เซมินารี
ยอห์น 14:15–31; 15:10–14


ยอห์น 14:15–31; 15:10–14

“ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา”

Jesus teaches about forgiveness to Peter.

ขณะพระผู้ช่วยให้รอดและอัครสาวกของพระองค์ถือปฏิบัติเทศกาลปัสกาในห้องชั้นบน พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนความจริงที่สำคัญแก่อัครสาวก ด้วยความทุกข์ทรมานของพระองค์ในเกทเสมนีและคัลวารีที่จะเกิดขึ้น พระเยซูทรงแนะนำบุรุษเหล่านี้ที่ทรงรักมากว่า “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา” (ยอห์น 14:15) บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านแสดงความรักที่มีต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์โดยการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ทั้งสอง

สังเกตและเล็งเห็น ให้เวลากับการสังเกตนักเรียนและแสวงหาความช่วยเหลือจากพระวิญญาณในการเล็งเห็นความต้องการของพวกเขาเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนบทเรียนได้ตามความต้องการนั้น อย่าใช้เวลามากเกินไปกับการครอบคลุมเนื้อหาบทเรียนหรือว่าจะต้องพูดอะไรต่อไป สิ่งนี้จะบดบังความต้องการของนักเรียนและการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนดู “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา” คำปราศรัยจากการประชุมใหญ่สามัญ ตุลาคม 2015 โดยแคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์ อดีตฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ จากช่วงเวลา 0:00 ถึง 4:31 ขอให้นักเรียนคิดว่าเรื่องราวนี้สามารถสอนอะไรเราถึงเหตุผลที่พระเจ้าประทานพระบัญญัติแก่เรา

4:2

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

ท่านอาจเริ่มชั้นเรียนโดยแบ่งปันตัวอย่างส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัวที่แสดงความรักต่อกัน หรือเพื่อเป็นทางเลือก เชื้อเชิญให้นักเรียนสนทนาคำถามต่อไปนี้

ท่านแสดงความรักอย่างไร?

  • ท่านรู้ได้อย่างไรว่ามีคนรักท่าน? คำพูด การกระทำ หรือเจตคติใดบ่งบอกความรักของพวกเขา?

  • ท่านแสดงความรักที่มีให้ผู้อื่นอย่างไร?

  • จะเกิดอะไรขึ้นหากท่านรักใครบางคนแต่เจตคติหรือการกระทำของท่านไม่ได้แสดงถึงความรักนั้นเสมอไป? ท่านอาจทำอะไรได้บ้าง?

ขณะพระผู้ช่วยให้รอดยังคงสอนอัครสาวกของพระองค์ระหว่างพระกระยาหารมื้อสุดท้าย พระองค์ทรงสอนถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเราและสอนวิธีที่เราสามารถแสดงความรักที่เรามีต่อพระองค์

โดยขึ้นอยู่กับความต้องการและความสามารถของนักเรียน นักเรียนแต่ละคนอาจจะอ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ทั้งหมดหรืออาจแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองกลุ่มและมอบหมายข้อความหนึ่งข้อให้แต่ละกลุ่ม

ศึกษา ยอห์น 14:15, 21, 23–24 และ ยอห์น 15:10–14 โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าเราอาจทำอะไรเพื่อแสดงความรักที่เรามีต่อพระองค์และพระบิดาบนสวรรค์

หลังจากนักเรียนอ่านจบแล้ว กระตุ้นให้พวกเขาถามคำถามหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาอ่าน ขณะพวกเขาทำเช่นนั้น ช่วยพวกเขาระบุวิธีที่เราสามารถแสดงความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและช่วยพวกเขาสังเกตถ้อยคำหรือวลีที่แสดงถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเรา

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเน้นอะไรในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่เราจะแสดงความรักที่เรามีต่อพระองค์ได้?

ท่านอาจเขียนบนกระดานถึงความจริงต่อไปนี้หรือความจริงที่คล้ายกันซึ่งนักเรียนระบุ: เราแสดงความรักที่เรามีต่อพระเยซูคริสต์โดยการรักษาพระบัญญัติของพระองค์

  • ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับความรักที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีต่อท่าน?

  • สถานการณ์ใดบ้างที่ความจริงซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนในข้อเหล่านี้จะเป็นประโยชน์?

ถ้าเชื้อเชิญให้นักเรียนดูวีดิทัศน์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียม ให้พวกเขาสนทนาสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับสาเหตุที่พระผู้เป็นเจ้าประทานพระบัญญัติแก่เรา แทนที่จะดูวีดิทัศน์ในชั้นเรียนอีกครั้ง หรือนักเรียนอาจดูวีดิทัศน์ “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา” จากช่วงเวลา 0:00 ถึง 4:31 มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org หรืออ่านข้อความด้านล่าง

ซิสเตอร์แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์ อดีตฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนเกี่ยวกับแรงจูงใจที่พระผู้เป็นเจ้าประทานพระบัญญัติแก่เราและแรงจูงใจของเราที่เชื่อฟังพระบัญญัติเหล่านั้น

หากเป็นไปได้ ดูวีดิทัศน์ “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา” จากช่วงเวลา 0:00 ถึง 4:31 มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org ในวีดิทัศน์นี้ซิสเตอร์แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์ อดีตฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ แบ่งปันประสบการณ์ของเธอกับโคลอี้ หลานสาว

4:2
Official portrait of Carole M. Stephens, sustained at the April 2012 general conference as first counselor in the Relief Society general presidency, October 2012. Released April 2017 General Conference.

บางครั้งเราอาจรู้สึกว่ากฎของพระผู้เป็นเจ้าจำกัดเสรีภาพของเรา นำสิทธิ์เสรีไปจากเรา และจำกัดการเติบโตของเรา แต่เมื่อเราพยายามเข้าใจมากขึ้น เมื่อเรายอมให้พระบิดาทรงสอนเรา เราจะเริ่มเห็นว่ากฎของพระองค์คือการที่พระองค์แสดงความรักต่อเรา และการเชื่อฟังกฎของพระองค์คือการที่เราแสดงความรักต่อพระองค์

(แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์, “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 119)

ท่านอาจขอให้นักเรียนสองสามคนช่วยสร้างรายการต่อไปนี้ด้วยการเขียนคำตอบของเพื่อนบนกระดาน

เขียนกฎและพระบัญญัติบางข้อที่ท่านรู้สึกว่าแสดงถึงความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีให้ท่าน เพื่อช่วยให้ท่านนึกถึงพระบัญญัติบางข้อ ท่านอาจทบทวนพระบัญญัติสิบประการ (ดู อพยพ 20:3–17) หรือ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [จุลสาร, 2011]

  • พระบัญญัติที่ท่านทำรายการไว้เป็น “การแสดงให้ประจักษ์ถึงความรักที่ [พระผู้เป็นเจ้า] ทรงมีให้เรา” อย่างไร?

  • การเชื่อฟังของท่านต่อพระบัญญัติเหล่านี้จะเป็น “การแสดงออกถึงความรักที่ [ท่าน] มีต่อพระองค์” ได้อย่างไร?

เลือกพระบัญญัติหนึ่งข้อจากรายการของท่าน อาจจะเป็นข้อที่ท่านพยายามรักษาหรือเป็นข้อที่ท่านถูกล่อลวงให้ละเมิดแต่เลือกที่จะเชื่อฟัง

ตรวจสอบความพยายามของนักเรียนที่จะเชื่อฟังโดยระบุพระบัญญัติบางข้อที่พวกเขารักษาและช่วยพวกเขาประเมินแรงจูงใจของตนในการรักษาพระบัญญัติเหล่านั้น

ท่านอาจให้ดูคำถามต่อไปนี้และให้เวลานักเรียนอย่างเพียงพอเพื่อครุ่นคิดไตร่ตรองและเขียนคำตอบลงในสมุดบันทึกการศึกษาของพวกเขา โปรดระวังลักษณะที่ละเอียดอ่อนของคำถามเหล่านี้

คำถามต่อไปนี้จะช่วยท่านประเมินแรงจูงใจของท่านเพื่อรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ขณะท่านนึกถึงคำตอบของท่าน สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ ท่านอาจมีเหตุผลหลายประการในการรักษาพระบัญญัติ ไม่ว่าแรงจูงใจของท่านในเวลานี้จะเป็นอย่างไร ขอให้เชื่อฟังต่อไปและเมื่อเวลาผ่านไปความปรารถนาของท่านที่จะเชื่อฟังอันเกิดจากความรักจะเพิ่มขึ้นได้

  • อะไรเป็นแรงจูงใจให้ท่านรักษาพระบัญญัติข้อนี้?

  • ท่านรู้สึกอย่างไรกับเหตุผลของท่านในการรักษาพระบัญญัติเมื่อเปรียบเทียบกับแบบอย่างของพระเจ้าที่ทรงเชื่อฟังเพราะความรัก?

  • เพราะเหตุใดเหตุผลเบื้องหลังการเชื่อฟังของท่าน (แรงจูงใจของท่าน) จึงสำคัญ?

  • ท่านจะให้คำแนะนำใดแก่บางคนที่ต้องการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเพราะความรัก?

แบบอย่างความรักของพระผู้ช่วยให้รอดของเรา

พระเยซูคริสต์ประทานแบบอย่างอันดีพร้อมของวิธีเชื่อฟังกฎและพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเพราะความรักอันบริสุทธิ์ หลังพระกระยาหารมื้อสุดท้าย พระองค์ตรัสว่า “แต่เราทำตามที่พระบิดาทรงบัญชาเรา เพื่อโลกจะได้รู้ว่าเรารักพระบิดา” ( ยอห์น 14:31) จากนั้นพระเยซูเสด็จไปเพื่อทนทุกข์ทรมานสำหรับบาปและ “ความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวงทุกอย่าง” ของเรา ( แอลมา 7:11) ในสวนเกทเสมนีและอีกครั้งบนกางเขน

  • เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัยที่จะเชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์? (ดู ยอห์น 15:13 ; ฮีบรู 12:2)

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเชื้อเชิญให้เราพิจารณาอย่างรอบคอบว่าความรักของพระเยซูคริสต์จะมีแรงจูงใจให้เราทำอะไรได้บ้าง ท่านอาจต้องการชมวีดิทัศน์ “ติดสนิทอยู่กับความรักของเรา” มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org ตั้งแต่ช่วงเวลา 14:27 ถึง 14:50 หรืออ่านข้อความต่อไปนี้

15:8
Official portrait of Carole M. Stephens, sustained at the April 2012 general conference as first counselor in the Relief Society general presidency, October 2012. Released April 2017 General Conference.

ท่านจะไม่รักพระองค์ผู้ที่ทรงรักท่านก่อนหรือ? [ดู 1 ยอห์น 4:19 ] ถ้าเช่นนั้นจงรักษาพระบัญญัติของพระองค์ [ดู ยอห์น 14:15 ] ท่านจะไม่เป็นเพื่อนกับพระองค์ผู้สละพระชนม์ชีพเพื่อมิตรสหายของพระองค์หรือ? [ดู ยอห์น 15:13 ] ถ้าเช่นนั้นจงรักษาพระบัญญัติของพระองค์ [ดู ยอห์น 15:14 ] ท่านจะไม่ติดสนิทอยู่กับความรักของพระองค์และรับทุกสิ่งที่พระองค์ประทานให้อย่างปรานีหรือ? ถ้าเช่นนั้นจงรักษาพระบัญญัติของพระองค์ [ดู ยอห์น 15:10 ]

(ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ติดสนิทอยู่กับความรักของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 51)

  • คำมั่นสัญญาของท่านที่จะเชื่อฟังให้ดียิ่งขึ้น บนพื้นฐานของความรัก จะมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ของท่านกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร? (ดู โมไซยาห์ 5:13)

ขณะท่านพยายามรักษาพระบัญญัติเพราะความรักที่มีต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ท่านจะรู้สึกถึงความรักที่เพิ่มขึ้นของพระองค์ทั้งสองในชีวิตท่าน (ดู ยอห์น 14:21) หากยากสำหรับท่านที่จะเชื่อฟัง หรือแม้แต่ปรารถนาที่จะเชื่อฟัง พระบิดาบนสวรรค์จะทรงช่วยท่านได้หากท่านทูลขอพระองค์อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของจิตใจ จำไว้ด้วยว่าพระบัญญัติข้อหนึ่งคือให้กลับใจและเราจะรักษาพระบัญญัติข้อนี้ได้ขณะพยายามเอาชนะความอ่อนแอของเรา

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

เพราะเหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้เราเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์?

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า

Official Portrait of President Dallin H. Oaks taken March 2018.

พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกร้องให้เราเชื่อฟังพระบัญญัติ เพราะโดยการเชื่อฟังเท่านั้น รวมทั้งการกลับใจ เราจึงจะสามารถกลับไปอยู่ในที่ประทับของพระองค์และดีพร้อมเช่นพระองค์

(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “พระบัญญัติสำคัญ สองข้อ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 74)

เป็นเรื่องสำคัญหรือไม่ว่าเหตุใดฉันจึงเชื่อฟังพระบัญญัติ?

เราทุกคนควรถามตนเองว่าเหตุใดเราจึงเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า เพราะเรากลัวการลงโทษใช่หรือไม่? เพราะเราต้องการรางวัลสำหรับการดำเนินชีวิตที่ดีใช่หรือไม่? เพราะเรารักพระผู้เป็นเจ้าและพระเยซูคริสต์และต้องการรับใช้พระองค์ทั้งสองใช่หรือไม่?

การเชื่อฟังพระบัญญัติเพราะเรากลัวจะถูกลงโทษดีกว่าการไม่เชื่อฟังพระบัญญัติเลย แต่เราจะมีความสุขมากกว่าถ้าเราเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าเพราะเรารักพระองค์และต้องการเชื่อฟังพระองค์ เมื่อเราเชื่อฟังพระองค์โดยเสรี พระองค์จะประทานพรเราได้โดยเสรี พระองค์ตรัสว่า “เรา, พระเจ้า, … ยินดีจะยกย่องคนเหล่านั้นที่รับใช้เราในความชอบธรรมและในความแน่วแน่จนกว่าชีวิตจะหาไม่” [ หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:5 ] การเชื่อฟังช่วยให้เราก้าวหน้าและเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ของเรามากขึ้นอีกด้วย แต่ผู้ที่ไม่ทำอะไรเลยจนกว่าจะได้รับคำบัญชาและจากนั้นจึงรักษาพระบัญญัติอย่างไม่เต็มใจ [จะ] สูญเสียรางวัลของตน [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:26–29 ]

(Gospel Principles [2009], 201–202)

กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม

ยอห์น 15:18–25 “ถ้าโลกนี้เกลียดชังพวกท่าน”

ถ้ายากสำหรับนักเรียนที่จะเชื่อฟังพระบัญญัติเนื่องจากอิทธิพลหรือการข่มเหงทางโลก ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้อาจช่วยให้พวกเขามีความกล้าหรือได้รับมุมมองที่ดี

เชื้อเชิญให้นักเรียนคิดว่าพระเยซูคริสต์จะได้รับการต้อนรับอย่างไรหากการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์บนแผ่นดินโลกเกิดขึ้นในสมัยของเรา

นักเรียนสามารถศึกษา ยอห์น 15:18–25 โดยค้นหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงสิ่งใดเกี่ยวกับโลกและเหตุผลที่ผู้คนของพระองค์ทนทุกข์ทรมานจากการต่อต้านและการข่มเหงจากโลกมาตลอด ในข่าวสารของพระองค์เราจะพบการปลอบโยนและความเข้มแข็งอะไรได้บ้างเพื่อที่จะเชื่อฟัง?

เราสามารถรักษาพระบัญญัติแม้เราจะไม่เข้าใจเหตุผลที่เราได้รับพระบัญญัติเหล่านี้

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (1805–1844) กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจึงตั้งกฎให้ตนเองว่า เมื่อพระเจ้าทรงบัญชา จงทำ” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2011], 172) พระคัมภีร์และประวัติศาสนจักรประกอบด้วยเรื่องราวมากมายของผู้คนที่เลือกจะเชื่อฟังแม้ในเวลาที่พวกเขาไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเหตุใดพระองค์ประทานพระบัญญัติหรือคำแนะนำนั้น ข้อความต่อไปนี้ประกอบด้วยตัวอย่างการเชื่อฟังด้วยศรัทธาและพรบางอย่างที่บุคคลเหล่านี้ได้รับเพราะพวกเขาเชื่อฟัง:

อาดัมกับเอวา: โมเสส 5:5–12

ซีโมนเปโตรและสหายของเขา: ลูกา 5:4–11

นีไฟ: 1 นีไฟ 9:5–6

นักเรียนอาจได้รับเชิญให้ไตร่ตรองคำถามเหล่านี้: มีพระบัญญัติข้อใดบ้างที่ท่านไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้? ความรักที่ท่านมีต่อพระผู้เป็นเจ้าจะช่วยให้ท่านซื่อสัตย์และเชื่อฟังจนกว่าจะมีความเข้าใจมากขึ้นได้อย่างไร?

ทบทวนคำมั่นสัญญาของท่าน

เชิญนักเรียนทบทวนแผนหรือคำมั่นสัญญาที่พวกเขาทำเมื่อไม่นานมานี้เพื่อเชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้น พวกเขาอาจทำสิ่งนี้แล้วในบทเรียนเซมินารีก่อนหน้านี้หรือโดยเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายสำหรับโปรแกรมเด็กและเยาวชน ถ้าพวกเขายังไม่มีเป้าหมายหรือแผนที่จะเชื่อฟังมากขึ้น พวกเขาอาจคิดเกี่ยวกับพระบัญญัติหนึ่งข้อที่ทำรายการไว้ในบทเรียนนี้