“บทที่ 26 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: ศาสนจักรในตะวันตก” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2019)
“บทที่ 26 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 26 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
ศาสนจักรในตะวันตก
วิสุทธิชนที่รวมตัวกันไปหุบเขาเกรทซอลท์เลคและภูมิภาคโดยรอบประสบความท้าทายหลายอย่างหลังจากมาถึง ความท้าทายเหล่านี้รวมถึงสภาพอากาศที่เลวร้าย ตั๊กแตนกินพืช ความแห้งแล้ง และความหิวโหย แต่บริคัม ยังก์ “สนใจเรื่องการทำไร่ไถนาและการหาเงินน้อยกว่าการช่วยให้ผู้คนของท่านกลายมาเป็นประชาชาติที่บริสุทธิ์
ท่านรู้จากประสบการณ์ว่าพวกเขาจะเติบโตจากการทำงานหนักและการยอมรับหน้าที่รับผิดชอบ ท่านบอกสมาชิกที่มาประชุมกันในซอลท์เลคซิตี้ในปี 1856 ว่า ‘ที่ตรงนี้เหมาะจะสร้างวิสุทธิชน’ (DNW [Deseret News Weekly], 10 Sept. 1856, 5)” (เปรียบเทียบกับ คำสอนของประธานศาสนาจักร: บริคัม ยัง [1997], 10) วิสุทธิชนส่วนใหญ่แสดงศรัทธามากในพระเจ้าในช่วงปีแรกๆ ทั้งที่มีการทดลองเหล่านี้ น่าเศร้าที่ประวัติศาสนจักรช่วงนี้เกิดโศกนาฏกรรมของการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์ด้วยซึ่งได้สอนบทเรียนสำคัญๆ ที่เราสามารถประยุกต์ใช้ในสมัยของเรา
หัวข้อ 1
ฉันได้เรียนรู้อะไรจากวิสุทธิชนผู้บุกเบิกยุคแรกเกี่ยวกับการรับใช้พระเจ้าและการสร้างอาณาจักรของพระองค์ในสมัยนี้?
ในช่วงฤดูหนาวที่ยากลำบากของปี 1848–1849 เมื่ออากาศหนาวเย็นและอาหารขาดแคลน วิสุทธิชนบางคนต้องการย้ายไปแคลิฟอร์เนียและทำเหมืองทอง ประธานบริคัม ยังก์พยากรณ์ว่า
“มีคนถามข้าพเจ้าเรื่องไป [แคลิฟอร์เนีย] ข้าพเจ้าบอกพวกเขาว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดที่แห่งนี้ [เกรทเบซิน] ไว้สำหรับการรวบรวมวิสุทธิชนของพระองค์ และที่นี่คุณจะทำได้ดีกว่าไปเหมืองทอง … พระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงให้ข้าพเจ้าเห็นว่านี่เป็นจุดให้ผู้คนของพระองค์ตั้งรกราก และที่นี่พวกเขาจะรุ่งเรือง … พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้สภาพอากาศดีขึ้นและเราจะสร้างเมืองและพระวิหารถวายแด่พระผู้เป็นเจ้าสูงสุดในที่แห่งนี้ เราจะขยายถิ่นฐานของเราไปทางตะวันออกและตะวันตก ไปทางเหนือและทางใต้ เราจะสร้างเมืองใหญ่น้อยหลายร้อยเมือง และวิสุทธิชนหลายพันคนจากประชาชาติต่างๆ ของแผ่นดินโลกจะมารวมกันในเมืองเหล่านี้ (ใน James S. Brown, Life of a Pioneer: Being the Autobiography of James S. Brown [1900], 121–22)
ตอนที่บริคัม ยังก์สิ้นชีวิตในปี 1877 วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเห็นสัมฤทธิผลอันน่าอัศจรรย์ของคำพยากรณ์นี้ ศรัทธาของวิสุทธิชนผู้บุกเบิกในพระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ดลใจ วิสุทธิชนผู้บุกเบิก 60,000 ถึง 70,000 คนให้อพยพไปหุบเขาซอลท์เลคเพื่อตั้งชุมชนระหว่าง 350 ถึง 400 ชุมชนในยูทาห์ แอริโซนา แคลิฟอร์เนีย โอไฮโอ เนวาดา และไวโอมิง
กองทุนต่อเนื่องเพื่อการอพยพที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือวิสุทธิชนยุคสุดท้ายผู้ยากไร้ย้ายถิ่นได้ช่วยหาทุนให้วิสุทธิชน 30,000 คนเดินทางจากบริติชไอลส์ สแกนดิเนเวีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ผู้สอนศาสนาสั่งสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ทั่วโลก วิสุทธิชนอุทิศถวายเวลาของพวกเขาเพื่อสร้างพระวิหารในซอลท์เลคซิตี้ โลแกน และเซนต์จอร์จ สำคัญที่สุดคือวิสุทธิชนได้ทิ้งมรดกแห่งศรัทธา การเสียสละ และการอุทิศตนแน่วแน่ต่ออุดมการณ์ของพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์ไว้ให้พวกเรา (ดู “Brigham Young,” Newsroom Topics, newsroom.churchofjesuschrist.org)
เลือกหนึ่งเรื่องต่อไปนี้เกี่ยวกับวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ผู้รวมตัวกันไปยูทาห์ในยุคแรกๆ ของศาสนจักร อ่านเรื่องนั้นและเตรียมมาแบ่งปันบทเรียนหรือหลักธรรมที่ท่านเรียนรู้จากเรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับการรับใช้พระเจ้าและการสร้างอาณาจักรของพระองค์ในปัจจุบัน
การช่วยชีวิตขบวนรถลาก
อ่านเรื่องราวความเห็นอกเห็นใจของวิสุทธิชนที่ออกไปช่วยชีวิตผู้บุกเบิกรถลากใน คำสอนของประธานศาสนจักร: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ [2016], 101–103 เริ่มจากย่อหน้าที่ขึ้นต้นว่า “ข้าพเจ้านำท่านย้อนกลับไปใน …” และอ่านจนถึงย่อหน้าที่ขึ้นต้นว่า “เรื่องราวของวิสุทธิชนที่ยากลำบาก …”
จอห์น มอยล์
อ่านเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจของจอห์น มอยล์ผู้เดินทางไปซอลท์เลคเพื่อทำงานพระวิหารทุกสัปดาห์ทั้งที่เสียขาในอุบัติเหตุ ในคำพูดของดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟเรื่อง “ยืนตรงไหนยกตรงนั้น” (เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 69–70) อ่านหัวข้อเรื่อง “แบบอย่างของจอห์น โรว์ มอยล์”
หรือดูวีดิทัศน์เรื่อง “Only a Stonecutter” (15:00)
โจเซฟ มิลเลตต์
อ่านเรื่องที่โจเซฟ มิลเล็ตเต็มใจให้แป้งแก่ชายคนหนึ่งที่พระเจ้าทรงนำเขามา; บอยด์ เค. แพคเกอร์, “A Tribute to the Rank and File of the Church,” Ensign, May 1980, 63 เริ่มจากย่อหน้าที่ขึ้นต้นว่า “Let me quote from the diary of Joseph Millett … ,” และจบตรงย่อหน้าที่ขึ้นต้นว่า “The Lord knew Joseph Millett”
หรือดูวีดิทัศน์เรื่อง “The Joseph Millett Story” (6:14)
ชาร์ลส์ วอล์คเกอร์และชาร์ลส์ ริช
อ่านเกี่ยวกับศรัทธาของชายสองคนและครอบครัวของพวกเขาที่ตอบรับการเรียกให้ตั้งถิ่นฐานใหม่สำหรับการรวบรวมวิสุทธิชน ใน มรดกของเรา: ประวัติย่อของศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์แห่งสิทธิชนยุคสุดท้าย (1996) หน้า 101–102 อ่านตั้งแต่หน้า 101 เริ่มจากย่อหน้าที่ขึ้นต้นว่า “ในการประชุมใหญ่สามัญ ประธานยังก์ …” และจบตรงย่อหน้าที่ขึ้นต้นว่า “มีความยากลำบากมากมาย …” ในหน้า 102
หัวข้อ 2
อะไรเป็นเหตุให้เกิดการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์?
ในช่วงทศวรรษ 1850 ความไม่ลงรอยกันและความผิดพลาดทางการสื่อสารส่งผลให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐ เจมส์ บูคานันประธานาธิบดีสหรัฐหลงเชื่อว่าวิสุทธิชนก่อกบฏ เขาจึงส่งทหารประมาณ 1,500 นายมาซอลท์เลคซิตี้เพื่อปราบกบฏที่คนกล่าวหา
ในโอวาทถึงวิสุทธิชน ประธานยังก์และผู้นำศาสนจักรท่านอื่นพูดถึงกองทหารที่กำลังมาว่าเป็นศัตรู พวกท่านเกรงว่ากองทหารจะขับไล่วิสุทธิชนออกจากเขตปกครองพิเศษยูทาห์เช่นที่พวกเขาเคยถูกขับไล่ออกจากโอไฮโอ มิสซูรี และอิลลินอยส์มาแล้ว ประธานยังก์แนะนำให้วิสุทธิชนสะสมธัญพืชเพื่อพวกเขาจะมีอาหารประทังชีวิตหากต้องหลบหนีกองทหาร ในฐานะผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษยูทาห์ ท่านจึงสั่งการให้ทหารบ้านของเขตนั้นเตรียมป้องกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด วิสุทธิชนที่เหลือจึงเตรียมอพยพออกจากบ้านและที่ดินและทำลายสิ่งเหล่านั้นหากจำเป็น
ระหว่างนี้ ขบวนเกวียนผู้ย้ายถิ่นที่เดินทางจากอาร์คันซอไปแคลิฟอร์เนียก็เข้ามาในยูทาห์ สมาชิกบางคนในขบวนเกวียนหงุดหงิดมากเพราะพวกเขาไม่สามารถซื้อธัญพืชที่จำเป็นมากจากวิสุทธิชนได้
ความตึงเครียดปะทุในซีดาร์ซิตี้ซึ่งเป็นถิ่นฐานสุดท้ายในยูทาห์ระหว่างเส้นทางไปแคลิฟอร์เนีย การปะทะเกิดขึ้น และสมาชิกบางคนของขบวนเกวียนขู่จะสมทบกับกองทหารสหรัฐที่กำลังมาจัดการกับวิสุทธิชน หลังจากขบวนเกวียนออกนอกเมืองไปแล้ว ผู้ตั้งถิ่นฐานบางคนและผู้นำในซีดาร์ซิตี้ต้องการตามไปลงโทษคนที่ข่มขู่และรุกรานพวกเขา
ไอแซค เฮจท์ผู้เป็นทั้งนายกเทศมนตรีซีดาร์ซิตี้ หัวหน้าทหารบ้าน และประธานสเตคขออนุญาตจากวิลเลียม เดมผู้บัญชาการทหารบ้านในปาโรวันที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อเรียกทหารบ้านมาช่วยปะทะกับผู้รุกรานจากขบวนเกวียน แต่เดมปฏิเสธคำขอของพวกเขาและแนะนำไม่ให้สนใจคำขู่ของผู้ย้ายถิ่น
แทนที่จะทำตามคำแนะนำ ไอแซค เฮจท์และผู้นำคนอื่นๆ ของซีดาร์ซิตี้กลับวางแผนชักชวนชาวอินเดียนแดงเผ่าพายยุตในท้องที่ให้โจมตีขบวนเกวียนขโมยปศุสัตว์ และฆ่าผู้ชายบางคนหรือทั้งหมด เฮจท์ขอให้จอห์น ดี. ลีสมาชิกศาสนจักรในท้องที่และหัวหน้าทหารบ้านนำเผ่าพายยุตในการโจมตีครั้งนี้ พวกเขาสมคบกันโยนความผิดให้เผ่าพายยุตสำหรับการกระทำดังกล่าว
ไอแซค เฮจท์เสนอแผนต่อสภาของศาสนจักรในท้องที่ ชุมชน และผู้นำทหารบ้าน สมาชิกสภาบางคนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแผนนั้นและถามเฮจท์ว่าเขาหารือกับประธานบริคัม ยังก์เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือยัง เฮจท์บอกว่ายัง และยอมส่งผู้ส่งสารคนหนึ่งไปซอลท์เลคซิตี้พร้อมจดหมายอธิบายสถานการณ์และถามว่าควรทำอย่างไร ผู้ส่งสารต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์กว่าจะไปถึงซอลท์เลคซิตี้และกลับมาพร้อมคำแนะนำของประธานยังก์
แต่ไม่นานก่อนที่ผู้ส่งสารจะออกไป จอห์น ดี. ลีและชาวอินเดียนแดงกลุ่มหนึ่งได้โจมตีค่ายผู้ย้ายถิ่นก่อนกำหนดตรงที่เรียกว่าเมาน์เทนเมโดวส์ ลีพยายามทำให้ดูประหนึ่งคนโจมตีคือชนเผ่าพายยุตในท้องที่เท่านั้น ผู้ย้ายถิ่นบางคนเสียชีวิตหรือไม่ก็บาดเจ็บ ส่วนคนที่เหลือต่อสู้กับผู้โจมตีจนลีและชนเผ่าพายยุตต้องล่าถอย ผู้ย้ายถิ่นลากเกวียนมาล้อมเป็นวงอย่างรวดเร็วเพื่อทำเป็นแนวป้องกัน
ณ จุดหนึ่งผู้ย้ายถิ่นสองคนเห็นทหารบ้านของซีดาร์ซิตี้ พวกทหารจึงยิงสองคนนั้น และคนหนึ่งเสียชีวิต อีกคนหลบหนี
เพื่อพยายามป้องกันไม่ให้ข่าวรั่วไหลว่าสมาชิกศาสนจักรพัวพันกับการโจมตี ไอแซค เฮจท์, จอห์น ดี. ลี และผู้นำศาสนจักรในท้องที่กับหัวหน้าทหารบ้านคนอื่นๆ จึงวางแผนฆ่าผู้ย้ายถิ่นที่เหลือทั้งหมดยกเว้นเด็กเล็ก “พวกเขาขออนุญาตเดมอีกครั้งเพื่อเรียกทหารบ้านมาช่วย และเดมจัด … สภาอีกรอบซึ่งลงมติให้ส่งคนไปช่วยผู้ย้ายถิ่นที่ถูกโอบล้อมให้เดินทางต่อไปอย่างสงบ ต่อมาเฮจท์โอดครวญว่า ‘ผมยอมสละโลกถ้าผมมี ถ้าเรายอมทำตามมติของสภาก็คงจะดีไม่น้อย’” (ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์, “The Mountain Meadows Massacre,” Ensign, Sept. 2007, 18)
หลังจากการประชุมสภา ไอแซค เฮจท์ประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมเดมให้ทบทวนมติของสภาอีกครั้ง และเฮจท์ออกไปพลางเชื่อว่าเขาได้รับอนุญาตให้ใช้ทหารบ้านดำเนินการตามแผนของพวกเขา จอห์น ดี. ลีเข้าประชิดผู้ย้ายถิ่นภายใต้ธงขาวของการสงบศึกชั่วคราวและบอกว่าทหารบ้านจะคุ้มครองไม่ให้พวกเขาถูกโจมตีอีกโดยจะนำพวกเขากลับไปซีดาร์ซิตี้อย่างปลอดภัย
ขณะผู้ย้ายถิ่นกำลังเดินไปซีดาร์ซิตี้ ทหารบ้านก็หันมายิงคนเหล่านั้น ชาวอินเดียนแดงบางคนที่ผู้ตั้งถิ่นฐานเกณฑ์มาช่วยกรูออกจากที่ซ่อนมาร่วมโจมตี ในบรรดาผู้ย้ายถิ่นประมาณ 140 คนที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนเกวียนมีเด็กเล็กเพียง 17 คนรอดชีวิต
สองวันหลังจากการสังหารหมู่ คำตอบของประธานยังก์ก็มาถึง พร้อมด้วยคำแนะนำให้ปล่อยขบวนเกวียนผ่านไปอย่างสงบ “เมื่อเฮจท์อ่านคำตอบของประธานยังก์ เขาสะอื้นไห้ราวกับเด็ก และพูดได้แต่เพียงว่า ‘ไม่ทันแล้ว ไม่ทันแล้ว’” (ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์, “The Mountain Meadows Massacre,” Ensign, Sept. 2007, 20)
การเลือกของผู้นำศาสนจักรบางคนและผู้ตั้งถิ่นฐานทางภาคใต้ของเขตปกครองพิเศษยูทาห์เป็นเหตุให้เกิดการสังหารหมู่อันน่าโศกสลดที่เมาน์เทนเมโดวส์ ในทางกลับกัน ผู้นำศาสนจักรและหัวหน้าเขตในซอลท์เลคซิตี้แก้ไขความขัดแย้งกับรัฐบาลสหรัฐผ่านการเจรจาสงบศึกในปี 1858 ระหว่างความขัดแย้งครั้งนี้—ต่อมาเรียกว่าสงครามยูทาห์—กองทัพสหรัฐกับทหารบ้านยูทาห์มีส่วนในการรุกรานแต่ไม่เคยร่วมรบ
ขณะพูดที่อนุสรณ์สถานรำลึกถึงการสังหารหมู่ที่เมาน์เทนเมโดวส์เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2007 ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวดังนี้
พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ที่เราเชื่อชิงชังการเข่นฆ่าชายหญิงและเด็กอย่างเลือดเย็น โดยแท้แล้วพระกิตติคุณสนับสนุนความสงบสุขและการให้อภัย สิ่งที่สมาชิกของศาสนจักรเราทำที่นี่นานมาแล้วเท่ากับเป็นการฝ่าฝืนคำสอนและความประพฤติแบบชาวคริสต์อย่างร้ายแรงจนไม่อาจยกโทษให้ได้ … เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในหุบเขานี้ … และต่อความทุกข์แสนสาหัสจนสุดพรรณนาของผู้เสียชีวิตในเวลานั้นและญาติๆ ของพวกเขาจวบจนปัจจุบัน (เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “150th Anniversary of Mountain Meadows Massacre,” newsroom.ChurchofJesusChrist.org)