2 โครินธ์ 2
“ท่านทั้งหลายควรจะยกโทษ”
การให้อภัยผู้อื่นอาจเป็นเรื่องยากมาก เปาโลเขียนถึงวิสุทธิชนชาวโครินธ์เกี่ยวกับการให้อภัยผู้ล่วงละเมิดในชุมชนของตน เปาโลจึงเชื้อเชิญให้วิสุทธิชนเหล่านั้นให้อภัย ทั้งเพื่อความดีของผู้ที่ได้รับการให้อภัยและประโยชน์ของพวกเขาเอง ขณะที่ท่านศึกษา ให้แสวงหาที่จะเพิ่มความเข้าใจของท่านเกี่ยวกับความสำคัญของการให้อภัยและความปรารถนาของท่านที่จะให้อภัยผู้อื่น
ท่านจะตอบสนองอย่างไร?
ลองจินตนาการดูว่าท่านและคนรอบข้างอาจตอบสนองอย่างไรในสถานการณ์ต่อไปนี้:
-
เป็นที่ทราบกันดีว่าสมาชิกคนหนึ่งในวอร์ดหรือสาขาของท่านกระทำบาปร้ายแรง เช่น ละเมิดกฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ
-
บางคนในวอร์ดหรือสาขาของท่านคัดค้านผู้นำศาสนจักรอย่างเปิดเผย
ตอบคำถามต่อไปนี้:
-
แม้ว่าผู้คนในสถานการณ์เหล่านี้ได้พบกับผู้นำศาสนจักรและพยายามกลับใจ แต่ผู้อื่นอาจพูดถึงและปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไร?
-
เหตุใดจึงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคนที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความรักและการให้อภัย?
ใน 2 โครินธ์ 2 เปาโลเขียนถึงสถานการณ์ที่คล้ายกันในกรุงโครินธ์เมื่อมีบางคนล่วงละเมิดและได้รับการลงโทษจากสมาชิกศาสนจักร
ไตร่ตรองว่าท่านปฏิบัติต่อคนรอบข้างที่อาจเคยล่วงละเมิดอย่างไร พิจารณาคำถามต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง:
มีใครบางคนในชีวิตของท่านที่อาจต้องการการให้อภัยหรือไม่? มีใครบางคนในบ้านของท่าน ใครบางคนในครอบครัวของท่าน ใครบางคนในละแวกบ้านท่านไหมที่เคยทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ไม่เมตตาหรือสิ่งที่ไม่เป็นชาวคริสต์? พวกเราทุกคนล้วนมีความผิดจากการล่วงละเมิดเหล่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีใครสักคนที่ยังต้องการการให้อภัยจากท่านอย่างแน่นอน
(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “I Stand All Amazed ,” Ensign, ส.ค. 1986, 72)
ขณะที่ท่านศึกษาบทเรียนนี้ ให้แสวงหาความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อเพิ่มความเข้าใจที่มีต่อความสำคัญของการให้อภัยเหมือนพระคริสต์และวิธีที่ท่านอาจให้อภัยผู้อื่น
เปาโลสอนเกี่ยวกับการให้อภัย
1. คัดลอกแผนภูมิต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านและเติมแผนภูมิให้สมบูรณ์:
อ่าน 2 โครินธ์ 2:5–11 และดูว่าความจริงใดที่ท่านระบุได้ภายใต้หมวดหมู่ต่อไปนี้:
เราควรปฏิบัติต่อบุคคลที่ทำให้เราโศกเศร้าอย่างไร? |
เพราะเหตุใดเราจึงควรปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยวิธีนี้? |
---|---|
-
ท่านเรียนรู้อะไรจากการศึกษาข้อนี้?
หลักธรรมสองประการที่ท่านอาจระบุได้คือ ผ่านทางพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ เราสามารถยกโทษและเอื้อมออกไปหาผู้อื่นด้วยความรัก และ หากเราไม่ให้ภัยผู้อื่น ซาตานจะมีข้อได้เปรียบเหนือเรา
-
อะไรคือตัวอย่างของวิธีที่ท่านอาจให้อภัย ปลอบโยน หรือยืนยันความรักของท่านต่อผู้ที่เคยล่วงละเมิดหรือเคยใจร้าย?
-
จากสิ่งที่ท่านทราบเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้รอด เหตุใดพระองค์จึงต้องการให้เรายกโทษและแสดงความรักต่อกัน? พระองค์จะทรงช่วยเราทำเช่นนี้ได้อย่างไร?
เอ็ลเดอร์มัสสิโม ดี ฟีโอแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า:
สานุศิษย์ที่แท้จริงชอบให้อภัย พวกเขารู้ว่าการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดครอบคลุมบาปและความผิดพลาดทั้งหมดของเราแต่ละคน พวกเขารู้ว่าราคาที่พระองค์ทรงจ่ายเป็น “ราคารวมทั้งหมด” ราคานั้นครอบคลุมภาษี ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า และค่าใช้จ่ายทางวิญญาณเกี่ยวกับบาป ความผิดพลาด และการทำผิดทั้งหมด สานุศิษย์ที่แท้จริงให้อภัยเร็วและขอโทษเร็ว
พี่น้องที่รักทั้งหลาย ถ้าท่านยังไม่มีพลังในการให้อภัย อย่านึกถึงสิ่งที่คนอื่นทำกับท่าน แต่นึกถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงทำให้ท่าน และท่านจะพบสันติสุขในพรของการไถ่อันเนื่องจากการชดใช้ของพระองค์
(มัสสิโม ดี ฟีโอ, “ความรักอันบริสุทธิ์: เครื่องหมายที่แท้จริงของสานุศิษย์ที่แท้จริงทุกคนของพระเยซูคริสต์” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 82)
-
เมื่อใดที่ท่านเคยเห็นตัวอย่างของผู้ที่ให้อภัยอีกคนหนึ่ง แล้วจากนั้นก็เอื้อมไปหาบุคคลนั้นด้วยความรัก?
-
การระงับไว้ซึ่งการให้อภัยจะทำให้ “ซาตาน … ได้เปรียบ [เหนือ] เรา” อย่างไร? ( 2 โครินธ์ 2:11)
คำสอนที่เกี่ยวกับการให้อภัย
เอ็ลเดอร์เควิน อาร์. ดันแคนแห่งสาวกเจ็ดสิบกล่าวว่า:
ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าพวกเราส่วนใหญ่ต้องการให้อภัย แต่เราพบว่าทำได้ยากมาก เมื่อเราประสบความอยุติธรรม เราอาจด่วนสรุปว่า “คนนั้นทำผิด สมควรได้รับโทษ ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน” เราคิดผิดๆ ว่า ถ้าเราให้อภัยก็จะไม่มีความยุติธรรมและจะไม่มีการลงโทษ
ไม่ใช่เช่นนั้นเลย พระผู้เป็นเจ้าจะประทานการลงโทษที่ยุติธรรม เพราะความเมตตาจะขโมยความยุติธรรมไม่ได้ (ดู แอลมา 42:25) พระผู้เป็นเจ้าทรงรับรองกับท่านและข้าพเจ้าด้วยความรักว่า “จงปล่อยการพิพากษาไว้กับเราผู้เดียว, เพราะสิ่งนั้นเป็นของเราและเราจะตอบแทน [แต่ให้] สันติสุขจงอยู่กับเจ้า” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:23]
(เควิน อาร์. ดันแคน, “สีผึ้งเยียวยาของการให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 33–34)
-
ท่านได้เรียนรู้อะไรบ้างที่อาจช่วยให้สมาชิกในวอร์ดของท่านเข้าใจและให้อภัยได้ดีขึ้น?
-
การให้อภัยผู้อื่นช่วยให้นักเรียนเข้าใกล้พระเยซูคริสต์มากขึ้นได้อย่างไร?
ใคร่ครวญถึงวิธีที่ท่านปฏิบัติกับผู้ที่เคยล่วงละเมิด แสวงหาการดลใจจากพระบิดาบนสวรรค์เกี่ยวกับสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อ “ยกโทษ … และ … ยืนยันความรักต่อ” พวกเขา (2 โครินธ์ 2:7–8) ท่านอาจเขียนความประทับใจและความคิดของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษา รวมถึงการกระทำใดๆ ที่ท่านรู้สึกว่าได้รับการดลใจให้ทำ
ทางเลือก: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมใช่หรือไม่?
การให้อภัยสามารถเป็นพรแก่ท่านเป็นการส่วนตัวได้อย่างไร?
ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) จากฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า:
ถ้าเราสามารถพบการอภัยในใจเราแก่ผู้ที่ทำให้เราเจ็บปวดและบาดเจ็บ เราจะก้าวขึ้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้นของความภาคภูมิใจในตนเองและความผาสุก
เจมส์ อี. เฟาสท์, “อำนาจเยียวยาของการให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 68)
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:
ด้วยสิทธิอำนาจแห่งอัครสาวกที่ข้าพเจ้าได้รับจากพระผู้ช่วยให้รอดของโลก ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความสงบสุขต่อจิตวิญญาณซึ่งมาจากการคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้าและการคืนดีต่อกันหากเรานอบน้อมและกล้าหาญพอที่จะทำให้ได้มา
(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “พันธกิจในเรื่องการคืนดี” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 79)
พระเยซูคริสต์จะทรงช่วยท่านให้อภัยได้อย่างไร?
เอ็ลเดอร์เควิน อาร์. ดันแคนแห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า:
การให้อภัยเป็นเหตุผลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งพระบุตรมา ฉะนั้นขอให้เรายินดีปรีดากับเครื่องถวายของพระองค์ซึ่งเยียวยาเราทุกคน การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดไม่ได้มีไว้เฉพาะคนที่ต้องกลับใจเท่านั้น แต่มีไว้สำหรับคนที่ต้องการให้อภัยด้วย ถ้าท่านมีปัญหาเรื่องการให้อภัยผู้อื่นหรือแม้ตนเอง จงทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยท่าน การให้อภัยเป็นหลักธรรมเยียวยาที่น่าสรรเสริญ เราไม่ต้องเป็นเหยื่อครั้งที่สอง เราสามารถให้อภัยได้
(เควิน อาร์. ดันแคน,“สีผึ้งเยียวยาของการให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 35)
ChurchofJesusChrist.org
ฉันจะเข้าใจมากขึ้นว่าการให้อภัยคืออะไรได้อย่างไร?
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:
[พระเยซูคริสต์ ]ไม่ได้ตรัสว่า “เจ้าไม่ได้รับอนุญาตให้รู้สึกถึงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ระทมอย่างแท้จริงจากการกระทำย่ำยีด้วยน้ำมือของผู้อื่น” และพระองค์ก็ไม่ได้ตรัสว่า “เพื่อจะยกโทษอย่างสมบูรณ์ เจ้าต้องกลับเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษภัยหรือกลับไปสู่สภาวการณ์เลวร้ายที่เป็นอันตราย” แต่ทั้งที่อาจเกิดการกระทำผิดที่เลวร้ายที่สุดต่อเรา เราก็ยังสามารถรับมือกับความเจ็บปวดของเราได้ เพียงแค่เราก้าวเดินสู่เส้นทางแห่งการเยียวยาอย่างแท้จริง
(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “พันธกิจในเรื่องการคืนดี” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 79)