เอเฟซัส 5:21–33; 6:1–4
ความสัมพันธ์เหมือนพระคริสต์
ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นหนึ่งในสิ่งคุ้มค่าที่สุดที่เราประสบได้ในความเป็นมรรตัย ความสัมพันธ์กับบิดามารดา พี่น้อง และคู่สมรสสามารถทำให้เกิดปีติใหญ่หลวงแต่สามารถก่อให้เกิดความท้าทายได้เช่นกัน เปาโลสอนว่าเราสามารถมองพระเยซูคริสต์เป็นแบบอย่างของความสัมพันธ์ที่ดีและมีความสุขกับสมาชิกครอบครัว บทเรียนนี้สามารถช่วยให้ท่านทำตามตัวอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ของท่านกับผู้อื่น
ครอบครัวของท่าน
เขียนชื่อสมาชิกครอบครัวสายตรงของท่านและสิ่งหนึ่งที่ท่านรักเกี่ยวกับพวกเขาแต่ละคน
พิจารณาข้อความนี้สำหรับสมาชิกครอบครัวแต่ละคน: “ฉันปฏิบัติต่อสมาชิกครอบครัวคนนี้แบบที่ฉันรู้สึกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงประสงค์ให้ฉันปฏิบัติต่อพวกเขา” แล้วให้คะแนนวิธีที่ท่านปฏิบัติต่อสมาชิกครอบครัวแต่ละคนโดยใช้ระดับคะแนนต่อไปนี้
ขณะที่ท่านศึกษาในวันนี้ ให้นึกถึงความสัมพันธ์ของท่านกับสมาชิกครอบครัวและวิธีที่ท่านสามารถทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการรักและช่วยเหลือพวกเขา
เปาโลให้คำแนะนำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว
สิ่งสำคัญคือต้องสังเกตว่าถ้อยคำของเปาโลใน เอเฟซัส 5:22–24 เขียนตามบริบทของธรรมเนียมทางสังคมในยุคสมัยของเขา ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคปัจจุบันสอนว่าชายไม่เหนือกว่าหญิงและคู่สมรสควรเป็น “หุ้นส่วนเท่าๆ กัน” (ดู “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org) แม้ธรรมเนียมในยุคสมัยของเปาโลจะแตกต่าง แต่ท่านยังสามารถพบคำแนะนำที่เกี่ยวข้องในคำสอนของเปาโล ความจริงอย่างหนึ่งที่เปาโลเน้นคือ เราสามารถทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการปฏิบัติต่อสมาชิกครอบครัวของเรา
อ่าน เอเฟซัส 5:21–27; 6:1–4 เพื่อมองหาหลักฐานของความจริงข้อนี้ ขณะที่ท่านศึกษาอาจเป็นประโยชน์ถ้ารู้ว่าการ “ยอมเชื่อฟังกันและกัน” (เอเฟซัส 5:21) หมายถึงการเต็มใจทำงานร่วมกัน รักและห่วงใยกัน และ “ยำเกรง [พระผู้เป็นเจ้า]” (เอเฟซัส 5:21) หมายถึงรักและเคารพอพระผู้เป็นเจ้า
ดูภาพต่อไปนี้และจับคู่กับเรื่องราวพระคัมภีร์เหล่านี้: ลูกา 2:51–52, ยอห์น 2:1–11 และ ลูกา 22:39–42 นึกถึงวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของการรัก เชื่อฟัง และให้เกียรติบิดามารดาทางโลกและพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ของพระองค์
-
พระผู้ช่วยให้รอดทรงรัก เชื่อฟัง และเคารพบิดามารดาของพระองค์อย่างไร? ท่านคิดว่าการกระทำของพระองค์ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับบิดามารดาของพระองค์อย่างไร?
-
ท่านให้เกียรติและเชื่อฟังบิดามารดาด้วยวิธีใดบ้าง?
-
การทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นพรแก่ท่านและช่วยท่านกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างไร หรือท่านคิดว่าจะทำได้อย่างไร?
ฝึกเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด
ทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด
ใคร่ครวญความสัมพันธ์ของท่านกับสมาชิกในครอบครัว นึกถึงช่วงเวลาที่ท่านได้ทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดและปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบพระคริสต์ ยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้ท่านด้วยรู้ว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำตามแบบอย่างการรักผู้อื่นของพระผู้ช่วยให้รอด
จดสิ่งที่ท่านรู้สึกว่าทำได้เพื่อเลียนแบบพระผู้ช่วยให้รอดในความสัมพันธ์กับครอบครัวท่าน ท่านอาจแบ่งปันสิ่งที่ท่านเขียนกับครูหรือบิดามารดาเพื่อช่วยให้ท่านทำตามที่รู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำ
เลือกได้: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือไม่?
เอเฟซัส 5:22–24 เราควรเข้าใจอะไรเกี่ยวกับคำสอนของเปาโลในข้อเหล่านี้?
เปาโลสอนว่าสมาชิกทุกคนของศาสนจักรควรยอมเชื่อฟังกันและกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ให้คนอื่นมาก่อนตนเอง (ดู เอเฟซัส 5:21) เขาอธิบายต่อจากนั้นว่าหลักธรรมของการยอมเชื่อฟังกันประยุกต์ใช้กับความสัมพันธ์ในครอบครัวและครัวเรือนอย่างไร ข้อ 22–24 อาจถูกเข้าใจผิดและประยุกต์ใช้อย่างผิดๆ ในยุคสมัยของเรา ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายสอนไว้อย่างชัดเจนว่าสามีภรรยาและบิดามารดาควรทำหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของตนในฐานะ “หุ้นส่วนเท่าๆ กัน” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org) หากสามีภรรยาเป็นหนึ่งเดียวกันจริงๆ การเสียสละเพื่อคู่สมรสของตนย่อมนำพรมาสู่ตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น “คนที่รักภรรยาของตัวเองก็รักตัวเองด้วย” (เอเฟซัส 5:28)
สามีหรือภรรยาจะปฏิบัติต่อคู่สมรสของตนเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงปฏิบัติได้อย่างไร?
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) กล่าวว่า:
ความสุขในชีวิตสมรสไม่ได้เป็นเรื่องของความโรแมนติกมากเท่าการเป็นห่วงความสุขสบายและสวัสดิภาพของคู่ครอง ชายใดทำให้ความสุขสบายของภรรยาเป็นความสนใจแรกของเขา ชายนั้นจะอยู่กับภรรยาด้วยความรักตลอดชีวิตของพวกเขาและตลอดนิรันดรที่จะมาถึง (Anchorage, Alaska, regional conference, June 18, 1995)
(“Speaking Today: Excerpts from Recent Addresses of President Gordon B. Hinckley,” Ensign, Apr. 1996, 72)
เอ็ลเดอร์แอล. วิทนีย์ เคลย์ตัน แห่งฝ่ายโควรัมสาวกเจ็ดสิบกล่าวว่า:
ข้าพเจ้าสังเกตว่าในชีวิตแต่งงานที่มีความสุขที่สุดนั้นทั้งสามีและภรรยาถือว่าความสัมพันธ์ของตนเป็นไข่มุกอันล้ำค่า เป็นสมบัติอันประมาณค่ามิได้ พวกเขาทั้งสองจากบิดามารดามาเริ่มสร้างชีวิตแต่งงานที่จะรุ่งเรืองชั่วนิรันดร์ พวกเขาเข้าใจว่าตนเดินตามเส้นทางที่ทรงกำหนด พวกเขารู้ว่าไม่มีความสัมพันธ์แบบใดจะทำให้เกิดปีติมากเช่นนี้ ก่อให้เกิดความดีมากเช่นนี้ หรือทำให้เกิดการขัดเกลาตนเองได้มากเช่นนี้ ดูและเรียนรู้: คู่แต่งงานที่ดีที่สุดถือว่าชีวิตแต่งงานของตนมีค่าสุดประมาณ
(ดู แอล. วิทนีย์ เคลย์ตัน, “ชีวิตแต่งงาน: ดูและเรียนรู้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 83)
ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว?
“จงให้เกียรติบิดามารดาของท่านโดยแสดงความรักและเคารพพวกท่าน เชื่อฟังเมื่อพวกท่านนำในความชอบธรรม เต็มใจช่วยเหลือในบ้าน มีส่วนร่วมในกิจกรรมและประเพณีที่ดีงามของครอบครัว ร่วมกับครอบครัวในการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว ศึกษาพระคัมภีร์เป็นครอบครัว และสังสรรค์ในครอบครัว การรักษาพระบัญญัติเหล่านี้จะเสริมสร้างความเข้มแข็งและทำให้ครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวกัน” (ดู เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [จุลสาร, 2011], 14–15)
ท่านอาจจะอ่านบทความต่อไปนี้ ซึ่งแนะนำวิธีสร้างและกระชับความสัมพันธ์: “หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ: สร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย,”เลียโฮนา, ส.ค. 2018, 6–9
ท่านอาจจะดูวีดิทัศน์หนึ่งเรื่องต่อไปนี้หรือมากกว่านั้น ทุกเรื่องอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org ซึ่งแสดงให้เห็นแบบอย่างของคนที่มุ่งมั่นทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการปฏิบัติต่อผู้อื่น
ในวีดิทัศน์เรื่อง “You Are My Hands” (ตั้งแต่รหัสเวลา 10:26 ถึง 12:39) ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟพูดเมื่อครั้งอยู่ในฝ่ายประธานสูงสุดว่าเราจะเป็นพระหัตถ์ของพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร
ในเรื่อง “Enduring Love” (4:16) คู่สามีภรรยารักและรับใช้กันทั้งที่ต้องอดทนกับความลำบากทางกาย
ในเรื่อง “Home and Family—Through Small Things” (3:33) อธิการท้าเยาวชนสามคนให้เรียนรู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้บ้านของพวกเขาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ในเรื่อง “Mothers and Daughters” (5:06) เยาวชนหญิงในแอลเบอร์ตา แคนาดาพูดคุยกันว่าเหตุใดคุณแม่ของพวกเธอจึงเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับพวกเธอ
ในเรื่อง “Fathers and Sons” (6:02) เยาวชนชายคนหนึ่งแบ่งปันว่าเขาพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับคุณพ่ออย่างไร