม้ซุงหลังเล็กเพื่อพูดถึงการจัดตั้งฝ่ายประธานสูงสุดชุดใหม่ “ปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์หลั่งเทมาบนคนที่นั่น” และอัครสาวกสิบสองพร้อมใจกันสนับสนุนบริคัม ยังก์ผู้เป็นอัครสาวกอาวุโสให้เป็นประธานศาสนจักร (อัตชีวประวัติของบัธเชบา ดับเบิลยู. สมิธ, 12, หอสมุดประวัติศาสนจักร ซอลท์เลคซิตี้; ปรับตัวสะกดให้ได้มาตรฐาน; ดู Saints, 2:87–89, 92–95)