1 เธสะโลนิกา 4–5
เวลาที่พระเยซูคริสต์เสด็จกลับสู่โลก
ท่านจะเกิดคำถามหรือความคิดอะไรเมื่อท่านนึกถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์? อัครสาวกเปาโลสอนในสาส์นฉบับแรกถึงชาวเธสะโลนิกา บทที่ 4–5 เกี่ยวกับรายละเอียดสำคัญในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดและวิธีที่เราจะเตรียมตัวให้พร้อม บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นและวิธีที่ท่านสามารถเตรียมพร้อมเมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จกลับมาสู่โลก
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
คำถามเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์
-
สิ่งใดบ้างที่ท่านทราบเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์?
-
สิ่งใดบ้างที่ท่านไม่ทราบ?
นอกจากนี้ชาวเธสะโลนิกายังมีคำถามเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด อ้างอิงจากคำสอนของเปาโลในบทเหล่านี้ พวกเขาอาจถามคำถามเช่น “คนที่เรารักที่เสียชีวิตไปแล้วจะฟื้นคืนชีวิตอีกเมื่อใด?” “การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์จะเกิดขึ้นเมื่อใด?” หรือ “เราจะเตรียมตัวอย่างไรให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์?” บางทีท่านอาจมีคำถามที่คล้ายกัน กิจกรรมการศึกษาต่อไปนี้จะกล่าวถึงคำถามเหล่านี้
กิจกรรมการศึกษา 1: จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่มีชีวิตและผู้ที่สิ้นชีวิตในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์?
อ่าน 1 เธสะโลนิกา 4:13–18 เพื่อหาข้อคิดเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนชอบธรรมเมื่อพระเยซูเสด็จกลับมา บันทึกความแตกต่างระหว่างสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่สิ้นชีวิตและผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในการเสด็จมาครั้งที่สอง    
-
มีอะไรที่สำคัญสำหรับท่านในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้?
ต่อไป อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:96–98 เพื่อหาข้อคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้ (ท่านอาจต้องการอ่าน ข้อ 99–101 เพื่อเรียนรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่ไม่ยอมรับพระเยซูคริสต์ในชีวิตนี้)
-
ท่านได้ข้อคิดอะไรเพิ่มเติมบ้าง?
ความจริงข้อหนึ่งที่ท่านอาจระบุได้คือ วิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์ที่สิ้นชีวิตก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองจะฟื้นคืนชีวิตเมื่อพระคริสต์เสด็จมาอีกครั้ง
   
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันประจักษ์พยานต่อไปนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์อันศักดิ์สิทธิ์นี้:
ไม่มีสิ่งใดทำให้ข้าพเจ้าปรารถนาจะพูดถึงพระคริสต์มากไปกว่าการนึกภาพพระองค์เสด็จกลับมา แม้เราไม่รู้ว่าพระองค์จะเสด็จมาเมื่อใด แต่เหตุการณ์ที่พระองค์เสด็จกลับมาจะน่าทึ่ง! พระองค์จะเสด็จมาในหมู่เมฆแห่งสวรรค์ในความสง่างามและรัศมีภาพกับทวยเทพศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดของพระองค์ ไม่ใช่แค่เทพไม่กี่องค์ แต่เป็นทวยเทพศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหมด ของพระองค์ นี่ไม่ใช่เครูบแก้มแดงวาดโดยราฟาเอลที่เราเห็นในการ์ดวาเลนไทน์ นี่คือทวยเทพจากหลายศตวรรษ เทพที่ส่งมาปิดปากสิงโต มาเปิดประตูคุก มาประกาศการประสูติของพระองค์ที่เฝ้ารอมานาน มาปลอบโยนพระองค์ในเกทเสมนี มาให้ความเชื่อมั่นแก่สานุศิษย์ของพระองค์ ณ การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระองค์ และมาเริ่มการฟื้นฟูพระกิตติคุณอันเรืองโรจน์
ท่านนึกภาพออกไหมตอนที่ได้พบกับพระองค์ ไม่ว่าจะด้านนี้หรืออีกด้านหนึ่งของม่าน? นั่นคือสัญญาของพระองค์ต่อคนชอบธรรม ประสบการณ์น่าอัศจรรย์นี้จะประทับอยู่ในจิตวิญญาณเราตลอดไป
(นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “เราพูดถึงพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 91)
ใช้เวลาสักพักเพื่อจินตนาการว่าจะเป็นเช่นไรหากท่านได้รับการนับรวมอยู่ในกลุ่มคนชอบธรรมในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด
-
ท่านอาจมีความคิดหรือความรู้สึกใดในวันนั้น? ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อทราบว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงประสงค์ให้ท่านมาอยู่กับพระองค์เมื่อพระองค์เสด็จมา? การจินตนาการถึงวันนั้นในอนาคตส่งอิทธิพลต่อท่านอย่างไรในปัจจุบัน?
ใน 1 เธสะโลนิกา 4:18 เปาโลกระตุ้นให้วิสุทธิชน “หนุนใจกันด้วยถ้อยคำเหล่านี้”
-
คำสอนของเปาโลทำให้ท่านรู้สึกสบายใจได้อย่างไร? คำสอนเหล่านั้นให้ความปลอบโยนในสภาวการณ์ที่ท่านอาจเผชิญในอนาคตอย่างไร?
กิจกรรมการศึกษา 2: การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์จะเกิดขึ้นเมื่อใด?
ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์จะเกิดขึ้นเมื่อใดหรือว่าท่านจะพร้อมหรือไม่? วิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกามีแนวโน้มว่าจะมีคำถามเหล่านั้นเช่นกัน
อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:1–3 และมองหาอุปมาที่เปาโลใช้บรรยายเวลาที่พระเยซูจะเสด็จกลับมายังโลก
-
ท่านค้นพบอะไรบ้าง?
-
อุปมาของเปาโลเรื่องขโมยที่มาในเวลากลางคืนกับหญิงมีครรภ์สอนอะไรท่านเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด?
อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:4–6 และมองหาความจริงที่เปาโลสอนเกี่ยวกับการเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง จงเปรียบเทียบคำสอนเหล่านี้กับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 106:4–5
-
ท่านได้รับข้อคิดอะไรบ้าง?
ความจริงข้อหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากคำสอนของเปาโลคือ ถ้าเรามุ่งมั่นที่จะเป็น “ลูกของความสว่าง” โดยการติดตามพระเยซูคริสต์ เราก็จะพร้อมเมื่อพระองค์เสด็จมา
เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีต่างๆ ที่พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราเป็นลูกของความสว่าง ให้อ่าน 3 นีไฟ 18:24 ; หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:23–25 ; 88:67–68 ระบุสิ่งที่ท่านพบในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านที่จะช่วยให้ท่านเข้าใจวิธีเป็นลูกของความสว่าง
-
ท่านกำลังอัญเชิญความสว่างของพระเจ้ามาสู่ชีวิตท่านอย่างไร? ท่านจะอัญเชิญความสว่างของพระองค์มาสู่ชีวิตของท่านได้มากขึ้นอย่างไร?
กิจกรรมการศึกษา 3: เราจะเตรียมตัวอย่างไรให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์?
เปาโลสรุปสาส์นฉบับแรกของเขาแก่ชาวเธสะโลนิกาด้วยการแบ่งปันคำแนะนำของเขาเกี่ยวกับวิธีที่วิสุทธิชนจะเตรียมตัวให้พร้อมกว่านี้เพื่อพบกับพระผู้ช่วยให้รอดในการเสด็จมาครั้งที่สอง
อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:14–22 และดูว่าท่านได้รับข้อคิดอะไรบ้างเกี่ยวกับการเตรียมตัวให้พร้อม เปิดใจต่อความคิดว่าคำสอนใดที่อาจเป็นประโยชน์ต่อท่านเป็นพิเศษ
-
คำสอนเหล่านี้ข้อใดมีความหมายต่อท่านมากที่สุด? เพราะเหตุใด?
ค้นหาพระคัมภีร์หนึ่งหรือสองข้อที่จะเพิ่มความเข้าใจของท่านให้ลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับคำสอนที่ท่านเลือก (ท่านสามารถค้นหาหัวข้อในคู่มือพระคัมภีร์เพื่อช่วยท่านค้นหาข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง)
-
พระเยซูคริสต์ทรงช่วยท่านอย่างไร หรือพระองค์จะทรงช่วยท่านอย่างไรเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์? ท่านสามารถเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้จากพระองค์?
พิจารณาข้อเท็จจริงที่ท่านเรียนรู้ในวันนี้และการกระทำที่ท่านรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำ ซึ่งจะช่วยให้ท่านมีความพร้อมและตื่นเต้นมากขึ้นที่จะได้พบกับพระผู้ช่วยให้รอดอีกครั้ง บันทึกความคิดของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
1 เธสะโลนิกา 5:2 จังหวะเวลาของการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดจะเปรียบเทียบกับขโมยที่มาในเวลากลางคืนอย่างไร?
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าขโมยในยามค่ำคืนมักจะมา “โดยไม่คาดคิดและโดยไม่มีการเตือน” (Doctrinal New Testament Commentary [1973], 3:54) อุปมานี้แสดงให้เห็นว่าการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดจะเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจสำหรับบางคน
1 เธสะโลนิกา 5:21 การที่เปาโลพูดว่า “จงพิสูจน์ทุกสิ่ง สิ่งดีนั้นจงยึดถือไว้ให้มั่น” หมายความว่าอย่างไร?
เปาโลเชิญวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาในการ “พิสูจน์ทุกสิ่ง” หมายความถึงการตรวจสอบหรือทดสอบเพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นดีหรือชั่ว และ “สิ่งดีนั้นจงยึดถือไว้ให้มั่น” ในฐานะสมาชิกของศาสนจักร เราได้รับการสอนไม่เพียงเรียนรู้พระกิตติคุณ แต่จะต้องไตร่ตรอง สวดอ้อนวอน และทำความเข้าใจพระกิตติคุณในที่สุดด้วย (ดู 3 นีไฟ 17:1–3 ; หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–26) จากนั้นเราจะต้องยึดมั่นอย่างเคร่งครัดและซื่อสัตย์ต่อสิ่งดีที่เรามาเข้าใจ