เอเฟซัส 5:21–33; 6:1–4
ความสัมพันธ์เหมือนพระคริสต์
ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นหนึ่งในสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดที่เราประสบได้ในความเป็นมรรตัย ความสัมพันธ์กับบิดามารดา พี่น้องและคู่สมรสสามารถสร้างปีติอันล้นพ้น แต่ก็สามารถสร้างความท้าทายได้เช่นกัน เปาโลเคยสอนว่าเราสามารถมองพระเยซูคริสต์เป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์ที่ดีและมีความสุขกับสมาชิกในครอบครัว บทเรียนนี้สามารถช่วยให้ท่านทำตามตัวอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของท่านกับผู้อื่น
กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้
ครอบครัวของท่าน
เขียนชื่อสมาชิกครอบครัวของท่านเองและสิ่งหนึ่งที่ท่านรักเกี่ยวกับสมาชิกแต่ละคน
เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนมาแบ่งปันสิ่งที่ตนรักเกี่ยวกับสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว
โปรดพิจารณาข้อความนี้สำหรับสมาชิกในครอบครัวแต่ละคน: “ฉันปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัวคนนี้ในแบบที่ฉันรู้สึกว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงประสงค์ให้ฉันปฏิบัติต่อเขา” จากนั้นให้คะแนนวิธีที่ท่านปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนโดยใช้ระดับคะแนนต่อไปนี้
ขณะที่ท่านศึกษาในวันนี้ ให้นึกถึงความสัมพันธ์ที่ท่านมีกับสมาชิกในครอบครัวของท่านและวิธีที่ท่านสามารถทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการให้ความรักและช่วยเหลือพวกเขา
เปาโลให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว
สำคัญที่ต้องสังเกตว่าถ้อยคำของเปาโลใน เอเฟซัส 5:22–24 เขียนตามบริบทของธรรมเนียมทางสังคมในยุคของเขา ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคปัจจุบันสอนว่าชายไม่เหนือกว่าหญิงและคู่สมรสควรเป็น “หุ้นส่วนเท่าๆ กัน” (ดู “ ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก ,” ChurchofJesusChrist.org) แม้ธรรมเนียมในยุคสมัยของเปาโลจะแตกต่างออกไป แต่ท่านก็ยังสามารถพบคำปรึกษาที่มีความเกี่ยวข้องได้ในคำสอนของเปาโล ความจริงข้อหนึ่งที่เปาโลเน้นคือ เราสามารถปฏิบัติตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อสมาชิกครอบครัวของเรา
อ่าน เอเฟซัส 5:21–27 ; 6:1–4 แล้วมองหาหลักฐานของความจริงข้อนี้  
-
พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความรักของพระองค์ต่อศาสนจักรและทรงมอบพระองค์เองเพื่อศาสนจักรด้วยวิธีใดบ้าง?
-
การได้ทราบว่าพระคริสต์ทรงมอบพระองค์เองแก่ศาสนจักรทำให้ท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง?
-
สามีควรจะรู้สึกอย่างไรต่อภรรยาหากเขาปฏิบัติตามตัวอย่างสิ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกต่อศาสนจักรของพระองค์?
-
เปาโลให้คำปรึกษาอะไรที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทั้งสามีและภรรยาอย่างเท่าเทียมกัน? กับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว?
-
ตอนนี้ท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อวันหนึ่งจะต้องปฏิบัติต่อคู่สมรสดังที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงปฏิบัติต่อพวกเขา?
-
การเชื่อฟังและเคารพบิดามารดาของท่านช่วยให้ท่านเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นอย่างไร?
ดูที่ภาพต่อไปนี้และจับคู่กับเรื่องราวพระคัมภีร์ดังต่อไปนี้: ลูกา 2:51–52 , ยอห์น 2:1–11 และ ลูกา 22:39–42 . นึกถึงวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของความรัก การเชื่อฟังและเคารพต่อทั้งบิดามารดาทางโลกและพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ของพระองค์
-
พระผู้ช่วยให้รอดทรงรัก เชื่อฟัง และเคารพบิดามารดาของพระองค์อย่างไร? ท่านคิดว่าการกระทำของพระองค์ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของพระองค์กับบิดามารดาของพระองค์อย่างไร?
-
มีวิธีใดบ้างที่ท่านเคารพและเชื่อฟังบิดามารดาของท่าน?
-
การปฏิบัติตามตัวอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นพรแก่ท่านและกระชับสายสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้นได้อย่างไร หรือท่านคิดว่าจะทำได้อย่างไร?
ฝึกเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด
เขียนบทสนทนาโต้ตอบทั่วไประหว่างวัยรุ่นและสมาชิกครอบครัวที่อาจเป็นเรื่องยากในการปฏิบัติต่อสมาชิกครอบครัวคนหนึ่ง เฉกเช่นวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงปฏิบัติต่อพวกเขา เมื่อท่านเขียนบทสนทนาโต้ตอบแล้ว ให้เขียนว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงตอบสนองอย่างไรและเพราะเหตุใด จำไว้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้สึกและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น:
-
ผู้ปกครองวิพากษ์วิจารณ์วิธีที่ลูกคนหนึ่งใช้เวลาว่าง
-
พี่น้องหยิบฉวยสมบัติของพี่น้องอีกคนโดยไม่ได้ขอก่อนและโกหกเรื่องนั้น
ทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด
ใคร่ครวญความสัมพันธ์ของท่านกับสมาชิกในครอบครัว นึกถึงช่วงเวลาที่ท่านทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดและปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยวิธีเหมือนพระคริสต์ และให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้ท่านรู้ว่า ท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในการให้ความรักแก่ผู้อื่น
จดบันทึกสิ่งที่ท่านรู้สึกว่าทำได้เพื่อทำตามแบบอย่างพระผู้ช่วยให้รอดในความสัมพันธ์ของครอบครัวท่าน ท่านอาจแบ่งปันสิ่งที่ท่านเขียนกับครูหรือบิดามารดาเพื่อช่วยให้ท่านทำตามสิ่งที่ท่านรู้สึกได้รับกระตุ้นเตือนให้ทำ
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
เอเฟซัส 5:22–24 เราควรเข้าใจอะไรบ้างเกี่ยวกับคำสอนของเปาโลในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้?
เปาโลสอนว่า สมาชิกศาสนจักรทุกคนควรยอมเชื่อฟังกันและกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ให้คนอื่นมาก่อนตนเอง (ดู เอเฟซัส 5:21) จากนั้นเขาอธิบายว่าหลักธรรมของการยอมตนนำมาประยุกต์ใช้กับความสัมพันธ์ในครอบครัวและครัวเรือนอย่างไร ข้อ 22–24 อาจถูกเข้าใจผิดและนำมาประยุกต์ใช้อย่างผิดๆ ได้ในยุคสมัยของเรา ศาสดาพยากรณ์ในยุคสุดท้ายสอนไว้อย่างชัดเจนว่า สามีภรรยา รวมทั้งมารดาและบิดา ควรปฏิบัติหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของตนให้สำเร็จในฐานะ “หุ้นส่วนเท่าๆ กัน” (“ ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก ” ChurchofJesusChrist.org) หากสามีภรรยาเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง การเสียสละใดก็ตามที่กระทำในนามของคู่สมรสคนหนึ่งก็จะนำพรมาสู่บุคคลนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น “คนที่รักภรรยาของตัวเองก็รักตัวเองด้วย” ( เอเฟซัส 5:28)
สามีหรือภรรยาจะปฏิบัติต่อคู่สมรสของตนดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงกระทำได้อย่างไร?
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) กล่าวว่า:
ความสุขในชีวิตสมรสไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรักใคร่ เนื่องจากมันคือความกังวลต่อความสุขสบายและสวัสดิภาพของคู่ครองของตน ชายคนใดก็ตามที่จะทำให้ความสุขสบายของภรรยาเป็นข้อกังวลอันดับแรกของตน จะยังคงรักกับภรรยาตลอดชีวิตของทั้งสองและตลอดชั่วนิรันดร์ที่จะมาถึง (แองคอริจ อะแลสกา, การประชุมระดับภูมิภาค, 18 มิถุนายน 1995)
(“Speaking Today: Excerpts from Recent Addresses of President Gordon B. Hinckley,” Ensign, Apr. 1996, 72)
เอ็ลเดอร์แอล. วิทนีย์ เคลย์ตัน แห่งฝ่ายประธานโควรัมสาวกเจ็ดสิบกล่าวว่า:
ข้าพเจ้าสังเกตว่าในชีวิตแต่งงานที่มีความสุขที่สุดนั้น ทั้งสามีและภรรยาคำนึงถึงความสัมพันธ์ของพวกเขาเสมือนหนึ่งไข่มุกอันล้ำค่า เป็นสมบัติอันหาค่าที่สุดมิได้ พวกเขาทั้งสองแยกจากบิดามารดา ออกเดินทางร่วมกันเพื่อสร้างชีวิตแต่งงานที่จะรุ่งเรืองนิรันดร พวกเขาเข้าใจว่าพวกเขาเดินตามวิถีที่ได้รับแต่งตั้งจากสวรรค์ พวกเขาทราบว่าไม่มีความสัมพันธ์ใดสามารถนำมาซึ่งความสุขได้มากเช่นนี้ ทั้งยังก่อเกิดความดีงาม หรือรังสรรค์ความประณีตส่วนตัวได้มากมาย ถ้าท่านดูและเรียนรู้ชีวิตคู่ที่ดีเลิศ จะเห็นว่าเขาทั้งสองถือว่าชีวิตแต่งงานมีค่าสุดประมาณ
(แอล. วิทนีย์ เคลย์ตัน, “ชีวิตแต่งงาน: ดูและเรียนรู้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 83)
ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อกระชับสายสัมพันธ์ในครอบครัวของฉัน?
“จงให้เกียรติบิดามารดาของท่านโดยแสดงความรักและเคารพพวกท่าน เชื่อฟังพวกท่านเมื่อพวกท่านนำในความชอบธรรม เต็มใจช่วยเหลือในบ้าน มีส่วนร่วมในกิจกรรมและประเพณีที่ดีงามของครอบครัว ร่วมสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว ศึกษาพระคัมภีร์เป็นครอบครัว และสังสรรค์ในครอบครัว การรักษาพระบัญญัติเหล่านี้จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งและรวมความเป็นหนึ่งเดียวกันของครอบครัว” (เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [จุลสาร, 2011], 14–15)
ท่านอาจจะอ่านบทความต่อไปนี้ ซึ่งแนะนำวิธีการสร้างและเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น: “หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ: สร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย,” เลียโฮนา, ส.ค. 2018, 6–9